Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ ฉบับวันที่ 16 - 22 เมษายน 2548 ระบุว่าโรคไข้หวัดนก H5N1 ซึ่งเริ่มระบาดในสัตว์ปีกตอนปลายปี 2546 ได้คร่าชีวิตมนุษย์คนที่ 50 ไปแล้ว รวมทั้งได้กลายเป็นโรคระบาดประจำถิ่นเอเชียตะวันออกไปเรียบร้อยแล้ว

มีการระบาดใน 11 ประเทศ ทำให้สัตว์ปีกตายหรือถูกฆ่า 120 ล้านตัว และมีเสือในสวนสัตว์ตาย 147 ตัวในประเทศไทย

จนถึงวันที่ 18 เมษายน 2548 มีคนป่วย 80 คน ตาย 50 คน เวียดนามมีคนป่วย 60 ตาย 35 ไทยป่วย 17 ตาย12 และกัมพูชาป่วย 3 ตายทั้ง 3 คน

สิ่งที่หวาดกลัวกันมากที่สุดคือ กลัวว่าไวรัสหวัดนก H5N1 จะกลายเป็นไวรัสหวัดคนชนิดใหม่ ที่คนทั้งโลกไม่มีภูมิคุ้มกันนำไปสู่การระบาดใหญ่ทั่วโลก

การกลายพันธุ์แบบนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อไวรัสหวัดนกกลายพันธุ์ไปเอง หรือมีการผสมกับไวรัสหวัดคนโดยที่ไวรัส 2 ชนิดนี้ เข้าไปอยู่ในคนคนเดียวกัน หรือสัตว์ตัวเดียวกัน นอกจากคนแล้ว สัตว์ที่จะติดเชื้อไวรัสได้ทั้งสองชนิดคือ หมู

เว็บไซต์ชื่อ ThePoultrySite.com ลงข่าวจากนิตยสารนิวไซแอนทิสท์ ฉบับวันที่ 15 เมษายน 2548 ว่านักวิทยาศาสตร์อินโดนีเซียได้ตรวจพบไวรัส H5N1 ในหมูตัวหนึ่ง ถ้ามีการยืนยันผลนี้ก็น่าตกใจมาก

สัตว์ที่เป็นพาหะหรือแหล่งแพร่เชื้อไวรัสนี้คือนกป่า กับเป็ด เดิมเข้าใจว่าเป็ดสามารถมีเชื้อ H5N1 อยู่ในตัวโดยไม่มีอาการโรค แต่แพร่เชื้อได้เก่งมากเพราะมีเชื้อไวรัสหนาแน่นมาก เว็บไซต์เดียวกันลงข่าวจากแหล่ง
ข่าวพีเพิลส เดลี่ ออนไลน์ วันที่ 14 เมษายน 2548ว่า ร้อยละ 71 ของเป็ดที่เลี้ยงในเวียดนามภาคใต้ตรวจพบเชื้อ H5 (ตรวจแอนติเจนชนิดเดียวเพื่อประหยัด อนุมานว่าน่าจะเป็น H5N1) ในประเทศไทยตรวจพบเชื้อไวรัส H5N1 ในร้อยละ 40 ของฝูงเป็ดที่ตรวจทั้งหมด และเวลานี้เริ่มพบเป็ดที่ติดเชื้อ มีอาการป่วย และตายแล้ว

ขณะนี้การระบาดในไก่ระบาดหนักที่เวียดนาม อินโดนีเซีย และเกาหลีเหนือ ส่วนในประเทศไทยมีรายงานการระบาดครั้งสุดท้ายที่จังหวัดสุโขทัย วันที่ 17 มีนาคม 2548 อยู่ในเว็บไซต์ของโอไออี (www.oie.int)

ในทางวิทยาศาสตร์ไม่มีข้อสงสัยว่าเชื้อไวรัสหวัดนก H5N1 จะกลายเป็นไวรัสหวัดคน ติดต่อได้แบบเดียวกับไวรัสหวัดคน ได้หรือไม่ คำถามมีว่า "เมื่อไร" เท่านั้น องค์การอนามัยโลกถึงกับจำลองสถานการณ์ที่เกิดการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่ในคนที่กลายมาจากไวรัสหวัดนกว่า ถ้าสถานการณ์ไม่ร้ายแรงจะมีคนตายทั่วโลก 2 - 7.4 ล้านคน มีคนป่วย 1,200 ล้านคน ต้องเข้าโรงพยาบาล 28 ล้านคน

ในประเทศไทยคาดว่าจะมีคนป่วย 6 - 25 ล้านคน ตาย 2 หมื่น - 3 ล้านคน ลองนึกดูว่าจะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจแค่ไหน ถ้าสถานการณ์ร้ายแรงคาดว่าจะมีคนตายทั่วโลก 60 ล้านคน

ด้วยความเชื่อว่ามิคสัญญีนี้มาถึงแน่ ๆ ประเทศร่ำรวยทั้งหลายต่างก็เตรียมสต็อกยาต้านไวรัสสำหรับใช้กับเชื้อตัวนี้ คือยา oseltamivir (ชื่อการค้า Tamiflu) ของบริษัทโรช ซึ่งราคาแพงมาก ในเมืองไทยราคาเม็ดละ 123 บาท ต้องใช้ 10 เม็ด / คน ประเทศไทยก็เตรียมสต็อกยานี้ และองค์การเภสัชกรรมกำลังวิจัยเพื่อผลิตยานี้ ซึ่งจะทำให้ราคาถูกลง 5 เท่า

บางประเทศก็เตรียมผลิตวัคซีนป้องกันและพบว่า โรงงานผลิตวัคซีนไม่พอใช้ ประเทศไทยไม่มีโรงงาน
ผลิตวัคซีน ดังนั้นถ้ามีการระบาดใหญ่ จะไม่มีวัคซีนใช้ เพราะประเทศที่มีโรงงานเขาก็ต้องสงวนไว้ใช้เอง

ถ้าดูตามกราฟของโอไออี ประเทศไทยมีการระบาดในไก่มากเป็นที่ 2 รองจากเวียดนาม การดำเนินการแก้ปัญหาอย่างจริงจังของประเทศไทย โดยการร่วมมือกับประเทศอาเซียน +3 ตามที่ นพ. ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรคให้ข่าวในไทยรัฐฉบับวันที่ 16 เมษายน 2548 น่าจะเป็นประโยชน์มาก อย่างน้อยก็ช่วยชะลอเวลาของการระบาดให้เกิดขึ้นช้าลง มีเวลาให้พัฒนายาหรือวัคซีนคือ ให้มีเวลาเตรียมตัว

ไทยเรามี แผนยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาโรคไข้หวัดนกอย่างบูรณาการ และแผนยุทธศาสตร์การเตรียมการณ์รองรับการระบาดใหญ่ ซึ่ง ครม. อนุมัติแล้ว มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2548 นี่คือจุดแข็งของประเทศไทย แผนนี้ยกร่างโดยทีมงานที่มีหัวหน้าเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ที่มีความสามารถสูงเป็นที่นับถือไปทั่วโลก คือ นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ โดยมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ระดับเกษตรกร ไปจนถึงระดับนโยบาย แผนนี้จึงเขียนไว้ค่อนข้างดีมาก แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ 3 ประการคือ

1. ยังไม่มีการจัดตั้ง "กลไกบริหารจัดการความรู้ โดยทีมทำงานเต็มเวลา" ตามที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 3 เรื่อง "สร้างและจัดการความรู้เรื่องไข้หวัดนก" ในส่วนนี้ สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) รับผิดชอบและกำลังเตรียมดำเนินการโดยมี รศ. นพ. ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ และ นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นแกนนำ
2. ในยุทธศาสตร์ที่ 3 ดังกล่าวในข้อ 1 ตัวสาระเน้นที่ความรู้นานาชาติและความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ เน้นที่ความรู้ระดับนักวิชาการ ยังขาดองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของการจัดการความรู้ คือ ความรู้ในชุมชนหรือชาวบ้าน ซึ่งเป็นความรู้ระดับผู้ปฏิบัติ
ย้ำว่า ถ้า "การจัดการความรู้" เรื่องไข้หวัดนก ดำเนินการภายใต้แนวคิดว่าชาวบ้านไม่มีความรู้ ไม่มีส่วนในการสร้างความรู้ ชาวบ้านมีหน้าที่อย่างเดียวคือทำตามที่เจ้าหน้าที่ของทางราชการและนักวิชาการบอก การจัดการความรู้เรื่องไข้หวัดนกจะผิดทันที จะเป็นการจัดการความรู้ปลอม ไม่ใช่การจัดการความรู้ที่แท้
3. ยังขาดกลไกและวิธีการจัดการความรู้ใน 2 ระดับ หรือ 2 ระนาบ
- ระนาบส่วนกลาง ขาดกลไกและวิธีการจัดการความรู้ข้ามกระทรวง ข้ามกรม
ข้ามหน่วยงานภาคเอกชน - ภาครัฐ
- ระนาบพื้นที่ ขาดกลไกและวิธีการจัดการความรู้ข้ามทุกฝ่ายที่อยู่ในพื้นที่ ทั้งที่
เป็นภาคประชาชน, ภาคประชาสังคม, ภาครัฐ, ภาคศาสนาและภาคธุรกิจ

หัวใจของการจัดการความรู้คือ มีเป้าหมายร่วมกัน แต่อาจมีความเชื่อ ความคิด ความรู้แตกต่างกัน ทุกฝ่ายยอมรับความแตกต่างนั้น และหาทางใช้พลังของความต่างทำให้เกิดพลังทวีคูณ (synergy) ไปสู่การบรรลุเป้าหมายร่วมนั้น ซึ่งในที่นี้เป้าหมายร่วมคือการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนก ไม่ให้ระบาดในสัตว์ปีก และไม่ให้ระบาดสู่คน

ในการดำเนินการจัดการความรู้ เรา ใช้สมมติฐานว่าเรามีความรู้เพื่อการบรรลุเป้าหมายนั้นอยู่บ้างแล้ว แต่อาจจะเป็นความรู้บางด้าน ยังไม่ครบด้าน และด้านที่เรามีความรู้ ก็อาจเป็นความรู้ระดับ 3 - 4 ดาว ยังไม่ถึงระดับ 5 ดาว หลักฐานว่าเรามีความรู้ก็คือความสำเร็จ เช่นในเรื่องโรคหวัดนก อาจมีชาวบ้านบางคนมีความสำเร็จตรงที่ไก่บ้านที่ตนเลี้ยงไม่เป็นโรคเลย ทั้ง ๆ ที่ในตำบลเดียวกันมีไก่บ้านตายมากมาย

ชาวบ้านคนนี้ถือว่ามีความรู้ในการเลี้ยงไก่บ้านไม่ให้ติดโรคหวัดนก ถ้าเอาชาวบ้านที่มีความสำเร็จหลาย ๆ คนมาเล่าแลกเปลี่ยนกันว่าตนมีวิธีการอย่างไร ก็จะได้ความรู้ชุดหนึ่งสำหรับเอาไปทดลองใช้ต่อ หรือเอาไปตั้งเป็นประเด็นวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยวิธีคิดและปฏิบัติแบบนี้เราอาจค้นพบวิธีป้องกันโรคไข้หวัดนก ที่เป็นแนวทางใหม่เอี่ยม เป็นนวัตกรรม ก็ได้

ในกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้จากความสำเร็จ (ซึ่งเป็นความรู้เพื่อการปฏิบัติ) แบบนี้นักวิชา
การอาจเข้าไปช่วยร่วมตีความในเชิงทฤษฎี ก็จะช่วยให้ชาวบ้านเกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้น สามารถกลับไปทดลองหาวิธีการที่ได้ผลดียิ่งขึ้น

ในการจัดการความรู้เรื่องไข้หวัดนก ต้องใช้ความรู้ 2 ขั้วที่ต่างกันมาเสริมพลังซึ่งกันและกัน อันได้แก่ ความรู้เชิงปฏิบัติ - ความรู้เชิงทฤษฎี, และความรู้นานาชาติ - ความรู้ท้องถิ่น (ในชาวบ้าน) จึงจะบรรลุผล

จะได้ผลจริง นักวิชาการ - ข้าราชการต้องเคารพต่อความรู้ - ความคิดเห็นของชาวบ้าน ให้ความเท่าเทียมกันในการนำผลสำเร็จมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

หมายเหตุ ขอขอบคุณ นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่กรุณาให้ข้อมูลและความเห็นบางประการ

วิจารณ์ พานิช
สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net