Skip to main content
sharethis

รอบทิศเศรษฐกิจ/color]

กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมยกระดับอุตสาหกรรมเซรามิกส์หนีตลาดล่าง เน้นปรับรูปแบบ - ดีไซน์เพิ่มมูลค่าทางความรู้ เปิดช่องทางสู่ตลาดใหม่ชิงความได้เปรียบประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนด้านการผลิตและวัตถุดิบต่ำ โดยเฉพาะจีน

นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมหาแนวทางในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเซรามิก ตามนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ในด้านการเพิ่มอำนาจต่อรองด้านการตลาดกับประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนด้านการผลิตต่ำ โดยเฉพาะประเทศจีน

ซึ่งขณะนี้ได้ให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ศึกษาโครงสร้างต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าวด้วยการพัฒนารูปแบบการดีไซน์สินค้าให้มีเอกลักษณ์ และมีความแตกต่างจากประเทศอื่น ซึ่งไทยมีความได้เปรียบด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญอยู่มาก รวมถึงการวางแผนการลดต้นทุนพลังงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงได้

" แนวทางดังกล่าวจะสามารถแก้ปัญหาการแข่งขันกันการดัมพ์ราคาสินค้าจากต่างประเทศได้อย่างดี พร้อมกับ การยกระดับสินค้าของไทยสู่ตลาดระดับบน ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมหาช่องทางการเปิดตลาดใหม่ในต่างประเทศให้กับอุตสาหกรรมเซรามิกไว้แล้ว "

ทั้งนี้ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเซรามิกเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในอันดับต้น ที่ภาครัฐให้การสนับสนุนและส่งเสริมเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นๆหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแพทย์ อุตสาหกรรมยานยนต์

ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมเซรามิกสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศได้สูงถึงปีละกว่า 20,000 ล้านบาท และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะต้องเผชิญกับปัญหาด้านต้นทุนวัตถุดิบ ที่ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบบางประเภทสูง เช่น สี น้ำยาเคลือบ โดยอุตสาหกรรมประเภทนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการให้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อพัฒนาวัตถุดิบในประเทศที่มีอยู่ ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้มาก

นายวัฒนากล่าวว่า กรณีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการลงทุนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ เพราะนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนส่วนใหญ่ใช้หลักในการพิจารณาจากความมีเสถียรภาพของรัฐบาลว่ามีแนวนโยบายที่ต่อเนื่องและมั่นคงเพียงพอหรือไม่ รวมถึงโอกาสทางการตลาดและผลตอบแทนที่ได้รับมากกว่าเหตุการณ์เฉพาะด้าน อีกทั้งพื้นที่ในการลงทุนและเขตอุตสาหกรรมต่างๆก็ไม่ได้อยู่ใน 3 จังหวัดภาคใต้

บัญชาทุกนิคมอุตฯเร่งรับมือภัยแล้ง
เลื่อนเวลาปิดซ่อมบำรุงรง.กลางปีนี้

กนอ.ระดมเอกชนวางแผนสำรองน้ำในนิคมอุตสาหกรรม 35 แห่งทั่วประเทศ เร่งสั่งการทุกหน่วยเข้ม วางมาตรการกรองรับภัยแล้ง แนะสร้างระบบหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่ กำชับโรงงานร่วมประหยัดน้ำ ปรับแผนผลิตทุกโรงงาน เลื่อนเวลาปิดซ่อมบำรุงโรงงานเร็วขึ้น เริ่มได้กลางปีนี้ ชี้นักลงทุนต่างชาติยังไม่ถอย เหตุนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง สร้างอ่างเก็บน้ำสำรองรับสถานการณ์แล้ว

รายงานข่าวจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แจ้งว่าเมื่อเร็วๆนี้ กนอ.ได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ดำเนินกิจการอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าในช่วง 3เดือนนี้ระหว่างเดือนเมษายน - มิถุนายน2548 แม้ว่าฝนจะขาดช่วงไปบ้าง แต่เชื่อว่าจะยังไม่กระทบต่อภาคการผลิตโดยรวม เนื่องจากปริมาณสำรองน้ำที่มีอยู่ทั้งจากภายในระบบของนิคมอุตสาหกรรม และแหล่งกักเก็บน้ำธรรมชาติ ยังมีปริมาณเพียงพอที่จะสามารถเอื้อต่อการประกอบการอุตสาหกรรมอยู่ทั้งหมดได้

ส่วนแนวทางการรับมือปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง กนอ.ได้ประสานกับทางผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในการกำหนดเลื่อนแผนการปิดซ่อมบำรุงโรงงานประจำปี(Shutdown) ซึ่งส่วนใหญ่โรงงานมีแผนหยุดซ่อมบำรุงเครื่องจักรในโรงงานช่วงปลายปี โดยกำหนดให้เลื่อนมาอยู่ในช่วงกลางปีแทน เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม 35 แห่งทั่วประเทศเข้มงวดกับโรงงานทุกแห่งดำเนินการการจัดระบบบำบัดน้ำเสียโดยให้สามารถหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่ในกระบวนการผลิตได้
สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นขณะนี้ คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอุตสาหกรรม เนื่องจาก ได้มีการวางระบบสาธารณูปโภคน้ำไว้อย่างครบวงจร และทั่วถึงในทุกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ประกอบกับได้รับฝนหลวงในช่วงนี้ จึงทำให้ช่วยบรรเทาภาวะการขาดแคลนน้ำไปได้ในระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการทุกรายควรมีการวางแผนการใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อเป็นการรับมือภัยแล้งล่วงหน้า หากฝนยังขาดช่วงอยู่เป็นระยะเวลานาน

ทั้งนี้ ในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 35 แห่งได้รับการบริการสาธารณูปโภคน้ำเพื่อดำเนินกิจการจาก 4 แหล่งหลักด้วยกัน ได้แก่ 1.ในเขตพื้นที่ กทม. นิคมอุตสาหกรรมบางพลี ใช้น้ำจากการประปานครหลวง 2.นิคมอุตสาหกรรมบางชัน และนิคมอุตสาหกรรมบางปู ใช้น้ำทั้งจากการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล และกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการวางท่อส่งน้ำของการประปานครหลวง 3.นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จ.สงขลา จะใช้น้ำจากแหล่งน้ำทั่วไปตามธรรมชาติ 4.ในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโซนตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด ใช้น้ำจากบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสต์วอเตอร์

ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำประปาจากการประปานครหลวงเพื่อประกอบการยังไม่ประสบปัญหา แต่ที่น่ากังวลคือในเขตนิคมภาคตะวันออกที่ส่วนใหญ่มีการใช้น้ำ จากบริษัทอีสต์วอเตอร์ เนื่องจากเกรงว่าปริมาณน้ำสำรองอาจไม่เพียงพอ โดยปริมาณน้ำของบริษัทที่มีอยู่สามารถจ่ายน้ำเข้าสู่ระบบ ได้ในปริมาณทั้งสิ้นกว่า 60 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งใช้บริโภคในภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยประมาณวันละ 14-15 ลูกบาศก์เมตร ขณะที่ปริมาณน้ำสำรองอยู่ที่ระดับ 10-11 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นคาดว่าจะสามารถรองรับการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมได้เป็นเวลาอีก 4 เดือนเท่านั้น

อย่างไรก็ตามมีหลายนิคมอุตสาหกรรมในเขตชายฝั่งทะเลตะวันออกที่มีศักยภาพการลงทุนสูง โดยมีชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และนิคมอุตสาหกรรมแปลงยาว (เกตเวย์ ซิตี้) เป็นต้น ได้วางแผนจัดสรรปริมาณน้ำสำรอง โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำสำรองไว้เพื่อรองรับการประกอบการภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ประเภทการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งเชื่อว่านักลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย จะไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน

บีโอไอ เจาะตลาดลาว-จีนตอนใต้
ดึง SMEs ภาคเหนือสำรวจลู่ทางการค้า

ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคเหนือ 1 จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ร่วมกับคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ จัดโครงการเชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ไทย - ลาว - จีนตอนใต้ ผ่านด่านชายแดนจังหวัดน่าน เพื่อเชิญชวนผู้ประกอบการ SMEs ไทยในภาคเหนือและภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทยร่วมเดินทางเพื่อสำรวจลู่ทางการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ในระหว่างวันที่ 9 - 14 พฤษภาคม 2548

สำหรับการสำรวจเส้นทางการค้าในครั้งนี้ เริ่มการเดินทางจากจุดชายแดนไทยที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน โดยเดินทางโดยรถยนต์ผ่านไปยังแขวงหลวงพระบางและแขวงอุดมไชยของ สปป.ลาว จากนั้นขึ้นเหนือต่อไปยังเมืองเชียงรุ้ง มณฑลยูนนาน ประเทศจีนตอนใต้ ทั้งนี้ คณะที่เดินทางไปครั้งนี้จะได้พบปะหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ หอการค้าและนักธุรกิจของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับ SMEs ไทยจากภูมิภาคต่างๆ ในการเพิ่มช่องทางและขยายโอกาสด้านการค้าการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net