มะเมี๊ยะ ไม่มีจริง?

เป็นอีกครั้ง ที่ "พลเมืองเหนือ" จำเป็นต้องขอเสนอเรื่องของ "มะเมี๊ยะ" หลังเกิดข้อถกเถียงแตกแขนงไปหลายประเด็นถึงที่มาและการจากไปของเธอ

- หญิงอันเป็นที่รักของเจ้านายฝ่ายเหนือเมืองเชียงใหม่ แต่ต้องถูกพลัดพรากด้วยเหตุที่ว่ากันไปทั้งเชื้อชาติและการเมืองหลากหลายแง่ความเห็นที่แม้จะแตกต่างกันไปก่อนหน้านี้แต่ยังคงอยู่ในกรอบที่ว่า "มะเมี๊ยะผู้นี้มีตัวตนจริง"

ตามคำบอกเล่าและบันทึกในหนังสือของอดีตนักหนังสือพิมพ์ผู้ล่วงลับ-ปราณี ศิริธร ส่งผลไปถึงการสืบค้นของผู้คนที่สนใจหลายกลุ่มถึงชีวิตช่วงบั้นปลายและล่วงลับของเธอว่าอยู่ที่ไหน?จบชีวิตลงอย่างไร ?

ไปจนถึงเถ้ากระดูกของเธอว่าอยู่ที่ไหนกันแน่ ?

แต่ข้อมูลล่าสุดที่ "พลเมืองเหนือ" ได้รับกลับปฏิเสธข้อสันนิษฐานก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง
"มะเมี๊ยะ ไม่มีตัวตน" เป็นเช่นนั้นจริงหรือ ?

------------------------

ข้อมูลล่าสุด "ชีมะเมี๊ยะ" อยู่มะละแหม่ง

ก่อนจะไปถึงหลักฐานชิ้นนั้น สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีความเคลื่อนไหวของข้อมูลในมุมที่เชื่อว่า
"มะเมี๊ยะ" มีจริง เป็นการทำงานต่อเนื่องของ รศ.จีริจันทร์ ประทีปเสน นายกสมาคมนักศึกษาเก่าคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ซึ่งติดตามชีวิตรักของเจ้าน้อยสุขเกษมและมะเมี๊ยะมานานหลายปี

และเคยตีความเนื้อหาของเรื่องดังกล่าวนี้จัดทำเป็นละคร "ตามรอยมะเมี๊ยะ" ขึ้นมาเมื่อปีที่ผ่านมา
และระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม ที่ผ่านมาก็ได้เดินทางไปสืบหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2548 ที่ห้องประชุมบริษัทเม็งรายกล่องกระดาษ จำกัด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีการเสวนาเรื่อง "ตามรอยมะเมี๊ยะ ครั้งที่2" ขึ้น

รศ.จีริจันทร์ กล่าวว่า จากการประมวลหลักฐานทางเอกสาร คือหนังสือ "เพ็ชรลานนาเล่ม 1-2" หนังสือ "ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่" ซึ่งแต่งโดยนายปราณี ศิริพร ณ พัทลุง และหนังสือ "โอลด์มูลเนียน" ของ RR. Langh M Carier

และได้เดินทางไปเมืองเมาะละแหม่งรับฟังคำบอกเล่าของเจ้าอาวาสวัดแจ้ตะหลั่น เมืองเมาะละแหม่ง และนางด่อเอจิ แม่เฒ่าเชื้อสายไทยใหญ่ ซึ่งมีย่าเป็นโยมอุปัฏฐากของแม่ชีด่อปาระมี
ทำให้ได้ข้อสันนิษฐานว่ามะเมี๊ยะน่าจะมีตัวตนที่แท้จริง

และน่าจะเป็นคนเดียวกับแม่ชีด่อปาระมี หรือแม่ชีด่อนางข่อง แต่ขณะนี้ได้เสียชีวิตไปแล้ว

ข้อสันนิษฐานที่ทำให้คณะทำงานของรศ.จีริจันทร์ เชื่อได้ว่า มะเมี๊ยะน่าจะเป็นคนเดียวกับแม่ชีด่อปาระมี คือระยะเวลาในการออกบวช และการเสียชีวิต ซึ่งใกล้เคียงกัน คือเริ่มบวชเมื่ออายุ 16-17 ปี และเสียชีวิตเมื่ออายุ 75 ปี

นอกจากนี้เจ้าอาวาสวัดแจ้ตะหลั่น ยังยืนยันรูปพรรณสัณฐานของมะเมี๊ยะ ว่าเป็นหญิงสาวที่สวย
ขาว และสูงเพรียว ซึ่งคล้ายคลึงกับแม่ชีรูปดังกล่าว พร้อมระบุว่าแม่ชีรายดังกล่าวเป็นผู้มีฐานะดี
มีข้าวของเครื่องใช้เป็นของมีราคาแพง และจากการพูดคุยกับคุณยายด่อเอจิ ซึ่งเป็นหลานของโยมอุปัฏฐากของแม่ชีรายดังกล่าว ยังทราบว่าเมื่อสอบถามสาเหตุของการมาบวชว่าเป็นเพราะอกหักหรือไม่ แม่ชีก็มักจะโกธร ไม่พูดจาและลุกหนีไป

รศ.จีริจันทร์ กล่าวว่า ความเชื่อดังกล่าวนี้ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่สรุปตามข้อมูลเท่าที่ได้สอบถามมา แต่จะต้องหาหลักฐานมายืนยันเพิ่มเติมอีกครั้ง เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่แน่นอนรอบ
ด้านเพื่อนำมายืนยันเพิ่มเติมโดยจะต้องสืบค้นต่อไป

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องการจะได้มากที่สุดและเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการทำงานเพื่อนำมาสู่ข้อสรุปคือ
อยากเรียกร้องให้คนเก่าแก่ โดยเฉพาะเจ้านายฝ่ายเหนือที่เป็นคนใกล้ชิด หรือเคยได้สดับตรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาให้ข้อมูลเพิ่มเติม เชื่อว่าจะสามารถรวบรวมข้อมูลให้นำไปสู่ข้อสรุปที่กระจ่างชัดมากขึ้น

จดหมายจากผู้ที่ใช้ชื่อว่า "เหนือฟ้า ปัญญาดี"
ส่งมาถึงบรรณาธิการพลเมืองเหนือ เมื่อ 6 มีนาคม 2548 อาจเป็นหลักฐานหนึ่งได้หรือไม่ ? หาก
แต่เนื้อหา ได้ต่างจากข้อสันนิษฐานแรกอย่างสิ้นเชิง เราไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า "เหนือฟ้า ปัญญาดี" คือใคร ? และเกี่ยวพันชิดใกล้กับ "ปราณี ศิริธร" ผู้เขียนตำนานรักของเจ้าน้อยสุขเกษมกับมะเมี๊ยะลึกซึ้งเพียงไร มิตินี้จึงน่าจะได้ขยายความ

หากแต่บทความของเขา ขอใช้สิทธิ์ผู้อ่านพลเมืองเหนือเปิดอีกมิติหนึ่งของ "มะเมี๊ยะ" ในข้อมูลที่เขามีอยู่และเขียนมันขึ้นมา อยู่ที่ว่าผู้อ่านท่านอื่นจะวิเคราะห์และยอมรับข้อมูลชุดนี้มากน้อยเพียงไร และนี่คือบทความที่เขาส่งมา

ปฏิเสธ : ไม่มี มะเมี๊ยะ" ในเมาะละแหม่ง
แล้วนางเป็นใคร? อยู่ที่ไหน?

โปรยหัวไว้แบบนี้ ใครๆ ที่เคยอ่านเรื่องราวของ "มะเมี๊ยะ" ดี คงต้องพูดกันว่า ผมเขียนแบบคนไม่รู้จริงทั้งๆ ที่ใครก็รู้กันว่า "มะเมี๊ยะ" นั้นเป็นใคร มาจากไหน เป็นคนรักของใคร อาจทำให้ใครบางคนอ่านเรื่องราวของผมไม่จบ พาลโดยหนังสือทิ้งไป โทษฐานที่เขียนอย่างคนไร้สติและเป็นขบถในความคิดของคนอื่น

สำหรับเรื่องนี้ ขอให้ทุกคนโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านว่า ควรน่าจะเชื่อดีหรือไม่ ผู้อ่านบาง
ท่านอาจคิดว่าผมอวดดีอย่างไรถึงมา "หักดิบ" ในความเชื่อและฝังใจจากเรื่องเดิมที่คุณปราณีได้เขียนขึ้นมา ซึ่งในเรื่องนี้ก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละคน ไม่สงวนสิทธิ์ในการเชื่ออยู่แล้วครับท่าน

เมื่อไม่มี "มะเมี๊ยะ" ในเมาะละแหม่ง แล้วนางอยู่ที่ไหน ทุกคนอาจสงสัย แล้วย้อนถามว่า ก็ในเมื่อนางเป็นคนของพม่าผมขอบอกตามตรงว่า เรื่องนี้มีเบื้องลึก และเบื้องหลังมากมายที่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย ในวันนี้ผมจะกล่าวถึงเฉพาะหัวข้อที่เกริ่นไว้เพียงเท่านั้น เอาไว้โอกาสหน้าผมจะมาเล่าถึงเหตุการณ์ เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน "ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่" แบบเจาะลึกจนท่านแทบไม่น่าเชื่อ

"มะเมี๊ยะ เป๋นสาวแม่ก๊า คนพม่าเมืองเมาะละแหม่ง…"

เสียงเพลง "มะเมี๊ยะ" จากการร้องของสุนทรี เวชานนท์ และเนื้อร้องที่แสนสะเทือนใจของ จรัล มโนเพ็ชร แต่งขึ้นโดยได้อาศัยเค้าโครงเรื่อง "มะเมี๊ยะ" ของคุณปราณี ศิริธร ที่เขียนรวบรวมไว้ในหนังสือ เพ็ชร์ลานนา เมื่อพ.ศ.๒๕๐๗ จนเพลงเป็นที่รู้จักกันไปทั้งประเทศ

ย้อนหลังไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ คุณปราณี ศิริธร อดีตนักเขียนสารคดี และนักหนังสือพิมพ์ในเชียง ใหม่ อ้างว่า ได้รับฟังคำบอกเล่าจากเจ้าในสกุลคนหนึ่งถึงเรื่องความรักของเจ้าน้อยบุตรชาย
ของเจ้าในคุ้มเมืองเชียงใหม่ ว่า เจ้าน้อย ถูกส่งไปเรียนหนังสือที่เมืองเมาะละแหม่งและได้พบรักกับสาวชาวพม่า

เมื่อเดินทางกลับมาเมืองเชียงใหม่จึงได้นำสาวคนรักกลับมาด้วย โดยหวังว่าจะบอกเรื่องความรักของตนเองให้เจ้าพ่อ เจ้าแม่ได้รับทราบ แต่เหตุการณ์กลับทำให้สาวคนรักต้องถูกส่งกลับพม่า
ทั้งสองจึงพลัดพรากจากกัน ไม่ได้พบกันจวบจนทั้งสองได้ตายจากกัน

จากเรื่องความรักของคนทั้งสองได้ถูกคุณปราณีเขียนลงในหนังสือ เพ็ชรล้านนนา พ.ศ. ๒๕๐๗
โดยกล่าวถึงความรักของคนทั้งสองนั้นประพฤติผิด "ฮีตฮอย" ต่อบรรพบุรุษรวมไปถึงการเมือง
ที่เชียงใหม่กลัวว่าจะมีความผิดต่อสยามในฐานะที่เชียงใหม่เป็นประเทศราชในขณะนั้นทางเชียงใหม่จึงได้ส่งตัวสาวคนรักของเจ้าน้อยกลับคืนพม่าตามลำพัง เรื่องราวจึงจบลงเพียงเท่านั้น

ต่อมาต้นปี พ.ศ.๒๕๒๓ คุณปราณีได้เขียนหนังสือเรื่อง "ผู้บุกเบิกแห่งเชียงใหม่" ใกล้จะเสร็จคุณปราณีได้เขียน "ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่" ควบคู่กันไปอีกเล่มหนึ่ง โดยบอกว่า เรื่องนี้ได้เขียนต่อจากในหนังสือเพ็ชร์ลานนา ที่เขียนค้างไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อน

ซึ่งคุณปราณีบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นภายในคุ้มเมืองเชียงใหม่ เรื่องราวต่างๆ จึงรู้กันแต่ภายใน คนภายนอกไม่เคยได้เห็นหน้าหรือรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของสาวพม่าคนนั้นเลย เพราะอาจถูกห้ามไม่ให้พูดถึง

จนกระทั่งนางถูกส่งกลับเมืองพม่าเรื่องราวต่างๆ จึงเงียบสงบลง ไม่มีใครพูดถึงอีกเลย

คุณปราณีเล่าว่า "เมื่อพี่ (คุณปราณีชอบให้เรียกตัวเองว่า "พี่" ) ลงมือจะเขียนเรื่องนี้ ก็ติดอยู่ที่ไม่รู้ชื่อสาวพม่าคนรักของเจ้าน้อย จึงจำเป็นต้องสมมุติชื่อขึ้นมาโดยได้ใช้ชื่อ "มะเมี๊ยะ" ซึ่งเป็นชื่อของผู้หญิง ชาวไทยใหญ่ที่พี่รู้จักดีและมีบ้านอยู่ใกล้กัน นำมาใช้" อีกเหตุผลหนึ่งที่คุณปราณีใช้ชื่อนี้เพราะเรียกง่าย จำง่าย และเมื่อได้ยินแล้วสะดุดหู

จากคำพูดของคุณปราณีที่เล่าให้ฟังในตอนนั้น ผมไม่เคยคิดเลยว่าอีกยี่สิบห้าปีต่อมา มันจะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขไปสู่ความลับที่ผู้ที่สนใจในเรื่องนี้พยายามที่จะศึกษาค้นคว้า แต่ก็พบกับทางตันจึงทำให้แต่ละคนก่อเกิดจินตนาการอันล้ำลึก เคลิบเคลิ้มไปกับเรื่องราวต่างๆ ที่คุณปราณีเขียนขึ้นมา

ผมได้อ่านพบบทความของนักวิชาการท่านหนึ่งกล่าวว่า "ประเด็นที่ต้องค้นคว้าต่อไปว่า เหตุใด
มะเมี๊ยะจึงเปลี่ยนชื่อและเหตุใดต้องใช้ชื่อว่า "นังเหลียน" (ความจริงควรจะเรียกว่า "นางเหลียน"
เพราะคำว่า "นาง" ใช้เรียกนำหน้าชื่อเพศหญิง ส่วนคำว่า "จาย" นั้นใช้เรียกนำหน้าชื่อเพศชายซึ่งหมายถึง "นาย" ในภาษาไทย ตามการเรียกชื่อของชาวไทยใหญ่)

ข้อความดังกล่าวทำให้ผมต้องทำตัวเป็นนักสืบออกติดตามสืบสาวหาเรื่องราวก็ได้ความว่า
ซอยศิริธร (บ้านคุณปราณีอยู่ในซอยศิริธร และได้ใช้นามสกุลของตัวเอง เป็นชื่อซอยข้างวัดป่าเป้า)
เมื่อก่อนนั้นถ้าทุกคนที่เคยอาศัย หรือผ่านไปมาบริเวณถนนมณีนพรัตน์ คงเคยเห็นอาจจำได้ว่า
หน้าปากซอยจะมีห้องแถวเรือนไม้จำนวน 6 ห้อง ห้องแรกอยู่ติดปากซอยจะเป็นร้านซ่อมนาฬิกา
ห้องที่สองเป็นที่พักอาศัย ห้องที่สามเป็นร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์ และห้องสุดท้ายเป็นร้านขายผลไม้ดองและแช่อิ่มชื่อร้านเกรียงไกรพานิช (ปัจจุบันห้องแถวเรือนไม้ถูกรื้อลงสร้างเป็นตึกแถวขึ้นมาแทน)

สอบถามคนที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้นมานาน ก็ทราบว่า ห้องแรกที่เปิดเป็นร้านซ่อมนาฬิกานั้นเป็นครอบครัวไทยใหญ่ มีเพียง ๓ คน พ่อแม่และลูกสาวเท่านั้น ตัวพ่อและแม่นั้นมีอายุมากแล้ว
คนที่รู้จักมักเรียกกันว่า "ส่างอ่อง" และ "แม่นางเหม่" ส่วนลูกสาวนั้นจำไม่ได้ว่าชื่ออะไร แต่เป็นครูสอนหนังสือ ซึ่งครอบครัวนี้คุณปราณีรู้จักและสนิทสนมอย่างดีเป็นพิเศษ จึงทำให้น่าคิดว่า คุณปราณีน่าจะนำชื่อของ "แม่นางเหม่" มาใช้ตามที่เคยได้เล่าไว้

จึงสอบถามในเชิงลึกได้ความว่าแท้ที่จริงแล้ว "แม่นางเหม่" มีชื่อจริงว่า "แม่นางเมี๊ยะ" เมื่อเรียกกันนานๆ เข้าก็เพี้ยนเสียงเป็น "เหม่" ในพม่าคำนำหน้าชื่อผู้หญิงหรือเพศหญิงนิยมใช้คำว่า "มะ" (ไม่ใช่ "หมะ" ตามที่พูดหรือ เขียนกันอยู่ในขณะนี้) จะใช้นำหน้าชื่อผู้หญิงตั้งแต่เด็กจนเป็นสาว
เป็นคำเรียกขานแบบทั่วๆ ไป เมื่อคุณปราณีนำชื่อ "แม่นางเมี๊ยะ" มาใช้จึงเรียกตามแบบพม่าว่า "มะเมี๊ยะ"

ส่วนคำว่า "ด่อ" จะใช้นำหน้าชื่อผู้หญิงที่แต่งงานแล้วหรือมีอายุตั้งแต่ ๓๕ ปีขึ้นไปเช่น "ด่อนางเหลียน" ส่วน "ส่างอ่อง" และ "แม่นางเหม่" ได้เสียชีวิตลง หลังจากย้ายออกจากห้องแถวเรือนไม้ได้ไม่นาน

นี่คงเป็นเบื้องลึกและเบื้องหลังอีกข้อหนึ่ง ที่ทำให้คนที่สนใจและนักวิชาการหลายๆ ท่านติดตามเสาะหา "มะเมี๊ยะ" ไม่พบในเมืองเมาะละแหม่ง และเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รู้ว่า อันตัวตนของ
"มะเมี๊ยะ" จริงๆ นั้นมิใช่สาวชาวพม่าที่มีหน้าตาจิ้มลิ้มพริ้มเพรา สวยงามหยาดเยิ้มดังที่คุณปราณีได้เขียนพร่ำพรรณนาเอาไว้ เพียงแต่เป็นหญิงชาวไทยใหญ่แก่ๆ ธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้น

สำหรับความรักของคนทั้งสองนั้น ในความรู้สึกของผมบอกได้ว่า มันไม่ใช่ตำนานหรือประวัติ
ศาสตร์หน้าใดหน้าหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ ความประสงค์ของคุณปราณีที่เขียนขึ้นมานั้นเพียงต้องการที่จะเล่าถึงความรักของหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่ต่างเชื้อชาติและภาษาที่ไม่สมหวังรักในอดีตให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้เพียงเพิ่มเติมสีสันให้กับเรื่องราว เพื่อชวนน่าอ่านและน่าติดตามก็เท่านั้น

ตอนนี้ ถ้าคุณปราณียังมีชีวิตอยู่ จะแน่ใจกันสักแค่ไหนว่าเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายจะได้รับคำตอบที่เป็นจริงว่า "มะเมี๊ยะ" นั้นเป็นเพียงนางในจินตนาการที่แต่งขึ้น หรือว่ามีตัวตนจริงๆ กันแน่

เหนือฟ้า ปัญญาดี.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท