Skip to main content
sharethis

อาจกล่าวได้ว่าสังคมชนบททุกวันนี้ เปลี่ยนจากภาพเดิมในอดีตแบบหน้ามือเป็นหลังมือ จากสภาพครอบครัวใหญ่ กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว จากที่เคยยึดอาชีพเกษตรกรรม หลายครอบครัวกลับทิ้งเทือกสวนไร่นาไปเผชิญโชคในเมืองใหญ่ ทำงานในโรงงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ จากการกินอยู่แบบพอเพียง กลับฟุ้งเฟ้อก่อหนี้สินเพียงเพื่อแลกกับปัจจัยด้านวัตถุเพื่อสนองความสุข และจากเหตุผลมากมายเหล่านี้จึงทำให้สังคมชนบทของไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนและสังคมอ่อนแอ

จังหวัดในภาคเหนือตอนล่างขณะนี้มีเครือข่ายเกิดขึ้นมากมาย ทั้งเครือข่ายเกษตรกรรมและการแก้ปัญหาให้กับชุมชน

นายวิกิจ เพ็ญภาค ที่ปรึกษาเครือข่ายสมุนไพรตำบลบ้านโภชน์ อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ชาวบ้านในตำบลบ้านโภชน์มีหนี้สินในทุกครัวเรือนเฉลี่ยราว 1.7 แสนบาท
สาเหตุสำคัญคือการไม่มีความพอเพียง หลายครอบครัวทิ้งบ้านออกไปทำงานในเมือง ครอบครัวที่อยู่กันพร้อมหน้าพ่อแม่ลูกนั้นมีน้อยเต็มที ความแก่งแย่งชิงดีกันมีมากขึ้น เอารัดเอาเปรียบสังคมโดยรวมของสังคมในตำบลบ้านโภชน์จึงหาสุขไม่เจอและส่วนใหญ่เป็นทุกข์เสียมากกว่า

" ผมได้รวบรวมคนกลุ่มหนึ่งได้ ราว 7 - 8 คนไปชวนชาวบ้านจับกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ร่วมกันทำงานได้ไม่นานนัก เขาก็มีทางออกด้วยการชวนกันการสร้างกิจกรรมคือการหาวิธีประหยัด
ชาวบ้านเลือกพัฒนาสมุนไพรเพื่อนำมาใช้ในการแก้เจ็บป่วยที่พอจะเยียวยากันได้ เป็นการลดรายจ่ายที่ต้องจ่ายออกไปเมื่อยามรเจ็บป่วย เป็นการถนอมเงินไว้เพื่อลดหนี้"

นายรังสรรค์ น้อยท่าช้าง คณะทำงานเครือข่ายส่งเสริมสิทธิการจัดการทรัพยากรภาคประชาชน ภาคเหนือตอนล่าง บอกว่า ตนอยู่บ้านป่าคาย อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ บ้านป่าคายไม่เคยมีปัญหาไม่เคยแก่งแย่งชิงดี ชาวบ้านใช้ป่าเป็นแหล่งอาหาร ต้นน้ำ แต่ปัจจุบันป่าของที่นี่เป็นที่ต้องการของนายทุน ที่ได้รับสัมปทานเข้ามาระเบิดหินในพื้นที่ที่เราทำมาหากิน นายทุนจับมือกับ
อบต.ทำการต่อประทานบัตรระเบิดหินในพื้นที่อนุรักษ์ของชุมชน ชาวบ้านก็รวมตัวกันเข้ายึดพื้นที่คืน จัดเป็นป่าชุมชน กำหนดโซนป่าจนการระเบิดหินไม่สามารถดำเนินการได้ด้วยกำลังชาวบ้าน
โดยพลังการทำงานของชาวบ้านเริ่มตั้งแต่ปี 2544 ชาวบ้านรวมกลุ่มจับมือกันและสร้างเครือข่ายไปในภาคเหนือตอนล่าง ขยายเพื่อนดูแลป่า มากขึ้นถึง 10 พื้นที่ร่วมจัดเวทีเสวนาต่อเนื่อง ปลูกจิตสำนึกให้กับประชาชนในชุมชน

การก่อตัวของชาวบ้านป่าคายด้วยกลุ่มเล็กๆ จับมือเป็นกลุ่มใหญ่ ใช้กิจกรรมทางวัฒนธรรมและดนตรีพื้นบ้านเริ่มจากทุนเดิมที่มีอยู่มากมาย รวมตัวกันจนสามารถตั้งเครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยภาคประชาชนสำเร็จด้วยดี

นายสมยศ มณีโชติ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า
ในความแร้งแค้นในเวทีแห่งการแข่งขันอาจถือเป็นบทเรียนสำคัญที่จะให้คนได้กลับมาคิดถึงแนวทางที่ผ่านมาและบางกลุ่มอาจทำได้เพียงโหยหามัน

ที่ อ.ชนแดนเกษตรกรมีที่ดินก็จริงแต่พบว่ามีทุกข์มาก ผลิตได้แต่ขายไม่ได้ เขาเหล่านั้นขาดปัจจัยการผลิตยังไม่สำคัญเท่าขาดโอกาส ในที่สุดสิ่งที่เพิ่มขึ้นก็คือหนี้สิน ตรงนี้เห็นชัดว่าเป็นปัญหาแบบเดียวกัน

ผมเริ่มงานจากจุดเล็กๆต่อการพูดคุยออกไป เริ่มแรกเราคุยกันวงเล็กๆ เราพบว่าหนี้มีอยู่มากมายในชุมชน ตั้งแต่กองทุนหมู่บ้าน กขคจ. ธกส. สหกรณ์ หนี้นอกระบบ เป็นต้น

ในที่สุดก็ต้องวนเวียนใช้หนี้และในที่สุดก็เสียที่ดินไปเป็นสูตรสำเร็จของทุกครัวเรือนเรื่องนี้เราต้องมาค่อย ๆ ช่วยกันคิดว่าเป็นเพราะอะไรที่เราขายได้ก็จริงแต่เหลือน้อยไม่พอใช้หนี้ ช่วยกันสำรวจตัวเองว่ามีเรามีศักยภาพอะไรแล้วขาดอะไร

สิ่งที่เราคิดเริ่มแรกคนส่วนใหญ่ไม่สนใจที่จะร่วมกันคิดร่วมกันทำ ต่างคนต่างก็หาทางออกกันเองไม่รวมกลุ่ม มีอยู่ 35 ครอบครัวสามารถรวมตัวกันได้มีการสำรวจพบว่ามีหนี้ถึง 4 ล้านบาทเศษ
เมื่อเราทราบปัญหาร่วมกันแล้วก็ร่วมกันวางแผนของแต่ละครอบครัว หลอมรวมเป็นแผนของกลุ่ม จากนั้นก็เริ่มทำงานเราพบว่า

"ความไม่รู้เป็นปัญหาใหญ่ เมล็ดพันธุ์ต้องซื้อ และซื้อทุกอย่าง ตรงนี้เองที่ทำให้สมาชิกในกลุ่มไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ได้ เรากลับมาจุดเริ่มต้นใหม่เริ่มช่วยกันลดต้นทุนการผลิต เริ่มด้วยการผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เอง ใช้ปุ๋ยที่มีอยู่ในชุมชนคือ ขี้วัวขี้ควาย
คิดค้นวิธีการผลิตยาปราบวัชพืชมาแทนยาฆ่าหญ้า ภายใต้การใช้วัตถุดิบคือองค์ความรู้และพืชสมุนไพรที่เรามีอยู่ จะเห็นว่าการก้าวเดินไปเพื่อการแก้ปัญหาต้องทำจริง ทำตั้งแต่สิ่งเล็กๆ ทำทุกวัน มีเวลาว่างให้น้อยลงใช้เวลามาทำปุ๋ยหมักให้มากขึ้น

เรามีมติร่วมกันว่าเราจะปลดหนี้ด้วยตนเองให้ได้ภายใน 3 ปี เมื่อมีเป้าแล้วต้องทำลายกำแพงแนวคิดของชาวบ้านให้พังลงไปด้วยการพยายามจัดเวทีพูดคุยในชุมชนให้มากขึ้น ค้นหาตัวเองและแนะให้คิดเอง เรียกง่ายๆ ว่าเมื่อเกิดอาการคันก็สามารถเก่าตุ่มคันเองได้ไม่ต้องให้คนอื่นมาช่วย ถ้ารู้ว่าตัวเองมีทุกข์อย่างไรแล้วค้นหาสาเหตุไม่ได้ ไม่มีทางที่ใครจะมาแก้ให้ได้ เรายึดหลักกันอย่างนี้"

เรารวมตัวกำหนดพื้นที่ทำงานคนละ 2 งานเอามาปลูกผักแล้วใช้ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมัก ผักที่ได้ปลอดภัยในหมู่บ้านต้องใช้น้ำประปาลดผักเนื่องจากแหล่งน้ำไม่มีขาดแคลนมากเสียค่าน้ำเดือนละ 300 บาทต่อราย ในขณะที่สามารถขายผักได้เดือนละ 1,370 บาท

วิธีการปลูกและขายไม่ยากการขายผักชาวบ้านที่มาซื้อผักไปเก็บเองเอาไปพอประมาณแล้วไปจ่ายสตางค์เจ้าของไม่ต้องเสียเวลาเก็บ คนที่ร่วมมือมีรายได้เพิ่ม ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ร่วมมือไม่มีรายได้และไม่มีอาหาสมบูรณ์อย่างคนในกลุ่ม เราได้มีแนวทางในการช่วยเหลือคนเหล่านั้นด้วยการวางโครงการปลูกผักในชุมชนให้เป็นสาธารณะ เช่นปลูก แค ขี้เหล็ก เสี้ยว ตามข้างถนนจำนวน 2,012 ต้นเพื่อให้คนในชุมชนได้มีผักกินฟรีถ้วนหน้า ตรงนี้เองที่สามารถสร้างมิตรเพิ่มได้อีก

นายสุธี ประสาสน์เศรษฐ์ ประธานกรรมการอำนวยการชุมนเป็นสุข ส.ส.ส. กล่าวถึงสถานการณ์ของประเทศไทยที่ทำให้ชุมชนมีบทเรียนการแก้ปัญหาของชุมชนว่า พ.ศ. 2525 วิกฤติเศรษฐกิจสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกษตรกรส่วนใหญ่เข้าไปอยู่ในกระแสหลักหรือเกษตรเคมี
ทำนาปีเหลือหนี้กับซัง ยังไม่พอไปทำนาปรังต่อเหลือซังกับหนี้ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้คนถอยออกจากเกษตรเคมี มาหาของเก่าที่เป็นการลดหนี้สิน มีการบูมเศรษฐกิจชุมชน นักวิชาการออกมาพูดเรื่องพึ่งพาตนเอง

แต่พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวปี 2529 ทุนญี่ปุ่นย้ายมายังประเทศไทย ที่ห้องสัมมนาเดิมที่เคยเจียมเนื้อเจียมตัว ก็เปลี่ยนจากการเกษตรอินทรีย์แล้วเปลี่ยนไปคิดว่าไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5สาเหตุที่ต้องย้อนไปในเหตุการณ์ในอดีตเพราะเชื่อว่าปัจจุบันถ้าเศรษฐกิจเกิดดีขึ้นมาก็อาจเปลี่ยนไปอีก
แต่ยังเชื่อว่าภาคประชาชนยังคงยืนหยัดบนแนวคิดของตนเอง
ประเด็นสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่าทำอย่างไรให้เกิดความเข้มแข็งทางสังคมชุมชนคือประเด็นที่ว่า
ต้องวัดความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจอย่างไร กลุ่มด้อยโอกาสหรือผู้ที่ถูกปล้นอำนาจไป ทั้งด้านเศรษฐกิจการเมือง คนกับธรรมชาติ เป็นการจัดวางความสัมพันธ์ถึงอนาคตชั่วลูกชั่วหลาน
ถ้าลืมตรงนี้อนาคตลูกหลานอาจบอกตัวเองไม่ได้ว่าเป็นใคร

"ผมยังคิดว่ายังโชคดีที่มีเครือข่ายธรรมชาติอยู่ท่านพูดชัดคือต้องจัดความสัมพันธ์ให้เหมาะสมทั้งทางกาย ทางวัตถุ และทางจิตวิญญาณ ปัจจุบันมีการทำให้คนไปลุ่มหลงวัตถุ เป็นกลยุทธของกลุ่มจักรวรรษนิยมผู้ครอบงำ ฝรั่งสนใจภูมิปัญญาตะวันออกแต่เรากำลังละทิ้งแล้วไปหาเครื่องจักรมาพัฒนากันในทุกๆ ด้าน ในส่วนประเด็นสุขภาวะชุมชนเพื่อความเข้มแข็งทางสังคม
เรื่องนี้ความจริงแล้วท่านตอบคำถามเหล่านี้ได้อยู่แล้ว จึงอยากให้มองภาคสังคมซึ่งปัจจุบันยังอ่อนแอ ในอดีตกว่า 800 ปี ถูกครอบด้วยภาครัฐกลไกรัฐ ระดมทรัพยากรผ่านศักดินาตั้งแต่สมัย ร.4 เป็นต้นมา"

ระยะหลังราว 100 ปี เราถูกพลังจากภาคกลุ่มทุนธุรกิจเข้าครอบงำเป็นพลังที่มหาศาล ส่วนภาคสังคม ประชาชนยังไม่สามารถทำอะไรได้ กลไกรัฐมีทรัพยากรมากมาย ผูกขาดอำนาจใช้ความรุนแรง ภาคธุรกิจพัฒนาขึ้นในลักษณะรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น สมาคมธนาคาร
สภาหอการค้า แต่เมื่อไรตั้งกลุ่มชาวนา สหภาพแรงงานรับรองว่าโดนแน่

ถึงแม้ว่าเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ จึงต้องมาตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไรภาคสังคมจะเข้มแข็ง สาเหตุเพราะพลัง 3 ส่วนไม่สมดุล 2 ส่วนแย่งกัน ภาคประชาชนส่วน 3 ถูกลิดรอนจนด้อยคุณค่าขาดสันติสุข ทำอย่างไรจะสร้างสรรค์ให้เกิดภาวะสมดุล ทุกฝ่ายต้องการให้ภาคสังคมอ่อนแอ เป็นเรื่องของการเมือง จริงอยู่รัฐธรรมนูญปี2540 มีการขยายบทบาทสิทธิภาคประชาชนจนเป็นแม่บทที่ใช้ได้ให้ภาคสังคมดำเนินการให้เข้มแข็งอย่างไม่ต้องกลัว อีก 2 ภาค

ความจริงแล้วใน 2 ภาคคนดีก็มีอยู่แต่เป็นการกล่าวในเชิงระบบ รัฐธรรมนูญต้องการให้เงินของชาติลงท้องถิ่นร้อยละ 35 แต่ปรากฏว่ามีคนมาทำลายยับยั้งไม่ให้เกิด นิยามคำว่า "ประชาธิปไตย"
ตามรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่ชนชั้นปกครองพยายามใส่ความคิดให้กับประชาชนว่ามีหน้าที่ มีส่วนร่วมเพียงการหย่อนบัตรเท่านั้นซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
องค์กรอิสระตั้งมาเพื่อถ่วงดุล แต่ปัจจุบันองค์กรอิสระกลัวถูกวิพากษ์จากสื่อเพราะไปเป็นเครื่องมือให้กับ 2 ภาคแรก สภากำลังเป็นอาณาจักรของใคร ทำให้เห็นภาพของภาคปฏิบัติทางประชาธิปไตยรวมศูนย์อำนาจมีมากเหลือเกิน ต้องการให้อยู่ใต้อุปถัมภ์ ต้องการให้ประชาชนเป็นง่อย

เราหลายคนพยายามต่อสู้แต่ต้องเจออะไรมากมาย เราเหมือนอยู่ในสังคมเดิมอยู่บนเส้นทางวิบัติ
แล้วรักษาเชิดชูไว้ด้วยเหยื่อที่เขาโยนมา จึงมีอยู่ 2 ทางคือเส้นทางอนุรักษ์สังคมเดิม หรือเส้นทางหายนะและเส้นทางปฏิรูปสังคมให้เกิดสมดุล หรือสังคมอารยะ สันติสุข บุคคล ชุมชน ขบวน องค์กรใหญ่ มี 2 พลังดึงไปดึงมา

ถ้าสังคมเกิดเข้มแข็งก็จะไปทางสายสมดุล ถ้าไปแบบเดิมก็เหมือนไปตกหลุมอบายมุข ชุมชนแบบเก่าเฝ้ารอให้เขาเอาปลามาให้กินฟรี ๆ ไม่ขอตกปลาเอง การสร้างเครือข่ายให้เกิดขึ้นเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม

ทางออกจะต้องใช้ทฤษฏีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา 1.หาแหล่งภูมิปัญญา 2.เคลื่อนสังคม 3.เคลื่อนไหวเชิงนโยบาย ซึ่งรวมกันเรียกว่า "การเคลื่อนไหวทางสังคม" เรามีการเคลื่อนไหวทางสังคมอยู่แล้วในแนวประเด็นปัญหาถ้าจะเป็นขบวนการต้องมีการเพิ่มเติมคือ เป้าหมายขบวน ชัดเจน ไม่ใช่วัตถุประสงค์เฉพาะขบวน

ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเครือข่ายชาวบ้าน หรือนักวิชาการก็ตามที่กำลังเดินไปเพื่อให้สังคมเป็นสุข
ล้วนเป็นเส้นทางที่เสียดทานกับแนวการเมืองที่ถูกครอบงำด้วยกลุ่มทุนใหม่ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว
ไม่มีใครทัดทานได้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังตกเป็นทาส ที่รอรับโครงการที่รัฐจัดให้

ซึ่งเมื่อมาวิเคราะห์แล้วน่าจะพบว่าสิ่งที่รัฐยื่นมาให้มิได้นำไปสู่การแก้ปัญหาและสร้างสุขได้อย่างแท้จริงเป็นเพียงเหยื่อที่รัฐกำลังทำให้ประชาชนเกิดความเพลิดเพลินกับการกินเหยื่อ เมื่อหมดก็มีการเติมเข้ามาเป็นระยะ ๆ ไป จะเป็นว่าชุมชนในภาคเหนือตอนล่าง ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลกอุตรดิตถ์ สุโขทัย นครสวรรค์ พิจิตรหรืออีกหลายๆ จังหวัด มีกลุ่มคนที่ออกมามีบทบาทมากขึ้นในด้านการพึ่งพากันเอง และแนวทางของเกษตรพอเพียงที่นำเอาวิถีไทยกลับมาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามถึงแม้องค์กรเครือข่ายเหล่านี้จะมีไม่มากนัก แต่ก็น่าจะเป็นขบวนการเคลื่อนตัวของภาคประชาชนในภาคเหนือตอนล่างที่น่าจับตามองมากทีเดียว เพื่อสร้างพลังและเป็นเกราะคุ้มกันไม่ให้สังคมชนบทล่มสลายในอนาคต.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net