Skip to main content
sharethis

แขวงคำม่วน สปป.ลาว-ภาพ-1
-----------------------------------------

ภายหลังธนาคารโลกตัดสินใจค้ำประกันโครงการน้ำเทิน 2 แหล่งข่าวบางรายบอกว่าโครงการดังกล่าวเริ่มก่อสร้างไปแล้ว

การเดินทางไปยังแขวงคำม่วน ประเทศลาวครั้งนี้ จึงเป็นการไปเพื่อพิสูจน์ว่า จริงอย่างที่ได้ฟังมาหรือไม่

เพราะหากเป็นจริงก็ถือเป็นการคว่ำตรรกะที่ผู้ติดตามโครงการนี้ที่เชื่อว่า หากธนาคารโลกยังไม่ค้ำประกัน โครงการดังกล่าวก็จะยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง

เหตุผลอีกประการคือ แม้จะมีกระแสการคัดค้าน โครงการไฟฟ้าน้ำเทิน 2 ตลอดมาโดยองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย แต่ฝ่ายคัดค้านก็ยอมรับว่า ยังไม่เคยเข้าไปถึงสถานที่ก่อสร้างโครงการดังกล่าว ด้วยเงื่อนไขทางการเมือง

การไปครั้งนี้จึงถือเป็นการไปทำความรู้จักกับสถานที่เกิดเหตุด้วยอีกประการหนึ่ง

จากหมอชิต
เราเดินทางโดยรถทัวร์สายกรุงเทพฯ - นครพนม เวลา 20.45 น. ระบุว่า ใช้ระยะเวลาประมาณ 11 ชั่วโมง ประมาณ 6 โมงเช้า แดดเช้าฉายเรื่อเข้ามาทางหน้าต่างรถ ปลุกให้เราตื่นขึ้น กลางป่าภูพาน เราตื่นเต้นกันพอสมควรด้วยไม่คาดว่าจะตื่นขึ้นมาพบตัวเอง (เหมือน) เดินทางตัดผ่านป่า

ไม้ใหญ่เรียงรายอยู่ริมทาง เนินเขาซึ่งบังคับให้ถนนลาดตัวสูง ๆ ต่ำ ๆ นั้น ช่วยให้เราเห็นทัศนียภาพภูพานชัดเจนขึ้น แม้จะหลับไม่สบายนักในคืนที่ผ่านมา เราต่างก็รู้ว่า จะไม่ปิดเปลือกตาลงอีก

1 ชั่วโมงหลังตื่นขึ้นในป่าภูพาน เราเดินทางถึงจังหวัดนครพนม

"ลูกตาล" เจ้าของบ้านที่เราขอพักอาศัยด้วยในนครพนมขับรถมารับเรา 2 คน ที่สถานีขนส่งประจำจังหวัด เธอขับรถคล่องแคล่ว "เป็นธรรมดาของแม่ค้าต่างจังหวัด" เธอว่าอย่างนั้น ก่อนที่จะพาเราวนรอบเมืองนครพนม 1 รอบ และปล่อยให้เราหาวิธีข้ามฝั่งโขงแบบเป็นทางการในบ่ายนั้น

ด่าน ต.ม. นครพนม
แม้จะพอรู้ขั้นตอน และอัตราค่าธรรมเนียม แต่เราตกลงกันว่าจะเลือกถามวิธีการข้ามฝั่งไปยังแขวงคำม่วนจากเจ้าหน้าที่ประจำ ต.ม.อย่างเป็นทางการก่อน เผื่อมีบางขั้นตอนที่เราไม่รู้

โชคไม่ดี เจ้าหน้าที่ ต.ม. ที่เราพบวันนั้น ไม่ช่วยให้เราประทับใจในการพบกันครั้งแรก เขาไม่อธิบายอะไรนอกจากบอกว่า "มันต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ" เมื่อเราถามว่าอะไรบ้าง ก็ได้คำตอบว่า "ก็ค่าล่วงเวลา ค่าเรือ ค่าเหยียบแผ่นดิน ยุบยิบ" เขาตอบพลางยื่นมืออกมาข้างนอก เคาะปากกาในมือตลอดการสนทนา

วันนั้น เป็นวันอังคารที่ 3 พ.ค. เวลาประมาณ 13.00 น. เราสงสัยว่า ในเวลาทำการต้องจ่าย "ค่าล่วงเวลา" ด้วยหรือ

ชาวนครพนมที่เดินทางข้ามฟากบ่อย ๆ รู้ว่าค่าใช้จ่ายในการข้ามฟากแต่ละครั้ง มีเพียงค่าเรือเที่ยวละ 50 บาท หากเดินทางโดยพาสปอร์ต หมายความว่า ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่ด่านตม.

แต่หากไม่มีพาสปอร์ต ก็สามารถเดินทางโดยทำบอร์เดอร์พาส หรือบัตรผ่านแดนชั่วคราว ซึ่งกำหนดเวลาอยู่ในลาว 3 วัน 2 คืน หากเกินนั้นทางการลาวจะปรับวันละ 200 บาท การทำบอเดอร์พาสใช้รูปถ่าย 2 ใบ สำเนาบัตรประชาชน และค่าธรรมเนียม 30 บาท

วันรุ่งขึ้นเมื่อเรากลับไปพร้อมพาสปอร์ต เจ้าหน้าที่คนเดิม โวยวายว่าพาสปอร์ตของเรามีปัญหาเพราะไม่ผ่านการลงตราประทับเข้าเมือง เมื่อครั้งที่เดินทางกลับจากเวียงจันทน์ปลายปีที่แล้ว เขาพูดเสียงดังขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเราเข้าเมืองผิดกฎหมาย

เราทั้งคู่เพิ่งได้รู้ว่า เมื่อคราวที่กลับจากการทำข่าวเวทีประชาคมโครงการน้ำเทิน-2 ที่เมืองเวียงจันทน์ปลายปีที่แล้ว (อ่าน ทำไมคนไทยต้องสนใจน้ำเทิน-2 ได้ที่(http://www.prachathai.com/news/show.php?Category=nm&No=459 http://www.prachathai.com/news/show.php?Category=nm&No=537)

ด่าน ต.ม.ที่หนองคายไม่ได้ลงตราเข้าเมืองให้เรา ทั้งที่ทำการตรวจตรากระเป๋าสัมภาระของเราเรียบร้อย เราจำได้ว่าเรารับพาสปอร์ตกลับมาโดยไม่ได้ตรวจตราซ้ำ

ทีมเราเริ่มอารมณ์เสีย เพราะเราจำเขาได้เรื่อง "ค่าล่วงเวลา" ในเวลาทำการเมื่อวานนี้ สำหรับวันนี้ เขาผลักความ ผิดให้เราทันที บอกว่าต้องแจ้งตำรวจ

ทีมของเราบอกว่า ถ้าจะแจ้งตำรวจก็แจ้งเลย เพราะเรื่องนี้คงต้องถกเถียงทางข้อเท็จจริงอีกนาน และคงคุยกันไม่รู้เรื่องกับท่าทีของเจ้าหน้าที่แบบนี้

นักข่าวซึ่งจบการศึกษาด้านกฎหมาย งงว่า "เข้าเมืองผิดกฎหมาย" ใช้กับประชาชนไทยที่เดินทางเข้าประเทศไทยด้วยหรือ อย่างไรก็ตาม คำถามมีอีกว่า ระเบียบของการกลับเข้าเมืองนั้นมีศักดิ์สูงกว่าสิทธิพลเมืองใช่หรือไม่

เช้าแห่งความวุ่นวายกินเวลาไม่นานนัก นักข่าวของเรามีท่าทีหัวเสียเห็นได้ชัด ขณะที่ช่างภาพเงียบกริบ เราไม่ได้ภาพจากการข้ามโขงขาไป เพราะช่างภาพบอกว่า ปรับอารมณ์ไม่ได้ ลูกตาลเป็นคนจัดการปัญหาหลังจากนั้น เราเลือกขอผ่านแดนโดยการทำบอเดอร์พาส ซึ่งหมายความว่าเราจะอยู่ในประเทศลาวได้ไม่เกิน 3 วัน 2 คืน

เรื่องของทีมเราเป็นหัวข้อสนทนาในเรือข้ามฟากวันนั้น หลายคนหัวเราะแล้วบอกว่า "เงินน่ะมีหรือเปล่า" สำเนียงไทยปะปนกับสำเนียงลาวแลกเปลี่ยนกันพอให้จับใจความได้ว่า คนที่ข้ามฟากบ่อย ๆ นั้น คุ้นกับ "ท่าที" ของเขาดี "ชาญชัย กิจรักษา" เจ้าหน้าที่ ต.ม. ประจำด่านนครพนม

ท่าแขก
จากด่าน ตม. นครพนม เราลงเรือข้ามฟากไปยังท่าแขก แขวงคำม่วน สปป.ลาว เราติดต่อรถได้ในราคาวันละ 2,500 บาทรวมค่าน้ำมัน

จากนั้นไปตามเส้นทางหมายเลข 8B มุ่งหน้าไปทางเหนือ ผ่านแยกเมืองมะหาไซ เมืองยมมะลาด เข้าสู่เขตเมืองนากาย ระยะทางแวดลอมด้วยเขาหินปูนขนาดใหญ่ปกคลุมด้วยไม้ใหญ่น้อยตลอดระยะทาง

ที่มะหาไซ เราพบทางแยก และพบว่าเส้นทางหมายเลข 8B เป็นเส้นทางที่ต่อเชื่อมแขวงคำม่วน แห่งสปป. ลาว กับเมืองอุทยานแห่งชาติฟองยา เคบัง เวียดนาม ด้วยระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร

ที่เมืองยมมะลาด เราพบการก่อสร้างที่พักของพนักงานบริษัทอิตัล-ไทย ถัดมาอีกระยะหนึ่ง เป็นที่พักของพนักงานบริษัทน้ำเทิน 2

นากาย
จากด่านท่าแขก ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร ตรงขึ้นสู่ยอดเขา เมืองนากายรอเราอยู่ที่นั่น เราพบจุดเชื่อมต่อระหว่างอ่างเก็บน้ำกับท่อส่งน้ำที่บ้านโพนพันแปก เมืองนากาย เราจอดพักรถที่นี่ เข้าไปคุยกับเจ้าของร้านค้าสาว เธอเชื้อเชิญให้เรานั่งในชายคาหลบร้อน เรามีอุปสรรคในการสื่อสารกันนิดหน่อย ภาษาไทยกับภาษาลาวแม้จะใกล้เคียงพอจะคาดเดาความหมายได้ แต่ก็ไม่สะดวกกายเหมือนพูดภาษาเดียวกัน

เธอเล่าว่า ชาวบ้าน บ้านโพนพันแปกนี้ ย้ายมาอยู่นานแล้ว คนที่นี่รวมกันจากคนหลายบ่อน(บ้าน) อยู่รวมกันประมาณ 40-50 หลังคาเรือน เมื่อเราถามว่าจุดที่เรายืนอยู่จะถูกน้ำท่วมหรือไม่ หากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำ เธอตอบว่าใช่ เราถามต่อไปว่าคนที่นี่จะต้องย้ายไปอยู่ในที่ซึ่งทางการลาวจัดสรรไว้ให้ใช่หรือไม่ เธอตอบว่าใช่ แม้บ้านจะยังไม่เสร็จ แต่เธอไม่กังวล บอกกับเราว่า กว่าเขื่อนจะเริ่มสร้างอย่างจริงจังก็ปลายปีโน่น

เราออกเดินทางตอนเช้า และขณะนี้ เวลาเที่ยงกว่าแล้ว อาหารเช้ายังไม่ตกถึงท้องทีมเราบางคน เราซื้อกล้วยหวีหนึ่งจากบรรดาที่แขวนอยู่ตรงชายคาร้าน ทั้งเพื่ออิ่มท้องและเพื่อการสนทนาต่อไป เอื้อยเจ้าของร้านบอกว่า กล้วยนี้เป็นผลผลิตจากชาวบ้านนากายใต้ซึ่งได้รับการจัดสรรที่ดินจากโครงการน้ำเทิน 2 ไปก่อนหน้าแล้ว

มองเข้าไปในร้านของเธอ ถือว่าเป็นร้านใหญ่ทีเดียวเมื่อเทียบกับร้านที่อยู่ข้างเคียง สินค้าในร้านประกอบด้วยของอุปโภค ตั้งแต่เสื้อผ้า จานชาม รวมไปถึงที่นอน

เอื้อยเล่าว่า หากเราจะเข้าไปให้ถึงน้ำเทิน จากบ้านโพนพันแปกนี้ สามารถไปได้ 2 ทาง ทางหนึ่งมุ่งตรงไปข้างหน้า ไม่ไกล แต่ทางรถไม่สามารถไปถึง กับอีกทางหนึ่งต้องย้อนกลับไป ทางดี รถเข้าถึง แต่ไกลกว่า …เราเลือกอย่างหลัง

เมื่อแรกที่เข้ามาถึง เราเข้าใจว่าจุดนี้คือตลาด เนื่องจากมีร้านค้าจำนวนมาก และเป็นร้านค้าที่มีขนาดใหญ่กว่าที่เราเห็นมาตลอดทาง แต่คนขับรถชาวลาวบอกกับเราว่าไม่ใช่ เขาพาเราไปอีกจุดหนึ่ง

เราย้อนกลับไปยังเส้นทางเดิม

ตลาดในความหมายของคนที่นี่ น่าจะหมายถึงตลาดสด เราพักกินข้าวกลางวันกันที่นี่ อาหารกลางวันของเราประกอบไปด้วย ผัดบร็อกเคอรี่กับหมู(ที่ยังมีขนติดอยู่กับหนังหมู) แกงเปอะ หมกป่า ปลาย่างและข้าวเหนียว

อาหารที่คุ้นลิ้น และขายดีที่สุดสำหรับเราคือปลาย่างตัวเล็ก ๆ จับมาสด ๆ เสียบไม้ย่าง...ปลาสดจนออกรสหวาน

เสร็จสิ้นจากอาหารกลางวัน เราเดินทางต่อ ตามคำบอกเล่าของเจ้าของร้านที่บ้านโพนพันแปก เมื่อถึงแยกนากาย เราเลี้ยวซ้าย ไม่นานนัก เรามาถึงบ้านท่าลั่ง

ที่หน้าหมู่บ้าน ป้าย "เขตยักย้ายจัดสันปะชาชน โคงการน้ำเทิน 2" ตั้งตระหง่านอยู่ (เราพบป้ายอย่างเดียวกันนี้ที่บ้านโพนพันแปกเช่นกัน)

ซ้ายมือ ห่างไปอีก 200 เมตร...แม่น้ำ... "น้ำเทิน" อยู่ที่นั่น!!

พิณผกา งามสม/บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net