Skip to main content
sharethis

เชียงราย-13 พ.ค.48 ในเวทีสัมมนา "ชำแหละร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ" จัดที่โรงแรมเชียงแสนริเวอร์ฮิลล์ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วุฒิสมาชิก นักวิชาการจาก 5 สถาบัน เข้าร่วมวิพากษ์ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งได้รับความสนใจจากตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์พัฒนาเอกชน เครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ และประชาชนใน จ.เชียงรายจนล้นออกนอกห้องประชุม

"เมื่อดูจากองค์ประกอบของคณะกรรมการของร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ แล้วจะเห็นว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่ล้วนมาจากตัวแทนภาครัฐทั้งสิ้น ไม่ว่าคณะกรรมการบริหารนโยบาย คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งล้วนมาจากการแต่งตั้งกันแทบทั้งสิ้น ดังนั้น จึงย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดการบริหารของหน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงหน่วยงานรัฐในพื้นที่ที่มีการจัดเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด" นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำภาควิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว

ในส่วนการได้มาซึ่งที่ดิน นายสมชายเห็นว่า นอกจากจะมีการซื้อ เช่าซื้อ เช่าระยะยาว แลก เปลี่ยนหรือเวนคืนนั้น ถือว่าเป็นกระบวนการที่เคยทำมาก่อนแล้ว เช่น กรณีสร้างนิคมอุตสาห
กรรม แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ มีการให้อำนาจเพิ่ม เช่น มีอำนาจในการถมทะเล โดยไม่ต้องทำตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้มองเห็นชัดเลยว่า หัวใจสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจ
พิเศษฉบับนี้ คือ ไม่ต้องไปอยู่ภายใต้กฎหมายอื่นๆ ทำให้ไม่มีผลบังคับใช้ได้เลย

นางอรทัย ก๊กผล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ถือว่าเป็นกฎหมายตัดตอนและออกมาขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่า เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องการให้ประชาชนกำหนดทิศทางของตนเอง และรัฐต้องให้ความคุ้มครอง แต่รัฐกลับเสนอร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้ขึ้นมา ซึ่งเข้าไปลดทอนอำนาจการจัดการของท้องถิ่นเสียเอง

"ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะมุ่งเพียงในแง่ความคุ้มทุนทางด้านเศรษฐกิจและการเงินเท่านั้น แต่ไม่ได้มองการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่สำคัญ ยังขัดต่อหลักการการพัฒนาอย่างยั่งยืนว่า นอกจากคำนึงถึงในเรื่องเศรษฐกิจแล้ว จะต้องคำนึงถึงเรื่องสังคมและวัฒนธรรมในชุมชนว่า การพัฒนานั้นจะต้องเหลือทรัพยากรให้คนรุ่นหลังด้วย ไม่ใช่เอาไปลงทุนด้านเศรษฐกิจทั้งหมดและเชื่อว่าน่าจะมีวิธีการอื่น ที่ดีกว่านี้" นางอรทัย กล่าว

ขณะที่ นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะส่งผลกระทบหลายๆ ด้าน สิ่งที่น่าเป็นห่วงในเชิงเศรษฐศาสตร์ก็คือ ไทยจะได้รับประโยชน์จริงหรือ โดยเฉพาะหลังจากเปิดโอกาสให้คนต่างชาติเข้ามา

นอกจากนั้นยังเป็นห่วงในเรื่องความเป็นธรรมทางธุรกิจและทางสังคม ซึ่งอาจทำให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบของประชาชนที่อยู่ทั้งในและนอกเขตเศรษฐกิจพิเศษ และอาจส่งผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนในพื้นที่อีกด้วย

"ประเด็นสุดท้าย คือเป็นห่วงในเรื่องธรรมมาภิบาลทางเศรษฐกิจ เช่น หากกิจกรรมในเขตเศรษฐ กิจพิเศษเกิดการขาดทุน สามารถนำเงินงบประมาณของรัฐมาจ่ายแทนได้ ดังนั้นเชื่อว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษ กระตุ้นการลงทุนได้ แต่อาจจะไม่ช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งในระยะยาว" นายเดชรัตน์ กล่าว

ทางด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ สว.เชียงราย ตัวแทนคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสมาชิก กล่าวสรุปว่า เชื่อว่า พลังประชาชนจะสามารถเปลี่ยนแปลงร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษได้ ซึ่งเห็นว่า ไม่ควรจะเป็น พ.ร.บ.รวมฉบับเดียว แต่ควรต้องแยกออกมาเป็นเรื่องๆ ในแต่ละพื้นที่และที่สำคัญ จะต้องผ่านประชาพิจารณ์จากความคิดเห็นของประชาชนก่อน การดำเนินการ

"หลังจากนี้ คงจะมีการจัดประชุมในลักษณะนี้อีกเพื่อสร้างความเข้าใจ และร่วมกันศึกษาผลกระทบให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจตัวบทกฎหมายอย่างถ่องแท้ โดยจะลงไปในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอ คือแม่สาย เชียงแสน และเชียงของ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกจัดอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net