Skip to main content
sharethis

ในขณะที่พรรคไทยรักไทยยังวุ่นวายของกับการหาเสียงเลือกตั้ง แต่รัฐบาลทักษิณก็ยังคงเสนอแนวคิดใหม่ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเรื่อยๆ ล่าสุดก็ครม. ก็เพิ่งมีมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ ในการประชุมครม. ที่ จ.เชียงรายเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา

ถึงแม้ว่า หลักการของร่าง พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ จะไม่ใช่เรื่องใหม่ถอดด้ามสำหรับสังคมไทย เพราะแนวคิดหลักก็คือ การขยายอำนาจของพ.ร.บ. การนิคมอุตสาหกรรม ให้ครอบคลุมกว้างขวางและเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้น แต่การมีมติดังกล่าวก็ทำให้เห็นภาพของ "อำนาจ" ในสังคมไทยในยุค 4 ปีสร้างของพรรคไทยรักไทยได้ชัดเจนมากขึ้น

และเป็นความชัดเจนบนความห่วงใยว่า อำนาจของสังคมไทยในการกำหนดชีวิตของตนเองคงจะหดแคบลงไปเรื่อยๆ สวนทางกับอำนาจ และแนวคิดใหม่ๆ ของรัฐบาลที่ดูจะขยายออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง

เนื้อแท้คือการรวมศูนย์อำนาจ

หากมองอย่างผิวเผิน การเสนอร่างพ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจก็คงเป็นเพียงความพยายามในการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ โดยการเลียนแบบยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจบางประเทศในเอเซีย

แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป เราจะพบว่าเนื้อแท้ของแนวคิดดังกล่าวคือ การรวมศูนย์อำนาจเบ็ดเสร็จนั่นเอง

เราจะเห็นได้ว่า จุดใหญ่ใจความของร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน

ส่วนแรก คือ การขยายขอบเขตของกฎหมายการนิคมอุตสาหกรรม ให้ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ที่ใช้สำหรับกิจกรรมเชิงพาณิชย์แบบอื่นๆ ด้วย เช่น สนามบิน หรือการท่องเที่ยว ตามความประสงค์ของรัฐบาล

ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงไม่ใช่กฎหมายหรือนโยบายรายสาขาที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะอีกต่อไป แต่กลายเป็นกลไกหรือเครื่องมือครอบจักรวาลที่จะทำให้รัฐบาลใช้อำนาจของตน (ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป) ได้อย่างกว้างขวาง ตามวิสัยทัศน์รายวันของท่านผู้นำ

ส่วนที่สอง การผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงงานต่างด้าว กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายทางด้านภาษี รวมถึงการเช่าซื้อที่ดินของต่างชาติ นัยยะก็คงเพื่อให้การลงทุนเป็นไปได้โดยง่าย และไม่ต้องติดกรอบกติกาบ้านเมืองมากนัก

ขณะเดียวกัน ก็เพิ่มพูนอำนาจให้ผู้บริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถจัดซื้อแลกเปลี่ยนที่ดิน เวนคืนที่ดิน ถมทะเล หรือการจัดระบบชลประทานได้ด้วยตนเอง เพื่อให้เป็นไปตามแนวทาง "4 ปีสร้าง" ของรัฐบาลอย่างเต็มที่

หากรวมความกัน ก็อาจแปลความได้ว่า ต่อไปนี้ บริษัทต่างๆ (รวมถึงบริษัทข้ามชาติ) ก็สามารถเข้ามาลงทุนถมทะเล หรือสร้างระบบชลประทานได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคมไทยอย่างที่ควรจะเป็น อีกต่อไป

ส่วนที่สาม ก็คือ การยกอำนาจการตัดสินใจของผู้บริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เหนือกว่าอำนาจขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งเหตุผลของข้อนี้ก็น่าจะมาจากความรำคาญใจที่หลายต่อหลายครั้ง การลงทุนของบริษัทขนาดยักษ์ (เช่น เหมืองแร่และโรงไฟฟ้า) ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากอำนาจและการตัดสินใจอันชอบธรรมของอบต.เล็กๆ ตามกรอบของรัฐธรรมนูญ

นั่นก็หมายความว่า ต่อจากนี้ไป การตัดสินใจของประชาชนและผู้แทนส่วนท้องถิ่นที่ประชาชนเลือกเข้ามาก็จะไม่มีความหมายอีกต่อไป หากการตัดสินใจดังกล่าวขัดกับการตัดสินใจของผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจ ซึ่งแต่งตั้งจากรัฐบาลส่วนกลางเพียงคนเดียว

แม้ว่าจะมีการห้อยท้ายไว้ว่า การทำงานของผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษจะถูกกำกับโดยคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการล้วนถูกแต่งตั้งและถูกควบคุมโดยรัฐบาลส่วนกลางทั้งสิ้น

นี่จึงเป็นกระบวนการรวมศูนย์เบ็ดเสร็จหรือ Super-Centralization อย่างแท้จริงและตรงข้ามกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการกระจายอำนาจอย่างสิ้นเชิง

สังคมไร้อำนาจ

อนาคตของสังคมไทยจึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะลำพังกลไกในการคุ้มครองชีวิตและอนาคตของตนเองที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หรือการตัดสินใจขององค์กรส่วนท้องถิ่น ก็อ่อนแรงในการต่อสู้กับการลงทุนที่ไร้ความรับผิดชอบและอำนาจที่ไม่สมดุลเต็มที แล้วต่อไปยังจะต้องมาถูกผ่อนผันยกเว้นกันไปเสียอีก

ลำพังการถมทะเลในเขตนิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายเดิม ยังทำให้ชายหาดอันงดงามของชาวระยองต้องพังทลายหายไปอย่างน่าใจหาย แล้วการรวมศูนย์อำนาจตามกฎหมายใหม่จะเหลืออะไรไว้ให้สังคมไทย

ลำพังการขยายความต้องการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรมตามปกติ ยังทำให้เกษตรกรในภาคตะวันออกและโคราชแทบไม่มีน้ำใช้เพื่อการเกษตร แล้วการให้อำนาจกับเขตเศรษฐกิจพิเศษในการจัดระบบชลประทานได้เอง จะเหลือน้ำอะไรไว้ให้คนไทยอยู่รอดและเติบโต

ลำพังการเข้าไปตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเขตนิคมอุตสาหกรรมทุกวันนี้ ยังยุ่งยากซับซ้อน แล้วการผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะเหลืออะไรไว้ให้คนไทยหายใจ

ลำพังการรักษาธรรมชาติและวิถีชีวิตท้องถิ่น ภายใต้ทรัพยากรอันน้อยนิด ยังเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับอบต.หลายๆ แห่ง แล้วการยกอำนาจที่เคยมีให้กับผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจ จะเหลืออะไรให้ท้องถิ่นได้รักษา

อำนาจอันกระท่อนกระแท่นที่สังคมไทยเคยมี และเคยหวังว่าจะมีมากขึ้นตามรัฐธรรมนูญ กลับถูกลิดรอนลงไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้

4 ปีสร้างของไทยรักไทย (หากชนะการเลือกตั้ง) จึงน่าจะเป็น 4 ปี "เสี้ยว" หรือ 4 ปีที่อำนาจของสังคมไทยจะค่อยๆ หดหายไปทีละเสี้ยวตามการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล

ใช้อำนาจในวันนี้เพื่อรักษาอำนาจในวันหน้า

จริงๆ แล้วข้อเสนอของรัฐบาลเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล ก็มิได้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ภูมิปัญญาคิดใคร่ครวญกันมากมาย เพราะผู้ที่ต้องการเร่ง "สร้าง" ทุกคน (ไม่ว่าจะไอคิวเท่าใดก็ตาม) ล้วนต้องการทำอย่างที่รัฐบาลทำในวันนี้ทั้งสิ้น นั่นคือ การลงทุนโดยไม่ต้องคำนึงถึงกรอบกติกาของบ้านเมืองมากนัก

เพียงแต่ว่า สมดุลของอำนาจในสังคมไทยในทุกวันนี้ (โดยเฉพาะภายหลังการเลือกตั้ง) มันขยับมาถึงจุดที่รัฐบาลคิดว่า อำนาจของตนน่าจะเพียงพอที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นที่ยอมรับกันได้ในสังคมไทย

สมดุลอำนาจที่ว่านั้นรวมทั้ง อำนาจทางโลก ซึ่งรัฐบาลสามารถควบคุมไว้ได้เบ็ดเสร็จทั้งอำนาจทุนและอำนาจทางรัฐสภา และอำนาจทางธรรม (หรือความคิดเห็นตามทำนองคลองธรรมของสังคม) ซึ่งอ่อนล้าในการต่อกรกับอำนาจทางโลก หรือแรงปรารถนาในการบริโภคและการโหยหาความร่ำรวยตามกระแสของรัฐบาล

จนรัฐบาลท่านคิดว่า การเสนอและผลักดันความคิดดังกล่าวคงจะไม่ถูกทัดทานจากอำนาจใดๆ ในสังคมไทยอีกต่อไป

มันจึงกำลังกลายเป็นช่วงเวลาที่กติกาของสังคมมีความหมายน้อยกว่าวิสัยทัศน์ของผู้นำ
การรักษาอำนาจอันน้อยนิดของเราเอาไว้ จึงขึ้นอยู่กับการใช้อำนาจของเราในวันนี้เป็นสำคัญ

สังคมไทยต้องการอำนาจทางธรรม ซึ่งก็คือ การสร้างสัมมาทิฐิหรือความรู้ความเห็นที่ถูกต้อง เพื่อมาทัดทานกระแสโหยหาความร่ำรวยแบบไม่ยั้งคิด และอำนาจทางโลกของรัฐบาล

ขณะเดียวกัน เราก็ต้องแปลงอำนาจทางธรรมของเราของเราไปสู่อำนาจทางโลก ด้วยการจัดสมดุลของอำนาจเสียใหม่ อย่างน้อยที่สุดก็ผ่านการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
หากเราไม่ใช้อำนาจของเราในวันนี้ อำนาจของเราคงจะลดหายไปทีละเสี้ยว ทีละเสียว จนกว่าเราจะหมดลม

ผมเดาไม่ถูกจริงๆ ว่า อนาคตของสังคมไทยหลังประกาศใช้พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจจะมืดมนและสับสนเพียงใด

แต่ผมรู้ชัดแล้วว่า ผมจะตัดสินใจอย่างไร และจะทำอะไรในวันที่ 6 กุมภาพันธ์

เดชรัตน์ สุขกำเนิด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net