Skip to main content
sharethis

ทางหลวงชนบทศึกษาลดวิกฤตจราจรทางหลวง 108 หวังแก้ย่างหางดง-สันป่าตองวิ่งฉลุย สร้างถนนเลี่ยงเมืองหางดง-สันป่าตอง เปิดประชาพิจารณ์ชาวบ้าน คาดเริ่มสร้างปี 49

สืบเนื่องมาจากปัญหาจราจรบนทางหลวงหมายเลข 108 ช่วงจากบ้านทุ่งเสี้ยว-ชุมชนบริเวณอำเภอสันป่าตอง-ชุมชนบริเวณอำเภอหางดง ซึ่งมีลักษณะคอขวดจากพื้นผิวการจราจรที่มีน้อยและไม่สามารถขยายได้ ก่อปัญหาต่อการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนเป็นอย่างมาก ทางหลวงชนบทจึงได้ดำเนินการศึกษาและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองฯ เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรบริเวณดังกล่าวและขยายโครงข่ายระบบจราจรบริเวณตัวเมืองเชียงใหม่และการประชุมรับฟังความคิดเห็น

เนื่องจากโครงการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองหางดง-สันป่าตอง(ตอนที่1)เป็นโครงการสาธารณูปโภคที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งแนวทางดำเนินโครงการมีความจำเป็นต้องมีการศึกษาประเด็นด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อลดผลกระทบต่างๆที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งในพื้นที่ระหว่างชุมชนและหน่วยงานรัฐได้

โดยได้จัดการประชุมสัมมนาครั้งที่ 1 เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการและรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นจากภาคประชาชน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2548 ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ โดยมีนายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธาน หลังจากนั้นจะเป็นการประชุมย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ชุมชนต่างๆที่ได้รับผลกระทบ

นายมนูญ แสงเพลิง วิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ตัวแทนกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ชี้แจงถึงรายละเอียดโครงการฯ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ตอน โดยตอนที่ 1 มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณบ้านทุ่งเสี้ยว อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ กม.34+175 ของทางหลวงหมายเลข 108 และสิ้นสุดโครงการที่ กม.13+560 บนถนนเลียบคลองชลประทาน บริเวณที่ทำการฝายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 สำนักชลประทานที่ 1 โครงการแม่แตง รวมระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 18 กิโลเมตร

ส่วนตอนที่ 2 เป็นการพัฒนาถนนเลียบคลองชลประทานไปเชื่อมกับถนนวงแหวน จากการศึกษาได้วางแนวเส้นทางโดยหลีกเลี่ยงเขตชุมชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ได้วางแนวเส้นทางผ่านเป็นพื้นที่เกษตรกรรม อย่างไรก็ตามมีเขตชุมชนบางแห่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะชุมชนบ้านร่องขุ้ม สำหรับรายละเอียดด้านวิศวกรรมของถนนช่วงตัดใหม่จะมีความกว้างรวมทั้งสิ้น 40 เมตร มีพื้นผิวจราจรด้านละ 7 เมตร ไหล่ทางด้านละ 2.5 เมตร และเกาะกลางถนนกว้าง 4.2 เมตร

ส่วนการพัฒนาถนนเลียบคลองชลประทานจะมีความกว้างรวมทั้งสิ้น 60 เมตร พื้นผิวจราจรด้านละ 7 เมตร และไหล่ทางด้านละ 2.5 เมตร เส้นทางทั้งหมดตัดผ่านที่ดินชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 5 และไม่ผ่านพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ส่วนบริเวณที่ตัดผ่านเส้นทางเดินของน้ำจะมีการออกแบบช่องทางน้ำผ่านให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา

นายอภินันท์ โปราณานนท์ ทางหลวงชนบทจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมในส่วนของถนนเลียบคันคลองชลประทานว่าได้รับทราบจากกรมชลประทานว่าไม่มีงบประมาณในการดูแลรักษาถนนส่วนนั้น จึงอยากให้กรมทางหลวงชนบทรับไปดูแล จึงเป็นที่มาของโครงการนี้ด้วยส่วนหนึ่ง

สำหรับแผนการในปี 2549 จะมีโครงการสร้างถนนเลียบคันคลองจากแยกสะเมิงไปถึงอำเภอสันป่าตอง ส่วนแผนการที่คาดหวังไว้ในอนาคตคือการสร้างเชื่อมกับถนนคลองชลประทานผ่านไปทางอำเภอแม่ริมถึงอำเภอแม่แตง ซึ่งจะทำให้สามารถเดินทางจากด้านอำเภอสันป่าตองไปด้านอำเภอแม่แตงได้โดยไม่ต้องผ่านตัวเมืองเชียงใหม่

โครงการนี้จึงไม่เพียงลดปัญหาจราจรบนทางหลวงหมายเลข 108 โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงอำเภอหางดงซึ่งในชั่วโมงเร่งด่วนมีอัตราความหนาแน่นจราจรสูงถึง 2,200 คัน/ชั่วโมง แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางคมนาคมเพื่อรองรับการเติบโตของเชียงใหม่ในอนาคตอีกด้วย การศึกษาโครงการฯจะใช้เวลาทั้งสิ้น 7 เดือน โดยจะสิ้นสุดในเดือนตุลาคม 2548 โดยจะมีการปักธงขาวแสดงแนวพื้นที่ที่จะถูกเวนคืน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบรับทราบและเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น

อย่างไรก็ตามในส่วนของการเวนคืนที่ดิน เมื่อกำหนดเขตพื้นที่ที่จะถูกเวนคืนแน่นอนแล้ว จะต้องผ่านเรื่องเพื่อออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จากนั้นกระทรวงคมนาคมจะตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการจ่ายเงินชดเชย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการอีกระยะหนึ่ง

ในส่วนของตัวแทนชุมชนที่เข้าร่วมประชุมจากระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบลที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ประกอบด้วยตัวแทนจาก ตำบลน้ำแพร่ ตำบลหางดง และตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง ตำบลสันกลาง ตำบลน้ำบ่อหลวง ตำบลบ้านแม ตำบลยุหว่า ตำบลทุ่งสะโตก ตำบลแม่ก๊า ตำบลท่าวังพร้าว และตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง ตำบลยางคราม และตำบลสันติสุข กิ่งอำเภอดอยหล่อ ตำบลบ้านกาด ตำบลดอนเปา ตำบลทุ่งรวงทอง และตำบลทุ่งปี๊ อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งความคิดเห็นโดยรวมจากตัวแทนชุมชนเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือเห็นด้วยกับโครงการฯ เพราะเล็งเห็นว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัด รองรับการคมนาคมในอนาคต เป็นประโยชน์ต่อการค้า การท่องเที่ยว รวมทั้งการขนส่งผลผลิตเกษตรกรรม ทั้งยังได้ร่วมกันเสนอแนะพัฒนาเส้นทางคมนาคมอื่นๆในชุมชนที่จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูง

อย่างไรก็ตาม กำนันตำบลท่าวังพร้าวกล่าวว่าในอดีตที่ผ่านมาพื้นที่ชุมชนของตนได้รับผลกระทบจากการสร้างทางหลวงหมายเลข 108 มาแล้ว โดยประสบปัญหาน้ำท่วมขังจากการที่ถนนตัดทับทางเดินน้ำ สำหรับโครงการฯนี้ชาวบ้านในพื้นที่ก็ไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด เพียงแต่อยากวอนขอให้มีการวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะช่องทางน้ำไหลผ่านบริเวณที่โครงการฯตัดกับทางเดินน้ำ ซึ่งในชุมชนของตนได้แก่ลำห้วยแม่ขาน

การดำเนินการต่อไปจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นย่อยในพื้นที่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ โดยจะเริ่มต้นที่ อบต.หางดงเป็นแห่งแรก หากไม่มีปัญหาอะไรคาดว่าจะเห็นความคืบหน้าของโครงการฯภายในไม่เกินสิ้นปี 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net