Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-16 พ.ค.48 "อีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือ กลุ่มมุสลิมในพม่า ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มมุสลิมโรฮิงยาในรัฐอาระกัน ตั้งอยู่ภาคตะวันตกของพม่า ได้ถูกรัฐบาลทหารพม่าเข้าไปควบคุม กดขี่ข่มเหงอย่างเข้มงวดมาโดยตลอด ปัญหานี้อาจคล้ายๆ กับปัญหา 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยในขณะนี้ นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดกระแสความขัดแย้งของมุสลิมในพม่า" นายเยนี นักข่าวจากสำนักข่าว" อิระวดี" กล่าวกับ" ประชาไท" ถึงแนวโน้มกลุ่มที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะก่อวินาศกรรมในกรุงย่างกุ้งเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กลุ่มมุสลิมโรฮิงยา เป็น1 ใน 2 กลุ่มที่มีความสามารถ อีกกลุ่มก็คือ กลุ่มที่ขัดแย้งเสียผล ประโยชน์จากการทำธุรกิจ ซึ่งแน่นอนต้องมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ในพม่า ล้วนมีกลุ่มนายทหารของกองทัพในรัฐบาลระดับนายพลเป็นผู้ควบคุมธุรกิจทั้งหมด

นายเยนี เห็นว่า รัฐบาลพม่าหนักใจกับเหตุการณ์การวางระเบิดในย่านการค้า ใจกลางเมืองย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากไม่สามารถสืบสวนหากลุ่มผู้วางระเบิดในย่างกุ้งได้ เพราะไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าเป็นกลุ่มใด

"ซึ่งการระเบิดเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น ไม่ใช่ครั้งแรก ซึ่งก่อนหน้านั้น มีการลอบวางระเบิดไปหลายๆ จุดพร้อมกัน ไม่ว่าที่เมืองมัณฑะเลย์ หรือย่างกุ้ง และแต่ละครั้งก็มีคนเสียชีวิตและบาด
เจ็บเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาลทหารพม่าก็ไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดได้ อีกทั้งยังมีการปิดข่าวความจริง พร้อมกับปล่อยข่าวลวงมาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้คนพม่าก็ไม่มีใครเชื่ออยู่แล้ว" นายเยนี กล่าว

นักข่าวอิระวดี กล่าวต่ออีกว่า ที่รัฐบาลทหารพม่า ออกมาระบุว่า เป็นฝีมือของชนกลุ่มน้อย ทั้ง 3 กลุ่มคือ กะเหรี่ยงเคเอ็นยู กองกำลังไทใหญ่ และกะเหรี่ยงก้าวหน้าหรือกะเหรี่ยงแดงนั้น ตนไม่เชื่อ เนื่องจากกองกำลังทั้ง 3 กลุ่ม ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะเข้าไปปฏิบัติการในเมืองได้ อีกทั้งขณะนี้ต่างก็กำลังมีการสู้รบกันตามแนวชายแดน

"และที่รัฐบาลพม่าออกมากล่าวหาการวางระเบิดในครั้งนี้อีกว่า เป็นฝีมือกลุ่มเคลื่อนไหวที่สนับ
สนุนประชาธิปไตย หรือกลุ่มผู้สนับสนุนนางออง ซาน ซูจี ด้วยนั้น ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะคนกลุ่มนี้ต่อต้านความรุนแรงอยู่แล้ว ต้องการเรียกร้องประชาธิปไตยโดยสันติวิธี"

เมื่อผู้สื่อข่าว" ประชาไท" สอบถามถึงประเด็นที่มีนักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า อาจเป็นฝีมือของกลุ่มกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่เจรจาหยุดยิง 17 กลุ่ม

นายเยนี กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่เจรจาหยุดยิง ทั้ง 17 กลุ่ม ในขณะนี้ ไม่สามารถประคับประคองกลุ่มของตนเองได้ เพราะถูกรัฐบาลทหารพม่าเข้าควบคุมอำนาจไว้ทั้งหมด

ส่วนที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเป็นฝีมือกลุ่มลูกน้องเก่าของพล,อ.ขิ่นยุ้น ซึ่งถูกจับกุมตัวไปก่อนหน้านี้ นาย Yeni กล่าวว่า เป็นไปได้ 50-50 เนื่องจากการที่พล.อ.ขิ่นยุ้นต์ อดีตนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งในเดือน ต.ค.ปีที่ผ่านมา ซึ่งยังมีอีกหลายคนถูกจับกุมอยู่ในคุก อาจทำให้ลูกน้องเก่ารู้สึกเจ็บแค้นอย่างมาก

"แต่เมื่อวิเคราะห์กันต่อไป อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มสมาชิกลูกน้องของขิ่นยุ้นต์ รัฐบาลทหารของตันส่วยจะรู้หมดว่า ใครเป็นใคร กำลังทำอะไรอยู่ หากเป็นฝีมือกลุ่มนี้จริง รัฐบาลสามารถออกมายืนยันชี้ชัดได้"

นายเยนี ยังกล่าวอีกว่า ยิ่งในขณะนี้ กระแสความขัดแย้งของมุสลิมได้กลายเป็นกระแสโลกไปแล้ว อาจจะมีการฝึกฝน หรือมีกลุ่มมุสลิมจากข้างนอกเข้าไป จึงได้ตั้งข้อสังเกตว่า ซึ่งการลงมือก่อวินาศกรรมในแต่ละครั้งนั้น ล้วนมีการวางแผนมาอย่างดีและมีการฝึกฝน มีความชำนาญ ในระดับมืออาชีพ ในระดับอินเตอร์เลยทีเดียว

"การลอบวางระเบิดในแต่ละครั้ง มีการระเบิด 4 ครั้ง 4 จุด ในเวลาเดียวกัน ซึ่งมุ่งหวังประสงค์จะเอาชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงเชื่อว่า เป็นฝีมือระดับอินเตอร์เนชั่นแนลเลยทีเดียว ซึ่งทางรัฐบาลทหารของพม่าก็ไม่สามารถสอบสวนหาสาเหตุได้แน่ชัด แต่ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น ซึ่งเราต้องรอดูรัฐบาลพม่าต่อไปว่าจะสอบสวนหาความจริงออกมาให้ได้" นายเยนี กล่าวในตอนท้าย

ทั้งนี้ รายงานล่าสุด แจ้งว่า รัฐบาลพม่าได้ตั้งเงินรางวัล 5 ล้านจ๊าต หรือ 2 แสน 2 หมื่นบาท สำหรับผู้ที่แจ้งเบาะแสผู้วางระเบิดที่คร่าชีวิตประชาชนไป 11 คนในกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา

โดยรัฐบาลพม่า ยังคงปิดปากเงียบ ไม่ได้มีการเปิดเผยถึงการสืบสวนสาเหตุแต่อย่างใด หากยังคงออกมาประณามว่า เป็นกลุ่มกองกำลังชนกลุ่มน้อย และพวกนักเคลื่อนไหวสนับสนุนประชา
ธิปไตยพลัดถิ่น ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ก็ได้ปฏิเสธอยู่แล้วว่า ไม่ได้เกี่ยวข้อง ขณะที่นักวิเคราะห์ระบุว่า กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีประวัติการทำงานร่วมกัน และไม่น่าจะมีความสามารถพอที่จะปฏิบัติการโจมตีในเมืองหลวงได้

ฟ้า เวียงอินทร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net