Skip to main content
sharethis

( "จรัล ดิษฐาอภิชัย" ประธานคณะกรรมการจัดงาน 13 ปีพฤษภาประชาธรรม กรรมการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์รายการสภาท่าพระอาทิตย์ โดย "สำราญ รอดเพชร " และ "คำนูญ สิทธิสมาน" เมื่อเช้าวันที่ 16 พ.ค. หนึ่งวันก่อนครบรอบ 13 ปี เหตุการณ์นองเลือดวันที่ 17-20 พ.ค.2535 "ประชาไท" เรียบเรียงบทสนทนาบางส่วนนำเสนอ เนื่องในโอกาสครบรอบ 13 ปี เหตุการณ์วันที่ 17 พ.ค.2535)

----------------------

สภาท่าพระอาทิตย์ ปีนี้มันเงียบเหลือเกิน เป็นอย่างไรครับ

จรัล ดิษฐาอภิชัย ความจริงแล้วมันเงียบมาตั้งแต่ครบรอบ 6 เดือน ของกรณีพฤษภาปี 2535 ครับ

หลังเกิดเหตุ 6 เดือนนั่นนะ

ครับ เมื่อครบรอบ 6 เดือนนี่ มีหลายกลุ่มหลายองค์กรนะครับได้จัดให้มาทำบุญที่วัด ที่ถนนราชดำเนิน คนมาร่วมนี่น้อยมาก เวลานั้นผมก็เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ผมจำไม่ได้แล้วบอกว่า รอยเลือดยังไม่ทันแห้ง แต่คนลืมไปแล้ว เมื่อครบรอบ 6 เดือนคุณลืมไปแล้วนะครับ

ทั้งๆ ที่ว่ากรณีพฤษภาคม 2535 เป็นกรณีที่คนรับรู้มากที่สุด เพราะว่าเหตุการณ์มันเกิดทั้งเดือน เดือนพฤษภาคม แล้วมันเป็นข่าวอยู่ทั้งเดือน แล้วที่สำคัญก็คือ หลังกรณี หลังเหตุการณ์ ก็มี VDO ไปฉายกันทุกหนทุกแห่งกระทั่งกรมกองทหารคือ เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่คนรับรู้มากที่สุดนะครับ

แต่คนลืมเร็วที่สุด

ลืมเร็วที่สุดครับ ไม่ลืม แต่ว่าคงไม่เห็นความสำคัญที่จะต้องมารำลึกหรือมาฉลองกัน

คล้ายๆ เป็นเหตุการณ์เฉพาะกิจนี่มันจบลงไป เหตุการณ์เฉพาะกิจทางประวัติศาสตร์จบลงไปแล้ว

ครับ ทีนี้เมื่อครบรอบ 1 ปีก็จัด 2 ปี 3 ปี 4 ปี ตอนครบรอบ 5 ปีก็พยายามจัดให้ใหญ่ แล้วก็เริ่มเปลี่ยนชื่อเป็นพฤษภาประชาธรรม เพราะคำว่าพฤษภาทมิฬนี่มันไปสะท้อนเหตุการณ์ด้านเดียว คือด้านถูกปราบปราม ด้านที่เจ้าหน้าที่คือทหาร ตำรวจ ปราบปราม หรือทางการบ้านเมืองปราบปราม

2. คำว่าทมิฬมันมีชนชาติทมิฬอยู่ที่ศรีสังกา เพราะฉะนั้นถ้าไปใช้พฤษภาทมิฬก็คล้ายๆ เหมือนชนชาติทมิฬ เลยตกลงใช้คำว่า "พฤษภาประชาธรรม" คำว่า "ประชาธรรม" นี่ก็มาจากที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์นะครับ ท่านได้เสนอความคิดเห็น แล้วเขียนเป็นบทความสันติประชาธรรม

เพราะฉะนั้นตั้งแต่ครบรอบ 5 ปีมานี่ ผู้จัดงานจะใช้คำว่าพฤษภาประชาธรรม แต่คนทั่วไปก็ยังพูดพฤษภาทมิฬอยู่นะครับ คนทั่วไปยังพูดจนกระทั่งเวลานี้ ทีนี้ทางคณะจัดงานทุกปีจะใช้คำว่าพฤษภาประชาธรรม คล้ายๆเพื่อให้มันสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เป็นจริง เพราะว่าเป็นการต่อสู้ของประชาชน เพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) แล้วที่สำคัญก็คือ เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้งครับ

แต่ว่าก็เป็นเรื่องแปลกประหลาดมากก็คือว่า ทั้งๆ ที่คนเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย แล้วก็ได้ตายจริงๆ นะครับ ทั้งตายทั้งบาดเจ็บเป็นร้อยนะครับ แต่ว่าเมื่อประธานรัฐสภาเวลานั้นนำชื่อของท่านอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกฯ อีกครั้งหนึ่ง ก็คือแต่งตั้ง ปรากฏว่า คนไชโยโห่ร้องกันทั้งประเทศ แสดงว่าคนไทยลึกๆ ไม่ใช่เป็นคนยึดหลักการ ทั้งๆ ที่ตายกันไม่รู้เท่าไหร่นะ ตอนกรณีพฤษภาฯ แต่พอแต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ คนไชโยโห่ร้องกัน ก็แสดงว่าคนไทยเรานี่ ระหว่างคนดีกับกฎหมายจะเอาคนดีนะ อย่างเช่นกรณีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ระหว่างคนดีกับกฎหมายคนไทยก็จะเอาคนดี เพราะว่า ลึกๆ แล้วคนไทยเราไม่เชื่อกฎหมายนะ

คงเข้าใจว่าอย่างนี้มากกว่าว่า การเรียกร้องนายกฯ จากการเลือกตั้ง คล้ายๆ เป็นสัญลักษณ์อะไรบางอย่างว่า ต้องการความเป็นธรรม ต้องการคนดี ไม่ต้องการเผด็จการ ทีนี้บางทีเผด็จการเขาก็มาในรูปแบบของการเลือกตั้งได้ เพราะตอนนั้นจำได้ว่าเขาล็อกกันไว้ให้ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ (หัวหน้าพรรคราษฎร-ผู้เรียบเรียง) ซึ่งถ้าใช่มันก็ไม่มีอะไรแตกต่างกับ พล.อ.สุจินดา คราประยูรมากกว่า จะเป็นอย่างนั้นใช่ไหมครับ

คือผมเห็นด้วยนะครับ แต่ว่าถ้าวิเคราะห์ให้ถึงที่สุดแล้วนี่ คนไทยไม่ยึดหลักการนะครับ

เพราะฉะนั้นคนไทยนี่เปลี่ยนใจเร็ว

คือคนไทยเป็นพวกปฏิบัตินิยม คืออะไรที่ปฏิบัติได้ ทำได้ ได้ประโยชน์ก็จะทำกันไป เอากันไปนะ ทีนี้กรณีพฤษภาคมเหมือนกันนะ ความจริงแล้วกรณีพฤษภาคมหลังจาก 13 ปีมานี่ มันมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างกับกรณี 14 ตุลา กับ 6 ตุลาอยู่ 2-3 ประการ ประการแรกก็คือว่า มีคณะญาติ คือครอบครัวผู้เสียชีวิตผู้พิการ ผู้สูญหายนี่ เขาตั้งเป็นองค์กร เป็นคณะกรรมการญาติ

ตกลงคนที่ยังหายตอนนี้มีอยู่กี่คน ใช่ 36 คน

พบแล้วอีก 2 คนครับ ก็เหลือ 35 คน

37 คนหรือครับที่สูญหาย แล้วเสียชีวิตกี่คนครับ

44 คน ครับ

สูญหายคือที่ไม่เจอตัว ไม่เจอศพอะไรนี่นะครับ 37 แล้วที่เจอแล้ว 2 นี่ เจอตัวหรือว่าอะไร

เจอตัว คือตอนนั้นเขาหายไป

แล้วบาดเจ็บ

บาดเจ็บก็หลายร้อย ถูกจับก็หลายร้อยคนในวันที่ 18

คณะกรรมการชุดท่านสวัสดิ์ยังอยู่ไหมครับ

พ้นไปแล้ว คือเมื่อปี 2544 นะครับ ตอนที่รัฐบาลทักษิณชุดที่แล้วนี่ ก็ได้ตั้งคณะกรรมการอิสระเหมือน
กันนะ ชื่อ คณะกรรมการอิสระติดตามผู้เสียหาย และเยียวยาผู้เสียหาย โดยมีท่านอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธาน คณะกรรมการชุดนี้ก็ทำงานอยู่ 2 ปี แล้วก็ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี แล้วคณะรัฐมนตรีก็มีความเห็น คือเห็นชอบเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546

เพราะฉะนั้นอย่างเช่นเห็นชอบว่า เห็นชอบให้วันที่ 17 พฤษภาคม เป็นวันพฤษภาประชาธรรมทุกปี เห็นชอบให้สร้างอนุสรณ์สถาน แล้วก็นอกนั้นก็เห็นชอบให้เยียวยาผู้เสียหายนะครับ เช่น ให้ลูกหลานเรียนหนังสือฟรี รักษาฟรี ให้ฝึกอาชีพ แล้วก็ให้จ่ายค่าทดแทน

แล้วก็ให้กองกำลัง ผู้นำกองกำลังอาวุธนะกล่าวขอโทษ และก็มีมติทั้งหมด 6-7 ประการนะ ปรากฏว่าตั้งแต่มีมตินี้มา มติที่ได้รับการปฏิบัติมากสุดคือมติเดียว มติขอโทษ ก็คือ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ในเวลานั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ทำหนังสือขอโทษมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งความจริงแล้วนี่ในโอกาส 13 ปีพฤษภาประชาธรรมนี่ 2535 นี่ ผมก็อยากเรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูรและคณะนี่กล่าวขอโทษ ก็เหมือนกับที่ประเทศจีนเรียกร้องให้ญี่ปุ่น ซึ่ง 60 ปีแล้วนี่เรียกร้องให้นายกฯญี่ปุ่นกล่าวขอโทษ ที่ญี่ปุ่นเข้าไปรุกราน เข้าไปสังหารหมู่ที่นานกิง ประเทศไทยเหมือนกัน ผมคิดว่า 13 ปีก็ยังไม่นาน ก็อยากให้กล่าวขอโทษ

เขาบอกว่าให้มันลืมๆกันไป ไม่ได้นะ

ให้ลืมๆกันไป คือ ความจริงแล้วนี่ไม่เฉพาะประเทศไทย ในเกือบทุกประเทศในเวลานี้มีการต่อสู้กันทางความคิด คือให้ลืม ให้ลืมเหตุการณ์กับให้จำ อย่างเช่นในเกาหลีมีคนพยายามให้ลืมเหตุการณ์กวางจู ในกัมพูชาคนให้ลืมการสังหารหมู่ สมัยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ ในประเทศไทยคนก็ให้ลืม 6 ตุลา ลืมพฤษภา เพราะฉะนั้นการต่อสู้ทางความคิดให้ลืมกับให้จำนี่นะ ปรากฏว่า การต่อสู้ให้ลืมนี่ชนะ คล้ายๆกับบอกว่าเราต้องอยู่กับโลกปัจจุบัน และก็โลกอนาคต ทำไมไปนึกถึง ไปจำเรื่องเหตุการณ์ร้ายๆในอดีตทำนองนั้นนะ ในประเทศไทยเหมือนกันนะ การต่อสู้ให้ลืมนี่นะครับ ปรากฏว่าชนะ แล้วนอกจากชนะแล้วก็มีการอย่างเช่นกรณีพฤษภาคมนี่ ผมเคยเขียนเหมือนกันตอนครบรอบ 6 เดือน คือไม่ถึง 6 เดือนนี่ ผู้นำมันยิ่งยอดเยี่ยม พฤษภาก็ถูกหาว่าพาคนไปตาย พวกวีรชนก็ถูกหาว่าเป็นพวกก่อกวน ก่อความวุ่นวาย แต่กลุ่มนี้คล้ายๆว่ายังเคลื่อนไหวอะไร ปรากฏก็ได้ผลนะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net