Skip to main content
sharethis

ผู้คนในประชาสังคมไทยกำลังจับตามองความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกี่ยวกับประเด็นการย้ายคณะวิชาจากวิทยาเขตท่าพระจันทร์ไปสู่วิทยาเขตรังสิต แต่คงมีคนจำนวนน้อยนักที่จะเข้าใจโดยถ่องแท้ว่าความขัดแย้งดังกล่าวนี้ โดยพื้นฐานแล้วเป็นความขัดแย้งว่า ด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนา หากกล่าวให้ถึงที่สุดก็เป็นความขัดแย้งด้านอุดมการณ์

ในขณะที่สังคมเศรษฐกิจโลกมีความขัดแย้งที่เข้มข้นและรุนแรงมากขึ้น ระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนกระแสโลกานุวัตร (Globalization) กับกลุ่มผู้ต่อต้านกระแสโลกานุวัตร (Anti-Globalization) ในสังคมเศรษฐกิจไทย วิวาทะระหว่างฉันทมติแห่งวอชิงตัน (Washington Consensus) ซึ่งยึดกุมยุทธศาสตร์โลกานุวัตรพัฒนากับฉันทมติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (Bangkok Consensus) ซึ่งยึดกุมปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียง ปรากฏอย่างเด่นชัดยิ่งขึ้น

โดยที่ในบางกรณีปะทุเป็นความขัดแย้งที่รุนแรง ชุมชนวิชาการดังเช่นมหาวิทยาลัย ยืนอยู่บนทางแพร่งที่จะต้องเลือกเดินระหว่างแนวทางโลกานุวัตร กับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ธรรมศาสตร์ก็ดุจเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ยืนอยู่บนทางแพร่งดังกล่าวนี้ เมื่อกว่าสองทศวรรษที่แล้ว

แต่แล้วด้วยการนำของผู้บริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งยึดการเติบโตเป็นสรณะ ธรรมศาสตร์ก็ถูกลากสู่เส้น
ทางโลกานุวัตร พัฒนาคณะวิชาใหม่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด เพราะเหตุที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องมนตราแนวความคิดว่าด้วยมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะต้องมีคณะวิชาทั้งทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยครบถ้วน

คนเหล่านี้ไม่เชื่อว่า Small Is Beautiful และไม่เคยศึกษาพัฒนาการของมหาวิทยาลัยในมนุษยพิภพ อย่างลึกซึ้ง มองไม่เห็นมหาวิทยาลัยจำนวนมากที่มี "ความไม่สมบูรณ์แบบ" แต่มีความแข็งแกร่งทางวิชาการอันยากที่จะหาสถาบันใดเสมอ

เหมือนในประการสำคัญ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เคยตอบ คำถามพื้นฐานได้ว่า จะเร่งตั้งคณะวิชาใหม่เพื่อเป็น "มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ" ไปทำไมกัน สังคมไทยจะได้ประโยชน์อันใดจากการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แปรสภาพเป็น "มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ" ในรูปแบบ แต่มิใช่ "มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ" ในเนื้อหานอกเหนือจาก การทำหน้าที่ "โรงพิมพ์ปริญญาบัตร" หรือ "โรงพิมพ์วุฒิบัตร"

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในอดีตบางคนมีวิตกจริตว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตกต่ำลง โดยพิจารณาจากงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับจัดสรร แทนที่จะมองความตกต่ำของมหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์จากความเสื่อมทรามทางวิชาการ ด้วยเหตุที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตกอันดับในโครงสร้างงบประมาณอุดมศึกษาของรัฐ การเร่งรุดสู่ "มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ" จึงเป็นยุทธศาสตร์หลักในการกอบกู้สถานะ และไต่อันดับงบประมาณแผ่นดินประดุจว่า อันดับงบประมาณแผ่นดินเป็นดัชนีวัดความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัย หาได้ตระหนักว่า ในระยะก่อร่างสร้างคณะใหม่ คณะวิชาที่มีอยู่แล้วต้องสูญเสียงบประมาณอันพึงได้ เพื่อปันแก่คณะวิชาที่จัดตั้งขึ้นใหม่ อย่างน้อยที่สุดอัตราการเพิ่มขึ้น ของงบประมาณต่ำกว่าอัตราอันพึงได้ เพราะสำนักงบประมาณมิได้แยกพิจารณาการจัดสรรงบประมาณสำหรับคณะวิชาใหม่ในลักษณะ top up เพิ่มเติมจากงบประมาณของคณะวิชาที่มีอยู่เดิม หากแต่พิจารณาวงเงินงบประมาณของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในกรอบเดียวกับงบประมาณที่จัดสรรให้หน่วยราชการอื่นๆ

มนตราแห่ง "มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ" ขลังพอที่จะดูดดึง "มือปืนรับจ้าง" และ "ขุนพลพเนจร" ผู้ขันอาสามาจัดทำโครงการตั้งคณะใหม่ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บางคนขันอาสาด้วยจิตใจบริสุทธิ์ แต่บางคนมีเข็มมุ่งในการดูดซับส่วนเกินทางเศรษฐกิจ โดยที่บางคนมี "เกียรติประวัติ" ในการตั้งคณะใหม่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ มาก่อนแล้ว จนดูเหมือนว่า หากผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกแห่งยึดการเติบโตเป็นสรณะ "มือปืนรับจ้าง" เป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้ ความไม่โปร่งใสในการแต่งตั้งผู้บริหารคณะวิชาใหม่ดูเหมือนจะเป็นลักษณะเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเคยได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งธรรม อย่างน้อยที่สุดไม่มีการประกาศรับสมัครเป็นการทั่วไป หากแต่เป็นเรื่องภายในของผู้บริหารมหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์เพียงไม่กี่คน

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ขันอาสาจัดทำโครงการตั้งคณะวิชาใหม่มักจะได้รับเสนอชื่อให้เป็นคณบดี มีเพียงส่วนน้อยที่ขันอาสาแล้ว ขอ "ล้างมือในอ่างทองคำ" อันเป็นประพฤติกรรมที่ควรแก่การสรรเสริญ แต่การกำหนดกติกาการเล่นเกม โดยนัยว่า ผู้จัดทำโครงการตั้งคณะวิชาใหม่คณะใดจะได้เป็นคณบดีคณะนั้น ย่อมกัดกร่อนฐานรากของคณะใหม่ที่จะตั้งขึ้น เพราะมีสิ่งจูงใจในการผลักดัน ให้มีการตั้งคณะวิชาใหม่ โดยปราศจากการวางรากฐานทางวิชาการ ในบางยุคสมัยถึงกับพยายามจัดตั้งคณะวิชาใหม่โดยบรรจุเป็นวาระจรในการประชุมสภามหาวิทยาลัย

ความไม่เชื่อเรื่อง Small Is Beautiful และการยึดการเติบโตเป็นสรณะ ทำให้คณะวิชาใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความอ่อนแอทางวิชาการและความเปราะบางทางปัญญา ในช่วงแห่งภาวะเศรษฐกิจถดถอย (2523-2529) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เผชิญกับปัญหาความถดถอยของงบประมาณ ในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ (2530-2539)

แม้ความจำกัดของงบประมาณจะสร้างปัญหาไม่มาก แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสื่อมทรุดในทางวิชาการอย่างสำคัญ อาจารย์จำนวนมากตบเท้าสู่ตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ ลอยละล่องไปกับภาวะฟองสบู่ทางเศรษฐกิจ คณะวิชาที่ตั้งขึ้นใหม่ไม่สามารถดูดดึงบุคลากรที่มีคุณภาพ แม้ผู้ที่เคยมีประวัติสอบได้เกรด F ก็ยังสามารถบรรจุเป็นอาจารย์ได้โดยไม่ยาก

ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่มีบทบาทสำคัญในการผันทรัพยากรมนุษย์ไปสู่ภาคเศรษฐกิจการเงิน การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานทางวิชาการ (Academic Infrastructure) และสิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพ ณ วิทยาเขตรังสิต ทำลายมนตราของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกือบโดยสิ้นเชิง

การเร่งรุดจัดตั้งคณะวิชาใหม่ โดยมิได้เตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิชาการ และไม่มีแผนในการผลิตอาจารย์และบุคลากร ที่มีคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม ไม่เพียงแต่ทำให้คณะวิชาที่จัดตั้งใหม่อ่อนแอทางวิชาการเท่านั้น หากยังทำให้ไม่สามารถพึ่งตนเองทางวิชาการอีกด้วย บางสาขาวิชา แม้จัดตั้งมากว่าทศวรรษ ยังมิอาจอำนวยการสอนเองให้ครบทุกลักษณะวิชาได้ การขาดความใส่ใจในประเด็นการออกแบบเชิงสถาบัน (Institutional Design) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กติกาการเล่นเกม (Rule of the Game) เมื่อแรกเริ่มก่อตั้งคณะวิชา แม้ในกรณีสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร นับเป็นอุปสรรคสำคัญในการที่ธรรมศาสตร์จะแปรโฉมเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University)
ความอ่อนแอทางวิชาการจะยังคงฝังตัวอยู่ที่ทุ่งรังสิตนานนับชั่วคน อันเป็นผลจากความผิดพลาดในการเร่งรุดตั้งคณะวิชาใหม่ เพราะการแก้ปัญหาความอ่อนแอทางวิชาการที่ผูกติดมากับกำเนิดเป็นเรื่องยากยิ่ง แม้ท่าพระจันทร์เดิมไม่ถึงกับแข็งแกร่ง แต่ก็ไม่ถึงกับอ่อนแอ แต่แล้วภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ (2530-2539) ก็ทำลายจิตวิญญาณของชุมชนวิชาการที่ท่าพระจันทร์เกือบหมดสิ้น ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ยังกระทบต่อโครงสร้างบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย ในแง่นี้ ธรรมศาสตร์มิได้แตกต่างจากหน่วยราชการอื่นๆ ที่คุณภาพของบุคลากรเสื่อมทรามลง

ในช่วงที่เศรษฐกิจฟองสบู่เบ่งบานนั้นเอง (2530-2539) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มิเพียงเคลื่อนเข้าสู่กระแสโลกานุวัตรเท่านั้น หากยังถูกครอบงำโดยกระบวนการแม็กโดนัลดานุวัตร (McDonaldization) อีกด้วย ธรรมศาสตร์ผลิตบริการอุดมศึกษาที่มีลักษณะหลากหลายมากขึ้น (Product Differentiation) สนองความต้องการของตลาดมากขึ้น (Marketization) การรัดเข็มขัดทางการคลังในระหว่าง ปี 2523-2529 สร้างปัญหาทางการเงินแก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอันมาก

ด้วยเหตุที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอำนาจในการประสาทปริญญาบัตรและวุฒิบัตรตามกฎหมาย ผู้บริหารทั้งระดับมหาวิทยาลัยและระดับคณะ เรียนรู้การหารายได้จากการใช้อำนาจนี้ กระบวนการแปรปริญญาบัตรและวุฒิบัตรให้เป็นสินค้า (Commoditization) เกิดขึ้นควบคู่กับกระบวนการแปรบริการการศึกษาให้เป็นสินค้า ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งระบบอุดมศึกษาของรัฐ หากความต้องการแสวงหารายได้ยิ่งมีมากเพียงใด กระบวนการแปรปริญญาบัตรและวุฒิ บัตรให้เป็นสินค้าย่อมเชี่ยวกรากมากเพียงนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ดุจเดียวกับสถาบันอุดมศึกษาของรัฐจำนวนมากที่กำลังแปรโฉมเป็น "โรงพิมพ์ปริญญาบัตร" หรือ "โรงพิมพ์วุฒิบัตร" ไม่ต้องสงสัยเลยว่า กระบวนการแปรปริญญาบัตรและวุฒิบัตรเป็นสินค้าจะไม่มีผลกระทบ ต่อคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา มิจำเพาะแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในขณะที่ McDonald ขายบริการอาหารประเภท "แดกด่วน ยัดเร็ว" มหาวิทยาลัยของรัฐไทยก็เจริญรอยตาม McDonald ด้วยการขยายการผลิตบริการการฝึกอบรมระยะสั้น แต่ธรรมศาสตร์อาจล้ำหน้ามหาวิทยาลัยจำนวนมากในข้อที่เริ่มจัดระบบเครือข่ายสาขาในลักษณะ Chain Store ดุจเดียวกับ McDonald ด้วยพัฒนาการเช่นนี้เอง มิช้ามินานธรรมศาสตร์จะแปรเปลี่ยนเป็น McUniversity อย่างสมภาคภูมิ

ในการก้าวไปสู่ McUniversity ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำเป็นต้องเรียนรู้จาก McDonald อีกมาก ผู้ที่ติดตามศึกษา McDonaldization Thesis ย่อมทราบแก่ใจดีกว่า McDonald และธุรกิจ Fast Food ทั้งปวงต้องจัดระบบการบริหารที่เป็นวิทยาศาสตร์ (Scientific Management) มีเป้าหมายในการลดต้นทุนให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ (Cost Minimization) อีกทั้งต้องจัดระบบการควบคุม คุณภาพสินค้า (Quality Control) เพื่อมิให้ผลผลิตของสาขาต่างๆ มี คุณภาพแตกต่างกัน หรืออย่างน้อยที่สุดแตกต่างกันไม่มาก

ในขณะที่ความสำนึกด้านต้นทุน (Cost Consciousness) เป็นเรื่องสำคัญในองค์กรธุรกิจสมัยใหม่ แต่มหาวิทยาลัยของรัฐไทย รวมทั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หาได้มีสำนึกด้านนี้ไม่ เพราะเงินที่ใช้จ่ายมิใช่เงินของตนเอง การใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป ทั้งไม่ปรากฏว่ามีความพยายามในการจัดระบบบัญชีต้นทุน (Cost Accounting) เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิ
ภาพ

การบริหารมหาวิทยาลัยในบางยุคสมัยยึดถือคติทางไสยศาสตร์ และมิอาจกล่าวอ้างได้ว่ามีการบริหารอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ แม้แผนการย้ายท่าพระจันทร์ไปรังสิตก็หามีการศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ไม่ การเร่งรุดย้ายประชาคมท่าพระจันทร์ไปรังสิต กระทำดุจเดียวกับการเร่งรุด ตั้งคณะวิชาใหม่ดั่งที่เคยทำมา ความฉุกละหุกมีมากถึงกับขอแปลงงบประมาณแผ่นดินที่ควรจะใช้ไปในการก่อสร้างศูนย์
บริการวิชาการและการประชุมนานาชาติ (เนื่องในมหามงคลวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2539) เพื่อนำมาใช้ก่อสร้างอาคารรองรับการย้ายถิ่นฐาน ของผู้คนจากท่าพระจันทร์

ตัวอย่างของการบริหารอย่างไม่เป็นวิทยาศาสตร์ยังดูได้จากการก่อสร้างหอสมุดปรีดี พนมยงค์ และอาคารโรงอาหารใหม่ ทั้งๆ ที่อาคารหลังยังมิทันเปิดใช้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยชุดเดียวกับที่ตัดสินใจก่อสร้างอาคารเหล่านี้ กลับตัดสินใจที่จะย้ายท่าพระจันทร์ไปรังสิต งบประมาณแผ่นดินที่ควรจะใช้ก่อสร้าง Resource Center ณ ทุ่งรังสิต เมื่อถูกผันมาใช้ที่ท่าพระจันทร์ย่อมทำให้ประชาคมรังสิตสูญเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จาก Resource Center ที่มิได้สร้าง บัดนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องของบประมาณแผ่นดินเพื่อสร้าง Resource Center ใหม่ ณ ทุ่งรังสิต รองรับการอพยพผู้คนจากท่าพระจันทร์ โดยที่หอสมุด ปรีดี พนมยงค์ ยังมิได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

ลัทธิการเติบโตเป็นเอก (Expansionism) สร้างความมหัศจรรย์ ทางเศรษฐกิจแก่อาเซียนตะวันออก แต่การเติบโตที่ปราศจากคุณภาพ นำมาซึ่งวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงในปี 2540 ลัทธิการเติบ
โตเป็นเอกทำให้ธรรมศาสตร์เป็น "มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ" ในรูปแบบ แต่การเติบโตที่ปราศจากคุณภาพสร้างความอ่อนแอทางวิชาการทั้งที่ ทุ่งรังสิตและท่าพระจันทร์ และทำให้ธรรมศาสตร์มิอาจเป็น "มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ" ในเนื้อหา

ธรรมศาสตร์จะเลือกเดินบนเส้นทางตามยุทธศาสตร์การพัฒนา ที่ยึดกุมลัทธิการเติบโตเป็นเอก และเลือกเดินแนวทางวิถีแห่งตลาด เพื่อเป็น "โรงพิมพ์ปริญญาบัตร" และ McUniversity ในรูปแบบต่อไป หรือไม่ มิใช่อำนาจสิทธิขาดของผู้บริหารมหาวิทยาลัย หากแต่ต้องรับฟังความเห็น มิจำเพาะจากประชาคมธรรมศาสตร์ หากยังรวมประชาสังคมไทยอีกด้วย ในเมื่อทรัพยากรทางการเงินที่ธรรมศาสตร์ใช้มาจากงบประมาณแผ่นดินเป็นส่วนใหญ่

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
คอลัมน์ท่าพระจันทร์ถึงสนามหลวง
ผู้จัดการรายวัน
28 ก.ค.2546

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net