Skip to main content
sharethis

ประชาไท-17 พ.ค. 2548 "มุมมองเรื่องปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมในสังคมไทยที่ผ่านมา ล้วนแต่เป็นการมองหรือการทำงานแบบตั้งรับ คือรอให้เกิดปัญหาขึ้นแล้วค่อยแก้ไข ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ถูก หมอคิดว่าน่าจะมีการประเมินและเฝ้าระวังปัญหาในขั้นต้นเลยจะดีกว่ามานั่งแก้ปัญหาทีหลัง" พญ.ฉันทนา ผดุงทศ เจ้าหน้าที่สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการนำเสนอข้อมูลการวิจัยประเมินความเสียหายด้านสุขภาพที่เกิดจากมลพิษ ณ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) วันนี้

พญ.ฉันทนา กล่าวว่า เรื่องของสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในประเทศเป็นเรื่องสำคัญที่ควรเร่งศึกษาและหาหนทางแก้ไข เพราะว่าในปัจจุบันปัญหาดังกล่าวเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อมที่ได้รับสารปนเปื้อนจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เช่นการพบสารปนเปื้อนแคดเมียมในสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก หรือสารพิษตกค้างของกัมมันตภาพรังสี โคบอลท์ 60 ที่อยู่ในร่างกายของคนในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ

เจ้าหน้าที่สำนักโรคจากการประกอบอาชีพฯ กล่าวต่อว่า ปัญหาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่จะใช้ระยะเวลาในการสะสมและค่อย ๆ แสดงอาการ ฉะนั้นกว่าจะรู้ถึงสาเหตุ สุขภาพของคนในพื้นที่เหล่านั้นก็จะหาทางรักษาได้ยากแล้ว

"การจัดการเรื่องมลพิษสิ่งแวดล้อมที่ผลต่อสุขภาพของประชาชนในแบบเก่า ก็จะเป็นแบบป่วยแล้วค่อยมาเคาะประตูหาหมอ แล้วก็จะทำการตรวจว่าเป็นการป่วยจากสิ่งแวดล้อมหรือเปล่าและค่อยหาทางรักษาฟื้นฟู ปัญหาที่เกิดขึ้นมันจึงบานปลายแก้ไขยาก" พญ.ฉันทนา กล่าวถึงที่มาของปัญหาในการจัดการมลพิษสิ่งแวดล้อมพร้อมกล่าวต่ออีกว่า

"แต่การจัดการแบบใหม่ที่ทางทีมวิจัยสรุปออกมานั้น จะเป็นตัวช่วยในส่วนของการเฝ้าระวัง ป้องกันและ ควบคุมตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อเป็นการตัดตอนสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนที่จะมาคุกคามสุขภาพของประชาชน คือ ขั้นแรกให้มีการส่งเสริมสุขภาพจิต กาย สังคม และจิตวิญญาณ มีการศึกษาเพื่อลดความเสี่ยงหรือปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อโรคให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ อีกทั้งยังให้มีการตรวจสุขภาพเป็นระยะ ๆ พร้อมกันนั้นยังมีการกำหนดกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคตามอาการมากน้อยเพื่อทำติดตามอาการและรักษาพยาบาล ขั้นตอนสุดท้ายคือการฟื้นฟู"

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สำนักโรคจากการประกอบอาชีพฯ กล่าวว่า นอกจากวิธีการจัดการแบบใหม่ที่ทางภาครัฐ ตั้งแต่ระดับกระทรวงจนถึงสำนักงานสาธารณสุขระดับอำเภอจะต้องเข้ามาดูแลและจัดการแล้ว ทางผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรมขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ต้อเข้ามาช่วยดูและจัดการด้วย เช่นควรมีกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติหรืออีไอเอ ควบคุมการกำจัดของเสีย จัดและตรวจสอบสภาพแวดล้อมในโรงงานเป็นระยะ ๆ ตรวจสุขภาพพนักงานเป็นระยะเช่นกัน และควรมีเงินทดแทนให้กับลูกจ้างกรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน

ด้านนางมิ่งสรรพ์ ขาวสอาด ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมคนไม่ค่อยให้ความสนใจ จนเมื่อเกิดปัญหาที่ยากเกินแก้แล้วจึงค่อยร้องเรียนผ่านสื่อ ผ่านหน่วยงานรัฐ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำก็คือ ต้องดึงประเด็นที่เด่นและคนในให้ความสนใจเป็นจุดยืน เช่น เรื่องของสุขภาพ อย่างการเป็นมะเร็งจากมลพิษสิ่งแวดล้อม ประชาชนก็จะให้ความสนใจ ส่วนในเรื่องของการแก้ไขทางกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องประสานกับการปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นรูปธรรม

สิรินภา อิ่มศิริ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net