Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ได้ตรวจสอบกลั่นกรองรายงานสิทธิมนุษยชน สำหรับประเทศที่ถูกสอบสวนสภาวะสิทธิมนุษยชน โดยหนึ่งในนั้นมีประเทศไทย รวมอยู่ด้วย และหลังได้ข้อสรุปเบื้องต้นแล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จึงส่งเอกสารอย่างเป็นทางการถึงรัฐบาลไทย เพื่อขอให้ส่งตัวแทน ไปตอบคำถาม และให้ข้อมูลชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

ทั้งนี้ การประชุมรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 ก.ค. 2548 อันเป็นไปตามตามข้อกำหนดมาตรา 40 ของสนธิสัญญา ว่าด้วยการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (CCPR)

สำหรับประเด็นที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ของสหประชาชาติ สอบถามมายังรัฐบาลไทยมีทั้งหมด 26 ข้อ ซึ่งคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ตามสนธิสัญญาว่าด้วยการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบันรับรองไว้

สำหรับประเด็นที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้ไทยชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนทั้ง 26 หัวข้อ มีรายละเอียดดังนี้

1. ให้ยกตัวอย่างกรณีที่มีการอ้างต่อศาลถึงบทบัญญัติในข้อตกลงสิทธิมนุษยชน พร้อมผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

2. ภาครัฐของไทย พิจารณาสัตยาบันในสนธิสัญญาชั้นต้นของข้อตกลงนั้นหรือไม่
3. รัฐบาลไทยต้องให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการฯ เกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งตามข้อตกลง และให้แจ้ง 'ตัวเลขยอดร้องเรียน' ที่ได้รับ รวมทั้งผลการติดตาม

4. ประเทศไทยประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ และในกรณีเหตุการณ์รุนแรงทางภาคใต้ ขอให้รัฐบาลไทยอธิบายว่า 'ภาครัฐ' ตั้งใจเคารพสิทธิตามมาตราที่ 4 เมื่อมีการประกาศภาวะฉุกเฉินอย่างไร และขอให้ชี้แจงเกี่ยวกับการประกาศใช้ กฎอัยการศึก รวมถึงประกาศของนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนมิ.ย.2547 และให้ระบุการใช้มาตราใดในกฎอัยการศึก

รวมทั้งขอให้แจ้งตัวเลข 'ยอดผู้เสียชีวิต' จากเหตุการณ์รุนแรงทางภาคใต้ และยอดผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายใต้มาตราที่ 7 และ 10 และขอทราบการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ต่อกรณีนี้

5. กรุณาแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของไทย

6. ขอให้ชี้แจงต่อคณะกรรมการฯ ว่า สิทธิทั้งหมดภายใต้กฎหมายไทย รวมถึงรัฐธรรมนูญ ครอบคลุมถึงบุคคลที่อยู่ในเขตอำนาจศาล ผู้ไม่ใช่พลเมือง ผู้อพยพ และผู้ลี้ภัย หรือไม่

7. ขอให้ชี้แจ้งว่า มีการกีดกันทางเพศในกฎหมายไทยหรือไม่ โดยเฉพาะด้านการจ้างงาน การรับบริการทางสังคม การสมรส และการรับมรดก

8. กรุณาชี้แจงถึงความรุนแรงต่อสตรี และมาตรการทางกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหา

9. กรุณาระบุมาตรการของรัฐบาลในการต่อต้านการค้ามนุษย์ และคุ้มครองเหยื่อเอดส์

10. ขอให้ชี้แจงเกี่ยวกับความผิดที่ต้องโทษถึงขั้นประหารชีวิต

11. ขอให้ชี้แจงมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องสงสัยที่ถูกฆ่าโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และขอให้ชี้แจงขั้นตอนการสอบสวนยอดผู้เสียชีวิตจากการทำสงครามกับยาเสพติด

12. ขอให้แจ้งสถิติการประหารชีวิตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งคดีที่ยังไม่ยุติ

13. ขอทราบวิธีเยียวยาทางกฎหมายต่อเหยื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย

14. ขอให้ชี้แจงถึงเหตุผลในการจองจำนักโทษประหารด้วยโซ่ตรวน และให้อธิบายข้อกล่าวหาที่รัฐมีแผนการแพร่ภาพการประหารนักโทษ และสภาพความเป็นอยู่ของนักโทษที่รอการประหาร

15. กรุณาให้ข้อมูลการปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อการร้ายและผู้ติดยาเสพติดที่อยู่ในอารักขาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

16. กรุณาให้ข้อมูลถึงขั้นตอนที่ภาครัฐดำเนินการสอบสวนเกี่ยวกับการคุกคามหรือโจมตีกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ไม่ใช่ของรัฐบาล (เอ็นจีโอ) ขอให้ชี้แจงเป็นกรณี

17. ขอให้ระบุว่าผู้พิพากษาได้ประโยชน์อย่างไรจากการควบคุมโดยรัฐ

18. ขอให้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ การดูแล และการเนรเทศแรงงานพม่า ผู้อพยพ และผู้ขอลี้ภัย

19. กรุณาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สิทธิแสดงความเห็นอย่างเสรีโดยสื่อมวลชนไทย

20. กรุณาชี้แจงสถานะการฟ้องร้องนักวิจารณ์ข้อหาหมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรีไทย รวมทั้งการฟ้องร้องบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ โดยบริษัทที่ก่อตั้งโดยนายกรัฐมนตรีไทย

21. กรุณาอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม และการทำงานของรัฐในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมดังกล่าว

22. กรุณาอธิบายเหตุผลที่ภาครัฐยกเลิกคำวินิจฉัยของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถึงการใช้กำลังและกลยุทธ์ของทหารและตำรวจ ในการกวาดล้างผู้ประท้วงเมื่อวันที่ 16 ต.ค.2547

23. กรุณาให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็กและโสเภณีเด็ก

24. กรุณาให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการรับรองการปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้ง รวมถึงมาตรการรับประกันความโปร่งใส และความยุติธรรมของการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2548

25. กรุณาแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การมอบสิทธิแก่ชาวเขาภายใต้ มาตรา 27 และสิทธิในการเคลื่อนย้ายโดยเสรี สิทธิในการเป็นพลเมือง และสิทธิในการครอบครองที่ดิน

26. กรุณาให้รายละเอียดโครงการให้การศึกษาและฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ยุติธรรม ผู้บังคับใช้กฎหมาย และผู้รักษาความมั่นคง เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ตามกฎหมายแห่งชาติและกฎหมายสากล

*ข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจบิสวีค ฉบับวันที่ 20 - 26 พฤษภาคม 2548/color]

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net