Skip to main content
sharethis

ยะลา - 27 พ.ค.48 กอ.สสส.จชต.ทำรายงาน 6 เดือนส่งท้าย "สิริชัย ธัญญสิริ" ฟันธง ผู้ก่อการ "นักการเมืองท้องถิ่น-ชาติ-ผู้ก่อการฯ-ธุรกิจผิดกม." ระบุ พื้นที่นราธิวาสเสี่ยงมากที่สุด รองลงมาเป็นปัตตานีและยะลา โดยหวังผลทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐ

ศูนย์ข่าวแปซิฟิค รายงานโดยอ้างเอกสารของกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) ซึ่งสรุปผลการทำงานในห้วง 6 เดือนว่า สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภายใต้โดยรวม มีความรุนแรงมากขึ้นทั้งด้านวิธีการ ความถี่ และความกว้างขวางของพื้นที่ในการก่อความไม่สงบ

ทั้งนี้ในส่วนของสถิติการลอบวางระเบิดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ช่วง 6 เดือน มีทั้งสิ้น 65 ครั้ง เก็บกู้ได้ 12 ครั้ง ส่วนสถิติจังหวัดที่มีการก่อเหตุมากที่สุดคือ นราธิวาส เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงกันชัดเจนของคน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ กลุ่มอิทธิพลธุรกิจผิดกฎหมายและยาเสพติด

ขณะที่จังหวัดปัตตานีและยะลาเป็นพื้นที่ที่มีการก่อเหตุรองลงมาตามลำดับ ส่วนแนวโน้มสถานการณ์คาดว่าการก่อเหตุรายวันยังไม่สามารถยุติได้โดยเร็ว กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยังมีขีดความสามารถทางยุทธวิธี เนื่องจากเซลล์อิสระยังคงมีเสรีภาพในการเคลื่อนไหวและดำเนินการได้โดยไม่ต้องรับการสั่งการ

"เนื่องจากผู้ก่อการต้องการท้าทายอำนาจรัฐใหม่คือ กอ.สสส.จชต. ที่เข้ามาดูแล รวมทั้งต้องการตอบโต้ล้างแค้นการสูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่หน้า สภ.อ.ตากใบ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส" เอกสารของกอ.สสส.จชต.ระบุ

โดยเจ้าหน้าที่สามารถระบุโครงสร้างของกลุ่มก่อความไม่สงบและวิธีปฏิบัติได้ชัดเจนขึ้นคือ องค์กรนำหรือกลุ่มควบคุมและสั่งการ กลุ่มควบคุมทางยุทธวิธี กลุ่มผู้ปฏิบัติการทางทหาร และกลุ่มแนวร่วมและมวลชน โดยมีบุคคลหลายประเภทเกี่ยวข้องในแต่ละระดับ ทั้งผู้นำจิตวิญญาณ นักเรียนปอเนาะ เยาวชนว่างงาน

โดยเชื่อมโยงกันในลักษณะปิรามิด 3 ส่วน โดยส่วนยอดมีกลุ่มบีอาร์เอ็น โค-ออร์ดิเนต เป็นองค์กรนำกลุ่มควบคุมสั่งการ ส่วนกลางของปิรามิดคือ กลุ่มควบคุมทางยุทธิวิธี มีการทำงานผสมผสานกันระหว่างนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น กลุ่มผลประโยชน์ ผู้มีอิทธิพล กลุ่มโจรรับจ้าง และ

ส่วนฐานปิรามิดเป็นกลุ่มแนวร่วมและมวลชน ซึ่งถูกแสวงหาประโยชน์จากความมีเอกลักษณ์ทางเชื้อชาติ ศาสนาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับลักษณะการก่อเหตุ มีการนัดหมายวางแผนล่วงหน้าก่อนลงมือปฏิบัติการ โดยส่วนมากเป็นการก่อกวนสร้างความเสียหายไม่มาก ทั้งนี้มีการก่อเหตุหลายจุดในเวลาใกล้เคียงกัน แต่พบการก่อเหตุลักษณะพิเศษในจังหวัดนราธิวาสที่เป็นการลอบวางระเบิดที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญและมีต้นทุนในการก่อการสูงกว่าพื้นที่อื่น ซึ่งแม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นเป้าหมาย แต่จุดประสงค์น่าจะเป็นหวังผลในการประโคมสถานการณ์ให้เห็นว่าทางราชการไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net