Skip to main content
sharethis

จักรกริช สังขมณี กำลังศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ระหว่างเตรียมตัวเข้าร่วมโครงการ "ผู้นำเยาวชนฮิตาชิ" ซึ่งคัดเลือกตัวแทนเยาวชน ๔ คนจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อไปแสดงวิสัยทัศน์แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกับเยาวชนจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่นอีก ๔ ประเทศในอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยจะจัดขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และสิ่งแวดล้อม ที่ทุกประเทศเผชิญอยู่ เพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา และสร้างความเข้าใจอันดีด้านความแตกต่างทางวัฒนธรรม

จักรกริชเป็นชาวจังหวัดสงขลา จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา โดยในปีสุดท้ายของ ม.ปลาย ได้รับทุนนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ไปศึกษาที่ Bishop Union High School แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลาหนึ่งปี และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"ที่มาสนใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมหรือเรื่องของการพัฒนา เนื่องจากสมัยเรียนรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มีโอกาสได้ทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาพอสมควร เช่น โครงการของตาวิเศษ เป็นต้น เป็นโครงการโรงเรียนเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะนำเรือออกและพาเด็กๆไปเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่นั้นก็ทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเรื่อยมา เรียกได้ว่าเป็นนักกิจกรรมตัวยงเลยทีเดียว ทำกิจกรรมค่อนข้างเยอะ ส่วนตัวแล้วไม่ชอบเรื่องการเมืองการปกครองสักเท่าไร จะสนใจเรื่องสังคมและความเป็นไปในสังคมมากกว่า" จักรกริชเล่าถึงความหลงใหลในการทำกิจกรรม ซึ่งเป็นที่มาของความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุนี้เมื่อเรียนจบรัฐศาสตร์ จักรกริชจึงมองหาสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และพบว่าสาขาดังกล่าวเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ และในประเทศไทยไม่มีที่ไหนเปิดสอนเลยนอกจากที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางขึ้นเหนือมาเรียนต่อที่เชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสาขาวิชาดังกล่าวเริ่มมีการเปิดสอนที่อื่นบ้างแล้ว อย่างที่จุฬาฯ เป็นต้น

เมื่อกล่าวถึงโครงการผู้นำเยาวชนฯดังกล่าว จักรกริชเล่าว่า "โครงการดังกล่าวมีมาหลายปีแล้วเหมือนกัน แรกทีเดียวไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เท่าไร จนบังเอิญปีนี้ไปอ่านพบประกาศรับสมัครนักศึกษาเข้าร่วมโครงการฯ จึงลองสมัครไป จากนั้นจึงมีการคัดเลือกซึ่งมีขั้นตอนหลายขั้นตอน โดยเฉพาะที่ มช. จะมีขั้นตอนการคัดเลือกมากกว่าที่อื่น ต้องมีการส่งรายงานของเราให้คณะกรรมการอ่านก่อน จากนั้นจึงเข้าสอบคัดเลือกในส่วนของตัวแทนคณะสังคมฯ ตามมาด้วยการสอบคัดเลือกระดับตัวแทนมหาวิทยาลัย ซึ่งมีผู้เข้ารับการคัดเลือกทั้งจากคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น หลังผ่านพ้นขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์จะเหลือตัวแทนมหาวิทยาลัยเพียงสองคน ไปคัดเลือกเป็นตัวแทนระดับประเทศจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ซึ่งท้ายที่สุดจะเหลือตัวแทนประเทศ ๔ คน"

หลังจากได้ตัวแทนประเทศไทยครบ ๔ คนแล้ว จึงมาถึงขั้นตอนการพิจารณาว่าตัวแทนแต่ละคนมีความเหมาะสมสำหรับประเด็นใดจากสามประเด็นดังที่กล่าวมาแล้ว สำหรับตัวจักรกริชเองด้วยพื้นฐานขอบเขตวิชาเรียนและกิจกรรมที่เคยได้ทำมา ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าตัวแทนคนอื่นๆ จึงได้รับเลือกให้รับผิดชอบประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ในหัวข้อ "การเปลี่ยนการรับรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา" ส่วนอีกสองประเด็นที่เหลือ เป็นหน้าที่ของตัวแทนอีก ๓ คน ซึ่งเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยที่จะนำไปพูดที่มาเลเซีย เป็นเรื่องของขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย เช่น เหตุการณ์ที่ปากมูล เรื่องท่อก๊าซที่จะนะ และการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน เป็นต้น มีความสนใจเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ เพราะคิดว่าเป็นภาพสะท้อนที่ค่อนข้างชัดเจนของปัญหาโดยรวมที่เกิดขึ้นภายในประเทศ การเคลื่อนไหวภาคประชาชนดังกล่าว เป็นพื้นที่ซึ่งมีอยู่ไม่มากนักสำหรับผู้คนระดับรากหญ้า ที่จะได้แสดงความคิดเห็นและเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรม ดังนั้นผู้คนในภาคส่วนอื่นซึ่งอาจไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงต่อประเด็นความขัดแย้ง ควรมีการเปิดใจยอมรับการเคลื่อนไหวดังกล่าวในฐานะความพยายามมีส่วนร่วมด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ในประเทศซึ่งความเป็นประชาธิปไตยอาจไม่สมบูรณ์นัก" จักรกริช กล่าว

จากการใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่เป็นปีที่สามแล้ว ทำให้จักรกริชพอจะมองเห็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยรวมของเชียงใหม่ ซึ่งมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก โดยขาดการวางแผนที่เหมาะสม เขาได้ยกตัวอย่างเรื่องระบบขนส่งมวลชนในเชียงใหม่ ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งของปัญหาด้านการจัดการและการพัฒนา และส่งผลกระทบต่อเนื่องทุกด้าน รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากนั้นการวางผังเมืองที่ขาดวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลก็แสดงให้เห็นถึงมุมมองการพัฒนา ที่ขาดการตระหนักถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน

"สิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหา คือ ความร่วมมือร่วมใจกันเพื่อเสนอให้ได้มาซึ่งการพัฒนาที่ได้รับประโยชน์ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของคนส่วนใหญ่ให้มากที่สุด ไม่ใช่การเอาแต่เรียกร้องว่าอยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่ออกมาทำอะไรเลย กรณีที่เชียงดาวถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของประชาสังคม ที่แสดงให้เห็นถึงจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมของคนในชุมชน และมารวมตัวกันเพื่อแสดงความคิดเห็น คัดค้าน และเสนอทางเลือกที่ดีกว่า เป็นความเข้มแข็งซึ่งทำให้โครงการกระเช้าลอยฟ้าต้องล้มเลิกไปในที่สุด เชียงใหม่โชคดีที่ยังมีประชาสังคมที่เข้มแข็งอยู่บ้าง ซึ่งบางที่ไม่มีจุดนี้"

แม้จะเรียกว่ากำลังอยู่ในช่วงเตรียมตัวก่อนเดินทางไปประเทศมาเลเซียในเดือนกรกฎาคม แต่จักรกริชก็ไม่ได้ทำอะไรเพิ่มเติมเป็นพิเศษจากที่เคยทำอยู่แต่เดิมนัก เนื่องจากเป็นการนำเสนอมุมมองจากงานที่มีความคุ้นเคยมาโดยตลอดอยู่แล้ว
จักรกริช กล่าวทิ้งท้ายว่า "การเข้าร่วมโครงการฯครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์อันมีค่า และยินดีที่ได้เป็นหนึ่งเสียงที่จะพูดแทนคนไทยให้คนในส่วนอื่นของโลกได้รับรู้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net