WWF พบปลาค้างคาวพันธุ์ใหม่ในป่าต้นน้ำภาคเหนือ

WWF พบปลาค้างคาวพันธุ์ใหม่ 8 ชนิดจากป่าต้นน้ำภาคเหนือ ขณะที่ปลาไทยจำนวน 269 ชนิดมีความเสี่ยงใกล้จะสูญพันธุ์

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ทางทะเลและน้ำจืดของ WWFประเทศไทย เปิดเผยผลงานการค้นพบปลาค้างคาว 8 ชนิดใหม่ ซึ่งเป็นผลจากงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพของปลาไทย ในการประชุมนานาชาติ ว่าด้วยเรื่องปลาแห่งภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ครั้งที่ 7 (Indo-Pacific Fish Conferences) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงไทเปของไต้หวัน ระหว่างวันที่ 16-20 พฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมกับรายงานสถานภาพปลาไทย 269 ชนิดกำลังเผชิญกับภาวะที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ในเวทีประชุมดังกล่าว มีผู้แทน 540 คนเข้าร่วมจาก 37 ประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดย
ดร.ชวลิต วิทยานนท์ เป็นผู้แทนหนึ่งในสามคนจากประเทศไทย สำหรับการค้นพบในครั้งนี้ เป็นผลจากการทำงานวิจัยร่วมกับกรมประมงของไทย ดร.อึ๊ง ฮก ฮี จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน วิทยาเขตแอนน์ อาร์บอร์ และอาจารย์ภาสกร แสนจันแดง จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ในการสำรวจปลาค้างคาว (hillstream catfish) สกุล Oreoglanis ซึ่งมีลักษณะหัวและลำตัวแบน และมีปากแบบดูดเกาะ มักอาศัยอยู่ในต้นน้ำลำธารที่ไหลเชี่ยว มีขนาดใหญ่สุด ยาวประมาณ 13 เซนติเมตร ที่ผ่านมามีเพียงปลาค้างคาวชนิด Oreoglanissiamensisชนิดเดียว จากดอยอินทนนท์ ที่เคยมีรายงานจากประเทศไทย และเป็นสัตว์น้ำคุ้มครอง

สำหรับปลาค้างคาว 8 ชนิดที่เพิ่งค้นพบนี้ ได้มาจากพื้นที่ 8 แห่งในเขตต้นน้ำลำธารทางภาคเหนือของประเทศไทย ระหว่างการทำงานวิจัยในช่วงเวลาเกือบ 10 ปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ในด้านความหลากชนิดของปลาในพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งคณะทำงานพบว่ามีปลามากกว่า 150 ชนิด มีหลายชนิดที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน และหลายชนิดเป็นปลาที่พบเฉพาะถิ่น รวมถึงปลาค้างคาว พันธุ์ใหม่ทั้ง 8 ชนิดนี้ ซึ่งคณะผู้วิจัยทั้ง 3 ได้นำไปตรวจสอบเปรียบเทียบกับตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ

ส่วนการตั้งชื่อปลาค้างคาว พันธุ์ใหม่เหล่านี้ ได้ตั้งชื่อตามบุคคลสำคัญในวงการอนุรักษ์ของไทย ได้แก่ คุณสืบ นาคะเสถียร ดร.สุรพล สุดารา และดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ขณะที่อีก 2 ชนิดใหม่ ตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย(Biodiversity Research and Training Program -- BRT) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ หรือที่เรียกว่า BIOTEC (National Center for Genetic and Biotechnology) ที่มีส่วนสนับสนุนงานวิจัยนี้ และมีบางชนิดตั้งชื่อตามลักษณะและแหล่งที่พบปลา ซึ่งใน 8 ชนิดนี้ มี 2 ชนิดพบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว ในลุ่มน้ำปิงตอนบน จังหวัด เชียงใหม่

อีก 3 ชนิดพบในลุ่มน้ำน่านตอนบน ขณะที่อีก 2 ชนิดพบจากต้นน้ำในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำสาละวิน ส่วนชนิดสุดท้ายมีถิ่นอาศัยบนดอยตุง ในลุ่มแม่น้ำโขง จังหวัดเชียงราย

ปลาค้างคาวนี้นับเป็นดัชนีบ่งชี้คุณภาพของแหล่งน้ำชั้นเยี่ยม เนื่องจากมันเป็นปลาที่มีความอ่อนไหวมากต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพน้ำ ทั้งยังต้องอาศัยอยู่ในน้ำที่อุณหภูมิต่ำเย็นในป่าต้นน้ำเท่านั้น ข้อมูลทางวิชาการฉบับสมบูรณ์เกี่ยวกับปลา 8 ชนิดใหม่นี้ จะมีการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการในเร็วๆนี้

สำหรับประเด็นเรื่องสถานภาพของปลาไทย ที่นำเสนอต่อที่ประชุมในครั้งนี้ด้วยนั้น เป็นการนำเสนอภาพรวมความหลากชนิดของปลากว่า 2,700 ชนิดที่อยู่ในน่านน้ำไทย ซึ่งเป็นปลาทะเล 2,000 ชนิดและปลาน้ำจืดอีก 720 ชนิด โดยชนิดพันธุ์ที่ประเมินว่ากำลังตกอยู่ในสถานภาพที่ถูกคุกคาม มีทั้งหมด 269 ชนิด โดยแบ่งเป็นระดับที่สูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว ได้แก่ปลาหวีเกศ (Platytropiussiamensis)ระดับต่อมาคือ สูญพันธุ์แล้วจากประเทศไทย ได้แก่ ปลาหางไหม้(Balantiochilos melanopterus) และปลาเสือตอลายใหญ่ (Datnioides pulcher)

มี 12 ชนิดที่อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤติ เช่น ปลาฉนาก (Pristis spp.) ปลาบึก (Pangasianodon gigas)และ 46 ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ อีก 155 ชนิดมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ส่วน 21 ชนิดกำลังใกล้ถูกคุกคาม และ 32 ชนิดมีข้อมูลไม่เพียงพอ

ปลาไทยที่ถูกคุกคามในระดับโลกมี 119 ชนิด และอีก 150 ชนิดถูกคุกคามในระดับประเทศ โดยเป็นปลาน้ำจืด 136 ชนิดและปลาทะเล 133 ชนิด ปลาฉลามและกระเบนเป็นกลุ่มหลักที่ถูกคุกคาม มีทั้งหมด 68 ชนิด และปลากลุ่มตะเพียน ปลาค้อ และปลาหมูอีก 58 ชนิด ในส่วนของปลาน้ำจืด มีอย่างน้อย 70 ชนิดที่พบเฉพาะถิ่นในประเทศไทย ซึ่งในจำนวนนี้ มี 26 ชนิดที่คาดว่าเป็นชนิดใหม่

ในส่วนที่เกี่ยวกับปลาทะเล 9 ประเด็น ที่จำเป็นต้องหามาตรการจัดการอย่างเร่งด่วนได้แก่ การอนุรักษ์ปลาฉนาก (Pristisspp.) ปลาฉลามต่างๆ ฉลามวาฬ ปลาหมอทะเล ปลานกขุนทองหัวโหนก และปลากะรังขนาดใหญ่ รวมถึงการจัดการประมงอวนลาก ประมงปลาในแนวปะกะรัง การจัดการพื้นที่อ่าวไทยตอนใน และทะเลสาบสงขลา

ส่วนประเด็นของปลาน้ำจืดที่กำลังถูกคุกคามได้แก่ ปลาบึก ปลาสะนากยักษ์ (Aaptosyax grypus)ปลาหมูอารีย์ (Botia sidthimanki) ปลาในป่าพรุ ปลาถ้ำ ปลากะโห้ (Catlocarpio siamensis) ปลาต้นน้ำลำธาร ปลากัดป่าเฉพาะถิ่น รวมถึงการจัดการที่ราบลุ่มน้ำหลาก และหนองบึงธรรมชาติ

การค้นพบครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์ในป่าเขตร้อนของประเทศไทย ซึ่งอยู่ในภูมินิเวศน้ำจืดในลุ่มแม่น้ำโขง และป่าแถบคะยา-คาเร็น รวมถึงภูมินิเวศทะเลอันดามัน ซึ่งล้วนเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเขตความหลากหลายทางชีวภาพสำคัญสูงสุดของโลก นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่อย่างน้อย 2 แห่งทางภาคเหนือของไทย คือในลุ่มน้ำปิงตอนบน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และแม่น้ำน่าน ที่สามารถนำเสนอให้เป็นเขตความหลากหลายทางชีวภาพของปลาที่สำคัญสูงสุดของโลกได้ เนื่องจากในแต่ละพื้นที่เป็นถิ่นอาศัยของปลาถิ่นเดียวที่มากกว่า 5 ชนิด

ศาสตราจารย์ Kwang-Tsao Shao จากสถาบัน Academia Sinicaแห่งไต้หวัน ประธานจัดการประชุม กล่าวว่า ปลาก็อยู่ในสัตว์ป่าจำพวกหนึ่งที่ต้องการ การจัดการที่ดี ทั้งในเรื่องของถิ่นที่อยู่ การอนุรักษ์ชนิด และการ ใช้ประโยชน์อย่างมีความรับผิดชอบ และในที่สุดเพื่อความยั่งยืนของวิถีชีวิตมนุษยชาติ

ต้องการภาพและข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
วิยะดา มงคล เจ้าหน้าที่สื่อมวลชนสัมพันธ์ WWF ประเทศไทย
โทร. (02) 5246168 -- 9 ต่อ 113
มือถือ (09) 0588920
อีเมล์ viyadam@wwfthai.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท