Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 30 พฤษภาคม 2548 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี น.ส.ธิดารัตน์ ศรีวัฒนะพงศ์ กรรมการบริหารองค์การนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงผลการสัมมนาผู้นำนักศึกษาและองค์กรนักศึกษา 30 สถาบันกว่า 100 คน ต่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 27 - 30 พฤษภาคม 2548 ว่า ความขัดแย้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ที่ประชุมนักศึกษา 30 สถาบัน จึงขอเสนอให้สื่อนำเสนอข่าวสารตามความเป็นจริง และคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการนำเสนอข่าว

น.ส.ธิดารัตน์ แถลงต่อไปว่า ขณะเดียวกันรัฐต้องกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ติดตามดำเนินคดีที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคดีอย่างเปิดเผยและโปร่งใส พร้อมทั้งให้การช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ให้สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน สนับสนุนงบประมาณให้กับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม และอนุรักษ์สถาบันปอเนาะ

"เพื่อความสมานฉันท์ในประเทศ สังคมควรยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม รัฐบาลต้องงดส่งสัญญาณความรุนแรงไปยังเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อลดความหวาดกลัวของประชาชนในพื้นที่ลง ให้ยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก และหากมีกฎหมายใหม่มารองรับจะต้องคำนึงถึงวิถีชีวิต จารีต ประเพณีของประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นหลัก" น.ส.ธิดารัตน์ กล่าว

จากนั้น ตัวแทนนักศึกษาจาก 30 สถาบัน ได้แยกย้ายกันเดินทางกลับ โดยมีบางส่วนประมาณ 20 คน ต้องการที่จะอยู่เรียนรู้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่ออีกระยะหนึ่ง

นายอานนท์ จำปาดะ นายกองค์การบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยกับ "ประชาไทออนไลน์" ว่า หลังจากนี้นักศึกษา 30 สถาบัน ร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จะนำข้อเสนอทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ผ่านนายวรวิทย์ บารู กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ

ก่อนหน้านี้ เวลา 21.00 น. วันที่ 29 พฤษภาคม 2548 นักศึกษา 30 สถาบัน ได้ประชุมสรุปผลการเดินทางลงพื้นที่พบผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยนายเอกรินทร์ ต่วนสิริ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะประธานโครงการสมัชชาสุขภาพว่าด้วยการเสริมสร้างพลังผู้นำนักศึกษาและองค์กรนักศึกษาเพื่อสร้างความสมานฉันท์ในปัญหาชายแดนภาคใต้ กล่าวต่อที่ประชุมด้วยน้ำตานองหน้าว่า นับตั้งแต่สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รุนแรงขึ้น ไม่มีตัวแทนองค์การนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ เข้ามาร่วมเรียกร้องให้แก้ปัญหาด้วยแนวทางสันติวิธี

"ปัญหาความไม่สงบทำให้หลายครอบครัวได้รับความเดือดร้อน เช่น ครอบครัวหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส พ่อถูกทำร้ายจนตาย แม่ต้องทำงานเลี้ยงลูก 4 คนที่ยังเล็กอยู่ ทำงานรับจ้างทั่วไปมีรายได้วันละ 50 - 60 บาท เฉลี่ยแล้วคนบ้านนี้มีรายได้ต่อหัวต่อวันแค่ 10 บาทเท่านั้น แต่ปัญหานี้ ไม่มีองค์การนักศึกษาใดสนใจเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้าน" นายเอกรินทร์กล่าว

จากนั้น มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวว่า จะกลับไปเรียกร้องให้องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เข้ามามีส่วนร่วมรับรู้ปัญหา และช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และให้ความสนใจปัญหาสังคมมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net