ไปดูป่าชุมชนต่างประเทศ ย้อนดูไทย

ขณะที่หลายฝ่ายรอลุ้นแล้วลุ้นอีกกับกฎหมายป่าชุมชน ล่าสุดเครือข่ายภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวผลักดันกฎหมายป่าชุมชนก็ไม่ได้นั่งรออยู่เฉย ๆ แต่กลับเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และในวันที่ 9 มิ.ย.ที่จะถึงนี้จะมีการจัดเวที "ล้านคนรักป่า ล้านรายชื่อเชียร์ พ.ร.บ.ป่าชุมชน" ขึ้น ที่กรุงเทพฯ อีกระลอก หวังปลุกกระแสคนในเมืองให้ตื่นตัวกับกฎหมายป่าชุมชน เพราะเกรงว่ากฎหมายป่าชุมชนจะหายเข้ากลีบเมฆ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วตลอดระยะเวลา 15 ปี...

ระหว่างที่ฝ่ายภาคประชาชนรอลุ้นนี้ เราลองโฉบไปดูการก่อกำเนิดของป่าชุมชนในประเทศเพื่อนบ้านดูบ้าง จะพบว่าการผลักดันป่าชุมชนบ้านเราก็ไม่ต่างจากเพื่อนบ้านเรามากนัก และหลายเรื่องบ้านเราก็คืบหน้าไปไกลแล้ว เสียอย่างเดียวที่ภาครัฐยังไม่ขยับตัวตามเท่านั้นเอง

โค่นป่าผลิตกระดาษ

ปัญหาการลดจำนวนลงของป่าไม้โลก สาเหตุประการหนึ่งที่สำคัญ คือ การใช้ไม้เพื่อผลิตกระดาษจำนวนมหาศาล โดยในสหรัฐอเมริกาพบว่า 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรในประเทศทั้งหมด มีการใช้กระดาษถึงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณการใช้กระดาษทั่วโลก และในแต่ละปีกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมีปริมาณการใช้กระดาษโดยเฉลี่ยถึง 164 กิโลกรัมต่อคน

ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนามีปริมาณการใช้กระดาษเฉลี่ยเพียง 18 กิโลกรัมต่อคน และยังคาดว่าปริมาณการใช้กระดาษของโลกจะเพิ่มมากขึ้นเป็นสองเท่าในอีก 50 ปีข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่น ประเทศจีนในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังมีการเติบโต พบว่ามีการใช้กระดาษชำระเพิ่มสูงขึ้นมากในระยะนี้

ถึงแม้ว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาแล้วจะมีปริมาณการใช้กระดาษมากกว่าประเทศกำลังพัฒนา ในทางกลับกันพบว่าอัตราการทำลายป่าไม้ของประเทศกำลังพัฒนานั้นมีสูงมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้-การจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างไม่เหมาะสม โดยรัฐมีอำนาจรวมศูนย์ในการจัดการป่าเพียงฝ่ายเดียว ไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามาร่วมดูแลจัดการ ทำให้เกิดการสัมปทานป่าไม้ เพื่อนำรายได้เข้าประเทศส่งผลให้เกิดการตัดไม้จำนวนมาก

แต่สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว อย่างเช่น ประเทศในแถบทวีปยุโรป แม้ว่าจะมีการใช้ทรัพยากรป่าไม้เชิงพาณิชย์ไปมาก ทว่ามีการปลูกทดแทนและการอนุรักษ์โดยมีกฎหมายที่ควบคุมและระบุเอาไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งมีการส่งเสริม สร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ป่าให้กับประชาชนอย่างจริงจัง ทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง และสามารถดูแลจัดการป่าไม้ได้ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนต่อการฟื้นสภาพป่าไม้ที่แม้ว่าครั้งหนึ่งเคยลดจำนวนลงไปมาก แต่ก็สามารถกลับมาพลิกฟื้นเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง

ป่าเขตร้อนที่มาของตัวยาสำคัญ

สำหรับประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีพื้นที่ป่าส่วนใหญ่อยู่ในเขตร้อน อีกทั้งเป็นทั้งอู่อาหาร และยาสมุนไพรของโลก ที่นักวิจัยได้ค้นพบตัวยามาแล้วมากมายหลายชนิด โดยนักวิทยาศาสตร์ประมาณว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ของยาที่มนุษย์บริโภคทุกวันนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากพืช เช่น ยาควินิน ได้จากเปลือกของต้นซินโคนา หรือมอร์ฟีนก็ได้จากฝิ่น หรือจะเป็นพืชจำพวกเปล้า (เปล้าหลวง, เปล้าน้ำเงิน, เปล้าน้อย) รากย่านาง มะเกลือ และรากมะเดื่อชุมพร เป็นต้น

ด้าน ดร.วันทนา ศิวะ นักฟิสิกส์ชาวอินเดียและนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนยังยอมรับว่า ตัวยาต่าง ๆ ที่จำหน่ายในตลาดโลกทุกวันนี้ นำเอาทรัพยากรชีวภาพจากป่าเขตร้อนมากว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังเป็นยาที่นำเอามาจากภูมิปัญญาของชาวบ้านในท้องถิ่นด้วย

แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ

จากอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในช่วงเวลาที่ผ่านมา เกิดขึ้นตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 1 สปีชีส์ แต่ในปัจจุบันการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นรวดเร็วขึ้นหลายเท่าของอัตราการสูญพันธุ์ในอดีตกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในป่าชื้นเขตร้อน เช่นในประเทศที่ด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดจากฝีมือมนุษย์เป็นส่วนใหญ่

นักวิชาการได้ประเมินอัตราสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตไว้ว่า ประมาณช่วงปี พ.ศ.2513 เฉลี่ยวันละ 1 ชนิด ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2523 อัตราการสูญพันธุ์เพิ่มขึ้นเป็นชั่วโมงละ 1 ชนิด กระทั่งไม่กี่ปีมานี้ นักวิทยาศาสตร์พบว่าในทุกๆ ชั่วโมงจะมีสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปจากโลกถึง 3 สปีชีส์เลยทีเดียว อีกทั้งยังเชื่อว่า ภายในคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้ จะมีการสูญพันธุ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20-50 ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในโลก และจะเกิดขึ้นในป่าชื้นเขตร้อนมากที่สุด เนื่องจากมีการตัดไม้ทำลายป่าจำนวนมากในเขตนี้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีระบุไว้ในการประชุมสุดยอดว่าด้วยสิ่งแวดล้อมโลกหรือเอิร์ทซัมมิทเมื่อปี พ.ศ. 2535 หรือราว 12 ปีก่อนว่า ป่าไม้ทั่วโลกลดลงถึง 1,000 ล้านไร่ ในอัตราการสูญเสียป่าประมาณปีละ 100 ล้านไร่

นอกจากนี้ ยังคาดว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและธรรมชาตินั้นจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นภายในทศวรรษหน้า เนื่องด้วยการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของภูมิอากาศโลก ที่นับวันจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ๆ พร้อมกับปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ชัดเจนคือ อากาศร้อนขึ้นในเวลากลางวันและเย็นลงมากในเวลากลางคืน

สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้ป่าชื้นเขตร้อนที่อุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางธรรมชาติถูกคุกคามทำลายนั้น เนื่องมาจากการที่ป่าไม้จำนวนมากมายมหาศาล ถูกทำลายเพื่อเอามาป้อนให้กับอุตสาหกรรมที่ใช้ไม้เป็นวัตถุดิบตั้งต้น เช่น การทำกระดาษ สินค้าเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ พลังงานเชื้อเพลิง ฉะนั้นป่าไม้ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่เอื้อประโยชน์ต่อกระบวนการเจริญเติบโต และพัฒนาซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ กลับต้องถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักค้าไม้ นักลงทุน กอปรกับผู้นำและผู้บริหารประเทศที่เปิดทางให้คนเหล่านั้นเข้ามาทำลายทรัพย์สินอันมีค่าของคนทั้งประเทศ และทั้งโลกด้วย

ทางด้านป่าไม้ในกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์ อย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ต่างถูกตัดโค่นเพื่อส่งเป็นสินค้าออกให้ต่างประเทศ โดยมีตลาดใหญ่ที่สุด คือ ญี่ปุ่นในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา และยังพบว่าในระยะเวลา 10 ปีมานี้ ทรัพยากรป่าไม้ของมาเลเซียหมดไปประมาณ 1.7 ล้านไร่ต่อปี ฟิลิปปินส์เสียหายประมาณ 6.6 แสนไร่ต่อปี อินโดนีเซียสูญเสียป่าไม้ไปประมาณ 9.4 ล้านไร่ต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณกาลิมันตันซึ่งเป็นป่าไม้ที่ใหญ่และอุดมสมบูรณ์เป็นอันดับสองรองจากป่าอะเมซอนของอเมริกาใต้ และสำหรับประเทศไทยเองในช่วงเดียวกันนี้ ไทยสูญเสียป่าไปโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าปีละประมาณ 1.3 ล้านไร่

จากการลดจำนวนลงของป่าไม้โลกนั้น ทำให้หลายฝ่ายฉุกคิดและหวนระลึกถึงแนวทางที่จะทำให้ทุกคนหันมาร่วมมือกันใส่ใจต่อปัญหานี้ ซึ่งมิใช่เพียงปัญหาในระดับประเทศเท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับโลกเลยทีเดียว ที่ไม่ควรมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่แก้โจทย์ปัญหาที่มนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ล้วนแต่มีส่วนสำคัญในการทำให้ป่าไม้ลดลง และเป็นตัวการสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อสมดุลของระบบนิเวศน์ อันทำให้เกิดปัญหาหลากหลายรูปแบบตามมา ซึ่งผลประจักษ์ชัดที่ตามมา คือ ปัญหาภัยธรรมชาติ พายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง ทั้งฝนไม่ตกตามฤดูกาลที่ส่งผลกระทบให้พืชทางการเกษตรเสียหายในหลายๆ ประเทศ อีกทั้งยังมีปรากฏการณ์เอลนิโญ และปัญหาด้านภาวะเรือนกระจก ซึ่งเกิดจากการลดลงของป่าไม้ทำให้มีผลต่อการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่บรรยากาศ

ป่าชุมชนในประเทศต่าง ๆ

ต่อปัญหาในข้างต้น วิธีการหรือแนวทางที่ได้นำมาพูดคุยกันในหลายเวทีทั้งในระดับโลกและระดับชุมชนคือ การจัดการป่าไม้ในแต่ละประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามสภาพสังคมนั้นๆ แต่ทั้งนี้ล้วนแต่มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายร่วมกัน คือ วิธีการจัดการอนุรักษ์ป่าไม้อย่างยั่งยืน (Sustainable forest management) และเน้นการเข้ามามีส่วนร่วมของชุมชน หรือการให้สิทธิชุมชนในการจัดการป่าด้วย

ในส่วนของรูปแบบการจัดการป่าไม้ในประเทศฟิลิปปินส์นั้น ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ นักวิชาการประจำวิทยาลัยการจัดการสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การจัดการป่าไม้โดยการผลักดันเชิงนโยบายนั้นมีความเข้มแข็งมาก แต่ในเชิงปฏิบัตินั้นไม่ประสบผลดีเท่าที่ควร ทั้งนี้เป็นเพราะกลุ่มนักการเมืองยังคงมีอิทธิพลมาก และอาจใช้เป็นช่องทางเพื่อเปิดทางให้เอกชนเข้าไปสัมปทานป่าได้ โดยมีผลประโยชน์ร่วมกัน

สำหรับประเทศอินเดียและเนปาลนั้น นับว่าเป็นประเทศที่ผืนป่าถูกรุกรานจนเหลือป่าแทบไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ โดยประมาณ 20 ปีก่อน เนื่องด้วยความต้องการใช้ทรัพยากรป่าไม้ของทั้งสองประเทศที่มีจำนวนประชากรมากอยู่แล้ว ทำให้เกิดมีการตัดไม้นำมาเป็นเชื้อเพลิงจำนวนมาก

แต่ภายในช่วงระยะเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศนี้กลับสามารถฟื้นฟูเนื้อที่ป่าเพิ่มขึ้นได้เป็นจำนวนมาก โดยใช้วิธีการจัดการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการโดยตรง ทั้งนี้นั้นกฎหมายให้ให้อำนาจท้องถิ่นในแต่ละรัฐ ซึ่งสามารถจัดการกฎหมายได้เองซึ่งการดำเนินการออกกฎหมายป่าชุมชนของอินเดียและเนปาล ไม่ได้ทำครั้งเดียวทั้งประเทศ แต่ค่อยๆ ทยอยดำเนินการจัดการป่าไปทีละรัฐ จนกระทั่งมีจำนวนรัฐออกกฎหมายป่าชุมชนเพิ่มขึ้น

นอกจากนั้นเหตุผลประการหนึ่ง ที่ทำให้ทั้งสองประเทศดำเนินการฟื้นฟูป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรอิสระจากต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมในประเทศทั้งสองให้ดีขึ้น

หากเปรียบเทียบการจัดการป่าชุมชนของอินเดีย เนปาล กับประเทศไทยนั้น เรียกได้ว่ามีความคล้ายคลึงกันพอสมควร ทั้งนี้ชีวิตของชุมชนสัมพันธ์และใช้ประโยชน์จากป่าเพื่อการดำรงชีพเช่นเดียวกัน เมื่อมีการจัดการป่าโดยชุมชนแล้ว นอกจากจะทำให้เกิดการฟื้นฟูป่าได้เพิ่มขึ้นชาวบ้านยังได้ใช้ประโยชน์ด้วย

ส่วนประเทศลาว เพื่อนบ้านของไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับไทยนั้น ก็ประสบปัญหาพื้นที่ป่าไม้ลดจำนวนลงไปมากเช่นกัน เกิดจากการให้สัมปทานป่าไม้ โดยข้อมูลเมื่อปี 2503 ลาวยังมีพื้นที่ป่าปกคลุมอยู่ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ในระหว่างปี 2531-2532 กรมป่าไม้สำรวจพื้นที่ป่าโดยแปรภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า พื้นที่ป่าลดลงเหลือเพียง 47 เปอร์เซ็นต์

ปัญหาพื้นที่ป่าไม้ลดจำนวนลงของประเทศลาว อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการสร้างเขื่อนด้วย อย่างไรก็ตามแม้พื้นที่ป่าไม้จะลดลงไปเป็นจำนวนมาก แต่กระนั้นประเทศลาวก็มีกฎหมายที่ระบุเอาไว้ชัดเจนในเรื่องการอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าได้ เนื่องจากประชาชนลาวยังมีวิถีชีวิตสัมพันธ์อยู่กับความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายเพื่อการยังชีพเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ไทยยังมีการถกเถียงเกี่ยวกับกฎหมายป่าชุมชน และความไม่ชัดเจนที่จะให้ประชาชนเข้าไปอาศัยพึ่งพิงพร้อมไปกับการอนุรักษ์ป่าพร้อมกันได้หรือไม่

สำหรับในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะประเทศทางแถบภาคพื้นยุโรป การจัดการป่าของประเทศเหล่านี้ ย่อมมีความแตกต่างออกไปจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งส่วนมากเป็นป่าไม้เขตร้อน ขณะที่ประเทศแถบยุโรปอยู่ในเขตอากาศหนาว และมีป่าไม้ส่วนใหญ่อยู่บริเวณภูเขาสูง อีกทั้งคุณภาพดินในบริเวณป่าเขาไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ดังนั้นพื้นที่ทำการเกษตรกับพื้นที่ป่า จึงค่อนข้างแบ่งแยกสัดส่วนออกจากกันอย่างชัดเจน ดังนั้นการทำเกษตรกรรมส่วนมากจึงอยู่บริเวณที่เป็นทุ่งโล่ง ซึ่งเป็นทั้งที่เลี้ยงสัตว์ และใช้ในการเพาะปลูกด้วย

ข้อเท็จจริงของจำนวนพื้นที่ป่าในประเทศแถบยุโรป ที่แม้มีการตัดไม้ไปเป็นจำนวนมากเพื่อการเศรษฐกิจนั้น แต่ประเทศเหล่านี้ มีการวางแผนการจัดการฟื้นฟูป่าที่มีประสิทธิภาพและรักษากฎระเบียบได้ดี โดยการวางแผนระยะยาวไปอีกกว่า 100 ปีข้างหน้า ซึ่งนับว่ามีวิสัยทัศน์ยาวไกลเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนในประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศเดนมาร์กมีแผนการจัดการป่าเรียกว่า ยุทธศาสตร์ในการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติและป่าอื่นๆ ที่มีคุณค่าสำหรับการอนุรักษ์สูงของเดนมาร์ก (Strategy for Natural Forests and Other Forest Types of High Conservation) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้ง พ.ร.บ.ป่าไม้ของแดนมาร์กนั้น ยังกำหนดให้ใช้หลักการจัดการป่าแบบเอนกประสงค์ คือ ให้สามารถทำไม้ได้ไปพร้อมกับการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติและให้ความสำคัญถึงความเชื่อมโยงระหว่างป่ากับคน และวัฒนธรรมด้วย

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การบริโภคทรัพยากรธรรมชาติของประชากรโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรป่าไม้นั้นนับว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนำมาซึ่งปัญหาอีกหลายประการตามมา เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพถูกทำลาย ระบบนิเวศน์ขาดความสมดุล ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลเสียต่อโลกและชีวิตมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดูแลอนุรักษ์ป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อความสอดคล้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ และต้องผลักดันเป็นวาระของชาติ และของโลกด้วย หาแนวทางแก้ไขร่วมกันอย่างจริงจัง

จะเห็นว่าการแก้ไขปัญหาการใช้ทรัพยากรป่าไม้เพื่อให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสมนั้น แนวทางการจัดการป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนนั้น เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า การให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่านับเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพยิ่ง ทั้งนี้วิถีชีวิตของคนที่สัมพันธ์อยู่กับป่ามานาน ย่อมรู้จักการจัดการและดูแลรักษาป่าอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างชีวิตและธรรมชาติ เพราะเมื่อมนุษย์ต้องอาศัยป่า ก็ย่อมต้องมีการดูแลป่าให้คงอยู่ต่อไปได้

ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐไทยควรย้อนกลับมาตระหนักถึงปัญหา และไม่เพิกเฉย หรือทำตัวลอยอยู่เหนือปัญหาสถานการณ์ป่าไม้ในปัจจุบันอีกต่อไป ต้องรู้จักที่จะเรียนรู้นโยบาย และแนวทางการจัดการป่าไม้ของต่างประเทศ อีกทั้งต้อง หันมาพิจารณาการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนโดยการมองสภาพป่าไม้ของประเทศเราเอง ต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมจัดการป่า และออกกฎหมายป่าชุมชนเพื่อรองรับสิทธิของชุมชน ในการดูแลรักษาป่าอย่างเป็นรูปธรรมในเร็ววันเสียที.

ทิพย์อักษร มันปาติ/สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์
สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท