Skip to main content
sharethis

เกาะเหลา เกาะเล็กๆ เหนือน่านน้ำไทย-พม่า อ.เมือง จ.ระนอง เป็นที่อยู่อาศัยของชาวมอแกน ยิปซีแห่งท้องทะเลมาชั่วอายุคน ชาวมอแกนที่นี่ ไม่ได้ใช้ไม้ระกำทำเรือหาปลา พวกเขาใช้ "ก่าบาง" เรือไม้ กว้าง 3-4 เมตร ยาว 8 เมตร ออกทะเล ใช้ "แลม" เหล็กแหลมขนาดหนึ่งนิ้ว ยาววากว่า รูปร่างคล้ายฉมวกออกล่า...เขาแทงปลาในทะเล

นางเฮี่ยน ในชื่อเรียกทางการหรือ "ป้าเฮี่ยน" เล่าเรื่องราวความเป็นมาบนเกาะเหลาว่า คนที่นี่ยังไม่มีนามสกุลจึงอาศัยญาติจากฝั่งภูเก็ต ฝั่งพังงา ซึ่งได้นามสกุลพระราชทานว่า "ประมงกิจ"

"นามสกุล ญาติเขาไม่หวง เราขอพลอยใช้ร่วมกับเขาด้วยเขาไม่ว่า เราเลยใช้ว่า ประมงกิจ" ป้าเฮี่ยนอธิบายที่มาของนามสกุลอย่างไม่เป็นทางการ

ป้าเฮี่ยนเล่าถึงความเป็นมาบนเกาะเหลาว่า แต่ก่อนรุ่นพ่อออกทะเลมักจะเอา "ก่าบาง" มาวางสมอบริเวณเกาะนี่ ไปๆมาก็กลายเป็นที่อยู่อาศัย เป็นหมู่บ้านในที่สุด

"เราหากินทางทะเลมาตลอด รุ่นพ่อ ออกทะเลยังไง เราออกทะเลตามอย่างนั้น ปู่ย่าตายายสั่งสอนวิธีการดำหอยในน้ำลึก หอยแครง หอยนมสาว หอยนางรม ปลิงทะเล อยู่ลึกแค่ไหนเราก็ไปดำหามา" ป้าเฮี่ยนเล่า

และสิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ วิธีการหาปลา คนบนเกาะนี้ไม่ถนัดการใช้อวน ไซ หรือเครื่องมือในการจับสัตว์น้ำตามแบบชาวประมงทั่วไป พวกเขาใช้ "แลม" เหล็กแหลมเล็กๆในการล่าปลา

"เราดำลงไปในทะเล เวลาเจอปลาเราก็แทงเอามากิน ตอนหลังขายได้เราก็ลงทะเลไปแทงปลามาขาย" ป้าเฮี่ยน เล่าถึงวิธีการให้ได้ปลามากิน ซึ่งฟังดูง่ายๆแต่จะทำอย่างไรกับเหล็กแหลมเล็กๆขนาดนิ้วมือ กับใต้ท้องทะเลร่องน้ำลึก ไทย-พม่าที่ไหลเชี่ยว ให้สามารถแทงปลาตัวใหญ่ลากขึ้นผิวน้ำได้

ป้าเฮี่ยนเล่าว่ารุ่นพ่อแม่ทำมาหากินอย่างนี้ และได้ปลาตัวใหญ่ๆมากินนับต่อนับแล้ว มาถึงรุ่นตนก็ทำตามแบบที่รุ่นพ่อทำมาเช่นกัน

"ตอนหลังมีพวกอวน พวกไซ เบ็ด มาขาย หาปลาง่ายขึ้น แรกๆเรารู้สึกว่าเอาเปรียบปลา แต่ปลาหายากกว่าเดิมเลยต้องทำ" ป้าเฮี่ยนกล่าว

ป้าเฮี่ยนเล่าต่อว่า เมื่อราว 20-30 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีเถ้าแก่จากบนฝั่งมาจ้างให้คนบนเกาะ "ออกเรือระเบิด" ซึ่งหมายถึงการออกเรือไประเบิดปลาในน่านน้ำระหว่างแดนไทย-พม่า ซึ่งเป็นร่องน้ำลึก และมีปลาชุกชุม

"แรกๆเถ้าแก่ให้เอาเรือก่าบางออกไปหาเอง ไปกันทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชายไปหมด เพราะถ้าเป็นพวกเรา ทั้งตำรวจไทย-พม่า เขารู้จัก เขาไม่จับ แต่ถ้าเป็นเรือของเถ้าแก่ พวกตำรวจเขายิง" ป้าเฮี่ยนเล่า

ต่อมาทางการห้ามออกเรือระเบิด ก่อนคลื่นยักษ์เข้าถล่ม เถ้าแก่เอาเรือมาจ้างชาวบ้านบนเกาะเข้าลักลอบระเบิดปลาเวลาตำรวจไม่ตรวจ แต่หลังคลื่นยักษ์มาเถ้าแก่หายไปนานเพิ่งมาจ้างเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว

"เราออกเรือ 5-8 วัน ผู้ชายได้ค่าจ้างคนละ 1,500 บาท ผู้หญิง 400-500 บาท เด็กได้ 100 บาทต่อครั้ง แต่ถ้าปลาได้น้อยกว่า 2 ห้องเรือครึ่งก็ได้ค่าแรงน้อยกว่านี้" ป้าเฮี่ยนเล่าพร้อมทั้งอธิบายว่า 1 ห้องเรือหมายถึง 1,000 กิโลกรัม

"ออกระเบิดปลาอันตราย เพราะเดี่ยวนี้เขายิงแล้ว ไม่เหมือนเมื่อก่อน มอแกนของพม่าก็ออกมาหาแบบเรา แต่เดี๋ยวนี้ต้องแอบหา คนไทยที่ออกทะเลเขาไม่กล้าออกหาเพราะอันตราย เถ้าแก่เลยมาจ้างพวกเรา เราเลยออกเรือใช้เรือใหญ่เถ้าแก่เพราะรายได้ดี" ป้าเฮี่ยนกล่าว

ยิปซีหญิงแห่งท้องทะเลกล่าวว่า หลังคลื่นมาเรือเราพังหมด ออกทะเลยังไม่ได้ เรือยังไม่เสร็จ 1-2 เดือนต่อมามีคนเอาของมาบริจาคในหมู่บ้านบนเกาะ จึงได้มีอาหาร ก่อนหน้านั้นก็หากินในทะเลใกล้ไปดำหอยแทงปลาน้ำตื้นกิน

เมื่อทั้งของ ทั้งเงินบริจาคลงมา ปัญหาก็เกิด

ป้าเฮี่ยนเล่าว่ามีคนจากบนฝั่งซึ่งเป็นบ้านหลังเดียวในหมู่ชาวบ้านที่ไม่ได้เป็นชาวมอแกนตั้งอยู่บนเกาะ ตอนแรกๆ เธอเป็นตัวแทนในการสื่อสารระหว่างชาวบ้านกับคนภายนอกที่เอาของและเงินมาบริจาค เนื่องจากชาวบ้านบนเกาะพูดภาษาไทยไม่ค่อยถนัด แต่ต่อมาตัวแทนดังกล่าวกลับเก็บเอาของบริจาค รวมทั้งเงินไว้เองคนเดียว โดยเอามาขายให้ชาวบ้านบนเกาะภายหลัง สร้างความไม่พอใจแก่ชาวบ้านบนเกาะ

"เราไม่พอใจ แต่ไม่มีใครกล้าพูดอะไร ใครๆต่างก็กลัวเจ๊กัน" ป้าเฮี่ยนเล่าและว่า ต่อมามีเด็กที่เป็นอาสาสมัครลงมา เขาเป็นตัวแทนในการติดต่อจากคนข้างนอกทำให้เจ๊ไม่พอใจ

เมื่อมีองค์กรจากส่วนการลงมาดูแลการทำงานของอาสาสมัคร "เจ้าแม่เกาะของป้าเฮี่ยนก็จัดการ ต่อว่าผ่านองค์กรส่วนกลางว่าอาสาสมัครเหล่านั้นมาทำให้วิถีชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป

"เรากลัวแต่เราอยากพูด ชาวบ้านคนอื่นก็อยากให้เราพูด เราเลยบอกความจริงกับคนที่มาตรวจสอบ" ป้าเฮี่ยนกล่าว

และการพูดความจริงดังกล่าวมีคนให้ป้าเฮี่ยนโดนตบตีมาเป็นครั้งที่สองแล้ว ซึ่งแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นเป็นความรุนแรงที่ชาวบ้านคนอื่นรู้กันอยู่เต็มอก แต่ไม่มีใครกล้าเข้ามาช่วยเหลือในขณะนั้น นอกเสียจากเมื่อเจ้าแม่เกาะย่างกลายออกไป แต่ละคนจึงได้กุลีกุจอออกมาช่วยป้าเฮี่ยน

ทุกคนอยู่ภายใต้ความกลัว และไม่อยากมีปัญหา

"ฉันไม่รู้ว่าจะโดนอีกกี่ครั้ง ฉันก็กลัว แต่ฉันต้องพูด เพราะถ้าฉันไม่พูด คนที่นี่จะไม่มีปากเสียงเลย" ป้าเฮี่ยนพูด

นี่คือเรื่องราวของยิปซีทะเลที่เกาะเหลา ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา... นายพรานแห่งท้องทะเลลึก คนบนเกาะโดนทั้งคลื่นยักษ์ ทั้งโรคระบาดซัดกระหน่ำยังไม่พอ..ยังโดนคนด้วยกันขูดเลือด ขูดเนื้อหากินบนความทุกข์ยากของคนที่นี่ซ้ำเข้าไปอีก

นี่หรือ...วิถีแห่งพรานทะเลที่กำลังจะเป็นไป

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net