Skip to main content
sharethis

ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา
นักวิชาการเกียรติคุณ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)
(* เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.48 จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ หอประชุมศรีบูรพา(หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ )

เรื่องที่ผมจะพูดนั้นความหมายของมันจะสื่อว่า มันจะเป็นเรื่องที่จะมีคนมาปฏิรูป แล้วแสดงความจงใจของผู้มีอำนาจที่จะปฏิรูปเหมือนอย่างคำว่า คณะปฏิรูปแห่งชาติ หรือคณะกรรมการปฏิรูปข้าราชการแห่งชาติ ซึ่งผมจำได้ว่า ตั้งแต่ผมเริ่มทำงานก็ได้มีการปฏิรูปกันมาตลอดระยะเวลา 30-40 ปี จนกระทั่งไม่มีคณะกรรมการปฏิรูปจึงได้มีการปฏิรูปจริง นั่นคือคือความหมายโดยทั่วไป

ในที่นี้ ผมจะให้ความหมายของคำว่าปฏิรูปคือ การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ เป็นการเปลี่ยน แปลงในรูปแบบของระบบเศรษฐกิจและสังคมทั้งแบบที่จงใจและไม่จงใจ และเรื่องที่เกิดขึ้นโดยไม่มีความจงใจนั้นสำคัญสูงกว่า เพราะวิกฤติเศรษฐกิจที่ " อุบัติขึ้น" ผมขอให้คำว่าอุบัติขึ้นแล้วกัน และผมไม่อยากบอกว่าใครเป็นคนทำ ใครเป็นคนรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นชวน 1 บรรหาร หรือชวลิต ถ้าชี้นิ้วได้ก็ได้ทั้งนั้น และมันมาจากนิสัยสันดานเดิมของพวกเรา ที่ว่า พอเรื่องที่เกิดขึ้นก็จะบอกว่ามาจากนักการเมืองนั่นแหละที่เป็นตัวร้ายทุกครั้งและต้องมีคนรับผิดชอบ แต่สิ่งเดียวที่ไม่มีใครรับผิดชอบก็คือ คอรัปชั่น และเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติโดยตัวของมันเอง

การปฏิรูปในที่นี้หมายถึง การที่เกิดโดยจงใจหรือไม่จงใจ และส่วนใหญ่ผมจะเน้นที่ "ไม่มีใครจงใจ" แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นจะมาจากภาวะกลางมากกว่า

โดยความรุนแรงของวิกฤติในปี 2540 ซึ่งผมจะพูดใน 3 ส่วน คือส่วนที่1 จะเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับบน คิดว่าการพูดถึงเศรษฐกิจระดับบนมีความสำคัญมาก ที่ผมเรียกว่า "ทุกข์ของคนรวย" และความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยก็คือ ชนชั้นนายทุน แล้วก็อำนาจของกลุ่มต่างๆ ในหมู่ชนชั้นนายทุน

ส่วนที่ 2 จะเป็นผลกระทบต่อสังคมระดับล่าง ผลของการเกิดวิกฤตินั้น มีความรุนแรงน้อยกว่าช่วงฟองสบู่และผลที่ตามมาในช่วงที่กำลังฟื้น ซึ่งสองช่วงนี้จะส่งผลกระทบต่อระดับล่างมากกว่า ส่วนที่ 3 จะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจหลังการเกิดวิกฤติ คือความหมายของคำว่า "ปฏิรูป" ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป เราได้ทำอะไรบ้าง เราได้สร้างสถาบันใหม่ ๆ อะไรขึ้นมาบ้าง หลังจากเกิดเหตุการณ์วิกฤติ

เริ่มต้นคือ ผมประมาณการอย่างคร่าว ๆ ตอนที่ผมทำงานวิจัยให้กับองค์กร คือ ตัวสปร. 3 ที่ผม เป็นกรรมการ ผมได้คำนวณความเสียหายจากวิกฤติเศรษฐกิจด้วยว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร และการเรียงลำดับเรื่องรวยไปจนนั้น เป็นการประยุกต์ " ทฤษฎีทริกเกอร์ดาวน์(Trickle Down Theory)" ในมุมกลับ หรือทฤษฎีหยดติ๋งๆ คือว่า ความมั่นคงในระบบเศรษฐกิจนั้น จะเกิดขึ้นจากด้านบนก่อนแล้วค่อยๆ ส่งอิทธิพลหรือส่งความมั่งคั่งให้กับระดับล่าง ฉะนั้นปัญหาที่แก้ไขความยากจนก็คือ ต้องการให้เศรษฐกิจโต แล้วคนที่จะตักตวงผลประโยชน์เมื่อเศรษฐกิจโตก็คือ "นักธุรกิจ นายทุน นายธนาคาร"

ที่ผมกำลังบอกคือ วิกฤตในปี 2540 นั้น ไม่จำเป็นต้องเกิดเสมอไป เพราะผลกระทบระดับแรกเกิดขึ้นกับตอนขาขึ้นของทริกเกอร์ดาวน์นั้น นำมาใช้กับประเทศไทยได้นั่นคือ สิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพราะที่ผมบอกว่าจริงนั้น มันคือความยากจนที่ลดลงมาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องคือ เวลา 30-40 ปี ซึ่งมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ มันเป็นการสะท้อนทฤษฎีดังกล่าวได้อย่างชัดเจน ว่าเราไม่เคยมีนโยบายโอนความมั่งคั่งจากคนรวยไปให้คนจน เราปล่อยให้เศรษฐกิจขยายตัวและคนจนได้อานิสงค์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่พอมาถึงขาลงที่เราก็จะมาถึงความยุติธรรมระดับหนึ่ง ที่คนรวยต้องรองรับผลกระทบก่อน แต่ถึงอย่างไรความเสียหายมันก็จะตกไปอยู่ส่วนอื่น ๆ ของสังคมด้วยเช่นกัน

ดังนั้นเราต้องมาคำนวณว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมากน้อยแค่ไหน เรารู้ว่าผลที่สุดแล้ว ผู้เสียภาษีต้องมารับบาปจากกองทุนฟื้นฟูนั้นมันเท่าไหร่ มูลค่าของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาค
เอกชน ซึ่งเป็นในขั้นต้นรวม 5.34 ล้านล้านบาท คิดคำนวณช่วง2540-2545 และหยุดคำนวณในตอนนี้ เพราะเศรษฐกิจได้เริ่มฟื้นคืนในระดับใกล้เคียงกับก่อนเกิดวิกฤติ

ความเสียหายที่เกิดขึ้น มีองค์ประกอบ 2 ส่วนคือ 1.ความเสียหายจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทที่ได้เปลี่ยนแปลงไป 2. คือผู้ที่ไปก่อหนี้กับต่างประเทศ ได้สูญเสียรวมกับดอกเบี้ยที่บวกทบมาถึง 2545 เป็นจำนวนเงิน 1.91 ล้านล้านบาท

ซึ่งอันนี้เป็นส่วนสำคัญมากๆ ที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และบวกกับผลเสียหายจากอันนี้ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำลงอีก เมื่อเศรษฐกิจไม่สามารถผลิตได้เต็มศักยภาพทั้ง ๆ ที่ได้ลงทุนไปแล้ว หมายความว่าในส่วนนี้ได้สร้างความเสียให้ภาคเอกชนเพิ่มเติมเป็นเงิน 3.43 ล้านล้านบาท ข้อมูลตัวเลขตรงนี้ผมคนคำนวณมา ถูกผิดอย่างไรเถียงกันได้ในอีกหลายเวที

ความเสียหายในขั้นต้นจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการทั้งใหญ่และเล็ก คือสูญเสียเท่าๆ กัน ส่วนที่เกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้น จะเกิดกับธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก แต่ส่วนที่เกิดจากเศรษฐกิจตกต่ำนั้นจะเป็นประชาธิปไตยมากกว่า เพราะคือสูญเสียกันถ้วนหน้าทั้งใหญ่และเล็ก และเมื่อเกิดความสูญ
เสียแล้วก็ต้องมีกันชนที่ถูกรับไป นั่นก็คือ เงินกองทุนธุรกิจฝ่ายเอกชนที่มีอยู่ ก็จะกลายเป็นตัวรับแรงกระแทก

และนักธุรกิจไทยมีความฉลาดมากพอที่จะไม่มีเงินตรงนี้มากมาย เพื่อที่จะรองรับปัญหาตรงนี้ และหันไปใช้เงินคนอื่นแทนเงินตัวเอง โดยเงินตัวเองมีทั้งหมด 2.42 ล้านล้านบาท ส่วนมากเก็บมาจากตลาดหลักทรัพย์ส่วนหนึ่ง ที่เห็นกันว่า มีการปั่นบัญชีหลอกให้สวยงามอยู่เสมอ

อีกส่วนหนึ่งนั้นมาจากธุรกิจจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ที่มีเงินอยู่ในข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ภาคเอกชนจัดการอยู่ในขณะนี้คือ บริษัทบีโอแอล รวมทั้งสิ้น 2 ส่วน เป็นเงิน 2.42 ล้านล้านบาท แต่ความเสียหายที่ได้รับทั้งหมดคือ 5.5 กว่าล้านล้านบาท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อเงินไม่พอจึงต้องมีคนอื่นที่มารับบาปอีก ก็คือ เจ้าหนี้ของบริษัทเอกชนทั้งหลายเหล่านั้นที่รับไป 3 ล้านล้านบาท แต่ตัวเลข 3 ล้านล้านบาทเป็นข้อมูลขั้นต่ำ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมติ๊ต่างว่า ธุรกิจเอกชนเป็นยูนิตเดียว แต่ที่จริงแล้วมันมีหลายยูนิต บางธุรกิจก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะ 2.42 ล้านไม่ได้อยู่ในพูลที่จะมารับกรรมมาด้วย แต่บางธุรกิจก็เสียหายมาก ผลคือ ตกไปอยู่กับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงินต่าง ๆ 0.83 ล้านล้านบาท และสถาบันการเงินต่าง ๆ ก็มีเงินกองทุนเพียงเท่านี้ ที่จะค่อย ๆ รับแรงกระแทกได้ แต่สถาบันการเงินก็เสียหายพอสมควรเพราะเงินที่มีอยู่ 0.83 ล้านล้านบาทนั้นก็แทบจะหายไปหมด

ในที่สุดทุกสถาบันการเงินปี 2540-2541 ต้องอยู่ในสภาวะล้มละลายโดยไม่มีข้อยกเว้น และต้องมีคนที่มารับบาปคนต่อไปคือ รัฐบาล

แต่รัฐบาลก็คือ พวกเรา เพราะทุกบาททุกสตางค์ที่รัฐใช้ก็คือ เงินของประชาชน ในฐานที่เป็นผู้เสียภาษี แล้วส่วนหนึ่งรัฐก็เข้าไปแทรกแซงด้วยการควบรวมกิจการ (Takeover) เข้าไปบริหาร แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นการผลักภาระให้กับการกู้สถานการณ์ กู้จากสถาบันการเงิน โดยให้เอาสภาพคล่องจากการประกอบ การ ในระยะต่อมาเป็นตัวกู้สถานการณ์

เพราะฉะนั้นส่วนเหลื่อมของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ในระยะต่อมาถึงถ่างมากขนาดนั้น และในที่สุดรัฐบาลต้องเข้าไปกู้สถานการณ์โดยเข้าไปควบรวมกิจการ และรับผลเสียหายแทนเป็นเงิน 1.44 ล้านล้าน ซึ่งตัวเลข ผมเป็นผู้คำนวณไว้

แต่อย่างไรก็ตามในกระบวนการล้มระเนระนาดนี้ มันได้แปรรูปชนชั้นนายทุนของประเทศไทยอย่างมากมาย ผู้เสียหายมากก็คือ กลุ่มนายธนาคารหรือตระกูลนายธนาคาร คนกลุ่มนี้ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีเหลืออยู่บ้างแต่บทบาทก็ไม่โดดเด่นเท่าปี 2540 ซึ่งอันนี้เป็นผลจากการปฏิรูปที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจของชนชั้นในทุน

แต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลับทำให้บทบาทของธนาคารรัฐโดดเด่นขึ้น ทำให้มีส่วนแบ่งเกือบครึ่งหนึ่งในตลาดตอนนี้ และปัจจุบันก็กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาล กล่าวได้ว่าระบบนายทุนไทยเป็นระบบพวกพ้อง(Crony) มาแต่ไหนแต่ไร แต่สมัยก่อนปี 2540 ระบบพวกพ้องนั้นเป็นของธนาคาร

ในอดีตการมีธนาคารเป็นสิ่งที่ถึงปรารถนา เพราะสามารถให้อำนาจในหมู่นายทุนด้วยกัน แต่เมื่อธนาคารของรัฐบาลมีอำนาจมากขึ้น ทำให้ฝ่ายการเมืองที่ไปครอบครองธนาคารเหล่านั้น มามีบท
บาทและกลายเป็นระบบพวกพ้อง เช่น กรุงไทย ทั้งนี้มันเกี่ยวกับกระบวนการการเมืองและผู้มีอิทธิพล และการเปลี่ยนแปลงนี้คงจะไม่หายไปง่าย ๆ และความยั่งยืนของระบบนายทุนของไทยจะยาวนานหรือไม่

คือระบบพวกพ้องของธนาคารมันก็มีข้อบกพร่อง ที่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ได้มากมาย แต่ข้อหนึ่งที่ยอมรับว่ามันอยู่คงกะพันได้มาตั้ง 40 ปี ตั้งแต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการจรรโลงเศรษฐกิจครั้งแรกหลังสงครามครั้งที่ 2 แต่ไม่แน่ใจว่าตรรกะของนายแบงก์ ระบบพวกพ้องนี้ ที่มีตรรกะของมันที่ทำให้อยู่ได้ แต่ที่พังทลายเมื่อมีการขยายตลาดทุนให้กับต่างประเทศ ทำให้ตรรกะของนายทุนมันหายไป แต่อย่างไรมันก็ไม่ได้เป็นความผิดพลาดของชาวต่างชาติที่เข้ามาทำลาย หรือความผิดพลาดของชวน หรือผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น และมันไม่ใช่การปฏิรูปอย่างจงใจ

เป็นไปได้ว่าทุกอย่างที่ทำไปเพราะตรรกะมันพาไปทำให้เศรษฐกิจล่มสลาย แต่มันมีจุดจบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระบบพวกพ้อง ซึ่งพอการเมืองแบบระบบพวกพ้องเข้ามานั้น ผมคิดว่าตรรกะของมันไม่น่าจะเอื้ออำนวยให้มันอยู่ได้นานนั่นคือสิ่งที่ผมเป็นห่วง

การปฏิรูปโดยไม่ได้ตั้งใจคือบทบาทของต่างประเทศในประเทศไทยที่สูงขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ ที่เป็นการร่วมกิจการ(Joint venture) ที่นายทุนไทยมีส่วนร่วมในฐานะที่เป็นผู้ร่วมกิจการ ก็ถูกต่างชาติซื้อ ก็เป็นเรื่องเศร้า บางส่วนคือนายทุนไทยเงินหมด อีกส่วนคือความไม่โปร่งใสในการดำเนินธุรกิจของฝ่ายไทยด้วย

และที่น่าเป็นห่วงคือ การที่เราจะเป็นผู้นำเทคโนโลยี เป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีในสาขาต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องการตลาด มันเป็นเรื่องที่เราจะมีจุดด้อยไปอีกนาน เพราะเทคโนโลยีของเราไม่ได้ครอบคลุมแล้ว ซึ่งจริง ๆ นายกฯ เคยพูดถึงเรื่องนี้ตอนเข้ามาทำงานในตอนแรก ๆ แต่ปัจจุบันท่านได้ฝืนทำในสิ่งที่ได้พูดไว้

มาถึงระดับล่าง ผมยืนยันว่าผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจค่อนข้างจะเบาบางที่มีต่อชนชั้นระดับล่าง แต่ที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบอย่างรุนแรงคือ เกิดในช่วงตั้งแต่ช่วงฟองสบู่และการเปลี่ยนแปลงในสังคมชนบท ที่เกิดกับคนระดับล่างโดยทั่วไป ในช่วงฟองสบู่เกิดจากการโยกย้ายแรงงานจากชนบทมาเมืองในปีทศวรรษ 1990 ที่มีการโยกย้ายเฉพาะวัย

การย้ายออกในปี 1990 คือ ไม่มีสมดุล และทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมค่อนข้างรุนแรง และมีผลกระทบในด้านเกษตรกรด้วย เนื่องจากเริ่มมีการใช้เครื่องจักรกลในการเกษตร และเกษตรกรจะเป็นเกษตรกรแบบชี้นิ้วเป็นส่วนใหญ่ คือจ้างคนอื่นมาทำ ซึ่งระบบนี้จะมีปัญหาก็เพราะว่าจะไม่สามารถรองรับประชากรที่กลับมาทำงานภาคเกษตรได้

ด้านการกู้เงิน ตอนที่ผมไปทำงานธนาคารทำให้ผมได้รู้ว่า ธนาคารเขามองว่า การให้กู้แบบครัว เรือนปลอดภัยกว่าการให้กู้แบบธุรกิจ เพราะบริษัทธุรกิจเวลาจะกู้ทีหนึ่งนั้นมันจะกินเงินกองทุนเยอะ และความเสียหายมันเสี่ยงมาก ในเงินจำนวนเท่ากันถ้าให้จำนวนคนกู้เยอะกว่า แต่เวลาเบี้ยวนั้นมันไม่ได้เบี้ยวพร้อมกัน และธนาคารก็พบขุมทองใหม่ก็คือ บัตรเครดิตบวกดอกเบี้ยต่ำ เลยเกิดการขยายตัวของการปล่อยกู้เยอะ และสินค้าแบบอสังหาริมทรัพย์ก็เลยฟื้นเร็วกว่าธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งเป็นธุรกิจแรกที่ฟื้นตัว

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ เริ่มส่อเค้าก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามา โดยเริ่มจากบอกว่าชาวบ้านมีหนี้สินมากเหลือเกิน และจะให้มีการพักชำระหนี้ แต่รัฐกลับตั้งหน้าตั้งตาปล่อยกู้สร้างหนี้ใหม่ ทำให้ชาวบ้านไม่น้อยกลายเป็น "นักหมุนหนี้"

และในเรื่องของระบบกลไกของเศรษฐกิจ ผมอยากบอกว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ นั้นไม่ได้เป็นตลาดแบบเสรีอย่างที่ทุกคนเข้าใจ เพราะเขามีกลต. มีกฎหมาย มีระเบียบคอยควบคุม และเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีการแทรกแซงแบบละเอียดลออมากที่สุด อย่างเช่นเรื่อง ซีทีเอ็กซ์ ที่ทางกลต.เข้าไปดูแลละเอียดลออมากแค่ไหนจึงจะจับได้

ในด้านสถาบันแรกที่เกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจก็คือ ศาลล้มละลาย ผมคิดว่ามันจำเป็นแต่ไม่รู้ว่ามันจะเป็นผลบวกหรือลบ แต่อย่างน้อยมันก็เป็นการสร้างกติกาใหม่ที่ไม่โหด เหี้ยมอย่างกระบวนการล้มละลาย มีทางเลือกมากขึ้น แต่ทั้งนี้มันทำให้กระบวนการสะสางหนี้ยืดเยื้อ ยาวนานและเต็มไปด้วยปัญหาต่าง ๆ ซึ่งในขั้นต้นที่ได้จัดทำศาลล้มละลายขึ้นมาก็เพื่ออยากให้มีการตัดสินใจได้เร็วขึ้น และจบลงเอยได้รวดเร็ว แต่อยากให้ลองไปดูที่ ทีทีไอ อ่านวิธีการการดำเนินงานของศาลล้มละลายนั้นยาวนานกว่าของเดิมอีก

และกระบวนยุติธรรมของไทยก็ยังบริหารโดยกลุ่มบุคคล เวลาเปลี่ยนไป กระบวนการก็เปลี่ยน
แปลงไม่มีความมั่นคงเท่าที่ควร เหมือนกับเวลาเขียนร่างพ.ร.บ. ต่อให้เขียนรัดกุมแค่ไหนพอไปตีความที่ศาลก็ตีความไปอีกอย่าง มันยากที่จะเขียนให้เหมือนที่ใจต้องการ

ธนาคารแห่งประเทศไทย ในปีพ.ศ. 2540-2544 มีความล้มเหลว และมีการเปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะการล้มละลายของสถาบันการเงิน ดังนั้นควรมีฝ่ายกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อกำกับไม่ให้ล้มละลาย แต่การทำแบบนี้มันเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้าที่รวดเร็วทันใจ แต่ไม่ได้เป็นการแก้ไขแบบมีระบบที่ยั่งยืน เช่นควรจะมีการแปรเงินออกให้เป็นการลงทุนตั้งแต่ในอดีตและ
ต้องมีกระบวนการที่มั่นใจได้ว่าผลตอบแทนที่ได้รับนั้นจะคุ้มค่ากับค่าเสียโอกาสของเงินทุน แม้จะไม่สูงสุดก็ตาม ซึ่งตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่สอนกันในปัจจุบันจะเน้นที่ต้องมีกำไรสูงสุดซึ่งมันไม่ถูกต้อง

ถ้าจะพูดถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ช่วงก่อนฟองสบู่การลงทุนในช่วงนี้ได้สร้างความเสียหายอย่างมากมายเพราะทุกคนตายใจ เนื่องจากคิดว่าดอกเบี้ยเงินนอกถูกแค่ 6% ก็เลยคิดกันว่าจะใช้ให้คุ้ม แต่เมื่อเงินอ่อนก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจล้ม

การแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็เป็นอีกกฎหมายหนึ่งที่รัฐบาลชอบ เพราะตัวรัฐวิสาหกิจนี้ข้าราชการไทยเลยไม่ต้องทำงอยู่ภายใต้กฎหมายใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นว่ารัฐวิสาหกิจเป็นองค์กรที่แสวงหาผลกำไรสูงสุดและมีอำนาจผูกขาดตามมา ที่เป็นผลมาจากการแปรรูป เพราะไม่มีกฎหมายเข้ามากำกับดูแลกิจการของเอกชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net