Skip to main content
sharethis

ความป่าเถื่อนไร้มนุษยธรรมทำไมยังมีอยู่อีกเล่า ในเมื่อสังคมแห่งอารยะได้พัฒนามาจนถึงปัจจุบัน มีการตั้งข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ได้รับการตกลงเพื่อการอยู่ร่วมกันมากมาย แต่ช่องว่างระหว่างผู้กำอำนาจกับผู้ด้อยกว่าไม่เคยมาบรรจบกัน และกลับยิ่งแยกห่างร้างไกล

โดยเฉพาะสังคมไทย ที่ถือวัฒนธรรมยกย่องผู้ที่มียศตำแหน่ง โดยเฉพาะขุนนางเจ้าใหญ่นายโต คงไม่แปลกหากในสมัยก่อนการเคารพนับถือหมายถึงคุณความดีที่มีอยู่ในตัวคน และบารมีที่ปกแผ่แก่กล้า แต่ทุกวันนี้บารมีดังกล่าวหาได้ยากยิ่ง แต่ความเกรงกลัวของคนไทยเพราะอำนาจเงินหรือการใช้อิทธิพลขู่คุกคามมีมากขึ้น จนกฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือของคนบางกลุ่มเท่านั้น

รศ.ดร.ณรงค์ ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า กฎหมายเขียนไว้แต่ผู้ปฏิบัติไม่ปฏิบัติตาม เป็นปัญหาเรื่องจิตสำนึกที่จะต้องแยกแยะให้ออกว่าอะไรถูกอะไรผิด และการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์ด้วยกัน มาตรการดีขนาดไหน แต่ถ้าไม่คิดว่าเขายังเป็นคนอยู่ การหลีกเลี่ยงตรงนี้ก็มีต่อไป โดยปัญหาจริงๆ อยู่ที่จิตสำนึก

"เมื่อเราไปร้องและกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ เขาจะตระหนักหรือทำร้ายเราซ้ำหรือไม่ และจริงๆ แล้วเราจำเป็นต้องแสดงตัวเรียกร้องค่าเสียหายหรือไม่ หรือว่ารัฐต้องเข้ามาเยียวยาโดยทันที เพราะส่วนมากแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นมักไม่ตกเป็นข่าวหรือหาหลักฐานไม่ได้" รศ.ดร.ณรงค์ ตั้งข้อสังเกต

สำหรับการทรมานทารุณโหดร้าย กฎหมายอาญาของไทยรองรับไว้หมดแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ครอบคลุมในกรอบร่างกาย แต่ด้านการทำร้ายจิตใจ แนวทางของกฎหมายไทยยังไม่ชัดเจน นอกจากนี้ ในกระบวนการสืบสวน ถ้าผู้ต้องหาถูกทำให้รับสารภาพ จะทำอย่างไรให้เขาได้รับการปกป้องคุ้มครอง ซึ่งแท้จริงแล้วทุกคดีที่มีโทษจำคุก ผู้ต้องหามีสิทธิ์พบทนาย โดยจะให้ทนายเป็นผู้ดูแลคุ้มครองผู้ถูกจับกุมนั้น ทว่าตรงส่วนนี้ยังมีช่องโหว่

ขณะที่ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ตั้งคำถามอีกประการหนึ่งว่า "หากมีการตายเกิดขึ้นในระหว่างการควบคุมตัว จะต้องมีการชันสูตรศพ ขอไต่ส่วนการตาย ซึ่งควรให้ศาลตั้งทนายให้ญาติผู้ตาย เพราะมาตรการเหล่านี้จะช่วยไม่ให้เจ้าหน้าที่ขอมีอำนาจและใช้อำนาจโดยมิชอบ แต่ประเด็นเหล่านี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการร้องขอ หยิบยกขึ้นมา ส่วนใหญ่จะไม่มีการร้องขอ เพราะเขาไม่รู้สิทธิ์ตรงนี้"

ปัญหาอยู่ที่จะมีการคุ้มครองอย่างไรให้ได้รับการพิจารณาอย่างยุติธรรมได้อย่างไร ในเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้กุมอำนาจและอยู่เหนือกฎหมายเช่นนี้ กระบวนการยุติธรรมอาจไร้มนุษยธรรม และให้ความเป็นธรรมเฉพาะบางกลุ่มบางคนเท่านั้น การขาดประสิทธิภาพและทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นตรงนี้เองที่ทำให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาดูแล และจัดการกับปัญหาดังกล่าว

ไทยไม่ทำ ยูเอ็นทำ
รศ.ดร.ณรงค์ เห็นว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มีสิทธิ์มากกว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมีความจำเป็นต้องตรวจสอบโดยองค์กรภายนอก เพื่อความเป็นกลาง ไม่รีรอขอให้พวกพ้องอย่างที่เป็นอยู่

"อนุสัญญาว่าด้วยการทรมานฯ บอกไม่ต้องรอให้มีการร้องทุกข์ เพราะอาจไม่มีโจทย์ เขาเข้าไปสืบสวนสอบสวนเอง โดยให้องค์กรที่ไม่ใช่ผู้กระทำเข้าไปตรวจสอบ การให้ตำรวจสืบสวนเองเกิดขึ้นได้ยาก แพทย์อาจเป็นผู้ชี้ขาดแต่ต้องมีหลักฐาน โดยต้องร่วมด้วยเพราะจำเป็น ตรงนี้อนุสัญญาเข้ามามีบทบาท" รศ.ดร. ณรงค์ อธิบาย

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ใช้กฎหมายควรผ่านการอบรมเรียนหรือการสอบผ่านสิทธิมนุษยชน มองประชาชนเป็นมนุษย์ ต้องสอบผ่านทางกฎหมายของการปฏิบัติ มีการคัดกรองและตรวจสอบโดยองค์กรภายนอกให้มากำกับดูแล ก็น่าจะส่งผลดีต่อประชาชนคนไทย

หากย้อนไปถึงกระบวนการผลิตผู้ที่จะมาทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองประชาชน โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ และยังใช้เป็นอาวุธฟาดฟันเข่นฆ่าประชาชน ระบบการอบรมสั่งสอนก็น่าจะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่ที่น่าแปลกก็คือในระบบการศึกษาที่มีการปฏิรูปมานักต่อนัก ไม่เคยมีหลักสูตรเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเลยหรืออย่างไร

รุนแรง รัฐไม่เคยร่วมเรียนรู้
"สยามเมืองยิ้มแต่ยิ้มไม่ค่อยออก มีแต่การปล่อยปละ สมควรต้องอบรมสั่งสอน ทุกวันนี้เรายอมรับหรือยังว่า ผู้ปกครองไม่เคยได้รับการสั่งสอนด้านสิทธิมนุษยชน แล้วจะเอาอะไรกับเขา เขาไม่เคยรู้เลย" นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสมาคมทนายความ ตั้งประเด็น

ทั้งนี้ นายเดชอุดม ยังได้สะท้อนปัญหาการบ่มเพาะสิทธิมนุษยชนของคนไทยว่า มีความขาดตกบกพร่องและไม่มีใครให้ความสำคัญ แม้แต่ผู้ที่ต้องนำมาใช้กับประชาชนทั่วไป

"ผมน้อยใจกับคนไทยที่ชอบใช้ทางลัดใช้อำนาจตนเองเป็นใหญ่ เราสู้กับความคิดของคนที่ไม่เคยเปลี่ยนไป คืออยากสบาย ใช้วิธีการรวบรัด ทั้งที่เขาก็มาจากไพร่ธรรมดา แล้วได้ดิบได้ดี ลืมสำเหนียกของตนเอง รู้แต่การทรมาน คนเรามีอิสรเสรีมีมโนธรรมแต่ไม่เคยสอนกัน ไม่เคยปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง" นายเดชอุดม กล่าว

นายกสมาคมทนายความ ตบท้าย ว่า "บ้านนี้เมืองนี้ผมรัก ผมเกลียดและชิงชังคนบ้าอำนาจ ไม่มีจิตสำนึก ยีนส์พันธุกรรรมคงเลวร้ายมาก แล้วยังตกมาสู่พฤติกรรมองค์กรอีก"

อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นปัจจัยที่จะนำมาสู่ความรุนแรง คงไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องนัก หากแต่การเรียนรู้และทำความเข้าใจกับวัฒนธรรม โครงสร้างสังคมที่สะท้อนมายังตัวบุคคล นั่นคือการมองสาเหตุความรุนแรงที่ครอบคลุม

ดังนั้นการมองหาหนทางแก้ไขจึงต้องมองข้ามข้อจำกัดในมุมแคบของทัศนคติ เร่งสร้างวัฒนธรรมเชิงมุมมอง และการตระหนักร่วมกัน แล้วนำกระบวนการพัฒนา การสั่งสอนอบรม การกล่อมเกลาทางสังคมควบคู่กันไป สังคมไทยคงจะน่าอยู่ขึ้นและอุดมไปด้วยสันติธรรมอย่างแน่นอน

รศ. ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกล่าวไว้ว่า สิ่งแรกต้องทำให้คนในสังคมรู้สึกรู้สากับความรุนแรงที่ถูกต้อง ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเราแม้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงก็ตาม แต่ผลทางอ้อมนั้นกระทบต่อทุกๆ ส่วนแน่นอน ถ้าหากสังคมยังมองว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่เป็นปัญหา นั่นคือสิ่งบ่งชี้ว่าได้เกิดปัญหาขึ้นแล้ว

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า "หากการทรมานไม่เกิดขึ้น ปัญหาอื่นๆ ก็จะทุเลาลงได้ ทั้งนี้ ระดับนานาชาติแม้สำคัญแต่ก็ยังไม่พอ ถ้ายังลดปัญหาความรุนแรงในประเทศไม่ได้ โดยไม่พยายามมองหาและแก้ไขที่ต้นเหตุของความรุนแรง"

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net