Skip to main content
sharethis

เกาะเหลา…เกาะเล็กๆ ริมฝั่งอันดามัน ในอำเภอเมือง จังหวัดระนอง เกาะซึ่งมีเนื้อที่ไม่กี่ตารางเมตร และชาวบ้านบนเกาะซึ่งเป็นมอแกน หรือตามภาษาที่คนในเมืองเรียกขานพวกเขา "ชาวน้ำ" ต่างก็ได้รับผลประทบจากคลื่นยักษ์ซึนามิไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ระยะเวลาการเกิดคลื่นยักษ์ล่วงเลยมาจนถึงวันนี้มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นที่นี่ เกาะเหลา

เอกราช ชัยดำรงฤทธิ์ หรือ แป๊ะ จากโครงการเอคชั่นเอด หนึ่งในหลายๆหน่วยงานจากองค์กรพัฒนาเอกชน และเป็นหนึ่งใน 4 คนทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนที่ลงไปคลุกคลีกับผู้คนบนเกาะเหลาเปิดใจแก่" ประชาไท" ว่า งานที่ต้องลงไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่นี่มีมากมาย ทั้งเรือ ทั้งโรคระบาด ทุกๆวันมีปัญหาใหม่ๆเข้ามาให้ร่วมกันแก้ไข

และนี่อาจเป็นที่มาของความขัดแย้งในขณะนี้เนื่องจากงานที่ลงไปทำขัดแข้งขัดขาผลประโยชน์ส่วนตัวของคนในพื้นที่

เอกราชเล่าว่าบนเกาะเหลาซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่บ้านของชาวมอแกน มีเพียงหนึ่งครอบครัวที่เป็นคนจากฝั่งระนองอพยพมาสร้างบ้านที่นี่ คนบนเกาะแห่งนี้ทราบดีว่าเป็นใคร แต่ไม่สะดวกใจจะเอ่ยชื่อ บางครั้งเขาเรียกขานคนครอบครัวนี้ว่า "คนไทย"

"หลังจากเกิดคลื่นยักษ์ใหม่ๆ เรือประมงซึ่งเปรียบเสมือนชีวิตของคนที่นี่เสียหายไปมาก เมื่อพวกเราซึ่งมาจากเอคชั่นเอด และมูลนิธิเด็กลงมา "คนไทย" ที่ว่า เป็นเสมือนตัวแทนสื่อสารระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนกับชาวบ้านบนเกาะ"

แต่หลังจากนั้นหลายหน่วยงานต่างทยอยลงมาช่วยเหลือบนเกาะเพิ่มขึ้น ทั้งเงินและของบริจาคหลั่งไหลมากขึ้น ปัญหาความขัดแย้งจึงตามมา

"มีการค้าค่านายหน้าในการซื้อเรือ และความไม่โปร่งใสในการจัดการเงินและของบริจาคเกิดขึ้น เหตุการณ์รุนแรงมากจนถึงกระทั่งมีการทำร้ายชาวบ้านบนเกาะ เพราะชาวบ้านบนเกาะเปิดเผยพฤติกรรมที่ไม่ชอบมาพากลของ "คนไทย"ดังกล่าว

ชนวนเหตุของความขัดแย้งบานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อองค์พัฒนาเอกชนที่ลงไปในพื้นที่จัดระบบการเงิน ของบริจาค และการจัดซื้อเรือให้โปร่งใสมากขึ้น จากเดิมซึ่งมีการเพ่งเล็งทำร้ายชาวบ้าน เปลี่ยนเป้าหมายมาที่คนที่งานจากองค์กรพัฒนาเอกชน

"อยู่มาวันหนึ่งมีคนฝากมาบอกถึงพวกเพื่อนๆ และผมว่า อยู่กันให้ดีๆ ที่นี่ลูกปืนราคาถูก วันดีคืนดี "คนไทย"ก็มาไล่ให้ไปจากเกาะของเขา"

ผมได้ยินตอนแรกว่าที่นี่ลูกปืนราคาถูกนั้น ก็ยอมรับว่าหวั่นไหวมากเพราะเมื่อไม่นานนี้ชาวบ้านที่จังหวัดพังงาซึ่งมีปัญหาเรื่องที่ดินยังโดนขู่ แถมแม้แต่นักข่าวยังโดนยิง แต่ถึงยังไงสำหรับผม การลงมาในพื้นที่คือการทำงาน มาช่วยเหลือคนที่นี่ให้อยู่ได้ด้วยตนเอง เราช่วยกันทำงานทั้งซ่อมเรือ หาเรือ จัดการเรื่องการบริการเงินและสิ่งของให้เป็นระบบและโปร่งใส

เอกราชเล่าต่อว่าหลังจากนั้นก็มีการพูดคุยกันในเพื่อนๆ ทั้ง 3 คน ผู้ร่วมหัวจมท้ายทำงานด้วยกันบนเกาะและได้ข้อสรุปว่าจะ "ยังไงๆ ก็จะทำงานที่แต่ละคนรับผิดชอบบนเกาะเหลาแห่งนี้ต่อไป

"พวกเราคิดว่านี่อาจเป็นเพียงการข่มขู่เพราะสิ่งที่เราลงมาทำในพื้นที่แม้จะทำให้ใครเสียผลประโยชน์ไปบ้างแต่ก็ไม่น่าถึงกับที่จะลงไม้ลงมือกัน ที่เกาะเหลาสถานการณ์ไม่รุนแรงมากเหมือนที่อื่นซึ่งมีการแย่งยิงที่ดินระหว่างนายทุนกับชาวบ้าน บนเกาะเหลามีปัญหาจริงแต่ไม่รุนแรงถึงกับจะต้องฆ่า จะต้องแกงใคร" เอกราชกล่าว

"อ้อ" หญิงสาวชาวมุสลิม คนทำงานจากมูลนิธิเด็กเสริมว่า เท่าที่ดูสถานการณ์บนเกาะนี้ ตนคาดว่าไม่รุนแรงถึงขั้นนั้นทำร้ายกัน แต่ถึงอย่างไรคนทำงานต่างก็ไม่ประมาทเพราะที่ผ่านมามีการขู่มาหลายครั้งแล้ว

"สำหรับอ้อ คิดว่าไม่หนักใจมากนักในการทำงานในพื้นที่ อ้อทำงานกับเด็กๆที่นี่ เราช่วยเหนือด้านโภชนาการ ช่วยกันสอนหนังสือ แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นหากเรายังต้องการช่วยเหลือคนที่นี่เราก็ต้องอดทน เพราะมันไม่คุ้มกันเลยหากเราท้อ แล้วหนีไปจากที่นี่เพียงเพราะเรากลัวปัญหา กลัวความขัดแย้ง" อ้อกล่าว

"เล็ก" หญิงสาวร่างเล็กสมชื่อ ซึ่งอยู่มูลนิธิเด็กเช่นเดียวกับอ้อ กล่าวว่ามีบางเวลาที่เหนื่อยและท้อเช่นกัน แต่คิดว่าไม่ยุติธรรมหากลงมือทำงานแล้วละทิ้งกลางคัน

"เราทำงานมาถึงขั้นนี้ เรามีโรงเรียนเล็กๆในเต็นท์ มีโต๊ะไม่กี่ตัว แต่เรามีลูกศิษย์มากมาย ตั้งแต่ตัวเล็กๆจนถึงวัยชรา พวกเขาอยากเรียนรู้ หากจะทิ้งจากที่นี่เพราะโดนขู่โดนไล่ เราก็ไม่ยุติธรรมกับลูกศิษย์ที่นี่เหมือนกัน เพราะถ้าใจไม่สู้ก็ไม่ควรมาเริ่มต้นตั้งแต่แรกแล้ว" เล็กกล่าว

"นา" เจ้าหน้าที่โครงการเอคชั่นเอดกล่าวว่า ที่เกาะเหลามีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายทุกวัน ก่อนหน้านี้มีเด็กเสียชีวิตเพราะอหิวาตกโรค มาถึงวันนี้ที่เกาะเหลามีผู้ป่วยอหิวาต์แล้ว 4 ราย ผู้ป่วยที่เป็นพาหะอีกไม่รู้เท่าไร ไข้มาเลเรียก็กำลังระบาด ยังมีเรื่องเรือประมงของชาวบ้านที่เสียหาย ซึ่งก็ยังไม่เรียบร้อย

"เราต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องโรคระบาด ซึ่งตอนนี้ก็ชัดเจนแล้วว่าเกาะเหลาเป็นแหล่งเกิดเชื้ออหิวาต์ เราต้องพยายามหาทางแก้ไขการระบาดเรื่องไข้มาเลเรีย ไข้เลือดออก เราต้องหาเรือ หาเครื่องมือประมงเพื่อให้คนที่นี่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่จากของบริจาค เรามีงานมากมายที่ต้องเร่งมือช่วยเหลือคนที่นี่" นา กล่าว

เธอคนนี้บอกเล่าถึงชีวิตการทำงานบนเกาะอีกด้วยว่า การทำงานดังกล่าวเป็นการทำงานกับคน นอก เหนือจากต้องผจญต่อความลำบากของสภาพพื้นที่และอุปสรรคนานัปการประการที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวันแล้ว ยังต้องอดทนและเข้มแข็งเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงอีกด้วย

"ปัญหาเฉพาะหน้าที่เราต้องร่วมมือกันแก้ไขมีมากมาย ปัญหาเรื่องการข่มขู่จึงเป็นเพียงแค่หนึ่งในอุปสรรคหลายๆเรื่องที่เกิดขึ้นเท่านั้น" เธอกล่าวทิ้งท้าย

วันนี้ที่เกาะเหลา" ลูกปืน" อาจราคาถูกตามคำขู่ที่ลอยลมมา แต่ถึงอย่างไรคนทำงานที่นี่ก็ยังคงเร่งพัฒนางานอาสาฯช่วยเหลือผู้คนบนเกาะอย่างขะมักเขม้น

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net