Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 23 มิ.ย.48 "วัฒนธรรมการตีความกฎหมาย เป็นเรื่องเปลี่ยนไม่ง่ายต้องใช้เวลานาน โดยปกติแล้วที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมเรามักตีความตัวพ.ร.บ.โดยตรงก่อนบทบัญญัติในรัฐ ธรรมนูญ เพราะมองว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีขอบเขตเท่าที่พ.ร.บ.บัญญัติ ซึ่งเมื่อมีรัฐธรรม
นูญปี 40 แล้วมันเปลี่ยนหลักการนี้" รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในงานสัมมนา "ม.101 พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 35 ฯ ส่งเสริมหรือลิดรอนสิทธิชุมชน"

งานสัมมนาดังกล่าวจัดขึ้นโดยความร่วมมือของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และศูนย์นิติศาสตร์ มธ. เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายมาตราดังกล่าว หลังเกิดการนำมาตรานี้ไปใช้เป็นครั้งแรกเมื่อเร็วๆ นี้ กรณีการออกหมาย จับแกนนำกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแก่งคอย 2 จ.สระบุรี โดยยกมาตรา 101 ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาเป็นข้อกล่าวหา

รศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า ประเด็นการตีความกฎหมายต่างๆ โดยยึดโยงกับรัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็นประเด็นใหญ่ของประเทศไทย เพราะหากไม่เริ่มต้นพิจารณาการละเมิดจากบทบัญญัติในรัฐ ธรรมนูญก่อน จะเกิดปัญหาการตีความพระราชบัญญัติต่างๆ มาลบล้างรัฐธรรมนูญ

"ม.101 ต้องตีความโดยเคร่งครัด เพราะมันเข้ากฎหมายอาญา ที่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของคน ต้องดูให้ชัดว่าผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาพิเศษตามม.101 หรือไม่" รศ.ดร.บรรเจิดกล่าวพร้อมยกตัวอย่างประเทศเยอรมนี ที่การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น ครอบคลุมทั้งอำนาจรัฐ รวมถึงอำนาจตุลาการด้วย ซึ่งแบ่งเป็นการละเมิดโดยวิธีพิจารณาความ และการละเมิดโดยการตีความของศาล โดยผู้ตัดสินสุดท้ายคือศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยขณะนี้ยังไม่ครอบคลุมการละเมิดโดยอำนาจตุลาการ

รศ.ดร.ณรงค์ ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ตามมาตรา 101 เป็นอาญาแผ่นดิน ดังนั้นการกล่าวโทษจะโดยใครก็ได้ถือเป็นเรื่องปกติ แต่การออกหมายจับนั้น ต้องมีหลักฐานที่น่าเชื่อ และผู้ต้องหาต้องสามารถรับรู้ได้

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ณรงค์ระบุว่า ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กำลังยกร่างแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมาตรา 101 นี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องนำไปหารือกัน เพราะเจตนารมณ์แต่เดิมนั้นมีไว้ป้องกันพวกก่อกวน เพื่อคุ้มครองไม่ให้สาธารณะตื่นตระหนก แต่เมื่อมีปัญหาเช่นกรณีนี้ ก็ควรเขียนเพิ่มเติมให้ชัดเจนเพื่อรองรับสิทธิของทั้ง 2 ฝ่าย โดยเพิ่มวรรคสามในทำนองว่า ในกรณีของวรรค2 มิให้นำมาใช้กับการแสดงความเห็น ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หรือการป้องกันสิทธิตามครองธรรม

"ขณะเดียวกันทางกรรมการสิทธิอาจทำหน้าที่ประสานสร้างความเข้าใจทั้งในเชิงบริหาร รวมทั้งกับผู้บังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรม" รศ.ดร.ณรงค์กล่าวและระบุว่า การยกร่างนี้กำลังอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ตามภาคต่างๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จราวเดือนตุลาคมศกนี้ โดยเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองกลุ่มชาวบ้านหรือองค์กรพัฒนาเอกชน ที่รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม และเพิ่มกระบวนการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

ด้านตัวแทนชาวบ้านชมรมอนุรักษ์แก่งคอยระบุว่า แม้ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าการไขข่าวข้อกังวลของชาวบ้านเป็นเท็จหรือไม่ แต่ขณะเดียวกันชาวบ้านก็กำลังประสบปัญหาในการเข้าถึงข้อมูล ทำให้ไม่รู้ว่าหลักฐานที่อ้างว่าไขข่าวเท็จเป็นอย่างไร โดยพนักงานสอบสวนระบุว่าต้องไปของที่ศาลจังหวัดสระบุรี ขณะที่ศาลจังหวัดก็ระบุว่าไม่สามารถให้ได้ต้องขอที่พนักงานสอบสวน อีกทั้งยังมีการข่มขู่ในพื้นที่ว่าจะแจ้งจับเพิ่มอีก 20-40 คนทำให้ชาวบ้านบางส่วนเกิดความกังวล เพราะหลายคนไม่มีหลักทรัพย์ในประกันตัวที่สูงถึง 2 แสนบาท

อนึ่ง มาตรา 101 ระบุว่า ผู้ใดแพร่หรือไขข่าวที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับอันตรายจากแหล่งกำเนิดมลพิษใด โดยมีเจตนาที่จะทำลายชื่อเสียงหรือความไว้วางใจของสาธารณชนต่อการดำเนินกิจการโดยชอบด้วยกฎหมายของแหล่งกำเนินมลพิษนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากการแพร่หรือไขข่าวตามวรรคหนึ่งกระทำโดยการประกาศโฆษรา หรือออกข่าวทางหนังสือ พิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อมวลชนอย่างอื่น ผู้กระทำผิดดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net