กองทุนหมู่บ้าน : ทุนแห่งจิตวิญญาณการอุ้มชูแบ่งปันกัน

ส่วนที่1
รัฐบาลได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดชุมชนไทย คือ กองทุนหมู่บ้านหนึ่งล้านบาท นับเป็นจำนวนเงินประมาณเจ็ดหมื่นล้านบาท จึงจะครอบคลุมหมู่บ้านทั่วทั้งประเทศไทย กลายเป็นบทวิพากษ์ในสภากาแฟ เวทีชาวบ้าน ประชาคมชุมชนทุกระดับ ตลาดนัด ตลาดซุปเปอร์มาเก็ตต์ และสภาผู้แทนราษฎร ตลอดไปจนถึงวุฒิสภา เสมือนคล้ายกับละครชีวิตหลังข่าวที่ทุกคนติดกันงอมแงม จับตาดู เงี่ยหูฟัง ต่างมุมคิด ต่างมุมมอง และต่างมุมวิพากษ์ กระทั่งเกาะติดข่าวคราวความเคลื่อนไหวแทบไม่กระพริบตาทีเดียวละครับ ชวนให้ติดตามเหตุการณ์อันชวนระทึกใจเป็นอย่างยิ่ง
กองทุนหมู่บ้าน : จุดปลุกเร้ากระแสการพัฒนาคนและเชื่อมโยงการเรียนรู้

กองทุนหมู่บ้านเป็นนโยบายของรัฐบาล ปัจจุบันที่ต้องทำให้บังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และยอมรับว่ามีความเป็นเจ้าของกองทุนหมู่บ้านร่วมกัน ทำให้เกิดความรู้สึกรักและหวงแหน ช่วยกันดูแลรักษาไว้เสมือนหนึ่งเป็นการประกาศเกียรติบัตรของชุมชนให้คนทั่วไปได้รับรู้ รับทราบว่า "ชุมชนมีความสามัคคีเข้มแข็ง"

จุดเด่นของกองทุนหมู่บ้าน
1. เป็นนโยบายของรัฐบาลที่สร้างกระแสและความหวังให้ประชาชนค่อนข้างสูง ก่อให้เกิดแรงจูงใจ แพร่กระจายทุกกลุ่มเป้าหมายของประชาชน ที่รัฐบาลจะต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรม

2. ครัวเรือน องค์กร เครือข่ายชุมชนมีแหล่งทุนที่ทำให้เกิดการเริ่มต้นอาชีพใหม่ หรือการปรับ
เปลี่ยนโครงสร้างการทำมาหากิน การประกอบอาชีพของชุมชน และการต่อยอดกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนให้ขยายกว้างขวางขึ้น

3. ทำให้เกิดพื้นฐานการพัฒนา "คน" และโครงข่ายการเรียนรู้ เชื่อมโยงการมีส่วนร่วม/แลกเปลี่ยนไปสู่เครือข่ายองค์กรอื่นในการผนึกกำลังร่วมกัน
4. กระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อ กำลังผลิต ก่อให้เกิดรายได้และสามารถมีกำลังเก็บออมทรัพย์ระดับรากแก้วของสังคม

5. "เงิน" เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมชุมชน มีความเข้มแข็ง เพราะได้มีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจ ลงมือทำ ร่วมรับผลประโยชน์ และช่วยกันดูแลรักษาให้ยั่งยืน

6. ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและพัฒนาต่อยอมต้นทุนภูมิปัญญาของชุมชนให้ดำรงอยู่ สืบทอดเป็นมรดกอย่างยั่งยืน

7. เน้นการกระจายอำนาจกระจายโอกาสและกระจายทุนสนับสนุนคนยากจนส่วนใหญ่ของประเทศ

8. เกิดการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนา "พหุภาคี" ก่อให้เกิดประสานพลังความเป็นเอกภาพบูรณาการเงินทุนเป็นกลุ่มก้อน มีศักยภาพและมีองค์กรเครือข่ายเป็นผู้บริหารจัดการและทุกกลุ่มเป้าหมายได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่

9. มีต้นทุนองค์ความรู้และประสบการณ์เดิมในหลายโครงการ เช่น โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจชุมชนและโครงการสินเชื่อการพัฒนาชุมชน (สพช.) เป็นต้น สามารถถอดบทเรียนเหล่านี้มาปรับปรุงและพัฒนากลไกการบริหารจัดการ และยกระดับการพัฒนาให้มีคุณภาพอย่างแท้จริง

10. กองทุนหมู่บ้าน 70,000 ล้านบาท เป็นเงินลงทุนชาวบ้านกู้เงินเหล่านี้ไปใช้จ่ายการลงทุนและนำกลับมาชำระคืนแก่กองทุน ซึ่งถือได้ว่ามิใช่เงินทุนจะหมดไป แต่ต้องเริ่มทำจากจุดเล็ก ๆ ที่มีความพร้อม แล้วค่อยขยายผลอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มต้นทุนมูลค่าของเงินให้ยิ่งใหญ่ และเพิ่มพูนประสบการณ์ให้มากยิ่งขึ้นควบคู่กันไป

11. การปรับกระบวนทัศน์ในการทำงาน โดยใช้หมู่บ้านเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา หรือใช้หมู่บ้านเป็นคำตอบสุดท้ายของการพัฒนา

จุดอ่อนของกองทุนหมู่บ้าน
1. มิติของการใช้เงิน "เงิน" เป็นศูนย์กลางการพัฒนา เน้นการทำลายความเข้มแข็งของชุมชนลงอย่างสิ้นเชิง

2. กระตุ้นความ "ยากจน" คนที่ประมาทไม่รู้คุณค่าของเงิน คนบางคนอาจจะไม่รู้จักคิดไม่มีวินัยในการใช้จ่ายเงิน ยิ่งการใช้เงินจำนวนมากยิ่งทำให้เห็นว่า "เป็นเงินหลวง" ไม่รู้จักรักและหวงแหน

3. ถ้าหากไม่มีการเตรียมความพร้อม และไม่มีส่วนร่วมของประชาชน คิดง่าย ๆ ทำง่าย ก่อให้เกิดสิ่งที่ดีงาม และไม่มีดีงาม มีความเสี่ยงสูง ต้องระมัดระวังมาก

4. โครงสร้างการบริหารหลายขั้นตอนมาก เอกสารมาก งานซับซ้อน การบริหารจัดการขององค์กรชุมชนจะยิ่งยุ่งยากมากขึ้น

5. การแยกแยะกลุ่มงาน/เป้าหมาย กลุ่มพื้นที่เป้าหมาย ที่มีสถานการณ์ วัฒนธรรมชุมชนที่แตกต่างกันไม่ชัดเจน ไม่มีหลักเกณฑ์ ก็ยิ่งมีปัญหามาก เช่น เงินกู้ที่คิดดอกเบี้ย คนไทยอิสลามถือว่ามีความผิดต่อศาสนาและความเชื่อ เป็นต้น

6. การจัดสรรบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐแต่ละหน่วยไม่ชัดเจน เข้าทำนอง คนคิด คนพูด คนทำ คนรับผลประโยชน์ คนดูแลกำกับ ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อม ยิ่งยุ่งยากมากในการปฏิบัติงาน

7. การมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นคิดทำ ของหุ้นส่วน ผู้หาเงินทุน ผู้รับเงินทุนไปทำ และผู้ใช้บริการ เงินทุนแทบจะมีน้อยมากเพียงแต่รอรับคำสั่งอย่างเดียว จะทำให้เกิดปัญหา "รอคำสั่ง" และตั้งรับ

8. การปรับเปลี่ยนทัศนคติวิธีการปฏิบัติงานของข้าราชการทุกระดับในทุกหน่วยงานยังขาดความเป็นเอกภาพในแง่ปรัชญาการทำงาน ที่ยึดหลักอยู่ที่หน่วยงาน และพนักงานเป็นศูนย์กลางในการทำงาน จึงขาดแนวความคิดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลัก ทำให้เกิดความไม่ยอมรับนับถือและเชื่อมั่นในคุณค่าของประชาชน

9. ขาดการทำประชาพิจารณ์ หรือเวทีชาวบ้านในการวางเป้าหมายที่ชัดเจน ว่าจะมีพื้นที่หมู่บ้านเป้าหมายประเภทใด จะประเมินศักยภาพอย่างไร สนับสนุนช่วยเหลือกันโดยวิธีการอย่างไร ใครจะเป็นผู้ดำเนินการ ใครจะเป็นผู้ประเมินผลความสำเร็จ และใครจะทำหน้าที่ติดตาม กำกับ ดูแล ตลอดจนการส่งเสริมขยายผลงานในอนาคต และใครจะเป็นเจ้าของที่แท้จริง

ส่วนที่ 2
การแปลงนโยบายการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านในทางปฏิบัติ

1. สำรวจและจัดระบบข้อมูล ประมวล/วิเคราะห์/สังเคราะห์ต้นทุน (เงินทุนประเภทต่าง ๆ ) เพื่อการจัดการทรัพยากร และความพร้อมด้านอื่น ๆ ในหมู่บ้านให้ชัดเจน

2. จัดเวทีเสวนากองทุนหมู่บ้าน จากเครือข่ายองค์กรชุมชน และผู้มีประสบการณ์ปรึกษาหารือกำหนดแผนงานและทิศทางร่วมกันในแต่ละระดับให้ชัดเจน

3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคกองทุนประเภทต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว ร่วมกันบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคง

4. ใช้ระบบข้อมูล จปฐ. และ กชช.2ค และข้อมูลอื่น ๆ ประกอบเป็นเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกการสนับสนุนครอบครัว องค์กรชุมชน และหมู่บ้าน

5. ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตอย่างสม่ำเสมอและแพร่หลาย เพราะเป็นการสร้างความผูกพัน มีน้ำใจเอื้อเฟื้อแบ่งปันกันในสังคม เมื่อเงินมีจำนวนมากเพียงพอก็สามารถพึ่งตนเองได้

6. การกำหนดตัวชี้วัดศักยภาพของกองทุนเพื่อประเมินผล และสามารถที่จะนำบริหารจัดการเกี่ยวกับความสม่ำเสมอในการออมทรัพย์ฯ ความสม่ำเสมอในการใช้คืนเงินกู้ ความนึกคิดในการแบ่งปันผลกำไร เป็นสวัสดิการของชุมชนและการประเมินสถานการณ์ในอนาคตของกองทุน เพื่อให้สมาชิกและคณะกรรมการได้สามารถวางแผนงานในอนาคตได้ถูกต้องชัดเจน

7. การส่งเสริมให้มีระบบการดูแลขององค์กรเครือข่ายในหมู่บ้านและชุมชน เพื่อจะได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบร่วมกัน และให้เพิ่มองค์กรเครือข่ายและระบบการดูแล ระหว่างหมู่บ้านในตำบลเดียวกัน ดูแลกันระหว่างตำบลในอำเภอเดียวกัน ดูแลกันระหว่างอำเภอในจังหวัดเดียวกัน ดูแลกันระหว่างจังหวัดในภูมิภาคเดียวกัน จะได้เรียนรู้และผนึกกำลังกัน และสร้างพลังอันเป็นปึกแผ่นยิ่งใหญ่มั่นคงแข็งแกร่งในอนาคต

8. ส่งเสริมระบบการติดตาม ตรวจสอบโดยกระบวนการประชาคมในชุมชนด้วยกันเองในแต่ละระดับ เพื่อความโปร่งใส และส่งเสริมการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน และให้มีศูนย์ปฏิบัติการกองทุนประจำหมู่บ้าน เพื่อแสดงข้อมูลและความเคลื่อนไหว และการยกระดับคุณภาพแผนงานเชิงปฏิบัติการ

9. ยกระดับกองทุนหมู่บ้านเป็น "ธนาคารชุมชน" หรือ "ธนาคารของประชาชน" โดยมีประชาชนเป็นเจ้าของ มีส่วนร่วมในการบริหาร มีระบบเครือข่ายเชื่อมโยง ถักทอขึ้นมาจากหมู่บ้านตามลำดับ ส่วนกลางจะเป็นสำนักงานกลางดูแลทั่วไป การบริหารจัดการ การเงินธุรกิจ หรือด้านอื่น ๆ และสามารถเป็นแม่ข่ายให้แก่ลูกข่ายที่จะไปทำด้านธนาคาร หรือด้านอื่น ๆ เป็นต้น

ส่วนที่ 3

กองทุนหมู่บ้าน : พัฒนาคนให้กล้าหาญ พัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง
"เงินเหมือนกระดาษ เมื่อพัฒนาคนให้สำนึกแล้วก็ฉีกทิ้งได้"

กองทุนหมู่บ้านเป็นแค่เครื่องมือในการให้คนในชุมชนใช้หลัก 5 ร่วมในการทำงาน คือ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ และร่วมรับผลประโยชน์ กระบวนการ 5 ร่วม ทำให้ผู้คนในหมู่บ้านเกิดโอกาสในการพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนถึงปัญหาของครอบครัว ชุมชน และร่วมกันคิดหาทางออกที่เหมาะสมกับชุมชนและเกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามวิถีชีวิตของคนไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นทุนทางสังคม ที่กำลังจะเหือดหายไปจากสังคมไทย กระบวนการอย่างนี้เองที่เป็นพื้นฐานวิถีชีวิตประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิ์ มีเสียง ทุกคนต้องฟังเสียงของคนส่วนใหญ่ที่ได้รับกระทบ และเดือดร้อนมากกว่าคนอื่น ๆ เกิดความเห็นอกเห็นใจ ห่วงหาอาทรต่อกัน จึงเป็นมิติของการพัฒนาที่กำลังจะสูญหายไปได้ฟื้นกลับมาอีกครั้งที่ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมเป็นผู้คิดเอง ทำเอง และเขาจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของและมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่ได้รับจนก่อให้เกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ปรีดี โชติช่วง
กรมการพัฒนาชุมชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท