Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ 28 มิ.ย.48 หลายฝ่ายร่วมจัดเวทีสาธารณะ เรื่อง สิทธิและสถานะบุคคลของชนเผ่าและชาติพันธุ์ในประเทศไทย ขึ้นที่ห้องประชุมโรงแรมริดเจ็ส อโมร่า ท่าแพ จ.เชียงใหม่ โดยมีตัวแทนชนเผ่า คณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรมการปกครอง และนักวิชาการ เข้าร่วมเสวนาเพื่อถกปัญหานโยบายรัฐไทย กับผลกระทบวิถีชีวิตและสิทธิมนุษยชนของชนเผ่า พร้อมเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ตามที่เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ ต่อร่างยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล และให้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว

ต่อมา ในวันที่ 18 ม.ค. ได้มีการประชุมกันอีกครั้ง ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ และได้มีมติเห็นชอบต่อร่างยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล ซึ่งทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ และคนทำงานด้านชนเผ่า ต่างออกมาแสดงความคิดเห็น และมีการร้องเรียนรัฐบาล กรณีบุคคลไร้สัญชาติและสถานะ ซึ่งมีหลายกรณีได้สะท้อนให้เห็นถึงความล่าช้าในการจัดการ และเกิดผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายมานะ งามเนตร์ ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องสถานะและสิทธิบุคคล จะต้องเร่งดำเนินการ เพราะหากยิ่งกระบวนการล่าช้า คนที่ขาดสถานะบุคคล ก็อาจกังวล และออกนอกลู่นอกทาง หรือไปกระทำผิดกฎหมายได้ ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ รวมทั้งพี่น้องชนเผ่าจะต้องร่วมกันผลักดันเพื่อให้แก้ปัญหาสถานะบุคคลให้ได้" นายมานะกล่าว

นายศักดา แสนมี่ ผู้อำนวยการสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย(IMPECT) ซึ่งเป็นคณะทำงานติดตามนโยบายรัฐกับการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลบนพื้นที่สูง กล่าวว่า นโยบายด้านสิทธิชนเผ่าที่ผ่านมา รัฐเป็นผู้กำหนดเองหมด ซึ่งขาดกลไกในการปฏิบัติ ทำได้ไม่ทั่วถึง และมีปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่บรรลุผล อีกทั้งมีการเลือกปฏิบัติ มีการข่มขู่คุกคามพี่น้องชนเผ่าอย่างต่อเนื่อง

"ดังนั้น แนวทางแก้ไข รัฐจะต้องมีความชัดเจนในระเบียบนโยบายสิทธิชนเผ่า ต้องให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าหน่วยงานภาครัฐและเอกชน นักวิชาการ ชาวบ้าน รวมทั้งสื่อมวลชนเข้าไปมีส่วนร่วมและตรวจสอบกระบวนการทำงานทุกขั้นตอน อีกทั้งจะต้องให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้มากขึ้น และที่สำคัญรัฐจะต้องรับฟังเสียงของพี่น้องชนเผ่าที่ได้รับผลกระทบโดยตรงว่า มีความเดือดร้อนและต้องการให้แก้ไขปัญหาได้อย่างไร" นายศักดา กล่าว

ด้าน นายประยงค์ ดอกลำใย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.) กล่าวว่า การที่จะแก้ปัญหาในเรื่องสถานะบุคคลและสิทธิชนเผ่าได้นั้น จะต้องมีการส่งเสริมสิทธิทั้ง 5 เรื่องด้วยกัน คือ สิทธิในความเป็นคน สิทธิในความเป็นพลเมืองไทย สิทธิทางด้านประเพณี วัฒนธรรม ภาษา สิทธิในเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน และสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

"แต่ทุกวันนี้ พี่น้องชนเผ่าส่วนใหญ่ยังคงถูกจำกัดสิทธิ ไม่ได้รับสิทธิที่กล่าวมาอย่างแท้จริง แม้คนที่มีสัญชาติไทยแล้ว ก็ยังไม่ได้รับสิทธิในเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินกันเลย และยังคงเป็นปัญหากันอยู่ในขณะนี้ ดังนั้น หากรัฐต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะต้องคำนึงถึงสิทธิทั้งหมดด้วย เพราะมิเช่นนั้น เชื่อว่าการแก้ปัญหาของสิทธิชนเผ่าก็คงไม่เป็นผลสำเร็จ" นายประยงค์ กล่าว

ในขณะที่ นายลือชัย เจริญทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายกลุ่มชนกลุ่มน้อยและสัญชาติ สำนักทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ยอมรับว่ายังมีปัญหาอยู่และจะทำอย่างไร ถึงจะทำให้พี่น้องบนพื้นที่สูงได้รับการแก้ไขเยียวยา และจะต้องแก้ปัญหาโดยองค์รวม ไม่ใช่เพียงแค่สิทธิบุคคล และต้องมีการปรับตัวบทกฎหมายในบางมาตราซึ่งมีความหมักหมมมานานแล้ว ซึ่งเป็นการวางกรอบที่กว้างเกินไป

"โดยเฉพาะ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 (แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 มาตรา 7 ทวิ วรรค 3 ที่ให้ถือว่าผู้ที่เกิดในประเทศไทย มีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้สัญชาติไทยนั้น ก็ยังไม่ได้มีการแก้ไข ทำให้เด็กกลายเป็นคนต่างด้าว ซึ่งตนก็ไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรถึงจะให้เด็กที่เกิดในไทยได้รับสัญชาติไทย ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโดยนำยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคลมาแก้ปัญหา" นายลือชัย กล่าว

ผู้แทนกรมการปกครอง กล่าวอีกว่า นโยบายรัฐที่จะต้องทำในขณะนี้ ก็คือการแปลงยุทธศาสตร์ให้เป็นแนวทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยต้องมีการสำรวจสถานะบุคคลกันใหม่ และต้องเร่งรัดดำเนินการ ให้เป็นรูปธรรมตามเป้าที่วางไว้ภายใน 2 ปี ซึ่งขณะนี้มีคำร้องที่ส่งถึงกรมการปกครองกว่า 3 หมื่นคำร้อง และยังนอนกองอยู่ที่ จังหวัดและอำเภออีกกว่า 3 หมื่นคำร้อง และที่ยังไม่ได้ยื่นคำร้องอีกจำนวนมาก โดยรัฐบาลมีนโยบายให้มีการจัดตั้งสำนักงานในพื้นที่ที่มีกลุ่มเป้าหมาย และจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้ามารับผิดชอบหน้าที่โดยตรงประมาณ 600 กว่าคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net