Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 30 มิ.ย.48 กรีนพีซ ขาประจำด้านสิ่งแวดล้อมเปิดโปงอีกรอบ พบสารดื้อยาปฏิชีวนะ
" เตตร้าไซคลิน" ในมะละกอจีเอ็มโอที่ยังแพร่ระบาดอยู่ขณะนี้ สหพันธ์ผู้บริโภคสุดเซ็งโดนละเมิดสิทธิแยกแยะจีเอ็มโอไม่ออก เรียกร้องกรมวิชาการเปิดข้อมูลทดลอง เร่งจำกัดการแพร่ระบาด

ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ เจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถลงข่าวครั้งที่ 2 ในรอบ 2 เดือนว่า ได้ส่งตัวอย่างเมล็ดพันธุ์มะละกอแขกดำท่าพระ ที่กรีนพีซซื้อจากสถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่น เมื่อเดือนก.ค.47 ไปตรวจยังห้องปฏิบัติการจีนสแกนอีกครั้ง พบยีนต้านทานยาเตตราซัยคลินในเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอดังกล่าว ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะแก้อักเสบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการแพทย์ทั่วโลก ซึ่งหากกินอาหารที่มียีนต้านทานยาตัวนี้เข้าไปอาจก่อให้เกิดการดื้อยานั้นได้

ยีนต้านทานยาปฏิชีวนะเตตราซัยคลิน เป็นยีนเครื่องหมายที่ใช้ในกระบวนการดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ซึ่งตามข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์ของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ที่ทำการศึกษาด้านนี้โดยตรงก็ระบุว่า แม้มีความเป็นไปได้ต่ำในการเคลื่อนย้ายยีนต้านทานยาปฏิชีวนะจากอาหารจีเอ็มโอไปยังเซลล์ในร่างกายมนุษย์ อันจะก่อให้เกิดการดื้อยา แต่ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)ก็สนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ต้องอาศัยยีนประเภทนี้ (ข้อ5. http://www.biotec.or.th/web/db/attach/rad28D5E.pdf)

ภัสน์วจีระบุด้วยว่า มะละกอจีเอ็มโอที่กำลังแพร่ระบาดไปยังหลายจังหวัด โดยที่กรมวิชาการเกษตรไม่ได้สนใจควบคุมและทำลายอย่างจริงจังขณะนี้ จะนำไปสู่ผลกระทบด้านการส่งออกมะละกอแปรรูป เช่น ฟรุตสลัด ที่ส่งไปยังสหภาพยุโรป(อียู) เพราะอียูได้ออกกฎปฏิเสธพืชจีเอ็มโอที่ใช้ยีนตัวนี้โดยสิ้นเชิง ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.47

"แม้เราจะออกมาเปิดโปงการพบจีเอ็มโอที่ระยองและกำแพงเพชรแล้ว แต่จากการสอบถามเกษตรกรที่นั่นก็พบว่ากรมวิชาการเกษตรไม่ได้ไปติดตามทำลายแต่อย่างใด โดยอ้างว่าไม่มีงบประมาณและกำลังคนตลอดมา" เจ้าหน้าที่กรีนพีซกล่าว

ด้านสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์ผู้บริโภคกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงปรากฏการณ์ที่ออกมาเปิดโปงกันเป็นครั้งๆ แต่เป็นปัญหาในเชิงนโยบาย ที่ผู้บริโภคถูกคุกคามโดยไม่รู้ตัว เพราะถูกละเมิดสิทธิในการรับรู้ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่ต้องรู้ว่าเรากินอะไรเข้าไป เช่นเดียวกับสิทธิด้านความปลอดภัยที่ไม่ได้รับการคุ้มครองที่เพียงพอ รวมถึงสิทธิในการเลือก เพราะผู้บริโภคไม่อาจรู้ความแตกต่างระหว่างมะละกอธรรมดากับมะละกอจีเอ็มโอได้ โดยเรียกร้องให้กรมวิชาการเกษตรเปิดเผยข้อมูลการทดลองทั้งหมดและเร่งกำจัดการแพร่กระจาย

ทั้งนี้ ภัสน์วจีได้เพิ่มเติมตัวอย่างมาตรฐานสิทธิในการรับรู้ข้อมูลของผู้บริโภคในประเทศเยอรมนี โดยศาลปกครองเพิ่งตัดสินให้บริษัทมอนซานโต้ ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกในการผลิตและค้าพืชจีเอ็มโอ ต้องเปิดเผยข้อมูลความผิดปกติในการทดลองข้าวโพด MON 863 ต้านทานหนอนเจาะราก กับหนูทดลองต่อสาธารณชน เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา (อ่านเพิ่มใน สิทธิผู้บริโภคเหนือสิ่งอื่นใด : คดีตัว อย่างรัฐบาลเยอรมนี VS มอนซานโต )

ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะมีการประชุมเรื่องการค้นพบมะละกอจีเอ็มโอเพิ่มเติมในวันที่ 5 ก.ค.นี้ว่าจะลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าวหรือไม่

ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ และคณะกรรมการตรวจสอบสิทธิ บัตรมะละกอจีเอ็มโอของสหรัฐ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เคยตั้งขึ้นหลังเกิดกระแสข่าวมะละกอจีเอ็มโอแพร่ระบาด เมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้วนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการประชุมแต่อย่างใด

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (ไบโอไทย) หนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบฯ ระบุว่า แม้จะทำการยื่นหนังสือครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อกระตุ้นเรื่องนี้แต่ก็ไม่มีผลคืบหน้าจากกรมวิชาการเกษตรแต่อย่างใด ดังนั้น ทางองค์กรพัฒนาเอกชนที่ติดตามเรื่องดังกล่าวจะหารือกันเพื่อฟ้องกรมวิชาการเกษตรต่อศาลปกครองภายใน 1 เดือนนี้ ฐานที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอ

อ่านอันตรายจากการดื้อยา http://www.school.net.th/library/create-web/10000/science/10000-3133.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net