Skip to main content
sharethis

ประชาไท: มองอย่างไรกับการจัดงานประชุมถ่านหินโลกครั้งนี้
วนิดา: มันก็แค่เป็นการเอาบริษัทธุรกิจที่เกี่ยวกับการค้าถ่านหินในระดับโลก มาสังสรรค์กันเฉยๆ มาคุยกัน มาตกลงธุรกิจการค้า ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.เป็นเจ้าภาพ ก็เพราะอยากพัฒนาตัวเองให้เป็นเจ้าพ่อพลังงานของอาเซียน แล้วก็คิดว่าจะทำธุรกิจที่เกี่ยวกับถ่านหิน ทั้งๆ ที่ถ่านหินนั้นถูกต่อต้านจากทั่วโลก แต่ว่าเอเชียส่วนใหญ่ คนยังไม่ค่อยรู้ ดังนั้นจึงมีการพยายามมาขายแถวนี้

แล้วที่ผู้จัดงานบอกว่า ถ่านหินคือ พลังงานสะอาด?
เขาต้องการบิดเบือน เขาต้องการพานักวิจัย ซึ่งเป็นนักวิจัยที่ถูกตั้งมาพูดว่า ถ่านหินของเขานั้นสะอาดอย่างไร ถ้าเป็นเช่นนั้น คุณก็ต้องแก้ปัญหาที่แม่เมาะก่อน นี่ก็จะไปเปิดเหมืองที่เวียงแหง ไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่โน่นที่นั่น เป็นการปูกระแสเพื่อจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในเมืองไทย และเทคโนโลยีที่ผลิตขึ้นมาใหม่ก็ผลิตแบบ 2 ทาง ใช้ก๊าซก็ได้ ใช้ถ่านหินก็ได้ ใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นก็ได้ แล้วเราจะไว้ใจได้อย่างไรว่า ถ้าปล่อยให้คุณสร้างโรงไฟฟ้าแล้ว เราจะเข้าไปตรวจสอบการใช้เชื้อเพลิงได้

คุณคิดว่าการดำเนินงานโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ไม่โปร่งใส?
ไม่โปร่งใส...เพราะว่า วิธีการทางด้านพลังงานของ กฟผ.นั้นมันหมกเม็ดมาโดยตลอด ไม่เคยโปร่งใส และปัญหาเก่าๆ ก็ไม่เคยแก้ไข ไม่ว่าปัญหาเขื่อนปากมูน ปัญหาเขื่อนสิรินธร ปัญหาแม่เมาะ นี่ล่าสุด มีมติ ครม. ที่จะย้ายอพยพหมู่บ้าน 4 หมู่บ้านในเขตพื้นที่ อ.แม่เมาะ ก็เพราะมีแผนจะผลิตพลังงานเพิ่ม จะขุดเหมืองถ่านหินเพิ่ม ตอนแรกตกลงกันว่า จะขยายไม่กี่ไร่ มาตอนนี้จะขยายไปอีก 2 หมื่นไร่ แล้วชาวบ้านจะอยู่ยังไง เพราะตอนนี้ คนแม่เมาะต้องตายไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว

แต่ กฟผ. ก็ให้เหตุผลว่า เพราะพลังงานสำรองเหลือน้อย จำเป็นต้องขยาย?
มันมีพออยู่แล้ว พลังงานเชื้อเพลิงขณะนี้ มีอยู่ประมาณ 8,000-9,000 เมกกะวัตต์ แม้ตอนนี้ ถ้าคุณปิดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 10 โรง ยังไม่กระเทือนต่อการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศเลย เพราะฉะนั้น ถือว่า กฟผ. กำลังหากินบนความไม่รู้ของคน เพียงแต่ กฟผ.เที่ยวประกาศว่า พลังงานสำรองจะหมด เชื้อเพลิงจะหมด แล้วก็สามารถที่จะไปสร้างโรงไฟฟ้าที่ไหนก็ได้ สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คน และยังไม่มีองค์กรอิสระใดๆ เข้าไปตรวจสอบ กฟผ.ว่า แผนการพัฒนาพลังงานนั้นเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่มีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมมาก และที่สำคัญ ค่าใช้จ่ายของ กฟผ.ได้กลายเป็นหนี้ของประเทศชาติ ตอนนี้ กฟผ.เป็นหนี้หลายแสนล้านบาท ซึ่งคนไทยทั้งหมดเป็นคนแบกรับภาระ ไม่ใช่ กฟผ.เป็นคนแบกรับภาระ

รัฐบาลบอกว่า จะให้เอกชนเป็นคนสร้าง ?
ก็เหมือนกันนั่นแหละ เพราะว่า กฟผ.เป็นผู้หนุนอยู่เบื้องหลัง และทุกคนก็ต้องขายไฟให้แก่ กฟผ. เพราะ กฟผ. ไปทำสัญญากับเอกชน ว่าผลิตขึ้นมาเถอะ ฉันซื้อเอง แล้วสัญญาของ กฟผ. ระบุว่า เอกชนสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมา กฟผ.จะเป็นคนจ่ายให้ ในอนาคต แล้วใครเป็นผู้จ่ายอย่างแท้จริง ก็พวกเรา ผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมดทั่วประเทศนั่นแหละ ที่จะต้องจ่าย มีการเพิ่มค่าภาษีต่างๆ เพราะฉะนั้น ตราบใดที่องค์กร กฟผ. ยังไม่มีความโปร่งใสกันอยู่ ไม่สามารถตรวจสอบโดยองค์กรอิสระได้ในเรื่องแผนพัฒนาพลังงานทั้งหมด ก็จะทำให้คนไม่ไว้ใจ คุณจะไปทำไปสร้างที่ไหน ย่อมถูกต่อต้าน เพราะคุณทำให้ประชาชนไม่ไว้ใจ

ภาคประชาชนควรทำอย่างไร ถึงจะสื่อให้ กฟผ.เข้าใจในเรื่องนี้?
ก็ต้องกดดันสิ เพราะคุยกับเขาแล้ว ไม่ยอมรับฟัง ขนาด นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช รมว.พลังงาน ยังมีรายชื่อมางานถ่านหินโลกมาได้ยังไง นี่เป็นเรื่องธุรกิจการค้าขายถ่านหิน นี่ก็เท่ากับว่าคุณสนับสนุน หรือว่าเป็นเอเย่นต์ เป็นนายหน้าหรือไม่ รัฐมนตรีซึ่งมาจาก ส.ส. มาจากเสียงของพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นคนจ่ายภาษี แล้วคุณจะมาเป็นเอเย่นต์ เป็นนายหน้าให้กับพวกพ่อค้าธุรกิจได้อย่างไร และพลังงานทางเลือก คุณได้แต่พูด แต่ไม่ส่งเสริม ที่ผ่านมา มีการมอบงบประมาณให้แก่ กฟผ. พัฒนาพลังงานทางเลือก แท้จริง เพียงเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net