Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวบ่อยครั้งขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมา ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวที่ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย

อย่างคลื่นยักษ์สึนามิ(Tsunami) ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว และสร้างความเสียหายอย่างไม่อาจประเมินมูลค่าได้ พื้นที่ภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ และ น่าน ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งตั้งอยู่บนรอยแตกของเปลือกโลก

โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย มีข้อกำหนดให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างบางประเภทต้องมีการคำนวณออกแบบโครงสร้างให้สามารถป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้น

นายสมิทธ ธรรมสโรช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาผู้เคยออกมาเตือนเรื่องการเกิดคลื่นซึนามิที่ภูเก็ตเมื่อหลายปีก่อน ก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้นจริงเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 กล่าวไว้เมื่อครั้งบรรยายพิเศษในการสัมมนาเรื่องแผ่นดินไหวซึ่งจัดโดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า

แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติอย่างเดียวที่ไม่สามารถทำนายการเกิดล่วงหน้าได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
ประเทศไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยเฉพาะใน 8 จังหวัดภาคเหนือ

หากดูจากประวัติศาสตร์ที่มีการรวบรวมไว้ จะพบว่ามีการเขียนไว้อย่างชัดเจนถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เช่น พ.ศ.1003 เกิดแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรงประมาณ 6.7 ริคเตอร์ ทำให้โยนกนครยุบจมดินเกิดเป็นหนองน้ำใหญ่ คือ กว๊านพะเยา เป็นต้น

ในประเทศไทยมีรอยเลื่อนมีพลัง(Active fault) อยู่ 9 รอยเลื่อน ได้แก่ รอยเลื่อนเชียงแสน แพร่ แม่ทา เถิน เมย-อุทัยธานี ศรีสวัสดิ์ เจดีย์สามองค์ ระนอง และ คลองมะรุ่ย โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำระนองเกิดแผ่นดินยุบเป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร รอยเลื่อนเหล่านี้เป็นรอยเลื่อนย่อยที่มีรอยต่อแยกมาจากรอยเลื่อนสำคัญด้านประเทศพม่า

โดยนายสมิทธได้ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศจีน เมื่อจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ใกล้เขื่อน จะส่งผลให้เขื่อนร้าวหรือแตก และน้ำจากเขื่อนเข้าท่วมบ้านเรือน ซึ่งเขื่อนที่สร้างขึ้นในประเทศไทยไม่ได้คำนึงถึงโครงสร้างที่สามารถรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้เลย เป็นที่น่าหวั่นเกรงว่าหากเกิดแผ่นดินไหวตามช่วงรอยเลื่อนสำคัญในแถบพม่า อาจเกิดผลกระทบอย่างมากต่อจังหวัดทางภาคเหนือ

ดร.อดิชาติ สุรินทร์คำ ผู้อำนวยการกองธรณีเทคนิค กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าสิ่งที่กรมทรัพยากรธรณีพยายามมาตลอดคือการทำให้ประชาชนทราบว่าเราไม่สามารถยับยั้งภัยธรรมชาติได้ และต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน

จากสถิติแผ่นดินไหวที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยระหว่างปี 2545 - ปัจจุบัน พบว่ามีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ใน 8 จังหวัดภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ กรมทรัพยากรธรณีจึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาแนวรอยเลื่อนในประเทศไทย

โดยเน้นพื้นที่ภาคเหนือก่อนเป็นอันดับแรกแผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน อันเนื่องมาจากการปลดปล่อยพลังงานเพื่อระบายความเครียดที่สะสมไว้ภายในโลกออกมาอย่างฉับพลันเพื่อปรับสมดุลของเปลือกโลกให้คงที่

ส่วนสาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวนั้นแบ่งได้ 2 ชนิด ชนิดที่หนึ่ง เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ได้แก่ การทดลองระเบิดปรมาณู การกักเก็บน้ำในเขื่อนและแรงระเบิดของการทำเหมืองแร่ เป็นต้น

ชนิดที่สองเป็นแผ่นดินไหวจากธรรมชาติ ซึ่งมีทฤษฎีกลไกการเกิดแผ่นดินไหวอันเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบัน 2 ทฤษฎี คือ 1. ทฤษฎีว่าด้วยการขยายตัวของเปลือกโลก (Dilation source theory) 2.
ทฤษฎีว่าด้วยการคืนตัวของวัตถุ (Elastic rebound theory)

จากตอนหนึ่งของบทความเรื่อง "แผ่นดินไหวในประเทศไทย - สภาพการณ์และมาตรการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน" ศาสตราจารย์ ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ แห่งศูนย์เชี่ยวชาญฯวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย กล่าวถึงความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีต่ออาคารสิ่งปลูกสร้างในประเทศไทย ว่าขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการ กล่าวคือ

แผ่นดินไหวมีขนาดใหญ่เพียงไร มีส่วนประกอบความถี่อย่างไร สั่นไหวนานเพียงไร จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่ระดับลึกเพียงไร ฯลฯ และที่สำคัญคืออาคารได้รับการออกแบบและก่อสร้างด้วยมาตรฐานอย่างไร ที่แน่นอนที่สุดคืออาคารที่ออกแบบและก่อสร้างโดยไม่ได้มาตรฐานที่ดีพอ มี
โอกาสที่จะเสียหายหรือพังทลายได้ หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลางประมาณ 5.5 ริคเตอร์ขึ้นไป ใกล้กับที่ตั้งอาคาร ซึ่งแผ่นดินไหวระดับนี้ก็เคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย

อย่างไรก็ตามมักมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเสมอว่าแผ่นดินไหวจะมีผลต่ออาคารสูงมากกว่าอาคารเตี้ย อาคารที่สูงไม่มากนักในประเทศไทย เช่น อาคารชุดที่สูงกว่าตึกแถวแต่ก่อสร้างด้วยมาตรฐานตึกแถว เป็นอาคารประเภทที่มีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากมาตรฐานการก่อสร้างมักจะต่ำ อีกทั้งยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดการสั่นพ้อง(Resonance) หากคาบการสั่นไหวที่สำคัญของพื้นดินใกล้เคียงกับคาบการสั่นไหวธรรมชาติของอาคาร

สำหรับอาคารสูงซึ่งได้รับการออกแบบต้านแรงลมตามกฎกระทรวงนั้น โดยทั่วไปจะมีความต้านทานภัยจากแผ่นดินไหวได้ในระดับหนึ่ง โดยยังไม่พังทลายแต่ก็เกิดความเสียหายกับโครงสร้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างข้างต้น

เป็นที่ทราบกันดีว่าหลายปีที่ผ่านมามีการก่อสร้างอาคารในอัตราที่เร่งด่วน ตึกสูงจำนวนไม่น้อยได้รับการออกแบบในเวลาสั้นมาก ขาดการตรวจสอบที่พอเพียง ทำให้ได้อาคารที่ด้อยคุณภาพ ซึ่งมีโอกาสเกิดความเสียหายหากเกิดแผ่นดินไหวที่ไม่รุนแรงมากนัก กระทั่งพังลงมาโดยไม่ต้องมีภัยธรรมชาติ เช่น โรงแรมรอยัลพลาซ่าที่โคราชเมื่อปี 2536 เป็นต้น

ในการออกแบบอาคารรับแรงจากน้ำหนักบรรทุกสถิตรวมทั้งแรงลม วิศวกรสามารถออกแบบองค์อาคารให้มีกำลังเพียงพอกับแรงที่เกิดขึ้นได้ง่ายโดยใช้ความรู้พื้นฐานต่าง ๆ และมักไม่ต้องคำนึงถึงความสามารถในการเสียรูป (deformability) เมื่อรับแรงเลยจุดค่าสูงสุดแล้ว แตกต่างกับการออกแบบอาคารรับผลของแผ่นดินไหว

หากวิศวกรคำนวณแรงตามข้อบัญญัติอาคารที่เกี่ยวข้องอย่างเดียวโดยไม่มีความเข้าใจพฤติกรรมของอาคารโดยรวม และไม่ดำเนินการออกแบบรายละเอียดให้มีความเหนียวเพียงพอแล้ว ก็จะไม่สามารถได้อาคารที่ทนต่อการโยกจากแผ่นดินไหวได้

ทั้งนี้เพราะแรงที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวที่ใช้ออกแบบอาคารทั่วไปตามบทบัญญัติต่าง ๆ เช่น กฎกระทรวงฉบับที่ 49 นั้น มักเป็นแรงที่ลดทอนลงมาก เหตุผลคือบทบัญญัติเหล่านั้นสร้างขึ้นด้วยปรัชญาพื้นฐานว่า ภายใต้แผ่นดินไหวขนาดเล็กจะต้องไม่เกิดความเสียหายแก่ส่วนหนึ่งส่วนใดของตัวอาคาร ภายใต้แผ่นดินไหวขนาดปานกลางจะต้องไม่เกิดความเสียหายแก่ส่วนของโครงสร้างที่รับแรง และภายใต้แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ อาคารอาจเกิดความเสียหายแก่ส่วนของโครงสร้างรับแรงได้
แต่ต้องไม่พังถล่มลงมาเพื่อความปลอดภัยแก่ชีวิตผู้อยู่อาศัย ปรัชญาการออกแบบดังกล่าวนำไปสู่สมมติฐานแฝงที่ว่า โครงสร้างจะต้องได้รับการออกแบบให้มีความเหนียวดีพอ ซึ่งทำให้อาคารนั้นสามารถทนต่อการสั่นไหวจนถึงขั้นเกิดการแตกร้าวขององค์อาคารได้พอสมควรโดยยังคงกำลังส่วนใหญ่ไว้ได้

เมื่อโครงสร้างเกิดการแตกร้าวแล้ว โครงสร้างจะอ่อนลง และมีคาบการสั่นไหวยาวขึ้น ส่งผลให้เกิดแรงเหนี่ยวนำในโครงสร้างจากแผ่นดินไหวลดลงดร.เสถียร เจริญเหรียญ จากกองควบคุมอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่าการใช้มาตรการทางกฎหมายบังคับให้วิศวกรออกแบบและคำนวณอาคารให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหว

ถือได้ว่าเป็นมาตรการสำคัญที่มีผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยจากแผ่นดินไหวโดยตรง ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายลักษณะดังกล่าวแล้ว คือกฎกระทรวงฉบับที่ 49 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2540

ขณะนั้นเป็นเวลาที่ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจ เป็นเหตุให้อุตสาหกรรมก่อสร้างและวงการอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง การก่อสร้างอาคารที่บังคับตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวมีจำนวนน้อยมาก แต่ในปัจจุบันเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการก่อสร้างในประเทศมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง มีโครงการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่หรืออาคารที่บังคับตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น

ประกอบกับผลการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับแผ่นดินไหวแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบและมีความเสี่ยงภัยต่อแผ่นดินไหวสูงกว่าที่ได้ศึกษามาในอดีตมาก ทำให้นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆให้ความสำคัญกับกฎกระทรวงฉบับที่ 49 เป็นอย่างมาก

ตลอดจนมีการเสนอให้แก้ไขกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้นโดยเนื้อหาของกฎกระทรวงฉบับที่ 49 แบ่งออกได้เป็น 4 ส่วน คือ1. พื้นที่บังคับ ได้แก่ ท้องที่จังหวัดในภาคเหนือ 9 จังหวัด (เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และ ลำพูน) และจังหวัดในภาคตะวันตก 1 จังหวัด (กาญจนบุรี)

2. ประเภทของอาคารที่บังคับ ได้แก่ (ก) อาคารสาธารณะ อาคารชุมนุมชน เช่น โรงมหรสพ โรงแรม หอประชุม หอสมุด เป็นต้น (ข) อาคารที่จำเป็นต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น โรงพยาบาล ท่าอากาศยาน เป็นต้น (ค) อาคารที่อาจก้อให้เกิดอันตราย เช่น อาคารเก็บวัตถุระเบิด เป็นต้น (ง) อาคารอื่นที่สูงเกิน 15 เมตร

3. ข้อควรคำนึงในการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหว ได้แก่ การจัดรูปทรงอาคารให้มีเสถียร
ภาพต่อการสั่นไหว การให้รายละเอียดบริเวณรอยต่อและการจัดระบบโครงสร้างให้มีความเหนียว และการออกแบบองค์อาคารให้พิจารณาผลจากแผ่นดินไหวและผลจากแรงลม โดยใช้ค่าที่มากกว่า

4. การคำนวณแรงแผ่นดินไหวแยกออกตามลักษณะอาคารเป็น 2 กรณี ดังนี้ (ก) อาคารที่มีลักษณะเป็นตึก บ้าน เรือน โรง หรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่คล้ายคลึงกัน การคำนวณให้ใช้วิธีตามที่ระบุในกฎกระทรวงหรือวิธีอื่น ซึ่งสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย หรือส่วนราชการ หรือนิติบุคคล
(วุฒิวิศวกร สาขาวิศวกรรมโยธา) ให้การรับรอง (ข) อาคารอื่นหรืออาคารที่มีรูปทรงไม่สม่ำเสมอ
การคำนวณให้ใช้วิธีการคำนวณเชิงจลศาสตร์(Structural Dynamic) และผู้คำนวณออกแบบต้องได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตั้งแต่ระดับสามัญวิศวกรขึ้นไป.


ฉัตรชัย ชัยนนถี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net