พลังงานทางเลือกฝ่าวิกฤตน้ำมันแพง

ขณะที่เราเผชิญกับปัญหาวิกฤตพลังงานอยู่นี้    เราคิดถึงแต่มาตรการประหยัดพลังงานเพียงด้านเดียว    แต่ไม่ได้มองปัญหาที่กว้างและลึกกว่าเรื่องสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยเผชิญกับปัญหาการจัดการด้านพลังงาน   ที่ถูกทำให้เป็นเรื่องไกลตัวมาโดยตลอด ไม่มีใครสนใจเรื่องสัญญา Take or Pay   หรือไม่ซื้อก็ต้องจ่าย   ไม่มีใครสนใจการคำนวณตัวเลขความต้องการใช้พลังงานที่ผิดพลาดทำให้ประเทศต้องสูญเสียค่าใช้จ่าย รวมถึงการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มโดยไม่จำเป็น

 

นอกจากนี้การเสนอเรื่องพลังงานทางเลือกยิ่งไกลออกไปอีกหลายเท่า เพราะไม่เคยมีสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่าภาครัฐให้ความสนใจอย่างจริงจังกับเรื่องดังกล่าว

 

ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ทางเครือข่ายสิ่งแวดล้อมปี 2548 และเครือข่ายพลังงานยั่งยืนประเทศไทย จึงได้จัดเสวนาวิชาการในหัวข้อ "พลังงานทางเลือก : ทางรอดของสังคมไทย" ขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อร่วมกันถกเถียงถึงวิกฤตพลังงานที่เป็นอยู่และยกประเด็นเรื่องพลังงานทางเลือกมาพูดคุยกันอีกครั้ง

 

แก้ปัญหาให้สอดคล้องความเป็นจริง

 

มองจากสถานการณ์ด้านพลังงานที่สังคมไทยกำลังเผชิญขณะนี้ มล.อภิมงคล โสณกุล กรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร วิเคราะห์ว่า มาตรการตรึงราคาน้ำมัน ก่อให้เกิดการปิดบังสถานการณ์น้ำมัน ทำให้ประชาชนไม่ปรับพฤติกรรมการใช้น้ำมัน ขณะที่ประเทศไทยเผชิญกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด รัฐบาลกลับตั้งสมมติฐานรายจ่ายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

 

ทางออกของวิกฤตการณ์ครั้งนี้ มล.อภิมงคล เสนอว่ารัฐบาลจำเป็นต้องลอยตัวน้ำมันเต็มรูปแบบ เพื่อสะท้อนราคาที่แท้จริงตามตลาดโลก สำหรับการตรึงราคาหรือมาตรการช่วยเหลืออาจมุ่งไปที่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบมาก เช่น ผู้ประกอบอาชีพประมง ขณะเดียวกันก็ควรสร้างความชัดเจนเรื่องภาวะเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง ดังนั้นควรลดการนำเข้าน้ำมันและแสวงหาพลังงานทางเลือกอื่น

 

กรณีการสนับสนุนให้มีการใช้ก๊าซโซฮอล์นั้น ก็ต้องมีการศึกษาผลกระทบเชิงเปรียบเทียบกับการใช้พลังงานอื่น ราคาเอทานอลที่รับซื้อจากโรงงานก็ควรสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง  กรณีพลังงานทางเลือกต้องยอมรับว่าตัวเลขสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RPS)  ไม่มีการศึกษาอย่างจริงจัง เป็นตัวเลขที่มาจากอากาศ ไม่มีการศึกษาว่าเป้าหมายเหมาะสมหรือไม่ วิธีการเหมาะสมหรือไม่ ที่สำคัญต้องสะท้อนผ่านต้นทุนที่เป็นจริง

 

กรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร ยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะนำไปสู่การควบรวมและผูกขาด ควรให้มีการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้ามากกว่า

 

ด้าน วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตถึงศักยภาพของรัฐบาลในการจัดการปัญหาพลังงาน คือทำได้เพียงรณรงค์ให้ประหยัดพลังงานแต่ไปไม่ถึงประเด็นเชิงโครงสร้างหรือนโยบายระยะยาว  แนวทางที่รัฐบาลกำลังทำอยู่อาจผิดทิศทาง เป็นต้นว่าปล่อยให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)  ผูกขาดและสร้างผลกำไรมหาศาลในการซื้อขายแก๊สและขนส่งแก๊สในระบบท่อ ภายใต้สัญญาแบบ Take or Pay หรือที่เข้าใจกันว่า "ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย" เช่นกรณีที่ ปตท. ถึงกำหนดส่งแก๊ส แต่พบว่าโรงไฟฟ้ายังสร้างไม่เสร็จคือยังไม่พร้อมใช้แก๊สก็ต้องจ่าย ในทางกลับกันถ้า ปตท. ส่งแก๊สให้ กฟผ. ไม่ได้ตามกำหนด ปตท. ไม่ต้องรับผิดชอบ อย่างนี้เป็นต้น

 

วางแผนพลังงานพลาด ต้นทุนยิ่งเพิ่ม

 

วิฑูรย์ ยังมีความเห็นอีกว่า ปัญหาใหญ่ที่สำคัญอีกเรื่องคือ การคาดการณ์ความต้องการใช้พลังงานตามตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ซึ่งโดยปกติตัวเลข GDP อาจคาดการณ์ได้ในช่วง 2-3 ปี แต่กรณีการคิดเรื่องพลังงานใช้ระยะยาวนานถึง 15 ปี นั่นทำให้เกิดต้นทุนที่ไม่จำเป็นจากการคาดการณ์ที่ผิดพลาดตั้งแต่เริ่มทำสัญญา เนื่องจากมีการลงทุนต่อท่อส่งแก๊ส การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่งและพลังงานทำให้เกิดภาระพอกพูน

 

ดังจะพบว่าหากใช้ตัวเลข GDP ตามที่รัฐบาลคาดการณ์คือ 6.50 คำนวณจากปี 2547-2558 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) จะทำให้เกิดความสูญเสียมูลค่าถึง 488,260 ล้านบาท ซึ่งจะกลายเป็นภาระของระบบเศรษฐกิจ คือถูกรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าของประชาชน

 

ในภาวะเร่งด่วนนี้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ จึงได้เรียกร้องให้มีการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าใหม่โดยทันที เริ่มจากการใช้ตัวเลข GDP  ที่เป็นจริง   ต้องมีการปรับแผน PDP ใหม่โดยบรรจุเรื่องพลังงานทางเลือกเข้าไว้ในแผนด้วย เพราะแผนเดิมที่ใช้อยู่มีการเตรียมลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม โดยร่วมทุนกับ กฟผ. และทำสัญญาซื้อแก๊สกับ ปตท. รวมถึงข่าวที่ว่าจะมีการทำสัญญาซื้อแก๊สเหลวจากออสเตรเลียซึ่งเป็นสัญญา Take or Pay ทั้งสิ้น

 

ดังนั้น สิ่งที่ควรทำขณะนี้คือชะลอการทำสัญญาทุกอย่างที่มีผลผูกมัดต่อรัฐบาล ที่ผ่านมามีบทเรียนจากหลายกรณี เช่น สัญญาโรงไฟฟ้าบ่อนอก ที่พบว่ามีการเซ็นสัญญาหลังเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะขาลงอย่างชัดเจน แต่รัฐบาลเวลานี้กำลังจะทำผิดซ้ำสอง โดยการยื้อตัวเลข GDP เพื่อรอการแปรรูป กฟผ. ทั้งที่รู้อยู่ว่าจะทำให้เกิดภาระเพิ่มต่อประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ต้องกลับมาตั้งคำถามว่า กระบวนการดังกล่าวมีผลประโยชน์ใดอยู่เบื้องหลังบ้าง

 

สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อภาวะที่เกิดขึ้นคือ การขาดกลไกอิสระในการเข้าไปตรวจสอบ ทั้งเรื่องซื้อขายแก๊สและโรงไฟฟ้าทั้งระบบ โดยเฉพาะที่มีการผูกขาดอยู่ในขณะนี้ ดังนั้นจำเป็นต้องระงับการแปรรูปตราบใดที่องค์กรกำกับยังไม่เกิด

 

พลังงานทางเลือกไม่ถูกพัฒนา

 

นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดชรัต สุขกำเนิด มีความเห็นว่า การวางแผนพลังงานจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น ดังจะพบว่าแผน PDP ที่ กฟผ. ทำขึ้นนอกจากมีปัญหาเรื่องการพยากรณ์แล้ว ยังมีเรื่องการคาดการณ์ราคาน้ำมันที่ไม่สะท้อนราคาก๊าซธรรมชาติที่แท้จริง เพราะราคาก๊าซสูงกว่าการพยากรณ์ กรณีที่การคาดการณ์ไม่เป็นไปตามแผนนั่นหมายถึงค่าเอฟทีที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งกลายเป็นภาระของประชาชน

 

ที่ผ่านมา รัฐบาลมีเป้าหมายให้แผนพลังงาน สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันพบว่าแผนพลังงานสูงกว่าการเติบโตถึงร้อยละ 10 ขณะที่เป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 8 แต่ทำได้เพียงร้อยละ 1.2 นั่นหมายความว่าทิศทางด้านพลังงานที่เป็นอยู่นอกจากจะไม่ตอบสนองความเป็นจริงทางเศรษฐกิจแล้วยังไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลเอง

 

เดชรัต เห็นว่าการพิจารณาเรื่องพลังงานทางเลือกยังค่อนข้างจำกัด ทั้งที่พลังงานทางเลือกครอบคลุมในหลายเรื่อง เช่น การไม่สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุน การปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต การปรับค่าพยากรณ์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง แผนที่ใช้อยู่เป็นที่สังเกตว่ากลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเป็นผู้กำหนดแผนเอง ย่อมไม่อิงกับผลประโยชน์ของประชาชนแต่ไปอิงกับการสร้างกำไรสูงสุดให้บริษัท

 

ในด้านการกำกับดูแลกลไกเชิงนโยบาย นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์เห็นว่าการกำกับดูแลขาดความแน่นอน กรณีกิจการพลังงานสิ่งที่รัฐบาลทำคือกำกับเรื่องไฟฟ้าแต่ไม่พิจารณาเรื่องก๊าซธรรมชาติ ตรงนี้ทำให้รัฐเข้าสู่กับดับเรื่องการนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ส่วนผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มขึ้น

สนทนา       ทัศนา

สำนักข่าวประชาธรรม

แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท