จีนไม่ได้หยวนเรื่องค่าเงินหยวน-บทวิเคราะห์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในที่สุดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา จีนก็ได้ประกาศปรับอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศให้แข็งค่าขึ้นอีก 2.1 % โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 8.11 หยวน ต่อ  1เหรียญสหรัฐฯ จากเดิม 8.28 หยวน นับเป็นการปรับค่าเงินครั้งแรกในรอบ 10 ปีหลังจากที่ถูกเรียกร้องและกดดันมาเป็นเวลานานจากสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น

 

ในการประกาศปรับค่าเงินหยวนของจีนในครั้งนี้ทำให้ หลายๆประเทศต่างถอนหายใจกันออกมาด้วยเสียงอันดัง คล้ายๆกับว่า ในที่สุดจีนก็ยอมแล้ว อย่างเช่น อลัน กรีนสแปนของสหรัฐฯ ก็ออกมาบอกว่า นี่ถือเป็นนิมิตหมายอันดี หรือว่าถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว

 

เป็นที่น่าสังเกตประการหนึ่งว่า  ในการประชุมรัฐมนตรีคลังเอเชีย-ยุโรป ที่ประเทศจีนเมื่อเดือนที่ผ่านมานั้น จีนยังเพิ่งประกาศว่าจีนจะปรับค่าเงินหยวนหรือไม่จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของจีนเอง และจะปรับตัวเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม  ซึ่งในตอนที่แถลงนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าส่งสัญญาณว่าการปรับค่าเงินจะเกิดขึ้นระยะเวลาอันใกล้

 

ทั้งนี้ ทางสหรัฐฯเข้ามากดดันนั้นให้จีนขึ้นค่าเงินหยวนมาตลอด โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากเงินจีนถูกทำให้สินค้าจีนมีราคาถูกและทำให้สหรัฐฯนั้นต้องเสียดุลการค้ากับจีนเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นก็ยังทำให้อุตสาหกรรมหลายๆอย่างของสหรัฐฯแข่งขันไม่ได้ทำให้คนในสหรัฐฯตกงานและเกิดภาวะเงินฝืด

 

ในขณะที่จีนนั้นก็บอกว่า ระบบการเงินของจีนนั้นไม่เข้มแข็งพอ สถาบันการเงินก็ยังมีปัญหาอยู่มาก หากจีนจะรีบลอยค่าเงินเกรงว่าจะเกิดปัญหาตามมาและไม่เฉพาะเศรษฐกิจของจีนแต่เป็นของเพื่อนบ้านด้วย และที่สำคัญจีนยังมั่นใจในวิธีการกำหนดค่าเงินและการบริหารจัดการเรื่องค่าเงินของจีนว่าจะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านโดยได้ยกตัวอย่าง ตอนที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ในเอเชีย จีนก็ไม่ได้ลดค่าเงินหยวน ที่ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคแย่ไปกว่าเดิม นอกจากนั้นจีนก็โต้ตอบสหรัฐฯว่า สินค้าจีนที่ส่งไปขายในสหรัฐฯก็ล้วนแล้วแต่เป็นสินค้าที่ลงทุนโดยนายทุนชาวอเมริกัน

 

แล้วในที่สุดจีนก็ประกาศปรับค่าเงินในที่สุด  การกระทำครั้งนี้หมายความจีนยอมประนีประนอมแล้วจริงหรือ?  จีนนั้นเองก็ระมัดระวังอย่างมากที่จะประกาศให้ประชาชนของตัวรู้ว่าการปรับตัวนี้ไม่ได้เกิดจากการกดดัน ทว่า เป็นเรื่องความเหมาะสม โดย นายจู เซียะฉวน ผู้ว่าการธนาคารชาติจีนแถลงสองวัน หลังจากการปรับค่าเงินหยวนว่า จีนได้ปรับค่าเงินหยวนไม่ใช่เป็นเพราะว่าแรงกดดันจากต่างประเทศแต่เป็นเพราะผลประโยชน์ระยะยาวของจีน

 

ถึงแม้ว่าสหรัฐฯหรือหลายๆ ประเทศยินดีที่จีนขึ้นค่าเงิน  กระนั้น ที่สุดแล้วในเบื้องแรกนี้ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนักทั้งต่อประเทศที่ค้าขายกับจีนและแข่งขันกับจีน  อย่างเช่นประเทศในกลุ่มอาเซียนซึ่งหวังว่าหากค่าเงินจีนแข็งขึ้นสินค้าส่งออกของประเทศตนเองอาจถูกลงจะทำให้มีโอกาสแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงก็ปรากฏว่าค่าเงินสกุลต่างๆของเอเชียก็แข็งค่าตามไปด้วย  หรือแม้แต่สหรัฐฯ เอง   การปรับค่าของเงินหยวนของจีนจะไม่มีผลต่อการลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ กระนั้นก็รู้สึกว่าอย่างน้อยจีนก็ได้เริ่มก้าวแรกของการประนีประนอมแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม จีนยังมีความระมัดระวังกับระบบการจัดการการเงินอยู่มาก ถึงแม้จะเป็นการประกาศลอยตัวแล้วก็จริงแต่จีนก็ยังเลือกใช้ระบบกึ่งตรึงราคา หรือเรียกว่าการลอยตัวแบบจัดการคือการกำหนดอัตราขึ้นลงต่อวันระหว่าง ฐานกับเพดานไม่ให้เกิน .3% ในแต่ละวันรวมทั้งผูกไว้กับระบบตะกร้าเงิน เพื่อให้ยังคงมีเสถียรภาพอยู่ และแน่นอนว่าจีนจะต้องระมัดระวังอย่างมากที่จะไม่ให้ค่าเงินของตนเองแข็งค่าขึ้นอีกในระยะเวลาที่รวดเร็วนัก

 

ดังนั้น การเลือกใช้เวลา ( timing) ในการปรับค่าเงินของจีนนั้นย่อมมีนัยสำคัญวัน เป็นความประจวบเหมาะที่เกิดขึ้นก่อนที่จีนจะเข้าร่วมประชุมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก(ARF)ที่ประเทศลาวในวันพฤหัสนี้ ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรี ต่างประเทศของประเทศคู่เจรจาของอาเซียน (Dialogue Partners) ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย จีน รัสเซีย และสหภาพยุโรป ผู้สังเกตการณ์ (Observers) ของอาเซียน  (ซึ่งในครั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯไม่ได้เข้าร่วม)  ก็จะเป็นโอกาสของจีนเช่นกันที่จะแสดงให้เห็นว่าได้กระทำการบางอย่างเพื่อประเทศเพื่อนบ้านในฐานะพี่ใหญ่ของภูมิภาคนี้แล้ว

 

แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือนี่คือจังหวะก้าวที่จีนเตรียมการก่อนที่ประธานาธิบดี หู จิ่นเทาจะไปเยือนสหรัฐฯในเดือนกันยายนนี้

 

ดังนั้น การขึ้นค่าเงินหยวนของจีนและวิธีเลือกระบบในการจัดการค่าเงินนั้นไม่ได้เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวแต่จริงๆแล้ว เป็นเรื่องทางการเมืองมากกว่าทั้งการเมืองในประเทศและระหว่างประเทศ ที่รัฐบาลให้คำตอบประชาชนว่า การปรับค่าเงินนั้นไม่ได้ทำตามที่ถูกสหรัฐฯและยุโรปกดดัน แต่เป็นการทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ ก็ทำให้ชาวจีนไม่รู้สึกเสียหน้ามากนักว่า จีนต้องยอมทำตามสหรัฐฯ และเป็นเสมือนใบเบิกทางที่จะทำให้การไปเยือนและการเจรจากับสหรัฐฯราบรื่นมากขึ้น เมื่อจีนได้แสดงให้สหรัฐฯได้เห็นแล้วว่าจีนได้ประนีประนอมและทำตามที่สหรัฐฯของร้องแล้ว นอกจากนั้นก็ยังได้คะแนนนิยมจากลุ่มอาเซียนที่เห็นว่า จะสามารถแข่งขันในตลาดโลกหรือแม้กระทั่งส่งสินค้าไปขายในจีนได้มากขึ้น ก็เป็นการทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกดีโดยที่จีนไม่ได้เสียผลประโยชน์ใดๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท