Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประชาไท  26  ก.ค.  48     "ตอนนี้ต้องพูดถึงพลังงานทางรอดไม่ใช่พลังงานทางเลือกแล้ว  โดยปัจจุบันวิกฤติการณ์ของพลังงานทางเลือกเกิดขึ้นเพราะไม่มีหลักธรรมาภิบาล  แม้ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะวางระบบไว้ดีที่สุดแล้ว  แต่ว่าภาคปฏิบัติก็ยังเป็นปัญหาเหมือนเดิม  อีกทั้งประชาชนก็ยังปฏิเสธพลังงานทางเลือกทั้งๆ ที่น่าจะเป็นทางเลือกที่อยู่รอด  นั่นเป็นเพราะวัฒนธรรมการใช้อำนาจที่ทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าต้องเป็นแบบเดิม  โกหกแบบเดิม  และเบี้ยวแบบเดิม"  นายไพโรจน์  พลเพชร  เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน  กล่าว


 


วันนี้  เครือข่ายสิ่งแวดล้อม"48  และเครือข่ายพลังงานยั่งยืนประเทศไทย  ได้จัดเสวนาหัวข้อ  "ธรรมาภิบาลกับพลังงานทางเลือก"  ที่คณะรัฐศาสตร์  จุฬาฯ  โดยหยิบยกปัญหาและข้อเสนอต่อการพัฒนาพลังงานทางเลือกในอนาคตซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้หลักธรรมาภิบาล  นั่นคือการมีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างโปร่งใสและยุติธรรมในทุกขั้นตอนการตัดสินใจ


 


ทั้งนี้  นายไพโรจน์  กล่าวอีกว่า  คนจะเข้ามามีส่วนร่วมและกำหนดชีวิตตนเองได้  จำเป็นต้องได้รับรู้ข่าวสารข้อมูล  แต่ที่ผ่านมาเขาได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดตั้งแต่ต้นและมารู้เอาภายหลัง  ทำให้ประชาชนต่างไม่ไว้วางใจ  เชื่อว่าเจ้าของโครงการแก้ไขปัญหาไม่ได้  และไม่เชื่อคำรับปากใดๆเพราะประสบการณ์ที่เขาเรียนรู้มาไม่เคยเป็นจริงสักที


 


"ถ้าประชาชนไม่ลุกขึ้นมาทวงถามก็จะไม่มีใครเปิดโอกาสให้ตรวจสอบ   โดยฝ่ายลงทุนไม่เคยตระหนักที่จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง  ต้องรอให้ประชาชนทำให้เกิดขึ้นเอง  ทำให้ต่อมาทุกโครงการไม่ว่าดีหรือไม่ก็จะถูกตั้งคำถามก่อนเสมอ"  นายไพโรจน์  กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม  นายไพโรจน์  ยังมองว่า  ถ้าชาวบ้านไม่ตื่นตัวลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองแล้ว ธรรมาภิบาลก็จะไม่เกิด ทั้งนี้ ปัญหาก็คือชาวบ้านมักไม่เคยรู้ข้อมูลเพราะทางการไม่เปิดเผย  อ้างว่าอยู่ในระหว่างการตัดสินใจ  ซึ่งส่งผลให้ความขัดแย้งตามมาในภายหลัง


 


"ที่สำคัญ  จุดอ่อนคือเมื่อตัดสินใจไม่ได้ก็ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมา  เพื่อยืดปัญหาและไม่เปิดให้มีส่วนร่วม  ผมมองว่านั่นไม่ใช่กลไกแก้ปัญหาที่ถูกต้อง  แต่เป็นการชะลอปัญหามากกว่า"  เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน  แสดงความเห็น


 


ขณะเดียวกัน  นายไพโรจน์  ยังเห็นว่า  สิ่งที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนายากอันจุดอ่อนของกระบวนการตัดสินใจ  มาจากการให้อำนาจจากส่วนกลางมากเกินไป  ซึ่งควรให้ข้างล่างเป็นผู้ตัดสินใจเป็นลำดับแรก  โดยสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงคือต้องให้ชุมชนเป็นผู้ทำเอง  เริ่มจากจุดเล็กๆ ที่นำพลังงานทางเลือกมาใช้โดยไม่ต้องคิดเรื่องเงิน และสามารถจัดการดูแลเองได้จริง


 


"ถ้าชาวบ้านไม่ตื่นตัวก็จะไม่มีทางเกิดธรรมาภิบาลขึ้นมาได้  สำหรับการลงทุนจะต้องดูความต้องการของชาวบ้านและทรัพยากรในพื้นที่เป็นสำคัญ  ว่าจะตอบสนองต่อการลงทุนหรือไม่  จำเป็นต้องมีการตรวจ สอบศักยภาพในพื้นที่ให้รอบด้านก่อนตัดสินใจ"  เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน  กล่าวในที่สุด


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net