Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในที่สุดรัฐบาลได้ดำเนินตามแนวทางที่นักวิชาการ "ขาประจำ" เสนออย่างน้อย 1 ข้อคือ การปล่อยราคาน้ำมันดีเซลลอยตัว ให้บริษัทผู้ค้าน้ำมันแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์ตามกลไกราคาตลาด (สัมภาษณ์ เมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักนโยบายพลังงานแห่งชาติ - สำนักข่าวกรมประชา สัมพันธ์-12 ก.ค.48)

ผลของการลอยตัวราคาน้ำมัน ทำให้ราคาดีเซลปรับขึ้นไปทันที 1.36 บาทต่อลิตร ขณะที่หนี้กองทุนน้ำมันซึ่งติดลบอยู่จนถึงวันนี้ หยุดตัวเลขอยู่ที่ 92,070 ล้านบาท อย่างไรก็ตามประชาชนยังต้องร่วมรับผิดชอบหนี้จำนวนมหาศาลต่อไปอย่างน้อยอีก 2 ปี แม้ว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะปรับตัวสู่ราคาปรกติแล้วก็ตาม

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับในการแถลงนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเร่ง ด่วนของประเทศ ในงานกาล่าดินเนอร์ครบรอบ 72 ปี มงฟอร์ตวิทยาลัย ณ หอประชุมกองทัพเรือ ว่า "น้ำมันเป็นอะไรที่เราคาดไม่ถึงว่าจะไปขนาดนี้"

โดยนัย รัฐบาลเหมือนกับยอมรับว่า ราคาน้ำมันที่รัฐต้องจ่ายเข้ากองทุนฯ ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 (ซึ่งทำให้เกิดการบริโภคที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง) เปรียบเสมือนเลือดที่ไหลไม่ยอมหยุด และทำให้ประเทศซึ่งต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ขาดดุลการค้าอย่างมหาศาล ทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอัตราการเจริญเติบโต(จีดีพี) ประเทศ ดังนั้นมาตรการแก้
ปัญหาเร่งด่วนจึงสะท้อนออกมาในรูปแบบการเลิกอุดหนุนและจำกัดการบริโภคน้ำมัน

เมื่อห้ามเลือดได้แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ แสดงให้เห็นว่า เขามั่นใจในพื้นฐานเศรษฐกิจไทย "ผมมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยพื้นฐานยังเข้มแข็ง แค่หยอดน้ำมันหน่อยเดียว รับรองยังวิ่งฉิว เพราะ ฉะนั้น ถ้าคนไทยช่วยกันเอง มีความเชื่อมั่นในประเทศ และปล่อยผมทำ...รับรองว่า ผมไม่ขี้เกียจ"

ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลไทยเลือกที่จะเพิ่มเงินในกระเป๋าของประชาชน โดยการขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการ ปรับค่าแรงขั้นต่ำแรงงาน เร่งการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ อัดฉีดเงินลงหมู่บ้านแห่งละ 2.5 แสนบาท รวมถึงไม่ชะลอแผนการลงทุนในโครงการเมกกะโปรเจคท์ลง 50 % ตามข้อท้วงติงของทีดีอาร์ไอ

ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ เม็ดเงินงบประมาณที่รัฐอัดฉีดเข้าไป นอกจากจะช่วยรักษาสภาพคล่องให้ระบบ ทำให้เกิดการบริโภคจับจ่ายอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังทำให้เกิดการกระจายรายได้ออกสู่สังคมในวงกว้าง แม้ว่า สินค้าและบริการในตลาดจะปรับราคาขึ้นไปรอราคาน้ำมันลอยตัวอยู่แล้วก็ตาม

นายกรัฐมนตรีกล่าวชัดเจนว่า เขาหวังว่า เม็ดเงินที่อัดฉีด จะช่วยเสริมสร้างคล่องให้กับผู้ประกอบ การสินค้าภายในประเทศ พ่อค้า เกษตรกร โดยรณรงค์ให้ประชาชนหันมาซื้ออุดหนุนของกินของใช้ภายในประเทศ โดยที่ตัวเขายืนยันที่จะรักษาระดับการส่งออกของประเทศในปีนี้ ให้ขยายตัวอยู่ที่ 20 % ตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า

รวมทั้งคงนโยบายสวัสดิการทางสังคม อาทิ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค) โครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งทุน โครงการกู้ยืมทางการศึกษา ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณระบุว่า ถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต

แม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในบางโครงการ ไม่ได้อยู่นอกเหนือแผนปฏิบัติการที่รัฐบาลเตรียม การไว้แล้ว และมีบ้างที่จะเริ่มในอีก 3 เดือนข้างหน้า แต่ประเด็นที่ยังเป็นข้อสงสัยคือ ท่ามกลางกระแสการโจมตีที่ว่า รัฐใช้เงินมือเติบในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ซึ่งจะต้องกู้เงินและนำเข้าสินค้าทุนจากต่างประเทศ รัฐจะเอาเม็ดเงินจากที่ไหนมาจ่ายใช้จ่ายได้อีก

ใช่หรือไม่ว่า กรณีที่รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เดินทางไปเยี่ยมผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีนัยเพื่อผลักดันให้ กฟผ. เข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในเดือนตุลาคม ศกนี้ แม้ว่า ก่อนหน้านี้จะเกิดกระแสความไม่มั่นใจในภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจจนถึงอาจส่งผลกระทบต่อแผนการแปรรูปของกฟผ.(รัฐงัดทุกท่าดันกฟผ.เข้าตลาดหุ้น-ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 12 ก.ค.2548)

หากเป็นไปตามแผนฯ รัฐบาลก็จะได้เม็ดเงินก้อนใหญ่จากการขายหุ้นกฟผ. และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้มีเงินก้อนใหญ่ มาใช้จ่ายตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่วางไว้ ขณะเดียวกันการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นกับนักลงทุน ทำให้แผนการแปรรูป กฟผ.ดำเนินการไปอย่างราบรื่น

อย่างไรก็ดีอาจกล่าวได้ว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีดังกล่าว แทบไม่มีพื้นที่ให้รัฐบาลถอยหลัง เนื่องจากรัฐทุ่มเทสรรพกำลังลงในแผนฯ ดังกล่าว ซึ่งหากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ผล ก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่กับส่วนต่างๆ อย่างรุนแรงและหลีกเลี่ยงมิได้

ขณะเดียวกัน ยังต้องพิจารณาถึงเงื่อนโอกาสที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐบาล ทั้งปัจจัยภาย ในอาทิ พฤติกรรมการใช้จ่ายของภาคประชาชนไปถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการบริหาร งานของรัฐบาล ตลอดจนปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะการก่อการร้าย สถานการณ์สงคราม ตลอดจนภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจโลกซึ่งเคยฉุดประเทศไทยและประเทศอื่นทั่วโลก เข้าสู่วังวนของวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นความสุ่มเสี่ยงทั้งสิ้น

กล่าวอย่างถึงที่สุด แม้ พ.ต.ท.ทักษิณจะสมาทานที่จะอยู่กับระบบทุนนิยม แต่ประชาชนในชาติก็น่าจะมีสิทธิ์เลือกวิถีชีวิตของตัวเอง บนพื้นฐานของความหลากหลายของการดำรงชีวิต และการเอาชาติและประชาชนไปแขวนไว้กับทางเลือกเดียว ย่อมมิใช่ทางออกที่เหมาะสม ยังไม่นับว่า เส้นทางดังกล่าวถูกวิพากษ์มาโดยตลอดว่า เอื้อประโยชน์ให้กับคนส่วนน้อยของประเทศ

สำหรับผู้ไม่เห็นด้วย คงไม่มีโอกาสที่ดีไปกว่านี้ที่จะต่อต้านคัดค้าน ส่วนผู้ที่เห็นด้วยหรือไม่มีความเห็น มีทางเดียวคือ ภาวนาขอให้รัฐบาลกอบกู้ประเทศไปได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะเดิมพันประเทศที่รัฐบาลเอาไปวางไว้นั้น สูงยิ่งนัก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net