Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 13 ก.ค.48 กระทรวงยุติธรรม-ทีมแจงยูเอ็นดึงพันธมิตรถกปัญหาสิทธิมนุษยชน ส่งสัญญาณพร้อมดูแลจัดการปัญหาในไทย ดึงนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะหลังรัฐบาลชี้แจงสหประชาชาติ

วันนี้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรวบรวมและวิเคราะห์สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ในหัวข้อ "สิทธิมนุษยชนสังคมไทย: มาตรฐานสู่การปฏิบัติ" โดยกระทรวงยุติธรรม ได้เชิญผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรอิสระ ประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน ฯลฯ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อรวบรวมเสนอต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีวันที่ 6 ส.ค.นี้

โดยวันนี้มีคณะที่จะเข้าชี้แจงยูเอ็นร่วมรับฟังและเสนอแนวคิดด้วย อาทิ คุณหญิงอัมพร มีศุข กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, รศ.ธงทอง จันทรางศุ หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านบริหารความยุติธรรม รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นต้น

รศ.ธงทอง จันทรางศุ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า "รัฐบาลได้แถลงไว้ในหลายวาระว่าจะให้ความสนใจสิทธิมนุษยชนเป็นพิเศษ แต่ก็ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด และยังเคยเชิญรมว.กระทรวงยุติธรรมให้จัดเวทีพูดคุยถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยท่านนายกจะร่วมปรึกษาหารือด้วย ซึ่งก็ได้ฤกษ์ 6 ส.ค.นี้ โดยจะมีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนว่ามีข้อเท็จจริง ข้อจำกัด หรือตัวแปรอะไรบ้าง ซึ่งในวันนั้นนายกจะมีเวลาให้ประมาณ 2 ชั่วโมง"

นอกจากนี้ รศ.ธงทอง มองว่า แผนแม่บทสิทธิมนุษยชนฉบับเก่าไม่เคยนำมาใช้ปฏิบัติ จำเป็นต้องหยิบยกมาพูดโดยจัดลำดับเรียบเรียงประเด็นใหม่ เพื่อสร้างกลไกการทำงานร่วมกัน ซึ่งต้องคำนึงถึงทั้งโลกเพราะสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นสากล และคนไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกด้วย

ขณะเดียวกัน คุณหญิงอัมพร มีศุข กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า "เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ต้องบริหารจัดการ นายกรัฐมนตรีต้องเปิดกว้าง ซึ่งในวันที่ 6 ส.ค.ท่านมีเวลาแค่ 2 ชั่วโมง แต่ว่าเรื่องสิทธิฯ อยู่กับชีวิตของเรามาเป็นร้อยปีแล้ว จึงต้องมองอย่างกว้างและลึก ต้องวิเคราะห์ว่าปัญหาอุปสรรคคืออะไร สาเหตุคืออะไร และเราอยากให้นายกฯ ทำอะไรด้วย"

ด้านนายสุภาพ คลี่ขจาย ที่ปรึกษารมว.กระทรวงยุติธรรม เห็นว่า รมว.กระทรวงยุติธรรมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่แล้ว คิดว่าจะทำอย่างไรให้สังคมเห็นสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องใหญ่ และจะขับเคลื่อนให้เป็นวาระแห่งชาติได้อย่างไร ซึ่งถือเป็นเรื่องยาก เพราะคนเรามองไม่เหมือนกัน การที่เราเน้นสังคมชนชั้นปกครอง โดยมักมองกันว่าคนที่ถูกละเมิดสมควรโดนแล้ว เป็นต้น

นายสุภาพ กล่าวต่อไปว่า "รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มองว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องใหญ่ เป็นกระแสโลกก็พูดถึงกันมากขึ้น โจทย์ก็คือ เราต้องทำให้ 2 พวกเดินสายกลางโดยไม่ตีกัน ระหว่างคนที่ไม่เห็นว่าสิทธิฯ เป็นเรื่องใหญ่กับคนที่ไม่เห็นด้วยกับการละเมิด การทำให้เป็นเรื่องเดียวกันเป็นสิ่งที่ยากมาก แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เคยได้ผล"

"ประเด็นสำคัญก็คือเราต้องการให้นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ ประสานระหว่าง กระทรวง หน่วยงานต่างๆ ว่าจะช่วยกันได้อย่างไร ลำพังเราชี้แจงก็ไม่มีใครฟังแต่เราต้องให้นายกฟัง" นายสุภาพ กล่าวในที่สุด

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 19-21 ก.ค.นี้ ตัวแทนรัฐบาลไทยจะเข้าชี้แจงต่อ UN Committee ICCPR ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย 26 ประเด็น โดยการเข้าชี้แจงครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก และเป็นไปตามพันธะสัญญากติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ( ICCPR) ที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีเมื่อปี 2539

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา นาง Wan Hea Lee ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (UNESCAP) ได้มาเยือนประเทศไทยและกล่าวไว้ว่า "รัฐบาลไทยต้องเสนอรายงานต่อคณะกรรมการฯ ยูเอ็น ซึ่งเราสนใจในการเตรียมการของรัฐบาลไทย การตอบสนองของประชาชนและหน่วยงาน รวมถึงจะนำข้อเสนอแนะของยูเอ็นมาปรับใช้อย่างไร ซึ่งสิ่งที่จะสะท้อนให้เห็นก็คือ ท่าทีของรัฐบาลไทยในการส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมว่าจะมีความสนใจและรัฐส่งเสริมมากแค่ไหน"

ขณะที่รัฐบาลไทยได้จัดเตรียมคณะทำงานที่จะเข้าชี้แจง และเอกสารชี้แจงเรียบร้อยแล้ว โดยในครั้งนี้จะมีภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และส่วนที่เกี่ยวข้องซึ่งให้ความสนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมชี้แจงด้วยในวันที่ 18 ก.ค.นี้ หลังจากนั้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยูเอ็นจะมีข้อเสนอแนะต่อประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net