Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 19 ก.ค.48      "พ.ร.ก.ฉบับนี้ประกาศแล้วไม่ใช่จะเกิดผลตามมาอะไรมากมาย อย่างที่คิดกันว่าติดเขี้ยว ติดหนวดกันน่ากลัว ถ้าแต่ถ้าจะเอามาตรการอะไรมาใช้ ต้องให้นายกฯ สั่งทีละมาตรการอีกที ถ้าไม่สั่งก็เป็นการประกาศแช่เอาไว้อย่างนั้นเอง เพราะว่ามันมีความหมายในแง่ป้องปราม เป็นผลทางจิตวิทยา"นายวิษณุ เครืองาม แถลงข่าวแนวทางการใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548


 


นายวิษณุ กล่าวว่า ภายหลังจากที่พ.ร.ก.ฯ ประกาศในกิจจานุเบกษาไปในวันที่ 16 ก.ค.และมีผลบังคับใช้วันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา ในวันนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ให้พื้นที่ทั้งหมดของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พร้อมทั้งออกประกาศพระบรมราชโองการยกเลิกกฎอัยการศึกใน 3 จังหวัด  ตามที่พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณ


สถิตย์ รองนายกฯ และรมว.มหาดไทยเสนอ ขณะเดียวกันก็ให้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์เป็นประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน


 


นายวิษณุระบุว่า รายละเอียดของมาตรการที่มีทั้งหมด 16 มาตรการ แบ่งเป็นมาตรการในสถาน การณ์ฉุกเฉินธรรมดา 6 มาตรการ และในสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงอีก 10 มาตรการนั้น ครม.อนุมัติในส่วนของมาตรการในสถานการณ์ร้ายแรงจำนวน 7 มาตรการซึ่งให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้ 1. อำนาจในการจับกุมควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าจะก่อความไม่สงบ 2.อำนาจออกคำนั่งเรียกบุคคลมารายงานตัวหรือมาให้ถ้อยคำ เอกสาร หลักฐานแก่เจ้าหน้าที่


 


3. อำนาจในการยึด หรืออายัดอาวุธ สินค้าหรือเคมีภัณฑ์ที่ต้องสงสัย 4. อำนาจในการตรวจค้น 5. อำนาจในการสั่งการให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร 6.การซื้อ ขาย ใช้ เคมีภัณฑ์บางชนิดต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ 7. ออกคำสั่งให้ใช้กำลังทหารช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร


 


ทั้งนี้ มาตรการที่ไม่ได้ให้มีการนำไปใช้ได้แก่ การออกคำสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรศัพท์ หรือตัดการสื่อสารอื่นใดเพื่อป้องกันเหตุร้าย การห้ามมิให้ทำการใดๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ การห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร กรณีมีเหตุอันเชื่อได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน


 


นอกจากนี้ครม.ยังอนุมัติมาตรการนอกเหนือไปจากพ.ร.ก. คือ การตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อคุ้มครอง ตรวจสอบการร้องเรียนการล้วงล้ำก้ำเกินสิทธิของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่ ตามที่นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานกอส. เสนอ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นข้อร้องเรียนเฉพาะในพื้นที่3 จังหวัด


 


เช่นเดียวกันกับ กองทุนสมานฉันท์ ที่นายอานันท์เสนอ ครม.ก็ได้เห็นชอบให้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งกองทุนดังกล่าว และนายกรัฐมนตรีลงนามแล้ว โดยให้นายอานันท์เป็นประธานกองทุน ซึ่งจะรับบริจาคจากภายนอก เพื่อช่วยเหลือทั้งฝ่ายรัฐและประชาชนที่ประสบภัยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


อย่างไรก็ตาม นายวิษณุระบุว่า ในพื้นที่อื่นๆ กว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศที่มีการประกาศกฎอัยการศึกอยู่เดิมนั้นยังคงเป็นเช่นเดิม ส่วน 4 อำเภอในจังหวัดสงขลาที่พล.ต.อ.ชิดชัย เสนอให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยนั้น ครม.ไม่เห็นชอบ เนื่องจากไม่เห็นความจำเป็นต้องขยายพื้นที่ออกไป


 


ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อกังวลใจของนักการทูตที่ว่ามาตรา 17 ซึ่งระบุว่าเจ้าหน้าที่มาต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ทางวินัย จะยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่กระทำความรุนแรงยิ่งขึ้นหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ในกรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำผิดแล้วจะได้รับการยกเว้นโทษตามมาตรานี้ต้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งศาลจะเป็นผู้พิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่


 


นอกจากนี้ยังมีประเด็นคำถามเกี่ยวกับการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการห้ามเสนอข่าว จำหน่ายสิ่งพิมพ์หรือสื่อที่อาจทำให้ประชาชนหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งนายวิษณุระบุว่าฝ่ายบริหารเป็นผู้ริเริ่มก็ต้องเป็นผู้กำหนดนิยาม แต่ก็ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด เพราะศาลจะเป็นผู้พิจารณาให้นิยามสุดท้าย หรือหากศาลสงสัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้


 


อย่างไรก็ตาม นายวิษณุย้ำว่า ตามมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่ให้อำนาจในการปิดสื่อไม่ว่ากรณีใดๆ อยู่แล้ว 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net