สงครามแย่งพื้นที่สื่อ รัฐจับมือทุนครอบ "สื่อ" กีดกันภาคปชช.

 

 

ประชาไท—25 ก.ค. 48  "กระบวนการภาคประชาชนทุกๆ ที่นั้น  สื่อเป็นตัวบ่งชี้ว่าจะอยู่หรือจะตาย  ประจวบเหมาะกับพื้นที่นามธรรมนี้ได้ถูกฝ่ายทุนยึดในการกำหนดทิศทางและเป้าหมาย  ทำให้สื่อปัจจุบันตอบสนองทุนมากกว่าข่าวหรือความจริง  ส่งผลให้พื้นที่ภาคประชาชนมีน้อยลง"  พระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ  ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ กล่าวในเวทีแลกเปลี่ยน "ขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมภาคประชาชน "ตาย" หรือ "ยัง? ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วานนี้ 

 

ขณะที่  พระกิตติศักดิ์ชี้ให้เห็นความสำคัญของสื่อ  โดยมองว่าคนที่จะถูกทำให้เป็นข่าวสำคัญต้องทำการบ้านโดยอาศัยสถานการณ์ให้สื่อหยิบไปใช้  ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องการพื้นที่เชิงนามธรรมนี้  ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งต้องตัดสินใจว่าจะให้หรือไม่ให้  และสุดท้ายสื่อคือผู้ตัดสิน  ดังนั้นขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนจะเป็นหรือตายก็ขึ้นอยู่กับสื่อเป็นสำคัญ

 

"ปัจจุบันเราอยู่ในสถานการณ์สงครามแย่งชิงพื้นที่ทั้งรูปธรรมและนามธรรม  โดยสื่อเป็นเจ้าของพื้นที่นามธรรมที่สำคัญ ซึ่งมีส่วนคุมชะตาชีวิตของคนจำนวนมาก  เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการปรากฏในพื้นที่ที่เป็นนามธรรมนี้  จึงก่อให้เกิดการชิงพื้นที่เพื่อแสดงจุดยืนและความมีอยู่ของฝ่ายต่างๆ" พระกิตติศักดิ์  อธิบาย

 

อย่างไรก็ตาม  พระกิตติศักดิ์ ยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า  กรณีฆ่าพระสุพจน์  สุวโจ  ที่อำเภอฝางทำให้ต้องเผชิญกับอิทธิพลมืด  อิทธิพลรัฐ  และสื่อ  ซึ่งถ้าหากทั้ง 3 ส่วนสามารถผนึกกำลังกันได้ก็จะทำให้ภาคประชาชนไม่มีพื้นที่ 

 

"ตอนนี้ขบวนการภาคประชาชนยังไม่ตาย  แต่จะอยู่ได้นานเท่าไร  การมีอยู่คืออะไร  ชาวบ้านที่มีแต่การตั้งรับในการรุกคืบของรัฐและทุนที่มีส่วนสัมพันธ์กับสื่อนั้น  ทำให้ประชาชนกำลังเสียพื้นที่ในเชิงรูปธรรมและนามธรรม  และภาวะเศรษฐกิจที่ลิดรอนอยู่อย่างนี้ ไม่สามารถรักษามโนสำนึกของสื่อได้  เพราะเนื้อที่กำลังถูกบุกรุกโดยทุนอย่างหนัก" ประธานเครือข่ายเสขิยธรรม  กล่าว

 

อย่างไรก็ดี  พระกิตติศักดิ์มองว่า  สื่อกระแสรองก็นับเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญ  เพราะถ้าถึงจุดหนึ่งสื่อกระแสหลักไม่สามารถตอบสนองสิ่งที่จะขายได้  ต่อไปสื่อเล็กๆ ที่ยังสามารถรักษาจุดยืนไว้ได้ก็จะเป็นที่พึ่งของคนที่ขาดพื้นที่   ซึ่งประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ขนาดแต่อยู่ที่จุดยืนในความถูกต้องเป็นธรรมต่างหาก

 

"สื่อ"ถูกครองกระทบพื้นที่สาธารณะ

 

"ความจริงแล้วภาคประชาชนหรือสื่อกันแน่ที่ตาย  ทุกวันนี้ทำไมแกนนำเคลื่อนไหวภาคประชาชนยังตายมากขึ้น  ก็ต้องถามสื่อกับภาคประชาชนว่าใครกันแน่ที่นิ่งเงียบ  เพราะตอนนี้สื่อถูกนักการ เมืองและธุรกิจชิงพื้นที่ไปหมดแล้ว"  นางจินตนา  แก้วขาว  ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด  กล่าว 

 

นางจินตนา  กล่าวต่อไปว่า  ชาวบ้านมักไม่ได้รับความสนใจจากสื่อ  จึงต้องหาวิธีคัดค้านใหม่ๆ เพื่อสร้างข่าวด้วยตนเอง  เช่นเดียวกับสินค้าที่ต้องทำให้มีชื่อคนถึงจะซื้อ  ซึ่งชาวบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินมาตั้งแต่ปี 2540 แต่ก็ยังไม่มีใครขานรับ แม้ว่าโรงไฟฟ้าจะกระทบธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมากมายก็ตาม

 

ยิ่งไปกว่านั้น  ประธานกลุ่มอนุรักษ์ฯ บ้านกรูด  ได้แสดงความเห็นว่า  "ยังไม่ต้องเป็นห่วงภาคประชาชนเพราะยังมีอยู่แน่นอน  แต่ก็อาจลดทอนความเข้มแข็งลงไป  เนื่องจากทั้งเศรษฐกิจและรัฐเข้ามาแทรกแซง  ต่อไปกระบวนการภาคประชาชนก็อาจดับลงเพราะมีสื่อที่ถูกแทรกแซงนี่แหละ"

 

"ทุนและรัฐทำให้สื่อไม่กล้านำเสนอประเด็นของชาวบ้าน  เท่ากับเป็นตัวเร่งให้ชาวบ้านต้องแสดงแอ็คชั่นและอาจถูกมองว่าสร้างความน่ารังเกียจให้สังคม  ถึงตอนนี้จึงต้องมีการปรับกระบวนจากที่เคยถูกซ่อนไว้  ก็ต้องทำให้ได้รับความสนใจจากรัฐขึ้นมา"  นางจินตนา นำเสนอ

 

ขณะเดียวกัน  นางจินตนา  ยังตั้งคำถามต่อว่า  ทุกวันนี้แกนนำที่ถูกฆ่ากลับไม่มีอะไรคืบหน้า  เราก็ติดตามและทวงถามคดีอยู่ตลอดเวลา  แต่สงสัยว่าถ้าเราไม่มีคนเยอะพอก็จะไม่มีพื้นที่สื่อ  และถ้าคนยิ่งน้อยเราก็จะหลุดจากวงจรสื่อไปเลย  ประชาชนเองก็ใช่ว่าจะมีเวลา สิ่งเหล่านี้ทำให้ภาคประชาชนหายไปจากสังคม 

 

"ขณะนี้สื่อถูกแทรกแซงในส่วนประชาชน  เราไม่มีอาชีพตอบแทนจากการเคลื่อนไหว ยิ่งกว่านั้นทุกวันนี้ชาวบ้านเองยังถูกครอบงำโดยรัฐ  เช่นการนำตำแหน่งทางการเมืองเล็กๆ จำนวนมากมาให้ชาวบ้าน ทำให้พวกเขาถูกบอกว่าเก่งและต้องปฏิบัติตามนโยบาย ชาวบ้านเหล่านี้เท่ากับอยู่ในมือของรัฐ จนทำให้ไม่มีโอกาสคิดพัฒนาเรื่องอื่นได้เลย"ประธานกลุ่มอนุรักษ์ฯ บ้านกรูด  แสดงทัศนะ

 

อย่างไรก็ตาม  นางจินตนา  แสดงความกังวลเกี่ยวกับกระบวนการภาคประชาชนที่รัฐเข้ามาแทรกแซงว่า  จากที่ชาวบ้านเคยมีเวลาทำกินก็มัวแต่ไปประชุม เช่น คณะกรรมการหมู่บ้านตามโครงการต่างๆ   กองทุนหมู่บ้าน  เอสเอ็มเอล  ฯลฯ   เหมือนกับว่ารัฐพยายามแยกสลายชุมชน ซึ่งแท้จริงแล้วรัฐควรให้ชาวบ้านตัดสินใจและพัฒนาตนเองมากกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท