การสนทนาพิเศษ- การสร้างสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

การสนทนาพิเศษ- การสร้างสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

การสนทนาพิเศษ

เรื่อง การสร้างสันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

โดย พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ

นายอานันท์  ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระ

เพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)

ณ ห้องสีม่วง  ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม 2548  เวลา 20.35 น.

http://www.thaigov.go.th/news/press/48/aug48/pr01aug48-07.htm

----------------------------------------

 

ผู้ดำเนินรายการ (นายอดิศักดิ์  ศรีสม)

           

สวัสดีครับคุณผู้ชม  ขอต้อนรับเข้าสู่ช่วงเวลาของรายการพิเศษในวันนี้ครับ  รายการที่เราจะรับรู้และเข้าใจในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ต้องยอมรับนะครับว่าในช่วงสัปดาห์ - สองสัปดาห์ที่ผ่านมานี้  เป็นช่วงเวลาของความสับสน  และเป็นช่วงเวลาของการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับมาตรการของภาครัฐที่ออกมา  สำหรับการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  แน่นอนครับนั่นก็คือเรื่องราวของกฎหมายฉบับหนึ่ง  คือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้  ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างที่บอกแล้ว  แต่เหตุผลสำหรับรายการพิเศษในวันนี้จริง ๆ เกิดขึ้นจากการพูดคุยกันนอกรอบของบุคคลสองท่าน  ซึ่งมีบทบาทอย่างยิ่งทีเดียวครับสำหรับการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

การหารือกันระหว่างท่านนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ  ชินวัตร  กับท่านประธานคณะ

กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส.  คุณอานันท์  ปันยารชุน  เห็นตรงกันครับว่า ความสับสนจะดำเนินต่อไปไม่ได้  จุดยืนของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่แต่เดิมมองในเรื่องความสมานฉันท์และสร้างไปสู่สันติสุขด้วยแนวทางที่ยึดสันติเป็นหลัก  วันนี้จะยังคงยึดแนวทางนั้นอยู่หรือไม่  หลังจากที่เรามีกฎหมายฉบับล่าสุดออกมา  ที่จะเข้าไปจัดการกับปัญหาที่หลายคนมองว่าเป็นการใช้ความรุนแรงหรือเปล่า  แน่นอนครับ  ผู้ที่จะให้คำตอบเราได้ดีที่สุด  ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เป็นข่าวมาแล้วว่าทั้งสองท่านตกลงกันว่าอยากจะได้พูดคุยเรื่องนี้กัน  และให้สาธารณชนได้รับรู้ในสิ่งที่จะเป็นแนวทางที่จะเป็นข้อตกลงร่วมกันด้วย  ทั้งสองท่านอยู่กับผมแล้วครับ  ท่านนายกรัฐมนตรี  พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ  ชินวัตร และท่านประธาน คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ กอส. คุณอานันท์  ปันยารชุนครับ สวัสดีทั้งสองท่านครับ ตกลงใครชวนใครออกโทรทัศน์ครับ 

 

นายกรัฐมนตรี

ผมไปรับประทานอาหารกับท่านอานันท์ฯ ที่ทำงานท่าน  เสร็จแล้วท่านก็บอกว่าทาง  คณะกรรม

การ กอส. อยากจะให้ท่านอานันท์ฯกับผมได้ออกโทรทัศน์เพื่อจะแสดงจุดยืนที่ชัดเจน ไม่อย่างนั้นเจ้าหน้าที่อาจจะสับสนได้ว่า ตกลงจุดยืนที่ให้มีคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาตินี้เปลี่ยนไปหรือเปล่า    หลังจากที่มีพระราชกำหนดฯ ออกมาแล้ว   ผมก็เรียนท่านว่าไม่มีเปลี่ยนไป  เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นเรามาออกโทรทัศน์ด้วยกัน  ก็เป็นที่มาของวันนี้ครับ

 

ผู้ดำเนินรายการ

 ท่านอานันท์ฯ ชวนหรือครับ

 

ประธาน กอส.

 ก็เป็นเรื่องที่พูดกันใน กอส. ผมบอกว่าผมจะลองทาบทามนายกรัฐมนตรีดู   คือเรื่องอย่างนี้ไม่ต้องไปเขียนหนังสือ         ส่วนหนึ่งคือ กอส.ทำงานมา 4 เดือนกว่าแล้ว  และสอง  ประชาชนก็เริ่มสับสนในเรื่องนโยบายรัฐบาล  ซึ่งอันนี้ท่านนายกรัฐมนตรีก็ทราบดีว่า  คือบางครั้งนายกรัฐมนตรีเดินทางนี้แต่แถว   หลัง ๆ ยังไม่เดินเลย  มันก็มีความสับสนอยู่เรื่อย  แล้วมาถึงพระราชกำหนดฯ ก็ให้เกิดความสงสัย    แล้วสังคมไทยเป็นสังคมที่ขี้สงสัยอยู่แล้ว  ฉะนั้นถ้าเผื่อมีโอกาสที่จะคุยด้วยกัน  โดยมีคนตั้งคำถาม  โดยสาธารณชนตั้งคำถาม  อาจจะทำให้ความกระจ่างมากขึ้น 

 

ผู้ดำเนินรายการ

           

เป็นเพราะ กอส. ต้องการที่จะให้รัฐบาลพูดจุดยืนให้ชัดเจน  ใช่ไหมครับ  ผมสรุปอย่างนั้น

 

ประธาน กอส.

ก็แล้วแต่รัฐบาลว่า  อยากให้ท่านนายกรัฐมนตรีออกพบสาธารณชน  ท่านดูสิครับ  อย่างเวลาเกิดเหตุสถานการณ์ขึ้นที่กรุงลอนดอน  ระยะ 2 - 3 วันที่ผ่านมา  แบลร์ (นายโทนี่  แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ) ออกพบสาธารณชนไม่รู้กี่ครั้ง  จริงอยู่อาจจะออกระยะสั้นหน่อย  อาจจะ 5 นาที 10 นาที  แต่เขาออกมาอธิบายกับประชาชน เป็นจังหวะดีที่ท่านนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยพบกับประชาชนเป็นครั้งเป็นคราว  พูดในเรื่องของภาคใต้  เพราะว่าภาคใต้เป็นปัญหาที่สะสมมานานหลายสิบปี  เป็นปัญหาที่ไม่ใช่แก้ได้ง่าย ๆ คงจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี สมมตินะครับ เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่ประชาชนอยากได้รับความสบายใจว่า  นายกรัฐมนตรีคนนี้มีนโยบายแน่ชัดอย่างไร  และไม่ใช่ว่าประชาชนอยากรู้ว่าท่านนายกรัฐมนตรีมีนโยบายอย่างไร  ผมว่าหน่วยเหล่า ทหาร ตำรวจ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เขาก็อยากรู้  เพราะเขาเองก็สับสนด้วย 

 

ผู้ดำเนินรายการ

 วันนี้มีเวลาหนึ่งชั่วโมงคุณผู้ชมครับ  ที่เราจะสนทนากับทั้งสองท่านซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งครับ  เพราะฉะนั้นจะใช้เวลาตรงนี้ในการค้นหาคำตอบที่เกี่ยวข้องกับนโยบายในการแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ท่านนายกรัฐมนตรีวิเคราะห์หรือยังวันนี้  ได้วิเคราะห์และค้นหาคำตอบหรือยังว่าเราแก้ไขปัญหาภาคใต้มาระยะหนึ่งแล้ว  มีการระดมทั้งสรรพกำลัง  ระดมทั้งนโยบายต่าง ๆ ลงไปในพื้นที่ภาคใต้  แต่ดูเหมือนว่าปัญหายังไม่จบ  และยังไม่ทุเลาลงไปในระดับที่น่าพอใจ  สาเหตุคืออะไรครับ อะไรคืออุปสรรคจริง ๆ ครับ

 

 

นายกรัฐมนตรี

คือเหมือนภูเขาไฟครับ  ภูเขาไฟมีความร้อนอยู่ข้างใน  บางทีดูข้างนอกเราไม่รู้ว่ามันจะระเบิดขึ้นมาเมื่อไร  แต่ความร้อนมันสุมด้วยหลายปัจจัยนะครับ  อันนี้คล้าย ๆ กัน  สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  มีความซับซ้อนของมันในหลายประเด็น  ประเด็นหนึ่งแน่นอน  ประวัติศาสตร์อาจจะถูกบิดเบือน  หรือถูกพูดกันในลักษณะที่ว่าตรงดินแดนแห่งนี้เป็นดินแดนที่จะต้องประกาศเป็นอิสรภาพ  แต่เราถือว่าเป็นการแยกดินแดนออกจากประเทศไทย  โดยที่ใช้ทั้งประวัติศาสตร์และใช้ทั้งหลักศาสนาที่ผิดมา  บิดเบือน  และสร้างปัญหาขึ้น  นั่นคือส่วนหนึ่ง  อีกส่วนหนึ่งคือว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเหมือนปัญหาของจังหวัดชายแดนทั่วไป  คือมียาเสพติด  มีการค้าของหนีภาษี  มีผู้มีอิทธิพล  ผู้มีอิทธิพลเชื่อมการเมืองบ้าง  ไม่เชื่อมบ้าง  อะไรเหล่านี้  ก็อยู่อย่างนี้  ปนกันหลายเรื่อง  พอมีเหตุการณ์   มันเหมือน พอมันระเบิด  มันก็มาพร้อม ๆ กัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนช่วงหลังที่รัฐบาลปราบปรามยาเสพติด  ก็มีการจัดการจับกุมดำเนินคดี  เกิดการฆ่าตัดตอนกันเองบ้าง อะไรบ้าง  ในหมู่ผู้ค้ายาเสพติด  ก็เป็นปัญหาหลาย ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อม  ๆ กัน 

 

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาคือว่า  ระบบการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ค่อนข้างที่จะดูแลกันมาน้อย   ปล่อยให้ระบบการศึกษานั้นไปเน้นหนักเรื่องการศึกษาทางด้านศาสนา ทำให้เด็กศึกษาทางด้านของสายสามัญน้อย  เมื่อจบแล้วก็ไม่รู้จะไปทำอะไร  เพราะว่าระบบการรับราชการก็ดี  ระบบการเรียนมหาวิทยาลัยก็ดี  จำเป็นที่จะต้องจบสายสามัญ  ตรงนี้เป็นปัญหาอันหนึ่งที่ทำให้เด็กเรียนจบมาแล้วไม่มีงานทำ  เด็กจบมาแล้วเรียนต่อไม่ได้  ปัญหาของเศรษฐกิจ  ปัญหาการไม่มีงานทำในจุดนั้นที่นั่นก็เลยมาก  เด็กวัยรุ่นที่เรียนหนังสือน้อย  งานไม่มีทำ  บางทีก็อาจจะถูกสอนในทางที่ผิด  โดยครูสอนศาสนาบางคน       ซึ่งมีอุดมการณ์ที่อยากจะแยกดินแดนก็ดี  อยากจะใช้หลักคำสอนศาสนาที่ผิดก็ดี  ไปสร้างเครือข่ายพวกนี้ขึ้น  แล้วเด็กวัยรุ่นบางครั้งเขาก็ทำอะไรที่มีความคึกคะนอง  ทำอะไรที่ไม่มีเหตุมีผลนี้เยอะ  ก็เกิดกระบวนการ  เราต้องเข้าใจก่อนว่ามีขบวนการอยู่ในภาคใต้มาเป็นเวลาหลายสิบปี  ไม่ว่าเราจะเรียกกันว่า BRN Coordinate หรืออะไรนั้น  มีปัญหาหมด  หลายกลุ่มเป็นหมด  มีเครือข่ายของมัน  มีหลายเครือข่าย   แม้กระทั่งเจ้าของโรงเรียนใหญ่ที่ถูกหมายจับแล้วหนีออกไปแล้ว  ก็เป็นคนซึ่งใช้เงินทุน  เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ  ที่ไปให้อุดหนุนโรงเรียนต่อค่าหัว  เอาไปใช้ในทางที่ผิดก็มี  ซึ่งขาดการดูแลมาเป็นเวลานาน  ตอนที่รัฐบาลนี้เข้ามาใหม่ ๆ เราได้มุ่งมั่นเหลือเกินว่าเราอยากจะพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ก็เตรียมงบประมาณ  เตรียมคน  เตรียมอะไรต่ออะไร  เราเริ่มพัฒนา  ไปจ้างงาน  ไปหา  ไปฝึกอาชีพ  แต่พอเราทำไปสักระยะหนึ่ง  ไม่ได้ผล  เพราะเริ่มมีการปล้นปืน  การฆ่า  มีการอะไรเกิดขึ้น  เราเลยต้องดำเนินการในการบังคับใช้กฎหมาย  เพราะว่าผมไปนี่  กลุ่มไทยพุทธตอนแรก ๆ  ก็รังแกกลุ่มไทยพุทธก่อน   กลุ่มที่คิดไม่ดี   ตอนหลังมาสะเปะสะปะแล้ว  ไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธ  ไทยมุสลิม  ขอให้มีช่องว่างให้ฆ่าแกฆ่าหมด  ทำให้ความรุนแรงมีมากขึ้น  จนในที่สุดก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้น  แล้วทางอาจารย์มหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งได้มาพบผม  และอยากให้ตั้งกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ  โดยอาจารย์สุริชัย  หวันแก้ว  ผมจึงนั่งปรึกษากันว่าจะเชิญใครมาเป็นประธาน  ก็นึกถึงท่านอานันท์ฯ  จึงให้คุณบวรศักดิ์ฯ (นายบวรศักดิ์  อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี) ไปทาบทามท่าน  และเชิญท่านมา  และขอท่าน   ท่านกรุณารับ   และท่านก็บอกว่าขอตั้งกรรมการเอง  เลือกกรรมการเอง  ผมบอกว่าเอาเลย  ท่านอยากได้ใครท่านเลือกเลย  ท่านก็เลือกของท่าน  ผมไม่มีข้อคัดค้านแม้แต่คนเดียว

 

ผู้ดำเนินรายการ

เป็นนัยยะสำคัญที่กำลังจะบอกว่ารัฐบาลกำลังจะเริ่มแนวทางสันติ

 

นายกรัฐมนตรี

 ความจริงแล้วเราตั้งใจแนวทางสันติมาโดยตลอด  แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น  ในฐานะเป็นคนซึ่งต้องดูแลประเทศ  เรื่องของการบังคับใช้กฎหมายสำหรับคนที่กระทำความผิดอาญานั้นก็ต้องมี  เมื่อฆ่าคนแล้วไม่ทำอะไร  เกิดขึ้นก็คงลำบาก  แต่ว่าความยากมันมี  ซับซ้อนมากในพื้นที่  เดี๋ยวจะมาคุยกันในประเด็นนี้

 

ผู้ดำเนินรายการ

 ความหลากหลายของปัญหามีมากอย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้พูดในตอนต้น

 

นายกรัฐมนตรี

ทีแรกผมต้องยอมรับว่าผมไม่ได้มองเรื่องการแยกดินแดนเป็นเรื่องใหญ่  ก็นึกว่าเป็นเรื่องของโจรที่ปล้นปืน  เอาปืนไปขาย  ในช่วงนั้นเหตุการณ์ตอนนั้นอาเจะห์ยังไม่สงบเท่าไร  เราได้รับการบ่นจากทางรัฐบาลอินโดนีเซียตลอดเวลาว่า  อาเจะห์มีปืนเป็นสัญลักษณ์ของหน่วยราชไทยนะ  ผมก็ว่าไม่น่าจะเป็นไปได้  พยายามสืบ  ตอนหลังมามีการปล้นปืนขึ้นมาทีละอัน ๆ จนผลสุดท้ายเมื่อ 4 มกราคม  ที่ปล้นครั้งใหญ่  ค่อนข้างจะมีความหลากหลายในพื้นที่ตอนแรก ๆ  คือเรื่องของมีทั้งน้ำมันเถื่อน  ทั้งของเถื่อน  ทั้งยาเสพติดเป็นเรื่องธรรมดา  เป็นเรื่องธรรมดาของจังหวัดชายแดน 

 

ผู้ดำเนินรายการ

ท่านขมวดปมได้หรือไม่ครับว่าที่ปัญหายังแก้ไม่ได้ทุกวันนี้ เพราะอะไรครับ  เพราะมันสลับซับซ้อนมากเลย  หลายเรื่องปนกันอยู่   

 

นายกรัฐมนตรี

คงส่วนหนึ่ง  แต่ปัญหาคือว่าความสามารถที่เราจะให้ความดูแลกับประชาชนนี้  ยังไม่ค่อยดีพอ  เพราะฉะนั้นประชาชนห่วงเรื่องความปลอดภัย  ความร่วมมือในการจะให้ข้อมูลข่าวสารแก่ภาครัฐมีน้อยไป  อันนี้เราเห็นใจและเข้าใจเขา  และการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda)  ในทางที่ขยายผลเรื่องที่อาจจะมีจุดบกพร่องของระบบราชการมีบ้าง  ข้าราชการที่ไม่ดีก็ต้องมี  ไม่ว่าที่ไหน  แต่ว่าตรงนี้การขยายผลทำได้ดีและเร็ว  เมื่อขยายผลได้ดีและเร็ว  ความหวาดกลัว  ความไม่ศรัทธาของเจ้าหน้าที่ก็มี  เมื่อตรงนี้มีแล้วความร่วมมือไม่มี   สังเกตดูครับ  คดีอาชญากรรมใหญ่ ๆ ที่ตำรวจจับได้นั้น  ได้เพราะความร่วมมือจากประชาชนให้ข้อมูลข่าวสารทั้งนั้น  แต่ตรงนี้มันไม่ค่อยมี  ว่าเขาก็ไม่ได้  เพราะเขาโกรธ  แล้วเขากลัวว่าเขาอาจจะไม่ศรัทธาก็อาจเป็นได้  ตรงนี้ภาครัฐต้องพยายามทำต่อไป  ทำให้ความคุ้มครองเขาให้ได้  ให้เขาศรัทธาให้ได้ 

 

ผู้ดำเนินรายการ

คือผมเป็นสื่อที่เฝ้ามอง  รัฐบาลมีนโยบายมาตลอด  เปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็บ่อย  เปลี่ยนแม่ทัพภาคก็บ่อย  จนในที่สุดใช้กลไกสมานฉันท์   บรรดาเพื่อน ๆ สื่อมวลชนเขาฝากถามเหมือนกันว่า  คณะกรรมการสมานฉันท์ที่ท่านนายกรัฐมนตรีมีแนวคิดตั้ง  จะไปสมานฉันท์กับใคร  เพราะว่าทุกวันนี้รู้หรือไม่ครับว่าใครเป็นใคร

 

นายกรัฐมนตรี

ผมคิดว่าท่านคงมีแนวทางของท่าน  คือการสมานฉันท์กับใครคงไม่ใช่  มันเป็นการต้องการสร้างความไว้วางใจและสร้างความเข้าใจระหว่างกลไกของรัฐ ข้าราชการ กับประชาชน กับวัฒนธรรม กับตรงนั้นให้ได้มาก  ซึ่งความจริงความพยายามมีอยู่  แต่ว่าความหลากหลายของตัวแทน  ไม่เหมือนกับคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ  ที่ท่านอานันท์ฯ เลือกมา  ที่ท่านอานันท์ฯ เลือกมาคือเลือกความหลากหลายของคนที่เป็นตัวแทนทั้งในพื้นที่ก็ดี  ทางฝ่ายวิชาการก็ดี  เพื่อมาช่วยกันมองว่าอะไรคือแนวทางที่ดี  เพื่อต้องการดึงคนส่วนใหญ่เข้ามาสู่ระบบที่ถูกต้อง  เป็นแนวทางที่สมานฉันท์ปรองดองกัน  แต่แน่นอนจะมีคนบางส่วนที่อย่างไรก็ไม่เอาด้วย  ซึ่งตรงนั้นก็ว่าไปตามกฎหมายบ้านเมือง 

 

 

 

 

ผู้ดำเนินรายการ

 ทีนี้ไปทางท่านอานันท์ฯ บ้าง   4  เดือนแล้วที่ทำงานมานี้ครับ  มีข้อค้นพบอะไรบ้างหรือไม่ครับ  เกี่ยวกับปัญหาในภาคใต้ที่เราจะวิเคราะห์  ถ้าวิเคราะห์ไม่ถูก  ก็แก้ไม่ถูก  ถ้าแก้ไม่ถูกก็ไม่จบครับท่านครับ

 

ประธาน กอส.

ผมว่า 4 เดือนนี้เราได้พบสัจจะธรรมอะไรบางอย่าง    ถ้าเผื่อเราไปอ่านหนังสือเก่า ๆ ดูไม่ว่าจะเป็นพระบรมราโชบายสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ดี  พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เมื่อ 30 ปี  ที่แล้วก็ดี  ในเรื่องความแตกต่างในสังคมไทยที่ประกอบด้วยชนหลายยุค  หลายเชื้อชาติ  หลายศาสนาอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น  ได้อ่านหนังสือที่เขาเขียนหลังจากที่มีเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นในปัตตานีเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2518  ผมกลับไปนั่งอ่านดูก็ชี้บ่งอะไรบางอย่างว่า ปัญหาต้นเหตุกับสาเหตุในขณะนี้มันก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ท่านนายกรัฐมนตรีได้พูดถึงเรื่อง  คือในฐานะที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล  ท่านนายกรัฐมนตรีก็ต้องคำนึงถึงเหตุการณ์ประจำวัน  เหตุการณ์ระยะสั้นมีการก่อการร้าย มีการฆ่ากันตาย  ก็ต้องดำเนินกันไปทีละเรื่อง ๆ แต่ผมในฐานะคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ  เราอยู่ในฐานะที่เรามองเป็นภาพรวมมากกว่า  เราอาจจะใช้เวลาที่จะดูประวัติศาสตร์  ดูอะไรต่าง ๆ

 

เราเห็นว่าสาเหตุใหญ่คงอยู่ที่ว่า หนึ่ง  การทำงานของหน่วยราชการก็ดี  หรือกลไกของรัฐก็ดี  ไปไม่ถึงตัวราษฎรจริง  ทำให้เกิดอย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูด  ทำให้เกิดความสงสัย  ไม่มีศรัทธา  มีความระแวง  และ สอง เหตุที่กลไกของรัฐก็ดี  หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐยังไม่เข้าใจและไม่เข้าถึงประชาชน  ทำให้ประชาชนมีความสงสัยว่า  ตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม  ไม่ได้รับความยุติธรรม  ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการปฏิบัติประจำวันก็ดี  หรือในเรื่องของการปฏิบัติระยะยาวก็ดี  รู้สึกว่ามีความถูกกดขี่บ้าง  ถูกข่มเหง ถูกรังแก  ถูกเบียดเบียน  อะไรต่าง ๆ เหล่านี้  เพราะฉะนั้นก็เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลาช้านาน   แต่ส่วนใหญ่แล้วผมว่าคนไทย - มาเลย์  คนไทย - มลายูทางภาคใต้  ผมเรียนท่านนายกรัฐมนตรีตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว  ผมไม่เคยคิดว่าเรื่องการแบ่งแยกดินแดนเป็นเรื่องสำคัญเท่าไร  เพราะว่าเราเลือกตั้งมา 5 เดือนที่แล้ว 6 เดือนที่แล้ว  โดยทั่วไปแล้วประชาชนที่มาออกเสียง  ในจังหวัดพระนครก็ดี  หรือในกรุงเทพมหานครก็ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์   แต่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกมา 73 เปอร์เซ็นต์  ผมก็บอกว่าตามปกตินี้ถ้าไปดูประวัติศาสตร์ทั่วโลก  ถ้าเผื่อคนเขาอยากแบ่งแยกดินแดน  เขาอยากไปเป็นรัฐอิสระ  เขาไม่ไปนั่งเสียเวลา  เขาจะไม่ใช้สิทธิ์ถึง 73 เปอร์เซ็นต์  แล้วไปถามคน  เขาบอกว่าจริง ๆ  แล้วเขาไม่เห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดน  แล้วผมก็ชี้แจงให้ท่านนายกรัฐมนตรีฟังว่า  ถ้าเปิดดูประวัติศาสตร์ทั่วโลก  ไม่มีที่ไหนที่เขาจะแยกตัวออกมาเป็นรัฐอิสระได้  เพราะเริ่มต้นไม่มีใครรับรอง  ผมเอ่ยกับท่านนายกรัฐมนตรีถึงเรื่องที่ประเทศสมัยก่อนเรียกว่า Southern Indonesia มีปัญหาคนดำจะปกครองด้วยคนผิวขาว  คนผิวขาวจำนวนน้อยกว่ามาก     แต่มีรายได้  มีทรัพยากรมากกว่าก็ประกาศเป็นอิสระ ไม่มีประเทศใดสหประชาชาติจะไม่รับรอง  อยู่โดยเอกเทศ  เขามีทรัพยากรของชาติมากกว่าเยอะ  และเขามีพลังทางด้านบุคคลด้วย  แต่ก็ไม่สามารถที่จะเป็นรัฐอิสระได้  5-6 ปีก็สลายตัวไป    แต่ยังมีคนที่ต้องการเป็นรัฐอิสระ  ยังมี    แต่คนพวกนั้น  เราไปสมานฉันท์เขาไม่ได้  แต่คนจำนวนส่วนใหญ่จะไม่สนใจเรื่องนี้  เขาขอให้ได้รับความยอมรับในเรื่องอัตลักษณ์ของเขา  ในเรื่องวัฒนธรรมของเขา  เขาอยากให้ได้รับความเคารพในเรื่องของ  อัตลักษณ์ในความเป็นมลายูของเขา  คือผมว่าเมืองไทยเราต้องเรียนรู้ว่าคนไทยมีมาก  ผมไทย-จีน ผมไทย-มอญ  ท่านนายกรัฐมนตรีก็ไทย - จีน  คุณอาจจะไทย - จีน  คุณไปดูให้ทั่ว  ในประเทศไทยปัจจุบันมีคนใช้ภาษา 62 ภาษา  ไทย - ซิกข์ ไทย - มุสลิม ไทย - ฮินดู  ไทย - ปาทาน ไทย - ลาว   ไทย - เขมร   ทั่วไปหมด  เมืองไทยเป็นเมืองที่เป็นศูนย์รวมของคนเชื้อชาติต่าง ๆ ถามว่าเป็นคนไทยไหม  ผมรู้สึกว่า  ผมเป็นคนไทยเพราะผมเกิดในแผ่นดินไทย  ผมรักแผ่นดินไทย  แต่ถ้าเผื่อบอกว่าคนไทยเชื้อชาติไทย  มันไม่ใช่แล้วลำบากนะ  ผมนี่เชื้อชาติมอญกับเชื้อชาติจีนนะ  คุณเป็นอะไรผมไม่รู้

 

ผู้ดำเนินรายการ

นี่คือข้อค้นพบของท่าน

 

ประธาน กอส.

เราไม่ได้มาพบ  เราไม่ได้มาฉลาด  ไปอ่านของเก่า ๆ ดู  แล้วไปอ่านสิ่งที่คนไทยมลายูเขามีความรู้สึก  ผมบอกคุณทักษิณฯ  เวลาท่านนายกรัฐมนตรีกลับไปเชียงใหม่  คุณก็พูดภาษาคำเมือง  ส.ส.ที่ไปอีสานกลับไปก็ไปพูดภาษาลาว  เด็กที่เกิดในอีสาน  เกิดมาก็ใช้ภาษาลาวจะไปเรียนภาษากลางตอน 3 - 4 ขวบ ไปเรียนที่โรงเรียน พอกลับมาบ้านไม่ได้พูดภาษาไทย  พูดภาษาลาว  ผมว่าเราต้องมองใจเราต้องกว้างว่าเขาเป็นไทย - มลายู  นับถือศาสนาอิสลาม 

 

ผู้ดำเนินรายการ

 มองแล้วเพื่อที่จะกำหนดนโยบายในการแก้ปัญหา

 

ประธาน กอส.

อย่าไปบอกว่าเขาไม่ใช่คนไทย 

 

นายกรัฐมนตรี

ตรงนั้นคงไม่ใช่  ว่าเราจะไปบอกว่าเขาไม่ใช่คนไทย  

 

ประธาน กอส.

 แต่เขารู้สึก

นายกรัฐมนตรี 

คือจริง ๆ แล้วถามว่าคนแยกดินแดนมีมากไหม  ถ้าถามว่าจำนวนนี้ไม่มากหรอก  แต่มากพอที่จะสร้างปัญหา  ที่ก่อกวนทุกวันนี้  สมมติว่ามี 10,000 คนมากไหม  10,000 คน มันแยกดินแดนไม่ได้หรอก  ยังมี 1,000,000 กว่าคน  แต่มันสร้างปัญหาได้ไหม  สร้างได้  สร้างรายวัน  ยิงคนวันละ 2 - 3 คน   ไม่ต้องใช้คนถึง 10,000 คน  คน 2,000 - 3,000 คนก็ทำทุกวัน  คืออันนี้ถามว่ามากไหม  มันไม่มากพอที่จะแยกดินแดน  แต่มากพอที่จะสร้างปัญหา 

 

ผู้ดำเนินรายการ

แต่มากพอที่จะทำให้ชาวบ้านไม่ร่วมมือกับรัฐได้เหมือนกันนะครับ

 

นายกรัฐมนตรี         

 แน่นอนครับ  เพราะว่าถ้ามันสร้างสถานการณ์

 

ประธาน กอส.

อันนั้นแหละคือโจทย์ของเรา  คนอีก 1,800,000คน

 

นายกรัฐมนตรี

คือคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ  อยากจะให้คนส่วนใหญ่ได้สบายใจว่า     เราถือว่าเขาเป็นคนไทย  เรายอมรับวัฒนธรรม  เรายอมรับความเชื่อ  ความนับถือศาสนาของเขานะ  อันนี้คือสิ่งที่เราต้องการ  คือต้องการคนส่วนใหญ่  แน่นอนว่ามีคนส่วนน้อยที่จะต้องทำตามกฎหมายบ้านเมือง    อยู่แล้ว ครั้นไม่ทำก็ไม่ได้  แต่ทำอย่างไรระหว่างการบังคับใช้กฎหมายบ้านเมืองนั้น  ที่คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจดีว่า  ที่ทำไปตรงนั้นก็เพราะคนเหล่านั้นทำผิดกฎหมายบ้านเมือง  ไม่ได้เพราะอคติใด ๆ ทั้งสิ้น  อันนี้คือสิ่งที่เราต้องการจะแยกให้ชัด  และแนวทางสมานฉันท์คือแนวทางที่พึงปรารถนา เป็นแนวทางที่ข้าราชการทุกคนจะต้องปฏิบัติ  ต้องยึดถือ  แต่ว่าการบังคับใช้กฎหมายนั้นต้องบังคับใช้กฎหมายแบบตรงไปตรงมา  ไม่กลั่นแกล้ง  และโปร่งใส  อันนี้ต้องชัดเจน  ถึงจะทำให้ความเชื่อถือเกิดขึ้น  แนวทางสมานฉันท์ก็เป็นที่ยอมรับ 

 

ผู้ดำเนินรายการ

ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีไม่ได้ละเลยนิติอย่างที่ท่านอานันท์ฯ ได้พูด  มีความเป็นกลาง

 

นายกรัฐมนตรี

ไม่ได้ละเลย

ประธาน กอส.   

เมื่อสักครู่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ตอบแทนผมว่าความสมานฉันท์ สมานฉันท์กับใคร  ผมว่านั่นไม่ใช่คำถาม  ความสมานฉันท์คือต้องพยายามจะสร้างความปรองดองซึ่งกันและกัน  ลดความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน   ลดความระหวาดระแวง  ลดความไม่เชื่อถือซึ่งกันและกัน  ลดความเกลียดชังซึ่งกันและกัน  สิ่งเหล่านี้  ถ้าเผื่อเราลดสิ่งเหล่านี้แล้ว  ประชาชนจะรู้สึกว่าเรามาใกล้กันมากขึ้น  พอเข้ามาใกล้กันมากขึ้นก็มีความปรองดองมากขึ้น  ก็มีความสมานฉันท์ 

 

ผู้ดำเนินรายการ

ถ้าอย่างนั้นก็มาถึงคำถามสำคัญ  ที่ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในช่วง 1- 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา  ในเรื่องพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  ทำไมจึงเลือกที่จะใช้วิธีในการออกกฎหมายฉบับนี้ครับ

 

นายกรัฐมนตรี

อันนี้ก็มาจากการที่ว่าเราใช้กฎอัยการศึกมานานมากแล้ว  ไปที่ไหน  ต่างประเทศบอกว่าเราใช้   Martial   Law   ซึ่งประเทศประชาธิปไตยแล้วใช้กฎอัยการศึก ดูไม่ค่อยดีแน่ 

 

ผู้ดำเนินรายการ

 คนข้างนอกมองแล้วดูอย่างไรไม่รู้

 

นายกรัฐมนตรี

แล้วประเทศไหนก็ตามจะมีกฎหมายเพื่อบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินทุกประเทศ ไม่ว่ามาเลเซีย  แม้กระทั่งอังกฤษ  กำลังจะออกกฎหมายที่เรียกว่า  Prevention  of Terrorism  Act ช่วงนี้กำลังเตรียม  กำลังพูดคุยกันระหว่างเจ้าหน้าที่  ระหว่างพรรคฝ่ายค้าน  ของเราที่ออกพระราชกำหนดเพราะเราต้องการไปแทนกฎอัยการศึก  เราเลิกกฎอัยการศึก  มาใช้พระราชกำหนด  แล้วพระราชกำหนดตรงนี้ต้อง     เข้าสภาฯ เปิดสภาฯ ก็ต้องเข้า  เปิดสภาฯ วาระแรกต้องพิจารณาเลย วันแรก วาระแรกต้องพิจารณาพระราชกำหนดนี้  เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ   ทีนี้พระราชกำหนดที่ออกมานี้ใช้แทนกฎอัยการศึก  แล้วมีการคุมเป็นชั้น ๆ หนึ่ง  ต้องเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน   ถ้าสถานการณ์ฉุกเฉินใช้มาตรการสูงสุดได้ 6 ข้อ  แต่ถ้าฉุกเฉินและรุนแรงใช้ได้อีก 10 ข้อ  เป็น 16 ข้อ  แต่ว่ามีให้ใช้อย่างนั้นจริงอยู่  แต่จะใช้แค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  ไม่จำเป็นต้องใช้หมด  แล้วแต่สถานการณ์  เพราะสถานการณ์แต่ละที่ไม่เหมือนกัน  แล้วยังไม่พอครับ  ต้องคณะรัฐมนตรีเท่านั้นที่จะประกาศว่าฉุกเฉิน  แล้วประกาศครั้งหนึ่ง 3 เดือน  พออีก 3 เดือนจะมาต่อ  ก็ต้องเข้ามาในคณะรัฐมนตรีอีก  คณะรัฐมนตรีจะต่อก็ต้องมาคุยกันว่ายังฉุกเฉินอยู่หรือไม่  ถ้าไม่ฉุกเฉินแล้วไปต่อต้องไปตอบสังคม  ถ้าเหตุการณ์เรียบร้อยแล้วไปต่ออีก  มันต่อไม่ได้  อันนี้คุมกันทุก  3 เดือน  แล้วยังไม่พอ  ถ้าคณะรัฐมนตรีไปประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้ง ๆ ที่ไม่ฉุกเฉิน  สภาฯ ตรวจสอบได้  สมัยก่อนกฎอัยการศึก  แม่ทัพภาคประกาศได้เลย  รัฐบาลไม่ต้องรับรู้เลย  เขาประกาศเองเลย  แล้วจะมารับรู้ตอนจะเลิก  ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลิก  แต่ตอนประกาศไม่ต้องขอ  นี่เราประกาศต้องผ่านคณะรัฐมนตรี  ทีนี้มาตรการต่าง ๆ คณะรัฐมนตรีเป็นคนบอกอีกว่าจะให้ใช้แค่ไหน  อย่างพระราชกำหนดนี้เมื่อร่างมา  ก็ส่งให้ท่านอานันท์ฯ  ดูก่อน  เมื่อท่านดูเสร็จแล้วท่านเป็นห่วง  ผมยังไม่เห็นเลยนะ

 

ประธาน กอส.

ผมไม่ได้ดูก่อนครับ

 

นายกรัฐมนตรี

ไม่ใช่ครับ  คือเสร็จแล้วแต่ก่อนที่จะเข้าคณะรัฐมนตรี  ท่านได้เห็นก่อนผมด้วย

 

ประธาน กอส.

อันนั้นไม่ใช่พระราชกำหนด  อันนั้นเป็นประกาศ

 

นายกรัฐมนตรี

อันนั้นเป็นร่างประกาศ 11 ข้อ ท่านดูก่อน  เสร็จแล้วท่านก็เป็นห่วง  พอท่านห่วง  ท่านก็มาเล่าให้ผมฟัง  ผมบอกว่าผมยังไม่เห็น  พอท่านเล่าให้ผมฟัง  ผมก็เอาข้อห่วงใยของท่านไป  ผมเอาเข้าคณะ     รัฐมนตรีแล้วผมก็ทอนลง  ให้เหลือเท่าที่จำเป็น  วันนี้ส่วนใหญ่ที่เก็บไว้คือเก็บไว้เท่า ๆ  กับกฎอัยการศึกที่มีอยู่เดิม  แต่ว่าเป็นการที่ประกาศโดยคณะรัฐมนตรี  ไม่ได้ประกาศโดยแม่ทัพ  ซึ่งสูงขึ้นมาและรับผิดชอบทางการเมืองต่อสภาฯ  แล้วยังไม่พอ  เราก็ควบคุมการใช้  ผมได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงรับสั่งว่า  ขอให้นายกรัฐมนตรีดูการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ด้วย  ที่จะไม่เกินเลย  ไม่ไปละเมิดสิทธิของประชาชน  ทรงห่วงใย  เพราะฉะนั้นผมต้องรับใส่เกล้าเลย  ผมต้องดูเป็นพิเศษว่า สิ่งเหล่านี้ที่ประชาชนห่วงใยกันทั้งหลาย  จะไม่มี 

 

ผู้ดำเนินรายการ

จริง ๆ แล้วอย่างที่ผมเรียนถามตอนต้นว่ามันถึงเวลาแล้วที่ต้องประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้  ทั้ง ๆ ที่มีกฎอัยการศึก  แม้ว่าสายตาจากภายนอกมองเข้ามา  เขาอาจจะมองไม่ค่อยดี   แต่ว่าจำเป็นแล้วหรือครับที่ต้องประกาศใช้

 

 

นายกรัฐมนตรี

จำเป็นครับ  เพราะว่าอย่างกรณีปัญหาวันนี้ของเรา  เจอปัญหาหนึ่งคือว่าหาพยานบุคคลยากมาก  ทั้ง ๆ ที่รู้ นาย ก ไปยิงเขามา  ในหมู่บ้านนี้รู้กันหมด  เป็นฮีโร่ไปยิงเขามา  จับไม่ได้  ไม่มีพยานบุคคล  เราจะไปเอาวัตถุพยานก็ไม่รู้จะไปเอาอย่างไร  ก็ใช้ระบบเชิญตัวมาสอบ  เมื่อเชิญตัวมาสอบ  เรายังไม่จับกุม  เชิญมาสอบได้  แล้วเชิญมานี่ก็ต้องเชิญอย่างโปร่งใส  บอกให้ผู้ปกครองเขารู้ด้วยว่า  เชิญมานะ  อยู่ที่นี่นะ  ถ้าเมื่อไรจะต้องมีการจับกุม  ก็ต้องไปขออำนาจศาลครับ  จับกุมเองไม่ได้  ต้องไปขออำนาจศาลจับกุม  แต่ถ้าเชิญตัวมาสอบก็หมายความว่าเขายังไม่ได้เป็นผู้ต้องหา  จะไปล่ามโซ่  ไปใส่กุญแจมือ  ไปขังไม่ได้เลยครับ  พ่อแม่ ใครอยากมาเยี่ยมมาคุยได้  ไม่มีปัญหา  เพียงแต่ว่าขอเอามาอยู่มาคุยกันเพื่อสอบสวน ขอข้อมูลเขาได้  ซึ่งอันนี้เป็นการที่จริง ๆ  ลองไปอ่านลึก ๆ แล้ว  ทุกคนจะรู้ว่ามันไม่ได้เป็นกฎหมายที่น่ากลัวเลย  ซึ่งเราได้อธิบายให้ทูตต่างประเทศต่าง ๆ ที่ฟังก็เข้าใจ  เพราะหลายประเทศบางทีกฎหมายแรงกว่าเราอีก   ประเทศที่ต้นแบบประชาธิปไตยทั้งหลายยังแรงกว่าเรามาก

 

 

ผู้ดำเนินรายการ

ท่านอานันท์ฯ เห็นอย่างไรครับกับพระราชกำหนดฉบับนี้ที่รัฐบาลประกาศใช้ 

 

ประธาน กอส.

ผมถือว่าพระราชกำหนดได้ออกมาแล้วนะครับ ในแง่ของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ   รู้สึกว่ามีบางมาตราที่อาจจะสร้างปัญหาในอนาคตได้  ก็ขึ้นอยู่ที่ว่า ถ้าเผื่อส่วนใหญ่ประชาชนไว้ใจว่า  รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินไปด้วยความเที่ยงธรรม  ด้วยความชอบธรรม  ผลร้ายข้างเคียงอาจจะน้อยลงไป  ประเด็นสำคัญคือว่าประชาชนไม่ไว้ใจว่า  รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้กลไกนี้ไปในทาง   ที่ถูกต้อง  แต่อันนี้ก็ต้องดูในอนาคต  ผมอยากจะพูด 2 - 3 ประเด็นที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงอันนี้สำคัญมากครับ  คือผมถือว่าปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาที่เหมือนกับ เรากำลังเป็นโรคชนิดหนึ่ง  ต้องทานยา      2 ขนาน  ปราบนี้ไม่มีใครเขาว่านะ  ตราบใดที่เป็นการปราบภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย  และเคารพในสิทธิมนุษยชน  และปราบคนที่ทำผิดด้วย  อันนี้สำคัญมาก  เพราะว่าเมื่อไรซึ่งในอดีตถ้าเผื่อปราบโดยไม่อยู่ในกรอบของกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายอะไร  และกระทบกับสิทธิมนุษยชน  และจับตัวผิด  ปราบคนผิด  อันนั้นครับสร้างปัญหามาก  สร้างความไม่ไว้ใจ  สร้างความระแวง  ผมเรียนท่านนายกรัฐมนตรีหลายครั้ง  เรื่องของการที่คนหายไป  ซึ่งศัพท์ธรรมดาเรียกว่าถูกอุ้ม  ปัญหาที่แคลงใจมากในประชาชนคือว่า  ไม่ใช่กรณีที่ทนายคุณสมชาย ฯ (นายสมชาย  นีละไพจิตร)  หายตัวไปเท่านั้น  แต่มีอีกหลายสิบหรืออาจจะเป็นร้อย  ที่หายไปในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา  ผมก็เรียนท่านนายกรัฐมนตรี  มันเป็นที่จำเป็นนะครับ  ในเรื่องของการสร้างความสมานฉันท์  จะต้องทำทุกอย่างโดยเปิดเผย  และต้องเปิดเผยความจริง  ต้องให้ความชอบธรรม  ราษฎรเขารู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความยุติธรรม  สมมติตี 2 ตี 3 ก็ไปบุกรุก  ไปจับตัวเขาไป  เอาไปไหนก็ไม่รู้   ลูกเมียก็ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน

 

ผู้ดำเนินรายการ

อันนี้เกี่ยวกับพระราชกำหนดไหมครับ

 

ประธาน กอส.

ไม่เกี่ยว  แต่ผมกำลังเล่า  เล่าเรื่องที่เกิดในอดีต  ทีนี้ประเด็นของผมคือว่า  คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ  เมื่อสักครู่นี้ผมไม่มีโอกาสพูด  คุณถามผม  คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ  จำเป็นต้องอาศัยหลักการของการเปิดเผยความจริงทั้งหมด  อาศัยหลักการที่จะให้ความชอบธรรม ให้ความยุติธรรม  ต้องอาศัยหลักการของการยอมรับผิด  อันนั้นละครับที่จะลดความไม่เข้าใจ  ที่เราจะเข้าใจและเข้าถึงเขา ประชาชนเขายังมองอยู่  ซึ่งผมก็เรียนเตือนท่านนายกรัฐมนตรีทักษิณ  ตลอดเวลา  เรื่องกรณีหายตัวของคุณสมชายฯ และอีกหลายคดี  แม้แต่เรื่องเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอ     ตากใบ  จังหวัดนราธิวาส  ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีกำลังไล่ตามอยู่  กระบวนการนี้ช้ามาก ๆ ประชาชนก็อึดอัด  ทำให้เกิดความสงสัยในทางที่ไม่ถูก  ว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ทำ  หรือผู้ใหญ่ของรัฐเป็นผู้บงการ  มันก็เสียกับรัฐเอง  อันนี้ผมก็ต้องทำให้เป็นที่ประจักษ์  แต่ทีนี้พอถึงว่ายา 2 ขนานนี้ ปราบต้องปราบ ขณะเดียวกันต้องสมานฉันท์ไปด้วย  ไม่ใช่เลือกว่าทำอันนี้ไม่ทำอันนี้  ไม่ใช่ครับ  ทำพร้อมกันไป  แต่ผมอยากเห็นว่าเวลาทำอันแรก  คือปราบให้คำนึงถึงประเด็นของสันติวิธีมากขึ้นกว่าในอดีตเท่านั้น  

 

นายกรัฐมนตรี

อันนี้ค่อนข้างชัดนะครับ   ตอนนี้ผมไปให้นโยบายไปตอกย้ำการทำงานชัดเจนว่า   ทุกอย่างต้องทำภายใต้กรอบของกฎหมายและตรงไปตรงมา    ที่บอกว่าในอดีตอาจจะมีความบกพร่องของเจ้าหน้าที่บางคนก็เกิดขึ้นได้  ซึ่งถ้าเรารู้ตัวก็ต้องลงโทษ     อย่างกรณีการหายตัวของทนายสมชายฯ   เมื่อเราสืบทราบว่ามีการเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ   ก็ได้มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ   เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ถูกดำเนินคดีอยู่    แต่การตั้งข้อหาว่าฆ่าคนตายนั้นตั้งไม่ได้    เพราะยังไม่พบหลักฐานการตาย    อันนี้เป็นหลักของกฎหมายเรา    ส่วนการเปิดเผยข้อมูลนั้น   คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ส่งรายงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ  ทั้งเรื่องกรือเซะและเรื่องของตากใบให้คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ  เอาไปทั้งหมดเลย    แล้วไปเลือกเอาเลย     อยากเปิดเท่าไรก็เปิด   และก็เปิดแล้ว 

 

กรณีที่ผู้ต้องหาคดีตากใบ  58   คน  ท่านอานันท์ฯ   ก็ให้ผมช่วยเร่งรัดว่าคนไหนที่ไม่เกี่ยวข้องเป็นไทย

มุงช่วยปล่อยเถิด  ซึ่งผมได้มอบให้พลตำรวจเอก ชิดชัย  วรรณสถิตย์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

ว่าการกระทรวงมหาดไทย    ท่านพลตำรวจเอก ชิดชัยฯ  ก็เชิญอัยการสูงสุด  อัยการภาค 9    อัยการจังหวัดยะลามาคุย  และเชิญคนของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ  ไม่ว่าจะเป็นดร.โคทม  อารียา   หรือนายวรวิทย์  บารู  รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  วิทยาเขตปัตตานี  มาร่วม

คุยกันกับอัยการ  ในรอบแรกคุยแล้วดูแล้ว  ทางพนักงานสอบสวนก็ยืนยันในพยานหลักฐานว่า  คนเหล่านี้ไม่ใช่ไทยมุง   มีหลักฐานค่อนข้างจะชัดเจน  ก็ยังไม่สามารถที่จะแยกแยะออกไปได้   ทีนี้ก็ลงไปดูในรายบุคคลว่า  รายบุคคลเป็นอย่างไรบ้าง คนไหนที่หลักฐานไม่แน่นหนา  อัยการอาจจะพิจารณาไม่ฟ้องได้   ก็เป็นไปตามพระราชบัญญัติอัยการ  ซึ่งเราก็ขอความร่วมมือ   แต่เราไปสั่งการไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมไม่ได้  กรณีที่จะไม่ให้ฟ้องเพื่อความสันติสุขย่อมทำได้    แต่ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังดูอย่างละเอียด  โดยที่ตัวแทนของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ ก็ไปร่วมดู

 

ผู้ดำเนินรายการ

ขอย้อนกลับมาประเด็นของพระราชกำหนด   ท่านอานันท์ฯ  บอกว่าปราบก็ปราบ   แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย   ภายใต้กรอบพระราชกำหนดนี้เป็นอย่างไร   แต่ที่แน่ ๆ  เห็นเสนอ  14  ข้อ  เพื่อสนับสนุนกรอบนี้หรือเปล่า

 

ประธาน กอส.

ผมจะไม่พูดถึงข้อกังวลใจของเราในพระราชกำหนดเป็นอย่างไร  ผมเริ่มต้นจากว่ามีพระราชกำหนดแล้ว  

 

ผู้ดำเนินรายการ

พระราชกำหนดนี้เป็นกฎหมายแล้ว  แต่มาตรการ  14  ข้อนี้เสนอตามมาถูกไหมครับ

 

ประธาน กอส.

14  ข้อเสนอขึ้นมาเพราะเป็นเรื่องที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในระบบกฎหมายของไทย   คือเดิมทีคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ ท่านนายกรัฐมนตรีทราบดีว่า  เราจะเพ่งเล็งไปถึงเรื่องระยะยาว   เราจะสร้างแผนแม่บท  เราจะสร้างแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว   ไปปรับปรุงด้านการศึกษา   ไปหางานทำ    แต่ทีนี้เหตุการณ์ประจำวันไม่ได้ลดลงไป    มีแต่มากขึ้น     และจับตัวคนร้ายไม่ได้   รัฐบาลคิดว่าต้องมีกฎหมายหรือต้องมีอำนาจมากขึ้น    ผมมองพระราชกำหนดมองในลักษณะนี้ครับว่า  พระราชกำหนด     ฉบับนี้จริง ๆ แล้วคืออะไร   คือการสร้างกระบวนการการใช้อำนาจใหม่เท่านั้น    เพราะแต่เดิมทีมี พระราชบัญญัติ หรือ  20  พระราชบัญญัติอะไรต่าง ๆ อันนี้เป็นกระบวนการจัดการกระบวนการใหม่ในเรื่องของการใช้อำนาจ    มีอะไรที่ไม่ชอบธรรม   มีอะไรที่จะเกินเลยไปกว่ากฎหมายหรือไม่

 

นายกรัฐมนตรี

เดิมทีเดียวมีกฎหมายอยู่หลายฉบับของเดิม   มีอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบ้าง   มีอยู่ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน   พระราชบัญญัติสอบสวนคดีพิเศษ  ในกฎอัยการศึกบ้าง  แต่เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปทำงาน เขาบูรณาการการทำงาน   แต่ไม่ได้บูรณาการการใช้กฎหมาย  จึงเอากฎหมายที่กระจายอยู่ทั่ว ๆ   ไปมาเรียบเรียงเป็นกฎหมายใหม่   รวมทั้งกฎอัยการศึกบางข้อที่จะใช้ประโยชน์ก็ออกมาเป็นกฎหมายใหม่ เพื่อเจ้าหน้าที่ที่ไปแก้ปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉิน  รวมทั้งการเกิดเหตุการณ์สึนามิด้วย    ก็สามารถใช้กฎหมายฉบับนี้ได้  เช่น  ระงับการกระทำใด ๆ   ที่จะก่อให้เกิดความแย่ลงไปอีก  ก็ระงับได้   อะไรทำนองนี้ แต่การใช้ต้องเลือกใช้ตามขนาด  ตามสถานการณ์   เพราะฉะนั้น  ผู้บังคับบัญชาที่ไปดูและควบคุมการใช้จะต้องใกล้ชิดและคอยอบรม  คอยชี้แจงเจ้าหน้าที่  เพื่อให้มั่นใจว่า   เขาใช้อำนาจโดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

ประธาน กอส.

มี 3 ข้อที่คุณถามผม   ผมต้องบอกว่า  พระราชกำหนดนี้เรามีข้อกังวลใจอะไร    ข้อกังวลใจที่พระราชกำหนดข้อแรกคือ  เรื่องของการให้อำนาจไปจับผู้ที่เป็นที่สงสัย   อันนี้อยู่ที่การใช้อำนาจนี้มากกว่า

 

ผู้ดำเนินรายการ

ไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย  อยู่ที่คนใช้ใช่หรือไม่ครับ

 

ประธาน  กอส.

ให้ผมพูดให้จบเสียก่อน  เพราะฉะนั้นเวลาผมสงสัยใคร  แล้วผมไปจับได้ตามกฎหมายใหม่   ต้องแน่ใจนะว่าจับคนผิดจริง   จับส่งเดชยุ่งนะ  จับโดยไม่มีเป้าหมายไม่แม่นยุ่งนะ   อันที่สองคือเรื่องของการเตือนสื่อ       สื่อสามารถที่จะลดสิทธิเสรีภาพของสื่อ   เขาก็เป็นห่วงกันมาก   และทั้งหมดนี้อยู่ที่ว่ารัฐจะใช้อำนาจอย่างไร        ถ้าเผื่อรัฐใช้อำนาจอย่างชอบธรรม   ความไม่สบายใจจะไม่มี   แต่เนื่องจากเขาไม่เชื่อรัฐอยู่แล้ว   เขากลัวว่ารัฐจะใช้อำนาจนี้ไปในทางที่ไม่เหมาะสม  และไม่ชอบธรรม  อันที่สามคือ  มีการเขียนว่าเจ้าหน้าที่ใด ๆ ก็ตามที่ทำหน้าที่ตามพระราชกำหนดนั้น   จะได้รับการคุ้มครองไม่ถูกฟ้องร้องในศาลแพ่งและศาลอาญา    คล้าย ๆ กับว่าเป็นการให้ใบอนุญาตฆ่าคนได้   ความหมายของความรู้สึกของคน

 

ผู้ดำเนินรายการ

รุนแรงขนาดนั้นหรือครับ

 

นายกรัฐมนตรี

เดี๋ยวผมต้องอธิบายตรงนี้แน่

 

ประธาน กอส.

คือความรู้สึกของคน  มันหลายอย่าง   เราจะต้องดูแลเรื่องความรู้สึกของประชาชน  ความรู้สึกของคน    ผมไม่ได้บอกว่าความรู้สึกถูกหรือผิด    แต่ถ้าเผื่อเรารู้สึกว่า ความรู้สึกเขาเป็นอย่างนี้   ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องแก้ไขความรู้สึกอันนั้นเท่านั้น

ผู้ดำเนินรายการ

เพราะฉะนั้นต้องมีหลักประกันครับท่านนายกรัฐมนตรี

 

นายกรัฐมนตรี

อันนี้เดี๋ยวต้องอธิบายให้ฟัง  คือถ้าอ่านในกฎหมายแล้วจะรู้    หนึ่ง  ไปจับไม่ได้   จับต้องไปขอศาล        แต่ถ้าไปเชิญตัวมาสอบสวนได้    ยังไม่ถือเป็นผู้ต้องหานะครับ    ถ้าเมื่อไรจับคือถือเป็นผู้ต้องหาแล้วต้องใช้อำนาจศาล

 

ผู้ดำเนินรายการ

และวิธีปฏิบัติถ้ายังไม่ใช่ผู้ต้องหา

 

นายกรัฐมนตรี

ยังไม่ใช่ผู้ต้องหาปฏิบัติแบบผู้ต้องหาไม่ได้   จะไปใส่กุญแจมือไม่ได้   จะไปขังเลยไม่ได้  ต้องเชิญมาสอบสวนได้ เมื่อคิดว่าจะจับกุมเขาแล้ว   จะปฏิบัติกับเขาเยี่ยงผู้ต้องหาแล้ว   ต้องไปขออนุญาตศาล   อันนี้คือกฎหมายเขียนไว้อย่างนี้นะครับ   ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ อยากไปจับก็จับได้เลยไม่ใช่นะครับ   คือ         ส่วนใหญ่เราวิจารณ์กันโดยยังไม่ได้อ่าน  ถ้าอ่านแล้วจะรู้ว่าไม่ใช่   สอง  เรื่องสื่อ   ให้อำนาจก็จริงอยู่   แต่ตอนนี้ที่ให้ไปใช้   ให้ใช้เฉพาะเรื่องของการแจกซีดี  ยกตัวอย่าง ไปเอาการตัดคอที่อิรัก   ซึ่งเป็นการตัดคอกันที่อิรัก  เอามาทำซีดีแล้วเผยแพร่กันอยู่ในพื้นที่   และบอกว่านี่คือเจ้าหน้าที่ไทยตัดหัวคนไทยมุสลิม  และไปโฆษณาชวนเชื่ออย่างนี้    อย่างนี้ต้องห้ามต้องจับกุมได้   รัฐไม่มีตรงนี้ทำไม่ได้   เพราะฉะนั้นเรื่องของการสื่อเราจะใช้เตือนกันเท่านั้นเองส่วนใหญ่แล้ว จะไม่มีการไปบอกสั่งปิดสื่อ  ไม่ค่อยมีใครทำหรอก  เพราะประเทศเราเป็นประชาธิปไตยมากแล้ว    แต่ว่าเราเห็นเรื่องหนึ่งไหม    ระเบิดที่กรุงลอนดอน  ประเทศอังกฤษ  เราเห็นภาพสยองขวัญออกมาในสื่อไหม   ไม่มี   ภาพเหตุการณ์  11   กันยายน   2544   ก็ไม่มีเลย  นี่คือจิตสำนึกแต่ของเราเจออะไรรู้ไหม   ขนาดมีดยังเอาคอมพิวเตอร์ไปแต่งเป็นรูปกริด  เพื่อให้เกิดความเกลียดชัง อันนี้คือจรรยาบรรณซึ่งมีอยู่   ถ้ามีอย่างนี้เราต้องเตือนกัน

 

ผู้ดำเนินรายการ

ท่านอานันท์ฯ  กำลังจะบอกว่า  จริง ๆ ไม่ได้ว่าอะไร  แต่เป็นห่วงว่าจะนำไปใช้ 

 

นายกรัฐมนตรี

เรื่องที่สามที่บอกว่า ไปทำอะไรแล้วไม่ผิด   ความจริงประเด็นตรงนี้ต้องถามก่อนว่า  ไม่ใช่   มีเงื่อนไขอยู่ 3-4  ข้อ  ที่จะบอกว่า  หนึ่ง   ต้องทำไปโดยสุจริต   สอง  เป็นเหตุการณ์ที่จำเป็นจะต้องทำ  อาทิเช่น  การป้องกันตัว   ซึ่งปกติแล้วมีกฎหมายว่า  เวลาปะทะกันป้องกันตัวก็สามารถยกขึ้นมาอ้างได้อยู่แล้ว   แต่อันนี้ยังบังคับด้วยว่า ต้องทำโดยสุจริต  ต้องทำโดย  3-4  ข้อ  ไม่ใช่อยู่ ๆ  ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ   ไม่ใช่นะครับ   กฎหมายข้อนี้ถ้าอ่านดีๆ แล้วจะเห็นว่า ไม่ได้เป็นกฎหมายที่อนุญาตให้ทำอะไรก็ได้   แล้วไม่ต้องโดนฟ้อง   ไม่ใช่ครับ   แต่การรับผิดทางแพ่งยังมีอยู่   โดยที่รัฐจะต้องจ่ายชดเชย    สมมติว่าเจ้าหน้าที่โดยบริสุทธิ์ไปยิงคนตาย แต่ว่าคนตายนั้นบังเอิญเป็นคนบริสุทธิ์    รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยให้  อันนี้ยังมีอยู่ ทำได้อยู่  คือถ้าจะดูในข้อความทั้งหมดแล้วไม่ได้แรงอย่างที่คิด  

 

ประธาน กอส.

แต่หนึ่งข้อความนั้นเป็นที่ก่อให้เกิดความสงสัย  ให้มีความรู้สึก  อยู่ที่ว่าใครจะไปพิสูจน์ว่าทำโดยบริสุทธิ์ทำโดยสุจริตใจ   อันนี้ใครจะต้องเป็นผู้พิสูจน์  

 

ผู้ดำเนินรายการ

มาตรการ  14 ข้อที่ กอส.เสนอเพื่อสนับสนุนการออกพระราชกำหนดนี้หรือไม่  

 

ประธาน กอส.

ไม่ได้เกี่ยวกับพระราชกำหนดโดยตรง  แต่ที่ผ่านมาเราเร่งรัด   เราไปทำเรื่องระยะยาว   เราคิดว่าทางที่ดีควรจะช่วยประสานงานกับทางรัฐบาลให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น   ต่อไปนี้ทุกเดือนสองเดือนเรามีความคิดอย่างไรก็ส่งมา   เป็นการเสริมพลังความคิดเท่านั้น  

 

นายกรัฐมนตรี

ท่านส่งมาวันจันทร์เย็น   วันอังคารเช้าผมเอาเข้าคณะรัฐมนตรีเลยและคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ  และจะมอบให้พลตำรวจเอก ชิดชัยฯ  ไปดูในรายละเอียดว่า บางข้อมีข้อที่น่าสังเกตอาทิเช่น  เรื่องการห้ามพกอาวุธปืน  เป็นต้น  ซึ่งมีเหตุผลที่จะต้องปรึกษาหารือกันฟังกันว่า เรื่องห้ามพกอาวุธปืน   ห้ามได้จริงหรือเปล่า  ถ้าห้ามจริงได้ทั้งหมด   ห้ามมีปืนห้ามมีอาวุธเลยในนั้น  ถ้าห้ามจริงได้ก็ดี เพราะมันฆ่ากันไม่ได้แล้ว  ถ้าห้ามหมด แต่ข้อเท็จจริงแล้วถ้าห้ามได้เฉพาะคนดี  แต่คนไม่ดียังเหมือนเดิมอยู่   อย่างนี้ต้องคิดกันอีกทีว่าควรหรือเปล่า   แต่เห็นชอบในหลักการหมด   เพียงแต่ว่าข้อสังเกตบางข้ออาจจะต้องให้พลตำรวจเอก ชิดชัยฯ  ซึ่งท่านเป็นกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ  อยู่ด้วยลองไปคุยกันปรึกษาหารือกันว่า บางข้ออาจจะต้องซักซ้อมความเข้าใจกันหน่อย  แค่นั้นเอง

 

ผู้ดำเนินรายการ

ผมสรุปตรงนี้แล้วกัน  เราใช้เวลากันเรื่องพระราชกำหนดพอสมควร    หลัก ๆ รัฐบาลยังยึดแนวทางสมานฉันท์  

 

นายกรัฐมนตรี

แน่นอนครับ  

 

ผู้ดำเนินรายการ

เรื่องของกฎหมายใช้จัดการเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหา

 

นายกรัฐมนตรี

ใช่ครับ  คนส่วนใหญ่มากเลย  90  กว่าเปอร์เซนต์คือคนดี  และต้องการรักสันติ   แล้วอยากได้รับความไว้วางใจ   ได้รับความเข้าใจ   เมื่อเข้าใจและเขาไว้ใจซึ่งกันและกันแล้ว  เขาจะเกิดความร่วมมือมากขึ้น  ทำให้เราสามารถที่จะจับกุมคนที่ทำผิดกฎหมายบ้านเมืองได้มากขึ้น  แต่คนส่วนน้อย   แต่มากพอที่จะสร้างปัญหาทุก  วันนี้ยังไงก็พูดไม่รู้เรื่องแน่   ต้องดำเนินตามกฎหมายบ้านเมืองก็ต้องดำเนินการไป   แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องทำตามกฎหมาย   แล้วเคารพสิทธิมนุษยชนด้วย 

 

ผู้ดำเนินรายการ

การแก้ปัญหาต้องสร้างสมดุลอย่างไร   ถ้าจะเลือกสองแนวทางอย่างนี้คู่กันไป   ต้องให้เกิดสมดุลและความพอดีอย่างไร   ถึงจะแก้ปัญหาได้ 

 

ประธาน กอส.

คือคนที่อยู่ตรงกลางประมาณ  7  แสนล้าน  8  แสนล้านคน   ขณะนี้ไม่ใช่เขาไปอยู่แนวร่วมกับฝ่ายรุนแรง   แต่เขาอยู่เฉย  เขาไม่ร่วมมือ   เพราะเขามีความกลัว  อันนี้ผมว่าทั้งคนไทยพุทธและไทยมุสลิมมีความกลัวด้วยกันทั้งนั้น    เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้เขาลดความกลัว  ลดความไม่ไว้ใจ    ลดความเกลียดชัง   แล้วหันมาร่วมมือกับรัฐบาล  เห็นอะไรไม่ดี  เห็นว่าอะไรเป็นอะไร  ก็มาเล่าให้รัฐบาลฟัง      รัฐบาลจะได้มีพยานปาก  เพราะขณะนี้รัฐบาลใช้คำว่า  ดำมองหาเข็มอยู่ในห้องมืด   ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน            ถ้าเผื่อประชาชนให้ความร่วมมือ    จุดไฟฉายบ้าง  จุดไฟแช็กบ้าง   รัฐบาลก็จะได้คลำหาเสี้ยนหนามได้ง่ายขึ้น   หรือหาเข็มได้ง่ายขึ้น

 

นายกรัฐมนตรี

ระยะหลังความร่วมมือภาคประชาชนค่อนข้างดี   เราจับกุมหลายคดีได้ก็เพราะความร่วมมือของประชาชนดีขึ้นมาก   เพราะเราพยายามให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปร่วมทำงานพัฒนาด้วย   ทำจิตวิทยามวลชนกับประชาชนด้วย   ก็เริ่มดีขึ้น

 

 

ประธาน กอส.

สิ่งที่สำคัญผมว่า อันนี้เป็นหลักใหญ่คือว่า  ถ้าเผื่อฝ่ายหนึ่งใช้ความรุนแรงมา  แล้วทางเราโต้ตอบ  ถ้าเราโต้ตอบโดยการใช้กำลังและใช้ความรุนแรง   แต่ถ้าเกินขอบเขต   อันนั้นจะเข้าไปอยู่ในกับดักของเขา

 

นายกรัฐมนตรี

อันนั้นถูกต้อง

 

ประธาน กอส.

เพราะเขาฆ่าคน   เขาเผาโรงเรียน  หรือเขาเผาอะไรแล้วแต่   ทุกครั้งที่เขาทำไม่ใช่เรื่องของคนเสียชีวิตหรือทรัพย์สินสูญหาย   แต่ทุกครั้งที่เขาทำคือเป็นข่าว    ข่าวของความรุนแรง   เราเข้าไปในกระบวนการนี้  เราอย่าเป็นเหยื่อของความรุนแรง  ทั้ง ๆ  ที่เราใช้ความรุนแรง  จะไม่จบหรอกครับ และความรุนแรงทั้งหมดจะหวังดี      ไม่หวังดี   จะสร้างความหวาดกลัว   ความหวาดเกรงมากขึ้น  ซึ่งเราไม่ต้องการให้คนในพื้นที่มีความหวาดกลัวมากขึ้น 

 

ผู้ดำเนินรายการ

ที่ผ่านมาไม่รู้ว่าอย่างไรนะครับ  ในระยะเวลา 4  เดือนระหว่างการทำงานที่รัฐบาลทำงานร่วมกับ กอส. แต่นับจากนี้ไปทิศทางน่าจะเห็นภาพอะไรชัด ๆ  ขึ้นมาอีกครั้งไหมครับ

 

นายกรัฐมนตรี

ทิศทางคือว่า  รัฐบาลจะทำงานด้านของการพัฒนา   การให้การศึกษา   การให้โอกาสทางเศรษฐกิจคือการจ้างงาน  ก็ทำไป    อีกส่วนหนึ่งคือการติดตามจับกุมคนร้ายทั้งหลาย    ซึ่งขณะนี้มีประวัติของผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ประมาณ  200  กว่าคน  เราจะพยายามเชิญตัวมาสอบอย่างโปร่งใสตรงไปตรงมา บางคน

เราอาจจะไม่มีหลักฐาน  แต่พอรู้ว่า เขาอาจจะเป็นคนซึ่งเกี่ยวข้องในกระบวนการ   เราจะใช้ระบบ   ฟื้นฟู   เพื่อให้เขาเป็นคนดี  มาฝึกอบรมมาฝึกงานคล้าย ๆ  โรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง   เพื่อให้เขาเป็นคนดี   โดยที่ให้ผู้ปกครองเขารับรู้รับทราบด้วย  อีกส่วนหนึ่งคือทำงานร่วมกันกับคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ  อาจจะออกแนวคิด ออกยุทธศาสตร์  เพื่อให้เกิดความเข้าใจความปรองดองของประชาชนในพื้นที่  ซึ่งเป็นงานระยะกลาง  ระยะยาว  เราจะทำงานและสนับสนุน บทบาทของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ  ต่อไป  เพื่อให้คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ  สามารถที่จะได้ข้อมูลได้ความรู้ได้แนวคิดต่าง ๆ  จากพื้นที่ก็ดี   จากฝ่ายวิชาการก็ดี   เพื่อมาเป็นแนวทางเพื่อรัฐจะได้นำไปปฏิบัติต่อ   เพราะฉะนั้นความร่วมมือในการทำงานด้วยกัน  ยังเป็นปกติ  และนอกจากนั้นยังพยายามจะส่งเสริมให้ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ  สามารถที่จะเร่งทำงานได้เร็วขึ้นตามที่ได้ตั้งใจกันไว้   ส่วนของภาครัฐจะไม่ทำอะไรที่ไปเพิ่มเติมความไม่ไว้วางใจของประชาชนอย่างแน่นอน 

 

ผู้ดำเนินรายการ

ทางคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ  จะมีทิศทางหรือแนวทางอย่างไร 

 

ประธาน กอส.

คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ   ทำงานในลักษณะหนึ่งคือส่งเสริมงานของรัฐบาลที่เป็นเรื่องของสันติวิธี   ในอีกลักษณะหนึ่งคล้าย ๆ  คอยเฝ้ามองเหมือนกันว่า  รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทำอะไรที่ไม่สมควรจะทำ  เราถือว่าเป็นเพื่อนกันก็เตือนกันได้  หรืออาจจะเตือนทั้งทางวาจาหรือเตือนทางอะไรก็แล้วแต่  คือ หนึ่ง  เราไม่ได้ทำงานเป็นศัตรูกับรัฐบาล   ในขณะเดียวกันเราไม่ถือว่าเราต้องทำงานเพื่อเอาใจรัฐบาล   เพราะเราเป็นคณะกรรมการอิสระฯ   ตราบใดที่เรารู้สึกว่าการทำงานยังขนานกันไปและยังพูดกันรู้เรื่อง   และไม่มีอะไรที่ทำให้เราประหลาดใจในอนาคต   ผมว่าคงทำงานกันต่อไปได้

 

ผู้ดำเนินรายการ

ทุกวันนี้พูดกันรู้เรื่องไหมครับ

 

ประธาน  กอส.

ถ้าเผื่อคุณนั่งอยู่หลังฟังท่านนายกรัฐมนตรีคุยกับผม    ไม่อยากจะเล่า  ถ้าคนอื่นนั่งฟังอยู่ด้วยจะตกใจว่าเราพูดอะไรกัน

 

ผู้ดำเนินรายการ

เป็นอย่างไรบรรยากาศคร่าว ๆ

 

ประธาน กอส.

ใครคิดอะไรก็พูดกันอย่างนั้น  

ผู้ดำเนินรายการ

และคุยกันรู้เรื่อง

 

นายกรัฐมนตรี

คือผมเป็นคนไทย   ผมก็ให้เกียรติท่านในฐานะท่านเป็นผู้อาวุโสกว่า  แต่ว่าเหตุผลคุยกันเราคุยกันแบบตะวันตกเลย    ตรงไปตรงมา   คือเราคิดอย่างไร  เรามีข้อมูลอย่างไร  เราก็พูดกันตรงไปตรงมา    เมื่อเราเข้าใจทิศทางตรงกันแล้วเราก็ไปทำงานกัน   โดยที่ไม่มีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกันเลย    

 

ประธาน กอส.

หรือถ้ายังตกลงกันไม่ได้  อีกสองอาทิตย์กลับมาก็ต้องพูดเรื่องเก่า   ก็ไม่เป็นไร  

 

ผู้ดำเนินรายการ

จะคู่ขนานไปอย่างนี้

 

ประธาน กอส.

อะไรที่ตกลงกันได้ก็ตกลงกันไป  อะไรที่ยังไม่สอดคล้องกัน  ก็พักไว้ก่อน  อีกอาทิตย์หนึ่งหรืออีก 3 วัน  ก็มาพูดกันใหม่   นั่นไม่ใช่เป็นเรื่องแปลก 

 

ผู้ดำเนินรายการ

อันหนึ่งที่ผมเห็นว่าสำคัญ   ไม่ใช่เรื่องเฉพาะในบ้านเราแล้ววันนี้   เป็นเรื่องที่ข้างนอกเขาก็มองด้วย  มีทั้งองค์กรมุสลิมโลกหรือ OIC  ทั้งองค์กรต่าง ๆ   อย่าง  OIC  จะตรงกับเรื่องราวที่อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนาด้วย  เรามีการไปชี้แจงกันหลายรอบ  จะต้องเน้นสร้างความเข้าใจอะไรอย่างไรหรือไม่กับองค์กรภายนอก

 

นายกรัฐมนตรี

วันนี้องค์กรภายนอกเข้าใจแล้วว่า  ไม่ใช่เป็นเรื่องของความขัดแย้งทางศาสนา   หรือความไม่ลงรอยทางศาสนา  ไม่ใช่เลย   เขารู้ว่าเป็นเรื่องภายในแท้ ๆ   และไม่ได้มีองค์กรต่างประเทศเข้ามา       เกี่ยวข้อง   เพราะฉะนั้น  เขาถือว่าเป็นกิจการภายในของประเทศเรา   เข้าใจอย่างชัดเจน

 

ผู้ดำเนินรายการ

ในฐานะที่ท่านก็เคยอยู่กระทรวงการต่างประเทศ   จริง ๆ เรื่องพวกนี้ประเทศไทยต้องแสดงบทบาทให้ชัดเจนด้วยหรือไม่

 

ประธาน กอส.

คือ หนึ่ง  เป็นปัญหาท้องถิ่น เป็นปัญหาที่คนท้องถิ่นสร้างขึ้นมา   ผมบอกว่าคนท้องถิ่น รัฐบาลก็สามารถแก้ไขได้  อาจจะต้องใช้เวลามากหน่อย   สอง  ท่านนายกรัฐมนตรีพูดแล้วว่า  ยังไม่เคยมีหลักฐานพยานยืนยันอย่างใดว่า มีรัฐบาลต่างชาติหรือองค์กรต่างชาติเข้ามาก้าวก่ายกิจการของเราและเราต้องการให้เป็นเรื่องภายใน  แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภายในอย่างไรก็ตามก็คงจะต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่  พาดพิงในทางด้านต่างประเทศ ขณะนี้โลกเราจะแบ่งเป็นประเทศ  จะแบ่งมีชายแดนอะไรก็แล้วแต่  ที่เราเรียกว่าโลกาภิวัตน์ก็ดี  หรือการพึ่งซึ่งกันและกัน เดี๋ยวนี้พรมแดนไม่มีความหมายแล้ว  อะไรที่เกิดขึ้นฝั่งนี้ก็ไปกระทบฝั่งนั้นได้  เพราะฉะนั้นความสนใจต่างชาติเขาต้องมี  ไม่ใช่หน้าที่ของเราว่า  เขาสนใจแล้วเราไม่พูดอะไรกับเขา    เราต้องแน่ใจว่าเราสามารถอธิบายข้อเท็จจริงให้เขาเป็นที่พอใจได้    ให้เขาได้รับรู้ข้อเท็จจริง   ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลต่างประเทศ  ไม่ว่าจะเป็น  OIC  หรือแม้แต่สหประชาชาติ  อย่าไปคิดว่าเขาเป็นศัตรู   เขาจะมาคอยจี้ เขาจะมาคอยว่าเรา ไม่ใช่นะครับ  ถ้าเผื่อเราตอบให้เขาสบายใจ ผลประโยชน์ก็อยู่ที่เราเอง   

 

ผู้ดำเนินรายการ 

ซึ่งแนวทางนั้นรัฐบาลก็ยึดอยู่ใช่ไหมครับ

 

นายกรัฐมนตรี

ใช่ครับผมไปที่ไหนบ้างที่เขาก็ไม่ถาม  แต่บางประเทศเราควรจะอธิบายให้เขาฟัง  บางประเทศเขาถามเราก็ตอบทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ผมเดินทางไปตะวันออกกลาง  อย่างเช่น  ไปจอร์แดน โอมานก็ดี   ได้พูดคุยกับเขา ๆ ก็สบายใจ  เขาบอกว่า  เขาเข้าใจอย่างนี้เขาจะช่วยอธิบายให้  เพราะบางทีมีข่าวออกมาในทางลบ   เขาก็ไม่เข้าใจ  แต่วันนี้พอได้ฟังจากผมแล้ว  เขาเข้าใจแล้ว   เขาจะไปช่วยอธิบายให้อีก  ก็จะเป็นสิ่งที่ดี 

 

ผู้ดำเนินรายการ

ความจริงยังมีอีกหลายเรื่องที่อยากจะคุยด้วยกับทั้งสองท่าน   แต่ว่าเวลาของเราค่อนข้างจำกัด   คงสุดท้ายแล้ว  ผมว่าคนไทยหลายคนอยากฟังว่า  จะประเมินอนาคตสถานการณ์  3  จังหวัด          ชายแดนภาคใต้อย่างไร  และถ้าจะถามกันได้ตอบกันได้   อยากจะฟังว่าจบเมื่อไรด้วยซ้ำ

 

นายกรัฐมนตรี

เราจะพยายามทำดีที่สุด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของแนวทางสันติวิธี   แนวทางสมานฉันท์  เราจะทำต่อไป   ผมมีรองนายกรัฐมนตรี  2  คนคือ  พลตำรวจเอก ชิดชัยฯ  ไปดูเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน    มีรองนายกรัฐมนตรีจาตุรนต์  ฉายแสง  ไปดูเรื่องการเยียวยา  แนวทางในการช่วยเหลือพัฒนาให้โอกาสในการสร้างโอกาสแนวทางการพัฒนาการศึกษา  และทำงานควบคู่ไปกับคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ฯ   เพราะฉะนั้นเรามีคนไปดูแลอย่างเต็มที่  และ 2  คนนี้จะใช้เวลาอยู่กับ  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น   เพื่อที่จะให้เหตุการณ์เบาบางลงและยุติให้เร็ว   ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

 

ผู้ดำเนินรายการ

ท่านอานันท์ฯ  มีความเห็นหรือไม่เกี่ยวกับอนาคตสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ประธาน กอส.

ผู้รับผิดชอบโดยตรงต้องเป็นรัฐบาล   เพราะว่ารัฐบาลเป็นหน่วยงานที่รับบริหารประเทศ  ถ้าเผื่อจะถามว่าเมื่อไรจะเสร็จ   ผมว่าคงตอบไม่ได้   แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าก็มีอยู่ในทุกประเทศ  และอยู่ในทุก   ทศวรรษของเมืองไทย  ปัญหาคือว่าถ้าเผื่อยังเป็นความรุนแรงที่ใช้กันอยู่    ถ้าอยู่ในระดับที่เบา ๆ หน่อย   โอกาสที่เกิดหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยลงไป   ผมว่าอันนั้นน่าจะพอใจ

 

ผู้ดำเนินรายการ

สุดท้ายท่านนายกรัฐมนตรีมีอะไรที่อยากจะต้องการความร่วมมืออย่างจริงใจจากพี่น้องประชาชน    โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนในพื้นที่  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

 

นายกรัฐมนตรี

ต้องเรียนพี่น้องประชาชนในพื้นที่  3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า   คนไทยทั้งประเทศเป็นห่วง  และพยายามอย่างยิ่งที่จะให้ความช่วยเหลือในทุกรูปแบบ  เพื่อจะนำไปสู่ความสันติในพื้นที่ แต่ว่าความพยายามของคนซึ่งอยากสร้างปัญหายังไม่หยุดยั้ง ถ้าหากได้รับความร่วมมือจากพี่น้องจะแอบให้ข้อมูลข่าวสารกับทางราชการบ้างก็จะทำให้การจับกุมหรือการควบคุมตัวคนเหล่านี้ที่สร้างปัญหาได้มากขึ้น  ได้เร็วขึ้น การใช้สันติวิธี การเข้าไปพัฒนาจะทำได้อย่างเต็มที่ขึ้น ฉะนั้นความร่วมมือของพี่น้องประชาชน

นั้นเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่ง แต่ขอให้เข้าใจว่าผมจะดูแลเรื่องของการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด และจะเร่งรัดเรื่องการพัฒนาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยึดแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคือ  เข้าใจเข้าถึงและพัฒนา ไปพร้อมๆ  กับการบังคับใช้กฎหมายสำหรับคนซึ่งไม่พยายามที่จะเป็นพลเมืองดีของประเทศ 

 

ผู้ดำเนินรายการ

วันนี้เวลาหมดลงตรงนี้   เรื่องราวที่ค่อนข้างจะวิพากษ์วิจารณ์กันมาในช่วงสัปดาห์สองสัปดาห์ จุดยืน

ของรัฐบาลในการดำเนินการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ตรงไหน ในขณะที่มีทั้งคณะกรรม

การอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติที่ทำหน้าที่ในการที่จะดูเรื่องการสมานฉันท์ในระดับชาติอย่างนี้  รวมไปถึงการออกพระราชกำหนดที่ดูเหมือนว่าจะมีความเด็ดขาดอย่างนี้  รัฐบาลจะไปแนวไหน วันนี้

คาดว่าได้รับคำตอบที่ชัดเจนพอสมควรในระดับหนึ่งทีเดียวครับ วันนี้ต้องขอขอบพระคุณแขกรับเชิญทั้งสองท่าน  ที่ให้เกียรติกับรายการพิเศษของเราในวันนี้  ท่านนายกรัฐมนตรีพันตำรวจโท ทักษิณ  ชินวัตร   และท่านอานันท์  ปันยารชุน  ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ   ขอบพระคุณทั้งสองท่านครับ  สวัสดีครับ

 

ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่  -สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

จินตนา-วิมลมาส/ถอดเทป/เรียบเรียง           

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท