มุสลิมในธนบุรี ตอนที่2

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ




รศ.เสาวนีย์  จิตต์หมวด

 

มัสยิดกับประวัติศาสตร์ชุมชนมุสลิมในธนบุรี

            จากทะเบียนมัสยิดในประเทศไทย พ.ศ. 2546 มีข้อมูลให้ทราบว่า จำนวนมัสยิดในกรุงเทพมหานครที่จดทะเบียนมีจำนวน 164 แห่ง เป็นมัสยิดที่ตั้งอยู่ธนบุรีจำนวน 20 แห่ง โดยกระจายอยู่ในบริเวณต่างๆ คือ ราษฎร์บูรณะ 6, จอมทอง 1, บางพลัด 2, บางกอกน้อย 3, คลองสาน 3 และธนบุรี 5 แห่ง

            สรุปได้ว่า ฝั่งธนบุรีในปัจจุบันมีจำนวนมัสยิด 20 แห่ง แต่หากจะพิจารณาพื้นที่ของธนบุรีในสมัยกรุงธนบุรีซึ่งคลุมพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย จำนวนมัสยิดในธนบุรีควรจะมีมากกว่าในปัจจุบัน เช่น มัสยิดวัดเกาะ มัสยิดฮารูณหรือมัสยิดวัดม่วงแค เป็นต้น  อย่างไรก็ตามแต่ละมัสยิดต่างก็มีประวัติศาสตร์ชุมชนโดยขอนำเสนอมัสยิดนับแต่เมืองธนบุรีเดิมทั้งกลุ่มคือ     มัสยิดสายซุนนะห์และสายชีอะห์ ดังนี้คือ

 

 

มัสยิดในชุมชนมุสลิมสายซุนนะห์

 

            1.  มัสยิดต้นสน หรือชื่อที่เรียกทั่วไปว่า กุฎีต้นสน หรือกุฎีใหม่ จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ทำให้ทราบว่ากุฎีต้นสนและชุมชนแห่งนี้มีอายุกว่า 400 ปี ฉะนั้นชุมชนมุสลิมนี้จึงมีอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ชุมชนตั้งอยู่ริมคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ ซึ่งในอดีตก็คือส่วนหนึ่งของ แม่น้ำเจ้าพระยา มุสลิมในชุมชนนี้ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากพ่อค้ามุสลิมชาติต่าง ๆ ที่เดินทางติดต่อ        ค้าขายกับอยุธยา เช่น เปอร์เซีย อาหรับ อินเดีย จาม เขมร จีน ฯลฯ แวะพำนักและตั้งถิ่นฐานมี     ครอบครัวที่นี่ ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาใกล้จะแตก มุสลิมในอยุธยาซึ่งก็มีบรรพบุรุษจากชนชาติต่าง ๆ และส่วนใหญ่จะตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำได้อพยพล่องแพตามลำน้ำเจ้าพระยามาตั้งถิ่นฐานสมทบกับมุสลิมที่อยู่เดิมในบริเวณนี้ โดยอีกส่วนหนึ่งแวะตั้งถิ่นฐานอยู่ริมฝั่งน้ำบริเวณนนทบุรี บางอ้อ          บางกอกน้อย ดังนั้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ นอกจากจะเรียกมุสลิมกลุ่มนี้ว่า "แขกมัวร์หรือแขกเทศ" แล้วยังเรียก "แขกแพ"

            มุสลิมในชุมชนนี้มีบรรพบุรุษจากหลายเชื้อชาติ แต่ที่สำคัญคือ ส่วนหนึ่งเป็นเชื้อสายของสุลต่านสุลัยมาน ซึ่งรับราชการในตำแหน่งสำคัญ ๆ นับเนื่องแต่สมัยกรุงธนบุรีสืบต่อจนกรุง            รัตนโกสินทร์ ศพของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงฝังอยู่ในกุโบรฺของมัสยิดแห่งนี้ ทั้งนี้รวมถึงเจ้าพระยาจักรีซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปในพิธีฝังด้วยพระองค์เอง

            เจ้าพระยาจักรีท่านแรกในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี  มีประวัติคือ  ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก หลวงนายศักดิ์ (หมุด) เชื้อสายสุลต่านสุลัยมาน เป็นมหาดเล็กในราชสำนักมีหน้าที่ออกไปเก็บส่วยที่เมืองจันทบุรีเก็บได้ 300 ชั่ง (24,000 บาท) เมื่อทราบว่า กรุงศรีอยุธยาแตกก็ไม่ยอมคืนส่วยแก่ พระยาจันทบุรีตามคำขอ โดยวางแผนว่าเงินถูกปล้น แล้วนำเงินดังกล่าวไปมอบแก่พระยาตากเพื่อเป็นทุนในการสร้างอาวุธเพื่อกอบกู้เอกราช จากความช่วยเหลือนี้ ประกอบด้วยความสามารถในการต่อเรือ เดินเรือ และช่วยกอบกู้เอกราชให้ได้คืนมาโดยเร็ว หลวงนายศักดิ์จึงได้รับพระกรุณา     โปรดเกล้าฯ จากพระเจ้าตากสินมหาราชแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ (หมุด) ตำแหน่ง สมุหนายก ซึ่งเทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน

            ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า เชื้อสายของท่านสุลต่านสุลัยมานจากเปอร์เซีย นับแต่ธนบุรีถึง              รัตนโกสินทร์ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยถึง 2 ท่าน คือ เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ และ     พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

            สกุลต่างๆ ในชุมชนนี้  ส่วนหนึ่งเป็นสายสกุลของสุลต่านสุลัยมาน เช่น มานะจิตต์  ทองคำวงศ์  ชื่นภักดี  ท้วมประถม  ภู่มาลี ฯลฯ

            2.  มัสยิดบางหลวงหรือกุฎีขาว มัสยิดนี้ตั้งอยู่ริมคลองบางหลวงไม่ไกลจากมัสยิดต้นสน มุสลิมในชุมชนนี้อพยพจากกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน หลวงพิพิธเภสัช (2492 : 27) กล่าวว่า เมื่อครั้งพระนครศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ถูกข้าศึกเผาผลาญ บรรดาอิสลามที่อาศัยจอดแพขายของอยู่ ณ ตำบลหัวแหลม หัวรอ และคลองตะเคียน นับเป็นร้อย ๆ ครัวเรือนได้อพยพหลบภัยถอยแพล่องหนีพม่าข้าศึกลงมาจอดพำนักอยู่ตำบลคลองบางหลวง ตั้งแต่ตำบลบางกอกใหญ่ไปจนถึงวัดเวฬุราชิน      ทั้งสองฝั่ง เมื่อบรรดาอิสลามศาสนิกชนมารวมอยู่มากด้วยกันเช่นนี้ มีมัสยิดบางกอกใหญ่แห่งเดียวประกอบศาสนกิจคงไม่เป็นที่เพียงพอ ท่านโต๊ะหยีผู้เป็นคหบดีในจำพวกแขกแพนี้ด้วยกัน พร้อมด้วยบรรดาคณะของท่านจึงได้พร้อมกันสร้างมัสยิดขึ้นอีกแห่งหนึ่ง ณ ตำบลคลองบางหลวงฝั่ง         ตะวันออกเยื้องมัสยิดบางกอกใหญ่เล็กน้อย

            อนึ่ง เนื่องจากมัสยิดฉาบด้วยปูนขาว จึงมักเรียกว่ากุฎีขาว และนับว่าเป็นมัสยิดที่คล้ายวัดมาก ส่วนภายในตกแต่งฝาผนังด้วยการฝังเครื่องถ้วยชาม ซึ่งจารึกด้วยถ้อยคำในการปฏิญาณตนไว้ในกำแพงผนัง ช่วงหน้าต่างส่วนที่แสดงธรรมคถาหรือมิมบัรฺเป็นลักษณะซุ้มประตู ปั้นลายลงรักปิดทองประดับกระจกสีเป็นลวดลายกนกแบบไทย ซึ่งผู้ดำเนินการจัดทำคือ เจ้าสัวพุก สกุลพุกพิญโญ พ่อค้าชาวจีนซึ่งมาแต่งงานกับผู้หญิงมุสลิมในชุมชนนี้ โดยเจ้าสัวได้ไปถ่ายแบบซุ้มประตูวัดอนงคารามมาเป็นแบบ

            สกุลต่าง ๆ ในชุมชนนี้ เช่น ฮาซาไนท์ ท้วมสากล โอสถ  ไวทยานนท์ ฯลฯ

 

            3.  มัสยิดบางอ้อ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บรรพบุรุษเป็นมุสลิมเชื้อชาติต่าง ๆ คือ อาหรับ เปอร์เซีย จาม มลายู ฯลฯ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในอยุธยา ได้ล่องแพอพยพตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ มีอาชีพในการค้าขาย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพ่อค้าซุง ดังนั้นบ้านเรือนมุสลิมริมน้ำในบริเวณนี้จึงมักปลูกด้วย ไม้สัก

            ชุมชนจะตั้งเป็นแนวยาวริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและลึกไปด้านใน เมื่อถนนจรัลสนิทวงศ์      ตัดผ่าน ชุมชนจึงแยกออกเป็นสองส่วน

            สกุลต่าง ๆ ของคนในชุมชนนี้ เช่น โยธาสมุทร บางอ้อ ยูซูฟี มานะจิตต์ เพชรทองคำ           มุขตารี บุญศักดิ์ ฯลฯ

            4.  มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์หรือมัสยิดบางกอกน้อย ปัจจุบันตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยใกล้ปากคลอง ซึ่งแต่เดิมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เริ่มแรกมัสยิดนี้อยู่ฝั่งสถานีรถไฟบางกอกน้อย เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ จะทรงสร้างสถานีรถไฟบางกอกน้อย จึงทรงพระราชทานที่         ฝั่งตรงข้ามให้เป็นการแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างอาคารมัสยิดขึ้นใหม่ ณ พื้นที่ปัจจุบัน ในสมัยสงครามโลก มัสยิดถูกระเบิดจึงต้องสร้างอาคารขึ้นใหม่ สำหรับกุโบรฺ เนื่องจากเป็นมัสยิดที่อยู่ริมน้ำ ฉะนั้นบริเวณกุโบรฺซึ่งอยู่ถัดไปด้านในจึงต้องถมไว้สูงมาก และเป็นอีกมัสยิดหนึ่งที่มีโรงเรียนสายสามัญและสอนศาสนา

            ชุมชนนี้ตั้งอยู่ตามแนวคลองบางกอกน้อย บรรพบุรุษเป็นชนชาติอาหรับ ฮาเดอร์รอเม้าท์ที่เข้ามาติดต่อค้าขายตั้งแต่สมัยอยุธยา มุสลิมในชุมชนนั้นมีฝีมือในการทำที่นอน จนได้ชื่อว่า ที่นอนดีมีคุณภาพต้องเป็นที่นอนจากบางกอกน้อย นอกจากนี้ยังมีฝีมือในการทำอาหารอาหรับที่ประกอบด้วยเครื่องเทศ เช่น ข้าวหมก ข้าวบุหรี่ ขนมปังยาสุม กะหรี่ปั๊บ แกงกรุหม่า ฯลฯ ส่วนอีกอาชีพหนึ่ง คือ เป็นพ่อค้าปืน (ย่านวังบูรพา)

            สกุลต่าง ๆ ในชุมชนนี้ เช่น ซอลิฮี กรีมี มัสอูดี สมะดี ฮะกีมี ศรีจรูญ รักษมณี เกตุเพียงกิจ อรุณโอษฐ์ กองทรัพย์โต ฯลฯ

            นอกจากนี้มุสลิมในชุมชนนี้ยังได้มีบทบาททางการเมืองมาแต่อดีตในการเปลี่ยนแปลง     การปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยใน พ.. 2475 เช่น นายบรรจง นายประเสริฐ นายการุญ       ศรีจรูญ ซึ่งต่อมาต่างก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิก ส่วนวุฒิสมาชิกอีกท่านหนึ่งคือ เชื้อสายของสกุลศรีจรูญ คือ คุณหญิงสุวัฒนา (ศรีจรูญ)  เพชรทองคำ

            5.  มัสยิดนูรุ้ลมูบีนบ้านสมเด็จ เป็นชุมชน อายุเกือบ 200 ปี ตั้งอยู่บริเวณ หลังมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มัสยิดนี้จึงเรียกมาแต่เดิมว่า มัสยิดบ้านสมเด็จ โดยเรียกตามสถานที่คือ บ้านสมเด็จเจ้าพระยาพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

            มุสลิมในชุมชนนี้ส่วนใหญ่เชื้อสายมลายู ทั้งจากปัตตานีและไทรบุรี ส่วนใหญ่มีฝีมือทางการช่าง มัสยิดหลังแรกสร้างอยู่ริมคลอง โดยมีตวนกูโนซึ่งเป็นเชื้อสายของเจ้าเมืองปัตตานีเป็นอิหม่าม ส่วนอิหม่ามคนที่ 2 คือฮัจญีกาฮาเป็นชาวสตูล นอกจากนั้นยังมีมุสลิมจากอินเดียเข้ามา        ตั้งถิ่นฐานรวมอยู่ในชุมชนแห่งนี้ด้วย

            บริเวณมัสยิดปัจจุบันประกอบด้วยอาคารมัสยิด อาคารเรียนซึ่งสอนทั้งสามัญและศาสนา และมีพื้นที่ของกุโบรฺซึ่งนอกจากจะเป็นที่ฝังร่างของคนในชุมชนแล้ว มุสลิมในชุมชนอื่นก็ใช้กุโบรฺแห่งนี้ด้วย เช่น ชุมชนมัสยิดจอมทอง ชุมชนมัสยิดตึกแดง

            สกุลต่าง ๆ ของมุสลิมในชุมชนนี้ส่วนหนึ่งเป็นเชื้อสายเจ้าจากปัตตานี เช่น สกุลบินตวนกู เด่นอุดม  บูรณานุวัตร  บูรณพงศ์  ส่วนสกุลอื่น ๆ เช่น  เกียรติธารัย  ดลขุมทรัพย์  ซำเซ็น  อาริยะ       ชาญใบพัด  มิตรสมาน  อดุลยพิจิตร  โกบประยูร  รุจิระอัมพร ฯลฯ สำหรับมุสลิมที่มีบทบาทในการปกครองของไทยคือ พลเอก ณรงค์  เด่นอุดม อดีตแม่ทัพภาคที่ 4

            6.  มัสยิดกูวติลอิสลาม หรือตึกแดง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้เชิงสะพานพุทธฯ ซึ่งแต่เดิมตึกแดงคือสำนักงานพระคลังสินค้าของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ สมเด็จเจ้าพระยาฯ ได้บริจาคเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ให้กับมุสลิมในชุมชนนี้ ด้วยเห็นว่ามุสลิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ไม่มีมัสยิดสำหรับปฏิบัติศาสนกิจ ต้องเดินทางไปที่มัสยิดบ้านสมเด็จ ซึ่งหนทางสมัยนั้นเต็มไปด้วยป่าสะแก มัสยิดนี้จึงเริ่มสร้างขึ้นในปี พ.. 2402

            มุสลิมในชุมชนนี้ประกอบด้วยกลุ่มใหญ่ ๆ คือ เชื้อสายปัตตานี ซึ่งมีความสามารถทาง      การช่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่างทำทอง นาค กับกลุ่มเชื้อสายอินเดียซึ่งมีความสามารถในการประกอบธุรกิจค้าขาย เพราะฉะนั้นในการบริหารมัสยิดแห่งนี้ จึงแบ่งกรรมการออกเป็นสองฝ่าย คือ ผู้บริหารฝ่ายศาสนกิจ ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่อิหม่ามท่านแรกคือ ฮัจญีมูฮำหมัดยูซุป อัลมะหฺดาวี ส่วน       ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจจะเป็นทางสายอินเดีย ท่านแรก คือ ฮัจญีบาย นานา

            สกุลต่าง ๆ ของมุสลิมในชุมชน เช่น นานา  วงศ์อารยะ  อมรทัต  อมันตกุล วงศ์ยังอยู่ ประพฤติชอบ  ศาสนกุล ฯลฯ

            สำหรับมุสลิมที่เคยมีบทบาทในด้านการปกครองจากชุมชนนี้ คือ นายเล็ก นานา อดีต         รัฐมนตรีผู้ซึ่งถวายที่ดินประมาณ 4 ไร่ พร้อมอาคารแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล          อดุลยเดช เพื่อทรงสร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ด้วยบริเวณชุมชนแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จย่าแต่อดีต และนายอารีย์ วงศ์อารยะ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

            7.  มัสยิดสวนพลู ตั้งอยู่ริมทางรถไฟวงเวียนใหญ่ ใกล้วัดโพธิ์นิมิตร ที่เรียกว่า สวนพลู เพราะในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เป็นสวนที่ปลูกต้นพลู มุสลิมส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายมลายูจากอยุธยา          ซึ่งคงอพยพมาตั้งแต่สมัยกรุงแตกและหลังจากนั้นเช่นเดียวกับมุสลิมในชุมชนอื่น ๆ นอกจากนั้นก็มีมุสลิมจากอินเดียเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนนี้ด้วยเช่นกัน

            สกุลต่าง ๆ ในชุมชนนี้ เช่น จุลธีระ ยกยอคุณ เซ็นติยานนท์ หลงสกุล วานิชยากร ฯลฯ

 

8.  มัสยิดสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามโรงแรมโอเรียลเต็ลและกรมศุลกากรเก่า มุสลิมในชุมชนนี้มาจากจังหวัดตราด (ซึ่งเชื่อว่าส่วนหนึ่งได้ผสมกับเชื้อสายเขมร) และอยุธยา ซึ่งมีอาชีพค้าขาย เนื่องจากในอดีตฝั่งตรงข้ามเป็นที่ตั้งของกรมศุลกากร มีพ่อค้าเดินเรือเข้ามาติดต่อค้าขาย จึงมีการตั้งถิ่นฐานในฝั่งตรงข้าม ซึ่งแต่เดิมบริเวณมัสยิดมีลักษณะเป็นป่าชายเลน และได้ขุดพบซาก       เรือโบราณอยู่ในบริเวณนี้ ส่วนในบริเวณไม่ไกลจากมัสยิดจะมีมุสลิมเชื้อสายอาหรับกลุ่มเดียวกับมุสลิมที่มัสยิดบางกอกน้อยตั้งถิ่นฐานอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยเช่นกัน

            สกุลต่าง ๆ ของมุสลิมในชุมชนนี้ เช่น พานิชชนก เกาจารี ชมเดช ฯลฯ

            9.  มัสยิดฮารูณ นับเป็นชุมชนเก่าแก่ อยู่ติดกับโรงแรมโอเรียลเต็ล บนฝั่งตะวันออกของเจ้าพระยา ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของธนบุรีในอดีต มุสลิมในชุมชนฮารูณส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าจากส่วนต่าง ๆ ของประเทศอินเดีย ฉะนั้นจะมีทั้งผิวขาวและผิวคล้ำ เดิมมัสยิดนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ เมื่อรัฐบาลจะสร้างโรงภาษีจึงต้องย้ายเข้าไปด้านในเพื่อสร้างโรงภาษี  ซึ่งปัจจุบันอาคารโรงภาษีหรือศุลกากรยังคงอยู่  ดังนั้นซอยนี้จึงเรียกว่าตรอกโรงภาษีเก่า

            กุโบรฺของชุมชนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นที่ฝังศพของทหารที่เสียชีวิตจากราชการสงคราม มุสลิมในชุมชนนี้นอกจากประกอบอาชีพทางค้าขาย รับราชการแล้ว ท่านหนึ่งได้เคยเป็นวุฒิสมาชิก คือ          นายเล็ก วานิชอังกูร

            สกุลต่าง ๆ ของมุสลิมในชุมชนนี้ เช่น วานิชอังกูร สถาอานันท์ สมุทรโคจร วัชรพิสุทธิ์     อี.เอ็ม ดาลจาวัล หอมชื่น สืบสันติกุล ฯลฯ

 

 

            10.  มัสยิดวัดเกาะ อยู่ริมฝั่งเจ้าพระยาด้านตะวันออกใกล้กับวัดเกาะ เป็นมัสยิดที่สร้างบนพื้นที่ของหลวงโกชาอิศหาก โดยบ้านของท่านอยู่ริมฝั่งเจ้าพระยาด้านตรงข้าม คือ บริเวณคลองสาน

            ในประมาณรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  นายหวัน  มูซาพ่อค้าจากไทรบุรี  เดินทางเข้ามาค้าขาย  และตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองธนบุรี  ท่านหวัน  มูซาเป็นบิดาของหลวงโกชา  แต่งงานกับนางสาวเลี๊ยบ  ซึ่งเป็นลูกสาวชาวจีนย่านสวนมะลิ  ที่ดินของหลวงโกชา  อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฟาก ฝั่งคลองสานมีที่ดินประมาณ 12 ไร่  มีพวกข้าทาสทำสวนผลไม้จนถึง       เลิกทาส  เมื่อมีการตัดถนนเจริญนครในสมัยรัชกาลที่ 7  ที่ดินบริเวณดังกล่าวจึงถูกแบ่งเป็น 2 ฝาก  โดยที่ดินส่วนใหญ่อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน

            หลวงโกชาอิศหาก  มีบุตร  ธิดาหลายคน  แต่เป็นชาย 3 คน คือ พระโกชาอิศหาก (หมัด) พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตุ๋ย  บินอับดุลลา) และขุนกาญจนประศาสน์  อนึ่ง "บินอับดุลลา" คือ นามสกุลพระยาสมันตรัฐฯ ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

            หลวงโกชาอิศหาก  รับราชการอยู่ 4 แผ่นดิน  ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 โดยทำหน้าที่เป็นล่ามและรับเครื่องราชบรรณาการ ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ดังนั้นเวลาชาวต่างชาตินำเครื่องราชบรรณาการมาก็มาพักกันที่บ้านนี้  ซึ่งคุณปู่จะทำหน้าที่ถวายเครื่องราชบรรณาการต่อไป สำหรับที่ดินฝั่งตรงข้ามซึ่งเยื้องกับที่บ้านใช้เป็นที่เก็บสินค้า เป็นคลังสินค้า เพราะท่านเป็นพ่อค้าติดต่อค้าขาย ที่ดินแปลงนี้มีถนนทรงวาดตัดผ่าน  เมื่อเลิกจากคลังสินค้า   ที่ดินส่วนหนึ่งขายไป คงเหลืออยู่ประมาณ 2 ไร่เศษซึ่งเป็นบริเวณที่คุณปู่เกณฑ์ลูกหลานช่วยกันสร้างสุเหร่าไว้เป็นที่ละหมาดรวมกัน เนื่องจากสุเหร่านี้อยู่ใกล้วัดเกาะจึงเรียกกันว่า สุเหร่าวัดเกาะ และส่วนหนึ่งของพื้นที่ทำเป็นกุโบรฺคือ ที่ฝังศพ ศพของคุณปู่และคุณเติมศักดิ์ สมันตรัฐ ก็ฝังที่นั่น (อิ่ม สมันตรัฐ, สัมภาษณ์ : 26 เมษายน 2540, น้อมจิต สมันตรัฐ, สัมภาษณ์ : 13 พฤษภาคม 2540)

 

            คุณเสรี สมันตรัฐ (สัมภาษณ์ 13 พฤษภาคม 2540) เล่าว่า สุเหร่านี้ไม่ได้จดทะเบียน เลยไม่มีชื่อเป็นทางการ เรียกกันติดปากว่า สุเหร่าวัดเกาะ และไม่มีคณะกรรมการมัสยิดเหมือนสุเหร่าหรือมัสยิดที่จดทะเบียน พวกเราสืบสานการปกครองดูแลกันมาตลอด โดยใช้เงินรายได้จากการให้เช่าที่และอาคารรอบมัสยิดเป็นทุน แต่ก็เป็นมัสยิดเปิด คือ ใครมาใช้ก็ได้ แต่ละศุกร์ก็มีมุสลิมเข้ามาละหมาดประมาณ 100 คน เป็นมุสลิมที่ทำงานหรือมีบ้านเรือนบริเวณนั้น ที่กุโบรฺก็เป็นที่สาธารณะเช่นกัน

            พระยาสมันตรัฐฯ แรกเริ่มศึกษาที่วัดบางลำภูล่างหรือวัดเศวตฉัตร จากนั้นพระยาเปอร์ลิศขอไปอุปการะในฐานะบุตรบุญธรรมที่เมืองเปอร์ลิศ ทำให้ท่านมีความรู้ความสามารถในภาษามลายูอย่างดี และเข้ารับราชการเป็นล่ามมลายู จากนั้นได้ลงไปปฏิบัติราชการในหัวเมืองภาคใต้ เช่น ที่อำเภอยะหริ่ง สายบุรี หนองจิก เบตง และเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เมื่อ พ..2457 และได้รับ พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่ออายุราชการจนถึง พ..2475 หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ..2475 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสตูลและได้ร่วมเป็นคณะรัฐมนตรีในหลายรัฐบาล ใน พ..2491 มีการแต่งตั้งตำแหน่งวุฒิสมาชิก ท่านก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อีกเช่นกัน ส่วนตำแหน่งในช่วงท้ายเมื่อ พ..2498 ท่านดำรงตำแหน่งประธานสภาจังหวัด ที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทยและศึกษาธิการ นอกจากนั้น ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรมในวัย 91 ปี ท่านยังได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ตามเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดภาคใต้ เมื่อ พ..2502 ในฐานะล่ามพิเศษ ในครั้งนี้เอง ท่านได้มาเล่าให้ลูกหลานฟังว่า ท่านถึงกับน้ำตาไหลนองหน้าโดยไม่รู้สึกตัว ด้วยความปลื้มปิติเป็นล้นพ้นในพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ ในขณะที่โดยเสด็จมาในขบวนรถไฟขากลับจะถึงหาดใหญ่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จจากที่ประทับมาหาท่านและโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ชั้น 2 แก่ท่านในขณะนั้น ทั้งยังทรงพระกรุณาพระราชทานวโรกาสประทับนั่งสนทนาสอบถามทุกข์สุข และกิจการทางด้านศาสนากับท่านอยู่เป็นเวลานาน (อิ่ม สมันตรัฐ, สัมภาษณ์ : 26 เมษายน 2540)

            พระยาสมันตรัฐมีบุตรธิดาหลายคน  คุณเติมศักดิ์  สมันตรัฐ  เป็นบุตรที่เข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย  จนได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด  โดยรับตำแหน่งผู้ว่าฯ จังหวัดปัตตานีเป็นแห่งแรกในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นที่ปัตตานี  และได้ปฏิบัติหน้าที่รับใช้ประเทศชาติจนสิ้นชีวิตลงในขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร  หลังจากท่านสิ้นชีวิตคุณลัดดาวัลย์ ภรรยา  ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  ให้ปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดในโครงการศิลปาชีพ  คุณลัดดาวัลย์  ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เป็นคุณหญิง  และต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2540 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เป็นท่านผู้หญิงลัดดาวัลย์  สมันตรัฐ

 

-----------------------------------------------------

 

บทความนี้ใช้ประกอบงานห้องเรียนสัญจร ครั้งที่ 1 "เข้าใจวิถีมุสลิม" วันที่ 30 กรกฎาคม 2548 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี ร่วมจัดโดย ศูนย์อิสลามและมุสลิมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี โครงการวารสารข่าวทางอินเตอร์เน็ท ประชาไท และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท