"คุกตารางทำร้ายได้แต่ร่างกาย แต่ไม่อาจทำลายขวัญและจิตวิญญาณลงได้"- "ออง ซาน ซูจี"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 






 

 

 

ชื่อของ "อองซาน ซูจี" เป็นที่ปรากฏในความรับรู้ของประชาคมโลก  หลังเกิดเหตุการณ์ 8-8-88  ในประเทศพม่า  หรือในวันที่ 8 สิงหาคม 2531  ที่เหล่านักศึกษาประชาชนพม่าหลายแสนคน ได้ลุกฮือขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศพม่ามายาวนานถึง 26 ปี

 

อุบัติการณ์ทางการเมืองของประเทศพม่าครั้งนั้น  ทำให้นางอองซาน ซูจี  บุตรสาวของนายพล อองซาน  วีรบุรุษเพื่อเอกภาพของประเทศพม่า ได้เลือกเดินตามรอยบิดาถนนการเมือง  เธอทิ้งอนาคตทางวิชาการและครอบครัวอันอบอุ่นไว้เบื้องหลัง  เพื่ออุทิศตนให้กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสันติภาพในแผ่นดินเกิด ยืนหยัดต่อสู้กับเผด็จการทหาร

 

"ความรักและสัจจะ  จะโน้มน้าวใจมหาชนได้  มากกว่าการบังคับ"  เธอบอกกับอำนาจเผด็จการ

 

กิจกรรมการเมืองครั้งแรกของซูจี  เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 15  ส.ค.2531  หนึ่งสัปดาห์ภายหลังที่กลุ่มเผด็จการทหารพม่า  ได้ใช้กำลังปราบปรามเข่นฆ่าผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 8  ส.ค.2531  หรือที่ประชาคมโลกรู้จักกันในนามของ "เหตุการณ์ 8-8-88" 

 

ซูจี  เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลเผด็จทหาร  เรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

 

26  ส.ค.2531 ซูจีขึ้นกล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรกต่อหน้าฝูงชนหลายแสนคน  ที่มาชุมนุมกันบริเวณด้านนอกของเจดีย์ชเวดากอง  โดยในขณะนั้น  มีสามีและบุตรชายทั้งสองของเธอมาเป็นกำลังใจอยู่ที่นั่นด้วย

 

ซูจี เรียกร้องประชาธิปไตยและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ  เท่าเทียมกันระหว่างชาติพันธุ์หลากหลายในพม่า  ซึ่งเป็นอุดมการณ์และความฝันเดียวกันกับบิดาของเธอ ทว่ากลุ่มเผด็จการทหารกลับไม่ตอบสนองข้อเรียกร้อง  แต่กลับจัดตั้งสภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐขึ้น  เมื่อวันที่ 18  ก.ย.2531  เพื่อมาควบคุมสถาน

การณ์การเรียกร้องของประชาชน

 

วันที่ 24  ก.ย.  ซูจีร่วมกับบรรดามิตรสหายเก่าของบิดาและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน  ตอบโต้ด้วยการจัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาตเพื่อประชาธิปไตย หรือ พรรคเอ็นแอลดี(National  League  for  Democracy - NLD) โดย ซูจี ได้รับเลือดให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค  ประกาศต่อสู้กับอำนาจเผด็จการด้วยการใช้นโยบายสันติวิธีและการดื้อแพ่ง

 

นับตั้งแต่นั้นมา รัฐบาลทหารพม่าได้ใช้อำนาจเผด็จการภายใต้กฎอัยการศึก  โดยได้มีการสั่งกักบริเวณซูจี  ให้อยู่แต่ในบ้านพักเป็นเวลา  3  ปี  ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.2532 และได้จับกุมสมาชิกพรรคจำนวนมากไปคุมขังไว้ที่คุกอินเส่ง ซึ่งรู้กันว่า  เป็นสถานที่มีการปฏิบัติการที่โหดร้ายทารุณต่อนักโทษ 

 

ซูจีอดอาหารประท้วงและเรียกร้องให้นำเธอไปขังรวมกับสมาชิกพรรคคนอื่นๆ  เวลานั้นอเล็กซานเอร์และ คิม บุตรชายอยู่กับมารดาด้วย  ไมเคิล สามีของเธอรีบบินด่วนมาจากอังกฤษมาที่ร่างกุ้ง  เพื่อเป็นกำลังใจให้ภรรยา

 

 "ดิฉันไม่ยอมรับสิ่งใดจากทหารเลย  บางครั้งดิฉันแทบไม่มีเงินพอที่จะซื้ออาหารรับประทาน  ทำให้ร่างกายดิฉันอ่อนแอมาก  ผมของดิฉันร่วง  ดิฉันอ่อนแอจนไม่สามารถลุกจากเตียงได้ ทุกครั้งที่เคลื่อนไหว  หัวใจดิฉันเต้นแรง  แทบหายใจไม่ออก  น้ำหนักของดิฉันลดจาก 106 ปอนด์  เหลือเพียง 90 ปอนด์  ดิฉันคิดว่าต้องตายจากเหตุที่หัวใจล้มเหลว  ไม่ใช่อดอาหาร..." ซูจีเล่าให้นักข่าวฟังถึงสภาพของเธอ  ภายใต้วันเวลาที่ถูกกักบริเวณครั้งแรก เมื่อเดือน ต.ค.2538

 

ซูจี  ถูกรัฐบาลเผด็จการทหาร  สั่งกักบริเวณเป็นครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 21ก.ย.2545 รวมเป็นเวลา 18 เดือน 

 

ต่อมา  ถูกรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า  ภายใต้นาม "สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ" หรือ SPDC  สั่งกักบริเวณให้ใช้ชีวิตอยู่แต่ภายในบ้านพักเป็นครั้งที่ 3  ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2546  ภายหลังเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างมวลชนจัดตั้งของรัฐบาลพม่ากับกลุ่มผู้สนับสนุนซูจี  เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ในระหว่างที่นางซูจี  เดินทางเพื่อพบปะประชาชนในเมืองเดพายิน ทางตอนเหนือของพม่า

 

แม้ว่าในห้วงขณะนี้  ในระยะเวลา  17  ที่ผ่านมา เธอยังคงถูกกักบริเวณอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด  และเพื่อนพี่น้องอีกหลายร้อยคนยังคงถูกคุมขังอยู่  แต่เธอคงเชื่อมั่นที่ตัดสินใจแลกอิสรภาพกับการต่อสู้เพื่อประชา ธิปไตยและสันติภาพของพม่าและพยายามบอกกล่าวแก่ประชาคมโลกว่า "คุกตารางทำร้ายได้แต่ร่างกาย  แต่ไม่อาจทำลายขวัญและจิตวิญญาณลงได้" และ "กำแพงคุก  ก็ส่งผลสะเทือนต่อผู้ที่อยู่ภายนอกคุกได้เช่นกัน"

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท