Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หยดฝนย้อย  หยาดฟ้า มาสู่ดิน


            ประมวลสิ้น  เป็นมหา  สาครใหญ่


            แผดเสียงซัด ปฐพี  อึงมี่ไป


            พลังไหล  แรงรุด  สุดต้านทาน


 


            อันประชา  สามัคคี  มีจัดตั้ง


            เป็นพลัง แกร่งกล้า  มหาศาล


            แสนอาวุธ  แสนศัตรู หมู่อันธพาล


            ไม่อาจต้าน  แรงมหา  ประชาชน


                                                กุหลาบ  สายประดิษฐ์


                                                บทกวีบทสุดท้าย เมื่อ พ..2516     


                                   


ผมหยิบบทกวีที่ชื่อ "พลังประชาชน" ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์  หรือที่ทุกคนรู้จักกันดีในนามของ "ศรีบูรพา"  ออกมาอ่านอีกหน  บนความรู้สึกลึกเศร้าทว่ายังเข้มข้นในพลังอันเปี่ยมหวังของกวีบทนี้


 


สุชาติ  สวัสดิ์ศรี  บรรณาธิการหนังสือ "ร้อยนักเขียน  ร้อยกวี ชุมนุมเชิดชูเกียรติ 100 ปี กุหลาย  สายประ


ดิษฐ์"  ที่จัดพิมพ์เนื่องในงานชุมนุมช่างวรรณกรรม ประจำปี 2548  ได้อธิบายไว้ว่า บั้นปลายชีวิต ขณะลี้ภัยอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน  กุหลาบ  สายประดิษฐ์  ได้ทราบข่าวชัยชนะของนักศึกษา-ประชาชนในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516  เขารู้สึกประทับใจและสะเทือนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  จึงได้แต่งบทกวีชื่อ "พลังประชาชน" ชิ้นนี้  ส่งมายังประเทศไทย


 


และนี่อาจจะเป็นบทกวีชิ้นสุดท้ายของเขาก็ได้  เพราะต่อจากนั้นอีกประมาณ 9  เดือนต่อมา  กุหลาบ  สายประดิษฐ์  ก็ได้ถึงแก่กรรมที่กรุงปักกิ่ง  เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2517  รวมอายุได้ 69  ปี


 


เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักเขาในหลายๆ  สถานะ  ไม่ว่าจะเป็นนักคิดนักเขียน  หนังสือพิมพ์  หรือนักมนุษยภาพ แต่ที่หลายคนรู้จักกันมากที่สุด  ก็คือในนาม "ศรีบูรพา"กับงานเขียนนวนิยายที่แฝงไว้ด้วยชีวิต  อุดมการณ์  ความรัก และมนุษยธรรม แฝงไว้เกือบทุกบททุกตอน อาทิ แลไปข้างหน้า สงครามชีวิต  ลูกผู้ชาย  ข้างหลังภาพ ฯลฯ


 


หากจริงๆ แล้ว กุหลาบ  สายประดิษฐ์  เขามีงานเขียนอีกหลายรูปแบบ และใช้นามปากกาอีกมากมายหลายนาม  ไม่ใช่เพียงแค่ "ศรีบูรพา" เพียงเท่านั้น


 


และแน่นอน  กุหลาบ  สายประดิษฐ์  เขาเป็นกวีอีกด้วย  ทว่าไม่ค่อยมีใครรับรู้และให้ความสำคัญในบทบาทนี้เท่าใดนัก  มาเรียนรู้วิถีของเขาในอดีตดูสิว่า- -ชีวิตของสามัญชนคนนี้มีอะไรหลายอย่างให้เราค้นหาอีกมาก


 


ในบทกล่าวนำ ของ สุชาติ  สวัสดิ์ศรี  บอกไว้ว่า  กุหลาบ  สายประดิษฐ์  เป็นบุคคลที่ได้รับการกล่าวขานในหลายสถานะ  ภาพกว้างๆ  ของท่านที่ปรากฏก็คือ บทบาทของความเป็นนักประพันธ์  นักหนังสือพิมพ์  และนักมนุษยภาพ  ซึ่งในทั้ง  3  สถานะนี้  มีผลงานของท่านในฐานะที่เป็น "กวี" รวมอยู่ด้วย


 


กุหลาบ  สายประดิษฐ์  เริ่มต้นเขียนหนังสือมาตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยม 6  โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์  เมื่อ พ..2465  เขามีอายุ  17  ปี  และถือเป็นปีแรกในชีวิตการประพันธ์ของเขาซึ่งได้บันทึกไว้ว่า "...เริ่มฝึกหัดการแต่งหนังสือ...งานที่ทำคือ ออกหนังสือพิมพ์ในห้องเรียน ชื่อศรีเทพ ใช้นามปากกา ดาราลอย..."  นั่นก็หมายความว่า  ดาราลอย คือนามปากกาครั้งแรกในชีวิตการเขียนหนังสือของกุหลาบ  สายประดิษฐ์


 


อีก 1 ปีต่อมา เมื่อได้เลื่อนไปเรียนอยู่ชั้นมัธยม 7  กุหลาบก็ได้ออก "หนังสือมือทำ" โดยใช้เครื่องพิมพ์ดีดในชื่อ เทพคำรณ  อยู่ประมาณ 4-5 ฉบับ  และได้เปลี่ยนชื่อจาก เทพคำรณ  มาเป็น  ศรีสัตตคาม


 


กุหลาบ  เริ่มต้นชิ้นงานด้วยการเขียนบทกวีเป็นอย่างแรก  และได้คลี่คลายงานเขียนออกไปในอีกหลายลีลา  แต่กระนั้นไม่ว่าจะไปอยู่ในลีลาใด  หนามกุหลาบก็จังคมเสมอต้นเสมอปลาย  สะท้อนความมุ่งมั่นของผู้ใฝ่การเรียนรู้ตลอดชีวิต.


 


                                    ............................................


หมายเหตุ


เชิญร่วมงาน 100 ปีชาตกาลศรีบูรพา  วันศุกร์ 26 ..2548  ณ ห้องประชุมศ.ดร...ตุ้ย  ชุมสาย  ชั้น 8  อาคาร HB 7  คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ภาคเช้า : ชมวีดิทัศน์ กุหลาบ  สายประดิษฐ์ : สุภาพบุรุษ มนุษยภาพ,ปาฐกถานำ โดย ศ.ดร.นิธิ  เอียวศรีวงศ์  ตามด้วยวงเสวนา เรื่อง "ความหมายแห่งชีวิต  ความคิดแห่งวรรณกรรม ของกุหลาบ  สายประดิษฐ์"  โดย สุชาติ  สวัสดิ์ศรี  ชมัยภร  แสงกระจ่าง และ  อรรถจักร  สัตยานุรักษ์    ดร.ประมวล  เพ็งจันทร์ ดำเนินการอภิปราย


ภาคบ่าย : วงเสวนา "มิติวรรณกรรมของศรีบูรพา" โดย มาลา  คำจันทร์, แรคำ  ประโดยคำ, ชูศักดิ์  ภัทรกุลวณิชย์, อรรคภาค  เล้าจินตนาศรี  ชมัยภร  แสงกระจ่าง  ดำเนินรายการ นอกจากนั้น พบกับการแสดง "กวีคีตการ"  ผู้สนใจติดต่อ รศ.สุพรรณ  ทองคล้อย ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มช. โทรศัพท์ 053-943244-5


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net