Skip to main content
sharethis

 "เกลือ  ปลา  นาข้าว  คือรากเหง้าของชาวอีสาน"    สามารถอธิบาย  หรือบ่งบอกถึงวิถีชีวิต  ความเป็นอยู่  ความอุดมสมบูรณ์  สภาพภูมินิเวศ  ฐานการผลิตของคนอีสานได้เป็นอย่างดี  ที่ได้พึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ตามพื้นถิ่นแล้วมีการสั่งสม  สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น  ขณะเดียวกันก็ยึดหลักการทำมาหากินที่พอเพียง  ใครมีอะไรก็นำมาแลกเปลี่ยน  จุนเจือซึ่งกันและกัน  นำมาสู่สังคม 
วัฒนธรรมของชาวอีสานจนถึงปัจจุบัน


แต่เดิมนั้น  การทำเกลือของชาวอีสานมีกรรมวิธีที่มองดูเรียบง่ายแต่แฝงเร้นด้วยภูมิปัญญาของชุมชน โดยการขูดเอา  "ดินเอียด"  หรือคราบเกลือบนผิวดินมาผสมกับน้ำ  ซึ่งจะมีบ่อพักเจาะรูใต้พื้นรางที่ทำจากไม้ไผ่เพื่อรองรับน้ำเกลือที่กลั่นเก็บไว้ในบ่อเล็กๆ  ที่เตรียมไว้  จากนั้นก็เป็นการเคี่ยวจากบ่อน้ำเล็กที่เตรียมไว้ทำให้ตกตะกอน  2-3  วัน  น้ำที่ได้จากการเคี่ยวเกลือนี้จะใสสะอาดจริงๆ  เพราะทำการกลั่นแล้ว  หลังจากนั้นก็นำไปต้มแล้วจึงได้เกลือมาเพื่อการบริโภคในครัวเรือน ปรุงอาหาร  ทำปลาร้า  ปลาแดก  รวมทั้งเป็นสินค้าใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าในแต่ละท้องถิ่น  เช่น  เครื่องจักสาน  เครื่องปั้นดินเผา  ข้าว  ปลา  เป็นต้น 


ส่วนใหญ่จะมีการรวมกลุ่มญาติ พี่ น้อง  ทำร่วมกันในเนื้อที่ของตนเอง ทั้งนี้  การทำเกลือ  ต้มเกลือจะมีทำเฉพาะช่วงหน้าแล้งหลังเสร็จจากการเก็บเกี่ยว  ไปจนถึงต้นฤดูฝน คือ ช่วงเดือนมกราคม-เดือนพฤษภาคม  พอเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนก็ทำนา  ปลูกข้าว  หาปลา  ดินเอียดก็จะถูกน้ำชะล้างค่อยหายไป  ซึ่งเป็นวงจรของการดำรงอยู่  ทำมาหากินอย่างนี้เรื่อยมา  ปัจจุบัน ยังสามารถพบเห็นการทำเกลือ 
ต้มเกลือได้ในบางพื้นที่


นางจันทร์  บำรุงภักดี  ชาวบ้านนาม่วง  ต.นาม่วง  กิ่งอ.ประจักษ์ศิลปาคม  จ.อุดรธานี  กล่าวว่า  ตนไม่รู้ว่ามีการต้มเกลือมาตั้งแต่เมื่อไร  รู้แต่เพียงว่าพอเกิดมาก็เห็นพ่อ แม่ต้ม แล้วได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้  ซึ่งถ้าคนไม่รู้จริง  จะทำไม่เป็น  หรือทำออกมาแล้วก็ได้เกลือไม่ดี  เค็มไปบ้าง   จืดไปบ้าง  เมื่อนำไปมักปลาร้าเนื้อปลาก็จะเน่าเปื่อยเสียไป เป็นต้น  


การต้มเกลือจะทำเฉพาะช่วงเสร็จจากการทำนาซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้ง ที่มีดินเอียดขึ้นมาขาวโพลนเต็มไปหมด  ทำร่วมกับญาติๆ  ในที่นาของตนเอง  ก่อนทำการต้มเกลือก็จะมีการทำพิธีกรรมเซ่นไหว้  ผีปู่ตาเสียก่อน   ตามความเชื่อที่นับถือสืบต่อกันมา  เกลือที่ได้ก็เก็บเอาไว้กินเป็นปีๆ  หากมีชาวบ้านจากที่อื่นนำของมาแลก  ไม่ว่าจะเป็น  กระติบข้าว  เสื่อกก  ปลา  ฯลฯ  ก็จะแลกเขาไป  ทั้งนี้ 
เป็นการลดค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวได้อีกทางหนึ่งด้วย 


ในเวลาต่อมา ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ว่าเกลือที่ซื้อตามท้องตลาดเพียงกิโลกรัมละไม่กี่สตางค์เพื่อนำมาบริโภคนั้น   จะมีมูลค่ามหาศาลต่อภาคอุตสาหกรรม  และมีนัยทางประวัติศาสตร์  ตำนานการต่อสู้ของกระบวนการภาคประชาชน


การต้ม-ตากเกลือเพื่ออุตสาหกรรม


ในปี  2514  เกิดน้ำท่วมใหญ่ในภาคกลาง ทำให้โกดังเก็บเกลือเสียหายหมด เกลือทะเลจึงมีราคาแพงขึ้น 10 เท่าจาก 100 บาท/ ตัน เป็น1,000 บาท/ตัน  นายทุนเกลือทะเลจากอ่าวไทยจึงเริ่มมาผลิตเกลือในภาคอีสาน   กรมทรัพยากรธรณี ได้ขุดเจาะหาน้ำบาดาลแต่ได้น้ำเกลือที่เค็มมาก  โดยเฉพาะในเขตต้นน้ำเสียว อ.บรบือ จ.มหาสารคาม  จึงมีการนำน้ำเกลือที่ได้มาต้มดูและได้เกลือคุณภาพดี   จึงเริ่มขุดเจาะเอาน้ำเกลือมาต้มกันอย่างแพร่หลายก่อนจะเปลี่ยนเป็นการสูบน้ำเกลือขึ้นมาตากในนาเกลือเพื่อลดต้นทุน    จนมีผู้ผลิตนับพันรายอยู่บริเวณหนองบ่อ ลุ่มน้ำเสียว  เกิดปัญหาน้ำเค็มดินเค็ม สัตว์น้ำตาย ความอุดมสมบูรณ์ลดลง


ชาวบ้านออกมาเรียกร้องให้ยุติการทำนาเกลือเป็นผลให้รัฐบาล  มีคำสั่งปิดกิจการผลิตเกลือสินเธาว์ในเขตลุ่มน้ำเสียวทั้งหมดในปี 2523 เป็นต้นมา   แต่การทำเกลือที่น้ำเสียวหยุดไประยะหนึ่งเท่านั้น  หลังจากนั้น ก็มีการลักลอบทำนาเกลืออีกรวมทั้งมีการขยายพื้นที่ทำนาเกลือไปยังจังหวัดอื่น ๆ   ทำให้สภาพแวดล้อมตลอดลำน้ำเสียว  ที่ไหลบรรจบแม่น้ำมูน กว่า 240 ก.ม. เสื่อมโทรมอย่างหนัก น้ำเค็มกว่าน้ำทะเลถึง 2 เท่า กุ้ง หอย ปู  ปลาและสัตว์น้ำ  วัวควายล้มตาย นาข้าวสองฝั่งลำน้ำเสียวเสียหายจากน้ำเค็ม   ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน จึงรวมกลุ่มต่อต้านการทำนาเกลืออีกครั้ง
เรียกร้องให้ยุติการทำนาเกลือและฟื้นฟูลุ่มน้ำเสียวใหญ่โดยเร็วที่สุด  จนมีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 3/2532 ห้ามมิให้ทำนาเกลือในลุ่มน้ำเสียว  แต่ยังคงมีการลักลอบทำนาเกลืออยู่อีก   จนชาวบ้านต้องมาชุมนุมยืดเยื้อที่ จ.มหาสารคามแต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม


ภายหลังจากเหตุการณ์นี้มีผลให้การลักลอบทำนาเกลือในพื้นที่น้ำเสียวหยุดไป แต่กลุ่มนายทุนเคลื่อนย้ายไปผลิตในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วอีสาน   โดยมีการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510
ให้ขุดเจาะน้ำเกลือใต้ดินทำเกลือได้   กฎหมายนี้บัญญัติขึ้นเพื่อรองรับเหมืองเกลือหินให้ถูกกฎหมาย เปิดให้ขอใบอนุญาตทำเกลือได้ง่าย ๆ  แม้ว่าชาวบ้านจะรวมตัวกันเรียกร้องให้ยุติการทำเกลือทั่วอีสานแต่ก็ไม่เป็นผล


จนถึงปัจจุบันการทำเกลือโดยการสูบน้ำเกลือขึ้นมาต้มและตากได้กระจายไปทั่วภาคอีสาน
มีพื้นที่รวมกว่า 15,000 ไร่มีกำลังการผลิต 4 - 5 แสนตัน/ปี ทุกวันนี้กับระบบเศรษฐกิจทุนนิยม  สังคมแห่งการบริโภค   ทรัพยากรธรรมชาติต่างถูกผลาญไปเพื่อตอบสนองทุนอย่างไม่มีวันสิ้นสุด 
การผลิตเพื่อยังชีพได้ถูกทำลายโดยการผลิตเพื่อเข้าสู่ตลาดการแข่งขัน 


 "เกลือ"  หรือ  "ดินเอียด"  ที่เคยเป็นฐานการผลิต  และแหล่งรวมวัฒนธรรมของชุมชน ได้ก้าวเข้าไปสู่เหมืองแร่ขนาดใหญ่เหมืองละลายเกลือ (Solution Mining) เหมืองเกลือพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา  ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี 2507 ดำเนินการผลิตโซดาไฟ กรดเกลือ คลอรีน และผลิตภัณฑ์เคมีอื่น ๆ   ซึ่งเดิมใช้เกลือทะเลเป็นวัตถุดิบ


จนปลายปี 2515  เริ่มผลิตเกลือสินเธาว์มาใช้   โดยทำเหมืองละลายเกลือหิน   ซึ่งเจาะลงไปจนถึงชั้นเกลือหินเพื่ออัดฉีดน้ำเพื่อละลายเกลือหินที่อยู่ใต้ดิน  นำน้ำเกลือที่ได้มาตากในนา แต่ไม่พอต่อความต้องการ เพราะสามารถผลิตเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง บริษัทจึงเริ่มนำเทคโนโลยีสมัยใหม่จากยุโรป มาพัฒนาทำเหมืองละลายเกลือหิน (Solution Mining) โดยอัดน้ำจืดไปเพื่อละลายเกลือหินนำน้ำเกลือที่ได้จากการละลายเข้าสู่การแยกสิ่งเจือปนด้วยสารเคมีจนได้น้ำเกลือบริสุทธิ์ส่งไปเคี่ยวให้เดือดและระเหยไอน้ำออก  ทำให้น้ำเกลือมีความเข้มข้นจนเกิดผลึกเป็นเม็ดเกลือ  ผ่านไปสู่เครื่องสะบัดแห้งเป็นเม็ดเกลือมีความบริสุทธิ์ถึงร้อยละ 99.9 เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรม


เหมืองแร่โปแตชและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง


คนไทยบริโภคเกลือประมาณ 27 กก./คน/ปี เป็นการบริโภคโดยกิน (รวมอาหารสัตว์ ประมาณ 7.5 กก./คน/ปี หรือร้อยละ 28 อีก 19.5 กก./คน/ปี  เป็นการบริโภคผ่านอุตสาหกรรม  ส่วนคนอเมริกันใช้เกลือสูงถึง 214 กก./คน/ปี   การพัฒนาอุตสาหกรรมทำให้ความต้องการใช้เกลือในยุคนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ  จนมีนโยบายแผนงาน และโครงการพัฒนาเกี่ยวกับเกลือเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเกลือ  วางแผนทำเหมืองแร่โปแตช จังหวัดชัยภูมิ อุดรธานี สกลนคร ขอนแก่น มหาสารคาม 20 ปีมาแล้ว


ปัจจุบัน มีการทำแผนแม่บท "ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง" เชื่อมโยงกับการพัฒนาอุตสาหกรรมโปแตชและเกลือหิน  โดยตั้งเป้าผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตช 3 แห่ง ที่อุดรธานีของบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด จากประเทศแคนาดา  โครงการเหมืองแร่โปแตชบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ของบริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด และโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.สกลนคร ของบริษัทไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จากประเทศจีน  ภายในเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2548 - 2550) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยโปแตชและเกลือในภูมิภาคอาเซียน  และส่งเสริมให้มีการผลิตและใช้เกลือที่ได้จากเหมืองละลายเกลือ (บริษัทเกลือพิมายฯ) และเกลือที่เป็นผลพลอยได้จากเหมืองแร่โปแตช ซึ่งจะทำการผลิตเกลืออย่างน้อย 7 - 10 ล้านตัน/ปี


การผลักดันเหมืองแร่โปแตชและการทำอุตสาหกรรมเกลือขนาดใหญ่จะทำให้การผลิตเกลือแบบต้มและตากให้หมดสิ้นไปเนื่องจากเป็นการใช้เทคโนโลยีราคาถูก มีผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ   แต่เกลือจากการทำเหมืองแร่โปแตชจะเกินความต้องในประเทศถึง 3 - 5 เท่าตัว 
ดังนั้นแผนส่งออกเกลือสู่ต่างประเทศและพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยใช้เกลือและโปแตชจึงถูกกำหนดขึ้น ที่จ.อุดรธานีมีแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีโดยใช้แร่โปแตชและเกลือเป็นวัตถุดิบถูกผลักดันโดยนักธุรกิจที่ร่วมกันจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโนนสูง  อยู่ติดโรงงานโปแตชแหล่งอุดรใต้ โดยวางแผนก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเคมี ซึ่งได้กำหนดผังเมืองให้พื้นที่ขอบเขตเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี เป็นเขตพัฒนาอุตสาหกรรมของ จ.อุดรธานี   และมีแผนผลักดันอุตสาหกรรมในภาคอีสานให้เชื่อมต่อกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง


ทั้งนี้ มีข้อเสนอการจัดการเกลืออีสาน จากงานศึกษาวิจัยการจัดการทรัพยากรเกลือในภาคอีสานของโครงการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำร่างแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   สถาบันวิจัยสังคม  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติโดยนายเลิศศักดิ์  คำคงศักดิ์  คณะผู้วิจัยฯ  กล่าวว่า รัฐมุ่งโอบอุ้มการทำเหมืองเกลือและเกลือจากเหมืองแร่โปแตช    แต่กลับละทิ้งผู้ประกอบการรายย่อย ที่ทำเกลือทะเล ทำเกลือตาก-ต้ม  และเกลือพื้นบ้าน  ไร้มาตรการรองรับ จึงขอเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหา  ดังนี้


1. ให้ยึดแนวทางการผลิตเกลือให้พอดีกับความต้องการใช้ภายในประเทศ  เพราะประเทศไทยผลิตและใช้เกลือเฉลี่ยประมาณ 1.7 ล้านตัน/ปี จากเกลือทะเล  เกลือพื้นบ้าน  เกลือต้มและตาก  และเกลือจากเหมืองเกลือพิมาย เป็นปริมาณเกลือที่พอดีกับความต้องการใช้ในประเทศ   หากมีการผลิตเกลือจากการทำเหมืองแร่โปแตช จะมีเกลือมากถึง 7 - 10 ล้านตัน/ปี   เกินความต้องการในประเทศ 3 - 5 เท่า  ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการแพร่กระจายของเกลือ


2. ควบคุมผลกระทบจากการผลิตเกลือสินเธาว์โดยวิธีการต้มและตาก ต่อสิ่งแวดล้อมเป็นมิตรกับชุมชนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมให้ได้


3. สืบสานภูมิปัญญาการทำเกลือพื้นบ้านในชุมชน  เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารและลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน


4. เปลี่ยนทัศนคติการกิน "เกลือฟอกขาว" ให้มาบริโภคที่เกลือพื้นบ้าน เกลือทะเลที่มีแร่ธาตุจำเป็นต่อร่างกายเพื่อสุขภาพของประชาชน
              
ข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นข้อเสนอเบื้องต้นเพื่อนำไปสู่กระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะขึ้นมาเพื่อดูการผลิตและใช้เกลือทั้งระบบ  ทั้งนี้  เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมจนเกิดความเข้าใจและเห็นคุณค่า  แผ่ขยายวงกว้างทุกกลุ่มคน  สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อเสนอประเด็นต่างๆ  ของนโยบายจากทุกๆ  ฝ่าย  มีเวทีคิดร่วมกันว่าจะจัดการผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างไร  หรือตั้งประเด็นคิดและศึกษาวิจัยร่วมกันว่าระหว่างการนำเกลือขึ้นมาให้พอดีกับความต้องการกับนำขึ้นมาจนล้นกับความต้องการอย่างไหนจะดีกว่ากัน ?  โดยหวังว่ากระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะดังกล่าวจะสามารถชี้นำการเมืองและภาคราชการในการกำหนดนโยบายได้.


เดชา คำเป้าเมือง
สำนักข่าวประชาธรรม
แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี  มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net