Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ยุทธศาสตร์ที่ 1 นโยบายการบริหารงานยุติธรรมแบบบูรณาการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


การนำนโยบายอาญาและนโยบายยุติธรรมแห่งรัฐไปปฏิบัติในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งขั้นวิกฤต ดังเช่น กรณีปัญหาการบริหารงานยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประกอบด้วยหน่วยงานหลายหน่วยงาน หลายฝ่าย และหลายกระทรวงนี้ จำเป็นต้องมีการจัดกลยุทธ์ที่ชัดเจนเป็นเอกภาพเพื่อให้ผู้ปฏิบัติมีทิศทางที่ชัดเจน ไม่เกิดความสับสน และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ดังนั้น นโยบายการบริหารงานยุติธรรมแบบบูรณาการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญยิ่ง ประการแรก เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีนโยบายอาญาในการจัดการงานยุติธรรมทีมีความเป็นเอกภาพร่วมกัน


 


แนวทางการดำเนินการ


                    



  1. กำหนดทิศทางนโยบายยุติธรรมแบบบูรณาการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ชัดเจนโดยเฉพาะการไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาด้านความยุติธรรม

  2. สร้างความต่อเนื่องทางด้านนโยบายอาญาและนโยบายยุติธรรมและให้มีกลไกผลักดันนโยบายที่ประกอบด้วยบุคลากรจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

  3. ให้ความสนใจกับยุทธวิธีในการแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งและอาชญากรรมระยะยาวที่ระดับชุมชนและที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตชุมชนมากกว่าการแก้ไขปัญหาเพื่อปรับเปลี่ยนแบบแผนการดำเนินชีวิตให้เป็นแบบที่บุคคลภายนอกเข้าใจว่าเหมาะสม

  4. สร้างดุลยภาพระหว่างการบังคับใช้กฎหมายกับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามสภาพของสังคมไทยโดยรวม

 


ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินกระบวนยุติธรรมตามหลักนิติธรรม


 


ในสถานการณ์ปกติ การดำเนินการกระบวนยุติธรรมของประเทศก็มีปัญหาข้อขัดข้องเกี่ยวกับความไม่เหมาะสม ไม่มีประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจับแพะของกรณี เชอรี่ แอน ดันแคน การวิสามัญฆาตกรรมกรณีโจด่านช้างและพวกที่จังหวัดสุพรรณบุรี การฆ่าตัดตอนจำนวนมากที่จับกุมตัวผู้กระทำผิดไม่ได้เมื่อคราวประกาศสงครามยาเสพติด และการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีต่างๆ


 


ดังนั้นในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ หรือสถานการณ์วิกฤตเช่นที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยิ่งเป็นกรณีที่การดำเนินกระบวนการยุติธรรมของประเทศจะต้องผนึกกำลังเพื่อสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานทั้งในส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนและในภาพรวมให้มีการระมัดระวังมาตรฐานที่ควรจะเป็นอย่างเคร่งครัดมากกว่าในกรณีสถานการณ์ปกติเพื่อประชาชนชาวไทยทุกกลุ่มชาติพันธุ์ที่ประสบเหตุการณ์ใดๆจะได้ใช้เป็นที่พึ่งพิง เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการเกิดความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ยุติธรรม  และยอมรับได้ในผลแห่งการอำนวยความยุติธรรมที่เที่ยงธรรม  รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ


 


แนวทางการดำเนินการ


 



  1. ด้านกฎหมาย เพื่อลดความสับสนและสร้างความชัดเจนให้กับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติและประชาชน  ควรจะดำเนินการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายด้วยการ

 


-           จัดทำคู่มือและแนวทางในการปฏิบัติงานตามกระบวนกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  พ.ศ.2548  สำหรับเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็วที่สุดเพื่อลดความผิดพลาดบกพร่องซ้ำซากอันเกิดจากการตีความที่เป็นคุณหรือโทษต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง


-           จัดทำคู่มือให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่และขั้นตอนการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเมื่อถูกเชิญตัวไปสอบปากคำ  ตกเป็นผู้ต้องหา  หรือจำเลย  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548  และตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยที่เกี่ยวข้องซึ่งจะให้ความช่วยเหลือกับประชาชนเมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม  ทั้งภาษาไทยและภาษามลายูโดยแจกจ่ายให้อย่างทั้งถึงให้กับชุมชน  มัสยิด  และโรงเรียน


-           จัดทำคู่มือเพื่อกำหนดแนวปฏิบัติที่เหมาะสมให้กับเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการตรวจค้นตัวบุคคล  สถานที่  และวัตถุที่อาจล่วงละเมิดทางศาสนา



  1. ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินกระบวนการยุติธรรมในภาพรวมให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย

-           คณะกรรมการประสานงานกระบวนการยุติธรรมแห่งชาติควรแสดงบทบาทเชิงรุกในการเป็นผู้นำเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และการจัดทำแผนการดำเนินกระบวนการยุติธรรมในสถานการณ์ฉุกเฉินของประเทศ  ที่กำหนดบทบาทหน้าที่และมาตรฐานการปฏิบัติงานของหน่วยงานย่อยในกระบวนการยุติธรรมในลักษณะที่ลดทอนเงื่อนไขด้านเวลา ลดภารกิจหรือกระบวนการที่ทำให้ล่าช้าไม่เป็นธรรม ฯลฯ  อันอาจก่อให้เกิดเงื่อนไขความไม่ไว้วางใจในสถานการณ์วิกฤตศรัทธาต่ออำนาจรัฐ  โดยใช้เหตุการณ์ที่ขึ้นเป็นกรณีศึกษาเพื่อกำหนดที่ควรทำและละเว้นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ  และเร่งนำแผนดังกล่าวมาปรับใช้กับ3 จังหวดชายแดนภาคใต้โดยเร็วที่สุด


-           เร่งจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อประสานงานและให้มีการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องในกระบวนการยุติธรรม


-           กำหนดเป้าหมายร่วมและตัวชี้วัดความสำเร็จในงานยุติธรรมด้วยการลดจำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่และเพิ่มปริมาณการดำเนินคดีโดยกระบวนการยุติธรรม


-           เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยนำกรณีศึกษาต่างๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประสบปัญหาในกระบวนการยุติธรรมมาศึกษาสังเคราะห์เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายใหม่ทั้งองคาพยพ



  1. ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการสืบสวนสอบสวน จับกุม ค้น

-           ดำเนินการแสวงหาพยานหลักฐานให้แน่นหนาเพียงพอก่อนที่จะลงมือจับกุมดำเนินคดีผู้ต้องสงสัย


-           พัฒนาเทคนิควิธีการสืบสวนสอบสวนให้มีประสิทธิภาพในการทำงานด้วยนิติวิทยาศาสตร์ โดยมุ่งหมายให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในชีวิต และร่างกายของประชาชนให้น้อยที่สุด


-           กู้ศักดิ์ศรีความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมของกฎหมายกลับคืนมา โดยแสดงให้เห็นว่าทุกคนอยู่ภายใต้หลักกฎหมายเดียวกัน และเจ้าหน้าที่ไม่ได้เลือกปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติผิดพลาดก็แก้ไขใหม่ให้ถูกต้อง และแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต่างก็เคารพกฎหมายเช่นเดียวกัน


-           การตรวจค้นบ้านเรือนสถานที่พักอาศัย หรือสถานศึกษาต้องแจ้งให้ผู้นำชุมชน หรือผู้บริหารศึกษาทราบก่อนเข้าตรวจค้น หรือให้อยู่ในบริเวณที่ทำการตรวจค้นด้วย เพื่อให้ลูกบ้านหรือนักเรียนนักศึกษาจะได้อุ่นใจ เพราะบางครั้งชาวบ้านไม่เข้าใจภาษาไทย


-           มีการแจ้งให้ญาติทราบโดยเร็วที่สุด เมื่อมีการเชิญตัวหรือจับกุมตัวไป เพื่อเป็นการแสดงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อให้ญาติจะได้คลายความกังวล สามารถไปเยี่ยมและเตรียมการประกันตัวได้



  1. ด้านการพัฒนาการควบคุมตัว หรือปล่อยตัวชั่วคราวที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน

-           ให้ความสำคัญกับการวบคุมตัวเยาวชน โดยปฏิบัติตามหลักกฎหายอย่างเคร่งครัดให้มีผลกระทบต่อเยาวชนให้น้อยที่สุด โดยคำนึงถึงโอกาสทางการศึกษา


-           การควบคุมตัวระหว่างสอบสวนในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ ควรเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาได้ปฏิบัติศาสนกิจตามที่ร้องขอ


-           การควบคุมตัวในเรือนจำระหว่างสอบสวน และพิจารณาคดี ควรใช้หลักพันธนาการจำตรวนผู้ต้องขังเท่าที่จำเป็น เพื่อลดความรุนแรงทางสังคม หรือเลือกใช้วิธีอื่นในการควบคุมตัว เพราะบุคคลเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกพิพากษาว่ากระทำผิดจริง จึงไม่ควรรับโทษหลักกว่าผู้กระทำผิดจริง


-           การควบคุมตัวควรคำนึงถึงสิทธิของตัวผู้ต้องขังและผลกระทบต่อผู้ต้องขังอื่นในเรือนจำเดียวกัน


-           ควรมีกลไกช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยากจนที่ต้องการขออนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวทั้งในด้านของคำแนะนำและในเงินกองทุนสนับสนุนเพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม



  1. ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการฟ้องร้องและดำเนินกระบวนพิจารณาคดี

-           ควรมีนโยบายเร่งรัดการดำเนินคดีบางประเภท  ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น  คดีนักศึกษาต้องขังระหว่างพิจารณาและไม่ได้รับการประกันตัว ฯลฯ  ตรวจสอบและติดตามความคืบหน้าของคดีเพื่อลดความรู้สึกขัดแย้งทางสังคม  และช่วยสังเคราะห์ให้ผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น



  1. ด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินการภายหลังมีคำสั่งพิพากษาหรือคำสั่ง

-           เร่งติดตามนำทรัพย์สินของกลางที่ถูกเก็บไว้คืนให้จำเลยที่ถูกยกฟ้องทุกกรณีโดยเร็วที่สุด  มีการขอโทษชดใช้ค่าเสียหาย  และลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่เพราะเป็นการสร้างเงื่อนไขการไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น


ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสลายเงื่อนไขความไม่ยุติธรรมทางสังคม


 


ความยุติธรรมเป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย  และกฎหมายก็มีเจตนารมณ์ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของสังคมได้อย่างเสมอภาคและเป็นธรรม  ซึ่งหลักการดังกล่าวสามารถใช้การได้ดีเมื่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่มีความขัดแย้งกันต่างก็มีคุณสมบัติหรือมี "ต้นทุนทางสังคม" (อันเป็นอำนาจต่อรองที่สำคัญประการหนึ่ง) สมน้ำสมเนื้อที่จะทำการต่อสู้ แต่เนื่องจากคนในสังคมกลุ่มต่างๆมีต้นทุนทางสังคมที่แตกต่าง หลากหลาย ไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มคนชายขอบของสังคมในสภาพทั่วไปอยู่แล้ว ดังนั้น โดยลักษณะที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และลักษณะทางวัฒนธรรมที่สังคมกำหนดให้ภายหลังจึงผสมผสานกันทำให้ "ต้นทุนทางสังคม" ของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอยู่ในสังคมไทยมีอำนาจต่อรองที่ค่อนข้างจำกัดในการเข้าร่วมต่อสู้ทางกฎหมายผ่านทางกระบวนการยุติธรรมเชิงสถาบัน ซึ่งประเด็นความไม่เท่าเทียมกันโดยนี้เป็นเงื่อนไขความไม่ยุติธรรมในสังคมที่สำคัญประการหนึ่งที่ชาวไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบอยู่ในสถานการณ์ร่วมสมัยนี้และจำเป็นต้องมีการจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อสลายเงื่อนไขความไม่ยุติธรรมทางสังคมโดยเร็วที่สุดโดยเฉพาะในเรื่องของการเข้าถึงความยุติธรรมโดยกระบวนการยุติธรรมของรัฐ


 


แนวทางการดำเนินการ


-           เร่งสลายเงื่อนไขการดำเนินกระบวนยุติธรรมด้วยการใช้ พรก. ให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุดและประกาศยกเลิกการใช้ พรก.กับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เร็วที่สุด


-           จัดให้มีล่ามหรือทนายความที่เข้าใจภาษามลายู ในการสื่อสารกับชาวไทยมุสลิมทันที และในทุกขั้นตอนที่มีการบังคับใช้กฎหมายและดำเนินกระบวนยุติธรรมทั้งระบบ


-           จัดให้มีคู่มือ เอกสาร ป้ายประกาศ ฯลฯ ในหน่วยงานของกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทย


-           ใช้อำนาจรัฐเพื่อช่วยลดทอนแรงเสียดทานของเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการคลี่คลายคดีที่สะท้อนถึงความอยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรม อันแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางที่แสดงเจตนาสลายเงื่อนไขซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้กิความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม


-           แสดงให้เกิดความกระจ่างชัดว่ารัฐไม่ได้เลือกปฏิบัติหรือละเลยในการอำนวยความยุติธรรมโดยเร่งดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปที่กระทำผิด


-           กรณีผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาเป็นนักศึกษาควรได้รับการดูแลให้มีโอกาสศึกษาต่อเนื่อง และเมื่อพ้นจากเรือนจำไม่ว่ากรณีใดก็ตาม นักศึกษาเหล่านี้ควรจะมีโอกาสกลับไปศึกษาต่อ ณ สถาบันการศึกษาเดิมเป็นกรณีพิเศษ


-           ควรมีการขอโทษต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และเยียวยาความเสียหายให้กับผู้เสียหายทั้งผู้เสียหายโดยตรงและโดยอ้อมรวมทังผู้ที่พิการและอยู่ระหว่างการรักษาพยาบาลด้วย


-           เร่งค้นหาบุคคลสูญหายเพื่อพิสูจน์ความจริงให้ปรากฏ


-           ให้มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริงของการตายของผู้ก่อเหตุในวันที่ 28 เมษายน 2547 นอกจากกรณีมัสยิดกรือเซะ


-           ในระดับนโยบายควรระมัดระวังในการส่งสัญญาณที่เป็นการชี้นำให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติเกิดความรู้สึกสับสนในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม


                                                                                 


ยุทธศาสตร์ที่ 4 การปรับกระบวนทัศน์และวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่


 


"...ข้าราชการที่จะแต่งตั้งออกไปประจำตำแหน่งในมณฑลปัตตานี พึงเลือกเฟ้นแต่คนที่มีนิสัยซื่อสัตย์ สุจริต สงบเสงี่ยม เยือกเย็น มิใช่สักแต่ว่าส่งไปบรรจุให้เต็มตำแหน่งหรือส่งไปเป็นการลงโทษเพราะเลว...เมื่อจะส่งไปแล้วต้องสั่งสอนชี้แจงให้รู้ลักษณะทางการอันพึงประพฤติระมัดระวัง...ผู้ใหญ่ในท้องที่พึงสอดส่องฝึกอบรมต่อๆกันไปในคุณธรรมเหล่านั้นเนืองๆ ใช่แต่คอยให้พลาดพลั้งลงไปก่อนแล้วจึงจะลงโทษ..."


พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


ที่ 3/78 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2466


 


ความแตกต่างหลากหลายทางสังคมมิใช่จะปรากฏในเห็นเฉพาะในเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์เพราะแม้แต่ในสังคมทั่วไป ผู้คนต่างก็มีหลากความคิด หลายมุมมองอันเนื่องจากได้รับประสบการณ์การขัดเกลาทางสังคมมาแตกต่างกันซึ่งการมีทัศนคติต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งแตกต่างกันนั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่จะทำให้ผู้คนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมเดียวกันได้ แต่การเล็งเห็นผลกระทบและความเสียหายที่เกิดมาจากการนำคนที่มีกรอบทัศนะต่อโลกและชีวิตรูปแบบหนึ่งไปปกครอง ทำงาน ให้บริการ และใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางผู้ถูกปกครองที่มีกรอบทัศนะต่อโลกและใช้ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไปและไม่เป็นที่คุ้นเคย นั้น เป็นเรื่องที่สามารถบริหารจัดการได้ด้วยวิธีการคัดเลือก สรรหา ฝึกอบรมซึ่งเป็นหลักการการบริหารบุคคลและหลักบริหารราชการแผ่นดินที่สังคมไทยพึงให้ความสำคัญกับการคัดสรร การปรับกระบวนทัศน์และวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะเมื่อมีเรื่อง อคติ และการเลือกปฏิบัติมาเกี่ยวข้องในการอำนวยความยุติธรรม ดังกรณีของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นี้ และโดยเฉพาะเมื่อรัฐประสงค์ให้เจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นมารับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า แก้ปัญหาที่เรื้อรังยาวนานและไม่สร้างปัญหาใหม่ๆเพิ่มขึ้น การปรับกระบวนทัศน์และบริหารบุคคลที่เหมาะสมในสถานการณ์ที่อ่อนไหวเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่ลดทอนเงื่อนไขปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความโกรธเกลียดชิงชังอันนำไปสู่การแก้แค้นทดแทนลงได้ทางหนึ่ง จึงควรใช้หลักรัฐประศาสโนบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ดังความจากพระราชหัตถเลขาข้างต้น


                            


แนวทางการดำเนินการ


-           ควรให้ความสำคัญในการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้บุคคลที่เหมาะสมไม่ไปสร้างเงื่อนไขให้กับประชาชนพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้น


-           ต้องจัดการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความเข้าใจในวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


-           ไม่ควรจะมีการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้บ่อยเกินไปทำให้ประชาชนไม่คุ้นชินและรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่เป็นคนแปลกหน้าส่งผลให้เกิดความระแวงและไม่เชื่อมั่นต่อการอำนวยความยุติธรรม


-           พัฒนาระบบการบริหารงานบุคคลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและสร้างขวัญกำลังใจและความภาคภูมิใจให้กับเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม เช่น การให้รางวัลแก่เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นแบอย่างที่ดีและได้รับการยอมรับจากประชาชน ในทางตรงกันข้ามต้องเร่งการดำเนินการสอบสวนและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ประพฤติมิชอบและโยกย้ายออกนอกพื้นที่โดยเร็วที่สุด


-           สร้างกระบวนทัศน์ใหม่ให้เจ้าหน้าที่เกิดความภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่สืบสวนสอบสวนเพื่อแสงหาหลักฐานตามหลักวิชาชีพไม่ใช่รีดพยานหลักฐานจากตัวผู้ถูกกล่าวหาซึ่งไม่เป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดีของเจ้าพนักงานอัยการและการพิจารณาคดีของศาล


-           ต้องจัดการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจค้นจับกุม สืบสวน สอบสวน จับกุม ตรวจค้น ละควบคุมตัวตามกฎหมาย


-           ควรพัฒนาจิตสำนึกของเจ้าหน้าที่ให้รักความยุติธรรมและมีเมตตาธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน


-           จัดให้มีหน่วยเฉพาะหรือฝึกฝนการนำวิธีการที่เป็นสากลมาสลายการชุมนุมให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้โดยไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน


-           ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรและกระบวนทัศน์ของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งยอมล่วงละเมิดหลักนิติธรรมเพราะกลัวเสียหน้าไปสู่วัฒนธรรมใหม่ที่ว่า "จับคนบริสุทธิ์คือความล้มเหลว จับถูกคนคือเกียรติเกียรติภูมิ"


 


ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมบทบาทของประชาสังคมในกระบวนการยุติธรรม


 


การส่งเสริมความไว้วางใจ ความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชนเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติที่ยั่งยืนอันเป็นรากฐานสำคัญของการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น สามารถวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวได้ เพื่อสร้างทางเลือกในการเข้าถึงความยุติธรรมด้วยวิธีต่างๆที่เหมาะสมกับบริบทสังคมและวัฒนธรรม ดังนั้น การเคลื่อนไหวของประชาสังคมกลุ่มต่างๆที่เป็นเครือข่ายยุติธรรมชุมชน จึงเป็นพลังเชิงสร้างสรรค์และเป็นกิจกรรมที่รัฐควรการสนับสนุน ซึ่งในสถานการณ์ร่วมของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นอยู่ขณะนี้ ก็สามารถนำยุทธศาสตร์บางประการมาปรับใช้เฉพาะกิจได้เช่นกัน


 


แนวทางการดำเนินการ


-           กระตุ้นและผลักดันให้ภาคประชาสังคมจัดตั้ง "หน่วยพิทักษ์ยุติธรรม" ซึ่งประกอบด้วยบุคคลจากหลายฝ่ายทั้งภาคเอกชน ภาครัฐและประชาชนที่มีความสนใจเพื่อทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ติดตาม ตรวจสอบ เสนอแนะการดำเนินกระบวนการยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นระบบในทุกขั้นตอน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม อันเป็นการลดเงื่อนไขที่จะบั่นทอนความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม


-           เร่งสนับสนุนการใช้กลไกภาคประชาสังคมที่มีอยู่ เช่น กก.ตร.สภอ. ให้ทำหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตามหลักนิติธรรม


-           ให้ความสำคัญกับต้นทุนทางสังคมในเรื่องของคุตบะฮวันศุกร์(การเทศนาธรรมประจำสัปดาห์โดยอิหม่าม)มาใช้ในการป้องกันอาชญากรรมและการกระทำผิดในชุมชน


-           ควรมีการดูแลเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากอาจส่งผลต่อปัญหาสังคมระยะยาวที่ตามมา


-           ประสานความร่วมมือและบูรณาการกำหนดยุทธศาสตร์การข้าถึงเยาวชนไทยมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาการถูกชักจูงไปในทางที่เสื่อมเสียและเปิดพื้นที่ให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมฐานะ "ยุวชนยุติธรรม"


-           สื่อมวลชนร่วมแสดงบทบาทเชิงรุกด้วยการให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดรายการโทรทัศน์และวิทยุที่สอดคล้องกับความต้องการบริโภคของชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


-           ผลักดันให้ภาควิชาการผลิตและขับเคลื่อนองค์ความรู้ การพัฒนากระบวนการยุติธรรมโดยวิธีวิจัยต่างๆทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net