Skip to main content
sharethis

 

 

 

 

 

 

 

 

สวนสัตว์กลางคืนแห่งที่ 3 ของโลก  เปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการไปในรอบลองไฟ ด้วยการนำสัตว์เข้าสู่พื้นที่อย่างหวือหวา      และประกาศจะเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 พฤศจิกายนหรือวันลอยกระทงปีนี้

 

 

 

 

 

แต่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี  กำลังนับถอยหลังความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการ   !!

 

 

 

 

 

ไม่นานมานี้ พานทองแท้  ชินวัตร บุตรชายของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า  "มีเวลาว่าง พ่อเลยจะให้เข้ามาจัดการเรื่องสัตว์ที่นี่"

 

 

 

 

 

ขณะที่ปลอดประสพ สุรัสวดี  ผู้อำนวยการโครงการก็กล่าวในพิธีรับสัตว์ว่า  "ยังจะมีอะไรหลายอย่างเกิดขึ้นที่นี่ แต่ยังไม่ขอบอก"

 

 

 

 

 

ความพิลึกของพิธีรับมอบสัตว์ที่เลือกใช้คอนเซ็ปต์อินเดียนแดงและคาวบอยซึ่งเรียกความฮือฮาและคำถามตามมามากมายนั้น  เป็นเพียงน้ำจิ้มเมื่อเทียบกับความพิลึกในการบริหารจัดการ

 

 

 

 

 

เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีแห่งนี้  เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่ยักษ์ร่วมหมื่นล้านที่จะเกิดขึ้นที่เชิงดอยสุเทพ  รัฐบาลจะให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดการท่องเที่ยวของประเทศ  วาดฝันว่าจะยิ่งใหญ่กว่าดีสนีย์เวิลด์ และขนานนามที่แห่งนี้ไว้แล้วว่า "เชียงใหม่เวิลด์"

 

 

 

 

 

แต่รายละเอียดว่าจะเกิดอะไร ณ ที่นี้ กลับถูกปฏิเสธการนำเสนอในรายละเอียด  รับรู้และขับเคลื่อนกันอย่างเงียบเชียบ  เปิดและพูดแต่เพียงส่วนเสี้ยวของสารพัดกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น  มิหนำซ้ำยังเกิดกรณีคนในเข้าเสียบอีกต่างหาก

 

 

 

 

 

โถ !  แหล่งท่องเที่ยวอินเตอร์ของเมืองไทย ….สนามบินสุวรรณภูมิที่ว่าอื้อฉาว   ยังโปร่งใสเสียยิ่งกว่า  

 

 

                                   

 

 

-----------------------

 

 

 

 

 

พิธีรับมอบสัตว์เข้าสู่โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (23 กรกฎาคม 2548)  มีความฮือฮาอยู่ 2 ประเด็น

 

 

 

 

 

1.ภาพของนายยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และนายปลอดประสพ สุรัสวดี  ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี แต่งกายด้วยชุดหัว

 

 

หน้าเผ่าอินเดียนแดงปรากฏสู่สายตาของประชาชนทั่วประเทศ เรียกทั้งรอยยิ้มและคำถามต่อโครงการสวนสัตว์กลางคืนแห่งนี้ว่า คิดอย่างไรถึงเลือกใช้คอนเซ็ปต์นี้ในการนำเสนอ

 

 

 

 

 

มีหลายมุมมองต่อพิธีเปิดซึ่งนักศึกษาวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติ

 

 

การดับไฟป่าเป็นผู้ดำเนินงาน การแสดงในพิธีเปิดวันนั้นมีมากกว่าภาพที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์รายวันหรือข่าวทีวีช่วงสั้นๆ

 

 

             

 

 

คล้ายๆ จะเล่าเรื่องราวว่า ดินแดนแห่งนี้ชนเผ่าอินเดียนแดงเคยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ปกป้องเผ่าและสัตว์ไว้เป็นวิถีชีวิต กระทั่งมีคาวบอยผู้รุกรานเข้ามาก็ได้ต่อสู้ และมีผู้มาช่วยเหลือและมอบสัตว์ป่าอีกเป็นจำนวนมากให้  พวกเขาคารวะและมอบเกียรติยศสูงสุดคือ การเป็นหัวหน้าเผ่าให้กับประธานทั้ง 2 คือนายยงยุทธและนายปลอดประสพด้วยการมอบไม้เท้าและหมวกขนนกให้

 

 

 

 

 

แต่ได้มีภัยอีกอย่างหนึ่งมารุกราน นั้นคือภัยจากไฟป่าที่เหล่าเสือไฟทั้งหลายได้ออกมาช่วยกันต่อสู้ยับยั้ง  จึงเห็นภาพของเสือไฟในชุดเสื้อพื้นเมืองมีแถบพู่แบบคาวบอยมาฉีดพ่นน้ำ พร้อมฮัมเพลงมาร์ชเสือไฟให้ประธานได้ปลื้ม

 

 

 

 

 

2 ปีที่แล้วนายปลอดประสพ ได้เคยให้คอนเซ็ปต์ว่า เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีจะเป็นการผสมผสานแอฟริกันล้านนา  และทิศทางดูจะเป็นเช่นนั้นเมื่อมีการประสานแลกเปลี่ยนสัตว์กับประเทศเคนยา  ในการเปิดบ้านรับสัตว์ชุดแรก 9 ตัวเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีความพยายามเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมล้านนาด้วยการจัดพิธีรับขวัญสัตว์  ขณะที่รูปทรงอาคารที่ออกแบบก็ได้ไอเดียมาจากสถาปัตยกรรมล้านนาประยุกต์  แม้จะดูพิลึกเมื่อมีการปั้นรูปช้างผสมกับปลาไว้ด้านหน้า พร้อมสิงห์ผสมกับปลา อันมีความหมายลึกซึ้งส่วนตัวต่อผู้ริเริ่มโครงการนี้  แต่หากจะมองในแง่ดีถึงความแหวกแนวเพื่อการตลาดก็อาจจะพอยอมรับความหวือหวาได้

 

 

 

 

 

แต่ได้มีคำถามตามมาว่า แล้วอินเดียนแดงกับคาวบอยเกี่ยวอะไรกับไนท์ซาฟารี  อาจไม่มีอะไรมากไปกว่าการแสดงในพิธีเปิด  แต่ภาพที่ปรากฏออกไปสู่สาธารณะประทับตราเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีรอบลองไฟไปแล้วว่าพิสดารพันลึก  แหวกแนว…แต่แปลกแยก 

 

 

 

 

 

2. การเข้ามาของนายพานทองแท้ ชินวัตร   เป็นประเด็นที่สื่อมวลชนสนใจยิ่ง

 

 

 

 

 

โอ๊คให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลายฉบับที่กรุงเทพฯ เมื่อวันเปิดตัวโทรศัพท์มือถือเขาว่า  "ธุรกิจไปได้ดีมีเวลาเหลือล่าสุดคุณพ่อให้เข้ามาช่วยดูแลโครงการไนท์ซาฟารี ที่จังหวัดเชียงใหม่  เพราะผมจะรู้เรื่องของราคาสัตว์ดี"

 

 

 

 

 

ปลอดประสพ ยอมรับว่าเคยคุยกันเล่นๆ กับพานทองแท้ไว้นานแล้ว ซึ่งหากจะเข้ามาก็เป็นเรื่องดีที่จะได้มาช่วยกัน

 

 

 

 

 

"ก็มาช่วยกัน …คือ โอ๊คเขาเป็นคนรักสัตว์ ก็จะเข้ามาช่วยดู ช่วยเลี้ยงให้คำปรึกษาพวกเรา เรื่องนี้เคยคุยกันเล่นๆ นานแล้ว ตอนนี้ยังไม่ได้คุยกันเพิ่มเติม แต่ก็ถือว่าน่ายินดี  ใครมีความรู้อะไรก็มาช่วยกัน ที่นี่มีอาสาสมัครหลายคนอยู่แล้ว ทั้งฝรั่ง ทั้งนักธุรกิจท้องถิ่น  เป็นในลักษณะอาสาสมัครที่ไม่ได้มีค่าตอบแทนให้และไม่ได้เกี่ยวกับบริษัทฮาวคัมหรอก (หัวเราะ)" (อ่านล้อมกรอบ  ชวนโอ๊คเข้าเผ่า)

 

 

 

 

 

จุดนี้เองที่คือความพิลึกพิลั่นมากกว่าพิธีรับสัตว์หลายเท่าตัว

 

 

 

 

 

เพราะเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี  มิได้อยู่เพียงลำพังอีกต่อไป โครงการที่เคยว่าใหญ่ระดับ 1,200 ล้าน ขณะนี้เป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวเล็กๆ เมื่อเทียบกับคำประกาศว่าจะมีแหล่งท่องเที่ยวเกี่ยวเนื่องในแถบนี้อีกไม่ต่ำกว่า 7 แห่ง เบ็ดเสร็จเม็ดเงินลงทุนรวมไม่ต่ำกว่าหมื่นล้าน

 

 

 

 

 

" ไนท์ซาฟารีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชียงใหม่เวิลด์ที่จะมีการเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่น สวนสัตว์เชียงใหม่ งานพืชสวนโลก พระธาตุดอยสุเทพ รวมทั้งปางช้างที่กำลังจะมีการสร้างขึ้นในอนาคต ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด สามารถเทียบเคียงได้กับดิสนีย์เวิลด์ และเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค" นายยงยุทธ  ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวในพิธีต้อนรับสัตว์

 

 

 

 

 

โครงการอภิมหาโปรเจ็กค์ถึงขั้นนี้ กลับไม่มีความชัดเจนในแผนงานและไม่มีกระบวนการสร้างความชัดเจน

 

 

 

 

 

สื่อมวลชนท้องถิ่นเคยวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมากับนายปลอดประสพว่า  เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีอ่อนเรื่องประชาสัมพันธ์และการสร้างความเข้าใจกับประชาชน  โดยยกกรณีการประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อสงกรานต์ปี 48 แต่ไม่อาจทำได้ทัน  ครั้งนั้นคนในพื้นที่แม้กระทั่งคณะทำงานระดับจังหวัดที่แต่งตั้งขึ้นมาดูแลเรื่องประชาสัมพันธ์ไม่มีใครตอบคำถามได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด    

 

 

 

 

 

นายปลอดประสพ ยอมรับกับสื่อท้องถิ่นว่าเป็นเช่นนั้น แต่จะไม่ปรับเปลี่ยน เพราะไม่จำเป็นต้องพูดอะไร  ไม่อยากโม้ 

 

 

 

 

 

แสดงให้เห็นถึงวิธีคิดต่อการนำเสนอข้อมูลเป็นคนละมุม

 

 

 

 

 

การประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจในมุมของสื่อมวลชนท้องถิ่นที่ติดตามกรณีนี้ มิได้หมายถึงการป่าวประกาศว่าที่แห่งนี้จะยิ่งใหญ่เพียงใดเท่านั้น แต่หมายถึงการบอกต่อสาธารณะว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นทั้งหมดในผืนดินหลายพันไร่ที่นี่ต่างหาก

 

 

 

 

 

มีเวทีเดียว ด้วยคนราว 100 คน ที่ได้รับเชิญมาบอกเล่าเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2548 เสนอถึงแผนแม่บทพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชียงใหม่ ที่จะมีการลงทุนเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวบริเวณเชิงดอยสุเทพ เข้าด้วยกัน โดยใช้ กระเช้าลอยฟ้า หรือ เคเบิ้ลคาร์ 

 

 

 

 

 

แหล่งกิจกรรมที่จะเชื่อมโยงกันประกอบด้วย

 

 

1. โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี มูลค่าการลงทุนประมาณ 1.1 พันล้านบาท

 

 

2. โครงการอุทยานช้าง ในเนื้อที่ 6,000 ไร่ ติดกับไนท์ซาฟารี 

 

 

3. โครงการพืชสวนโลก ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

 

4. โครงการสปา ระดับโลก ใกล้โครงการพืชสวนโลก

 

 

5. โครงการอควาเรี่ยม ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่

 

 

6. โครงการพัฒนาลานครูบาศรีวิชัย บริเวณเชิงดอยสุเทพ เป็นพลาซ่ารับสถานีรถไฟฟ้า

 

 

7. สวนสัตว์เชียงใหม่ (กลางวัน)

 

 

8. โครงการธีมปาร์ค หรือ สวนสนุก และ เครื่องเล่นระดับโลก

 

 

9. โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนแบบโมโนเรล เชื่อมระหว่างเชิงดอยสุเทพ เข้าสู่เมืองเชียงใหม่

 

 

 

 

 

ความพิลึกของโครงการหมื่นล้านนี้คือ  เปิดเฉพาะที่อยากเปิด  บอกเฉพาะที่อยากบอก !

 

 

 

 

 

อุทยานช้าง 6,000 ไร่ มูลค่าที่เคยบอกว่าได้รับงบประมาณแล้ว 600 ล้าน  นำเสนอในเวทีนั้นเพียงแค่ว่า  จะเป็นการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนไม่น้อยกว่า 200 เชือก  จะมีหมู่บ้านควาญช้างที่แต่งกายเป็นกระเหรี่ยง แต่ไม่ได้นำเสนอว่าที่แห่งนี้ต้อง ทำเขื่อนกักน้ำปริมาตร 1 ล้านคิวฯ ดังนั้น จึงอาจจะต้องเสนอเพิกถอนพื้นที่เหล่านี้ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ สุเทพ-ปุย

 

 

 

 

 

กรณีของกระเช้าไฟฟ้า   นายปลอดประสบบอกว่า นับจากนี้จะใช้เวลา 3 เดือนเพื่อศึกษาความเป็นไปได้  แต่ขณะเดียวกันก็บอกว่าสร้างกระเช้าให้แล้วเสร็จได้ภายใน 1 ปี   เขาบอกด้วยว่าจะว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ แต่ก็ยังไม่ชัดว่าจะเป็นชาติอะไรระหว่าง สวิส ออสเตรีย หรือ ออสเตรเลีย อาจจะใช้เงินราว 1,000 ล้าน  หรือจะเป็น 1,500 ล้านก็ยังไม่แน่ 

 

 

 

 

 

ยังไม่รวมแผนงานสร้างสปาระดับโลก ธีมพาร์ค  อควาเรียมที่สวนสัตว์เชียงใหม่  ฯลฯ

 

 

 

 

 

โครงการระดับต้องไปแข่งกับดีสนีย์เวิลด์  ปฏิบัติการด้วยระบบฟาสท์แทรค  ขับเคลื่อนด้วยบุคคลไม่กี่คน  ถือเป็นความพิลึกยิ่ง

 

 

 

 

 

มีกรณีเปรียบเทียบในพื้นที่เชียงใหม่ที่น่าหยิบจับมาศึกษา  

 

 

 

 

 

ห้วงเวลาเดียวกันนี้ ที่อำเภอสันกำแพง บ้านเกิดของ พ...ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่รับรู้ว่ามีการพัฒนาถนนจากซุปเปอร์ไฮเวย์เข้าสู่อำเภอให้เป็นถนนสายวัฒนธรรมสันกำแพง มีการประทับโคมไฟอลังการ  และมีการสร้างทางจักรยานเพื่อให้ผู้คนขับขี่ย้อนอดีต

 

 

 

 

 

ถนนสายนี้ มีจุดเด่นคือ จะมีต้นไม้อยู่ทั้งบนทางเท้าและอยู่บนผิวจราจรเพื่อแยกระหว่างทางจักรยานกับทางรถยนต์  มีการเก็บข้อมูลถึงขึ้นว่า ต้นไม้ที่อยู่บนทางเท้ามี 139 ต้น และอยู่บนผิวจราจร 101 ต้น ในจำนวนนี้มีต้นแฝด หากนับต้นแฝดเป็นต้นเดียวจะมีทั้งสิ้น 100 ต้น

 

 

 

 

 

มีกรณีความเห็นที่ขัดแย้งกันของชาวสันกำแพงกันอยู่ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าต้นไม้เหล่านี้อยู่มากว่า 100 ปี คือเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองเสนอให้คงไว้ ขณะที่อีกฝ่ายให้คำนึงถึงความปลอดภัยในการสัญจรเสนอให้ตัดทิ้ง

 

 

 

 

 

นายอำเภอสันกำแพง ต้องประชุมประชาชนเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา  มีผู้มาร่วมไม่น้อยกว่า 150 คน  แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปเพราะเสียงโหวตต่อเหตุผลของทั้ง 2 ฝ่ายก้ำกึ่งกัน ที่ประชุมสรุปว่าจะให้ประชุมประชาชนครั้งใหญ่อีกครั้ง เพื่อหาข้อยุติอย่างเป็นประชาธิปไตย

 

 

 

 

 

แค่จะดำเนินการอย่างไรกับต้นไม้  ยังมีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนถึงเพียงนี้

 

 

 

 

 

แล้วกับอภิมหาโครงการหมื่นล้านที่จะเทียบชั้นดิสนีย์เวิลด์ กลับมีแค่เพียงคำพูดลอยลม

 

 

 

 

 

อย่างนี้จะมิให้เรียกว่าพิลึกจะให้พูดอย่างไร

 

 

 

 

 

สนามบินสุวรรณภูมิที่อื้อฉาว  ยังจะโปร่งใสเสียกว่า !!

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net