Skip to main content
sharethis

ประชาไท-10 สค. 48        "กิตติพงศ์" เปิดเวที ระดมสมองจากหลายฝ่าย เพื่อหาข้อเสนอ แนวทางการพัฒนากระบวนการยุติธรรม เพื่อแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้   


 


นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ และรองประธานคณะทำงานส่งเสริมการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม ในคณะอนุกรรมการส่งเสริมความไว้วางใจ ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน จัดการประชุม เรื่อง "แนวทางการพัฒนากระบวนการยุติธรรม ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ : มิติใหม่ตามแนวทางสมานฉันท์" วันนี้(10 ส.ค.)


 


นายกิตติพงษ์ กล่าวถึง วัตถุประสงค์การประชุมดังกล่าวว่า ทางคณะอนุกรรมการส่งเสริมความไว้วางใจฯ ต้องการ นำเสนอข้อเสนอแนะปัญหา และแนวทางแก้ไขกระบวนการยุติธรรมเพื่อนำแก้ปัญหาความไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ทั้งนี้ การการรวบรวมความเห็นในเวทีเปิดดังกล่าว และการทำงานวิจัยอย่างเป็นรูปธรรมในลักษณะที่กระทำอยู่นี้ คาดว่าจะทำให้ข้อมูลมีน้ำหนักพอที่จะทำให้รัฐบาลรับไปปฏิบัติใช้จริง


 


โดย ทางคณะทำงานส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมฯ จะทำการรวบรวมข้อมูล ความเห็นต่างๆ ไปจัดทำเป็นรายงานเป็นแนวทางรูปธรรม เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการไว้วางใจฯ ให้รายงานต่อ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เพื่อ นำเสนอรัฐบาลต่อไป


 


รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวต่อว่า ปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นปัญหาที่ซับซ้อน และยอม รับว่าที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมที่ละเมิดสิทธิ์ของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังมีอยู่จริง และไปกระตุ้นปัญหาในมิติอื่นๆ ทั้งด้านภาษา ประวัติศาสตร์ หรือวัฒนธรรม จนทำให้มองภาครัฐอย่างไม่เข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ


 


โดยรายงานที่จะนำเสนอแก่รัฐบาลฉบับนี้ แม้จะช้า เพราะต้องผ่านหลายขั้นตอน แต่เป็นการทำงานวิจัยที่มีน้ำหนักและมีเหตุผล ซึ่งต่อไปจะทำให้สามารถแก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมได้จริง


 


เสนอทำคู่มือใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน


 


ด้าน พล.ต. พัชราวุธ วงษ์เพชร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหมกล่าวถึง การใช้พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อ ที่ประชุมว่า หากอยากให้การแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้สำเร็จ ต้องเข้าใจข้อมูลพื้นฐานร่วมกัน โดยเฉพาะการปฏิบัติตาม พ.ร.ก. ขณะนี้ผู้ปฏิบัติในพื้นที่ต้องการความชัดเจน "และอย่ามองว่า เจ้าหน้าที่จะเข้าใจใน พ.ร.ก. 100 เปอร์เซ็นต์ "


 


พล.ต.พัชราวุธ นำเสนอต่อไปว่า เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันดังกล่าวควรจะมีการแจกคู่มือแนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.ก. ให้กับเจ้าหน้าที่ใน 3 จังหวัดภาคใต้ด้วย และหากเป็นไปได้ควรทำในโครงการนำร่อง เพื่อนำเสนอการปฏิบัติอย่างสร้างสรรค์เป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ ยึดเป็นแนวทาง


 


นายสุทธิ สุขยิ่ง ตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวไปในแนวทางเดียวกันว่า พ.ร.ก. ดังกล่าว ยังมีความไม่ชัดเจนต่อผู้ ปฏิบัติ และยอมรับว่า แม้แต่ตนเองก็ยังเข้าใจไม่ชัด ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับกฎอัยการศึกแล้ว คิดว่า กฎอัยการศึกมีส่วนที่ชัดเจนกว่า เพราะมี ระบุชัดเจนว่า ใครจะต้อง รับผิดชอบต่อเรื่องอะไร ซึ่งสามารถติดตามผู้รับผิดชอบผลกระทบจากการใช้กฎหมายได้


 


นายสุทธิ กล่าวต่อว่า ปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมในภาคใต้ ไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย แต่อยู่ที่ผู้ใช้ คือไม่สนกฎหมายเลย เป็นการใช้อำนาจเถื่อน ดังนั้นต่อให้เขียนกฎหมายดีแค่ไหน ก็ไร้ประโยชน์ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางที่ลงไปแก้ปัญหาก็ไม่ได้สร้างความมั่นใจ แต่กำลังทำให้คนในพื้นที่เอือมระอา เนื่องจากเมื่อลงไปฟังปัญหาก็บอกได้ว่า รู้แล้ว อดทนหน่อย แล้วก็ไม่มีอะไร เปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า ยิ่งลงไปก็ยิ่งไม่รู้อะไรเลย


 


นอกจากนี้ หลายๆความเห็นในที่ประชุมยังเห็นร่วมกันด้วยว่า การปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยตามอำนาจ พ.ร.ก. ควรจะต้องพิเศษกว่าการกระทำกับผู้ต้องหาในคดีทั่วไป ตั้งแต่การเชิญตัวต้องมีการอธิบายที่ชัดเจนว่าไม่ใช่ผู้กระทำผิดแล้ว สถานที่ควบคุมต้องชัดเจนว่าอยู่ที่ไหน เพื่อให้ญาติสามารถติดตามได้ รวมทั้งควรเปิดโอกาสให้ผู้ถูกเชิญตัวได้รับการประกันมาทำธุระสำคัญบางอย่างตามสิทธิที่พึงได้รับในฐานะที่ยังไม่ใช่ผู้ต้องหา และควรใช้มาตรการดังกล่าวให้น้อยและระวังที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net