Skip to main content
sharethis

 

 

 

 

 

 

 

 

ประชาไท - 11 ส.ค.48      กมธ.พัฒนาสังคมฯ เตรียมออกหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนจนท.ในพื้นที่ กรณีนักข่าวถูกค้น-บังคับเซ็นชื่อกระดาษเปล่า พร้อมเรียกสำเนาการสอบปากคำและลายมือชื่อนักข่าวจากสภ.อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา

 

 

 

 

 

นายมูฮำหมัด ดือราแม ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ประชาไทออนไลน์ ประจำพื้นที่ภาคใต้ เข้าชี้แจงคณะ กรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา กรณีที่ถูกตำรวจสภ.อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ตรวจค้น ขณะสัมภาษณ์ จ.ส.ต.าญณรงค์ หนูเลื่อน เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับเหตุการณ์ยิงทีมฟุตบอลสะบ้าย้อยเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547

 

 

 

 

 

นายมูฮำหมัดกล่าวว่า  ตนได้รับมอบหมายได้ติดตามข้อมูลที่เกิดขึ้น โดยได้ติดต่อขอข้อมูลจาก จ.ส.ต.ชาญณรงค์ ซึ่งเผชิญหน้ากับกลุ่มวัยรุ่นที่บุกเข้าโจมตีในวันที่ 28 เม.ย.47 ทั้งนี้ เนื่องจากญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 19 คน ได้มอบให้สภาทนายความส่งทนายความเข้าซักค้านระหว่างการไต่สวนของศาลตามกระบวน การพิจารณาคดีวิสามัญฆาตกรรม ประกอบกับมีกระแสข่าวเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เหมือนกรณีเหตุการณ์กรือเซะ - ตากใบ

 

 

 

 

 

ผู้สื่อข่าวประชาไทประจำภาคใต้ กล่าวว่า ตนได้ไปสอบถามหาจ.ส.ต.ชาญณรงค์ที่ สภ.อ.สะบ้าย้อย แต่ได้รับคำตอบว่าอยู่ที่ป้อมน้ำขาว ซึ่งเป็นจุดตรวจลักษณะเป็นบังเกอร์แห่งหนึ่ง ห่างจากสภ.อ.สะบ้าย้อยไปประมาณ 3 กม. อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.สะบ้าย้อยไม่เชื่อว่าตนเป็นนักข่าว เพราะไม่ได้พกบัตรประจำนักข่าวไปด้วย มีเพียงนามบัตรเท่านั้น

 

 

 

 

 

หลังจากนั้น ตนได้ไปพบกับจ.ต.ต.ชาญณรงค์ ที่ป้อมน้ำขาว และได้สัมภาษณ์ข้อมูลต่างๆ พอสมควร ระหว่างนั้นมีตำรวจที่เจอกันที่ สภ.อ.สะบ้าย้อย พร้อมตำรวจนอกเครื่องแบบนายหนึ่ง ขับรถมาจอดแล้วตรงเข้ามาพูดว่า "พวกนี้ไม่รู้เข้ามาทำอะไร ยิ่งสถานการณ์อย่างนี้ ต้องระวัง คุณเป็นพวกไหน พวกสมานฉันท์หรือเปล่า" พร้อมกับขอค้นกระเป๋า

 

 

 

 

 

นายมูฮำหมัดเล่าต่อว่า ขณะเดียวกันตำรวจอีกคนหนึ่งที่ฟังการให้สัมภาษณ์อยู่ ก็เข้ามาสบทบ พร้อมเปิดสมุดโทรศัพท์ และชี้ที่ชื่อนักวิชาการคนหนึ่ง พร้อมกับพูดว่า "พวกนี้ชอบสร้างปัญหา บ้านเมืองวุ่นวายก็เพราะพวกนี้"   

 

 

 

 

 

จากนั้นดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว.กรุงเทพฯ หนึ่งในกมธ. ได้สอบถามว่านักวิชาการคนนั้นคือใคร และได้คำตอบจากนายมูฮำหมัดว่าคือ รศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว

 

 

 

 

 

นายมูฮำหมัดกล่าวว่า นอกจากจะตรวจค้นกระเป๋าและมอเตอร์ไซด์อย่างละเอียดแล้ว ยังมีการถ่ายรูปโดยโทรศัพท์มือถือของตำรวจ และให้ลงชื่อในกระดาษเปล่า โดยไม่มีการบันทึกข้อความใดๆ จากนั้นยังให้กลับไปที่สถานีตำรวจสภ.อ.สะบ้าย้อย เพื่อตรวจสอบหลักฐานต่างๆ อีกครั้ง พร้อมทั้งให้ดาบตำรวจทัด ไม่ทราบนามสกุล เป็นผู้บันทึกประวัติตนลงในแบบฟอร์มประวัติผู้ติดยาเสพติด โดยอ้างว่าไม่มีแบบฟอร์มอย่างอื่น พร้อมกับลบคำว่าผู้ติดยาเสพติดออก

 

 

 

 

 

นายมูฮำหมัดชี้แจงว่า ในบันทึกประวัติดังกล่าว ดาบตำรวจทัดเขียนว่า "มีพฤติกรรมขับรถจักรยนต์มาจอดหน้าโรงพัก" อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าตำรวจที่ตรวจค้น ถ่ายรูปและบันทึกประวัติตนนั้นล้วนเป็นตำรวจชั้นประทวนทั้งสิ้น

 

 

 

 

 

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกมธ.พัฒนาสังคมฯ กล่าวสรุปว่า แม้จะเข้าใจว่าสถานการณ์ในพื้นที่ค่อนข้างคับขัน แต่เจ้าหน้าที่ก็ควรจะปฏิบัติหน้าที่ตามหลักการที่ถูกต้อง เพราะทัศนคติและการปฏิบัติด้วยท่าทีที่ไม่สมานฉันท์เช่นนี้เป็นส่วนเสริมให้เกิดความไม่เข้าใจในพื้นที่ และทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ทางกมธ. จะทำหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสภ.อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เพื่อแก้ ปัญหาทัศนคติที่ไม่สมานฉันท์ของเจ้าหน้าที่ และจะทำหนังสือถึงสภ.อ.สะบ้าย้อย เพื่อขอเอกสารการสอบปากคำมาพิจารณาให้ชัดเจน เพื่อเป็นการค้ำประกันว่า ผู้สื่อข่าวในพื้นที่จะไม่ถูกกลั่นแกล้งหรืออยู่ในภาวะไม่ปลอดภัย

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net