Skip to main content
sharethis

นักวิจัยสกว. เสนอ กรมชลประทานเร่งสร้าง "ศูนย์พยากรณ์น้ำท่วมและบริหารจัดการน้ำ" บริเวณลุ่มน้ำปิง เผยขณะนี้มีการสำรวจสภาพภูมิประเทศ ลุ่มน้ำสายต่างๆ เตรียมติดตั้ง "สถานีตรวจวัดน้ำ " พัฒนา "แบบจำลองอุกทกพลศาสตร์ "  เชื่อสามารถคำนวณปริมาณน้ำ พร้อมทั้งแสดงภาพเหตุการณ์เหมือนจริงที่จะเกิดขึ้นได้ทันทีว่า น้ำจะท่วมหรือไม่ จะไหลท่วมในพื้นที่ใด ความลึกเท่าไหร่  ณ เวลาใด ภายในเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง  ทำให้มีเวลาในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างรวดเร็ว  เช่นเดียวกับที่ได้ทดลองใช้และประสบความสำเร็จในการพยากรณ์ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา


 


เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า "ควรจะมีโครงการศึกษาพฤติกรรมการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อควบคุมปริมาณน้ำหลาก และสูบระบายน้ำในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ให้สอดคล้องกับน้ำทะเลหนุน เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำท่วมในฤดูฝนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ"


 


จากพระราชดำรัสในครั้งนั้น คณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) จึงร่วมกับกรมชลประทาน และชุดโครงการวิจัยด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนให้ รศ. ชูเกียรติ ทรัพย์ไพศาล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ ทำโครงการวิจัยเรื่อง "การหาความสัมพันธ์ของระดับน้ำและปริมาณน้ำปากแม่น้ำเจ้าพระยา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ"  ด้วยการสร้างแบบจำลองที่สามารถพยากรณ์ระดับความสูงของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่จังหวัดชัยนาทลงมาถึงกรุงเทพฯ


 


รศ. ชูเกียรติ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า สิ่งที่ทำก็คือนำข้อมูลปริมาณและระดับน้ำที่ได้จากการตรวจวัดในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน มาเปรียบเทียบกับค่าที่ได้จากการเก็บข้อมูลด้วยเรือตรวจสภาพน้ำที่สร้างขึ้นด้วยทุนวิจัย  และใช้ตัวเลขเหล่านี้ร่วมกับข้อมูลสภาพภูมิประเทศสร้างเป็นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างขึ้นเป็นผลสำเร็จ  พร้อมทั้งได้มีการทดลองใช้เพื่อเปรียบเทียบและปรับปรุงแบบจำลองดังกล่าวร่วมกับกรมชลประทาน ตลอดหน้าน้ำหลาก 2 ปีที่ผ่านมา โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงาน เช่น กรมอุทกศาสตร์ การท่าเรือ กทม. รวมถึงกรมโยธาธิการและผังเมือง


 


"ผลที่ได้จากงานวิจัยครั้งนี้คือ เมื่อเราทราบค่าปริมาณน้ำที่ผ่านสถานีตรวจวัดที่จังหวัดชัยนาท แล้วแบบจำลองนี้จะคำนวณ โดยใช้เวลาคำนวณไม่เกิน 60 นาที และบอกได้ว่าน้ำเหนือจะเข้าท่วมกรุงเทพฯหรือไม่ ได้ล่วงหน้านานถึง 4 วัน นอกจากทราบว่าจะมีน้ำท่วมหรือไม่แล้ว ยังบอกถึงปริมาณน้ำที่ไหลผ่านด้วย ซึ่งทำให้การบริหารจัดการมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น"


 


จากความสำเร็จครั้งนี้ได้นำไปสู่การจัดตั้ง "ศูนย์พยากรณ์น้ำท่วมและบริหารจัดการน้ำ" ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่กรมชลประทาน สามเสน และเชื่อว่าจะเป็นองค์ความรู้ต้นแบบที่จะสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาน้ำหลากในพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆได้


 


รศ. ชูเกียรติ  กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมชลประทานได้สนับสนุนให้เราทำวิจัยต่อเพื่อขยายผลไปให้ครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา และยังนำไปใช้เป็นต้นแบบในการจัดติดตั้ง "ศูนย์พยากรณ์น้ำท่วมและบริหารจัดการน้ำ " บริเวณลุ่มน้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่  และลุ่มน้ำอื่นๆด้วย


 


" แบบจำลองอุกทกพลศาสตร์ "  เป็นแบบจำลองที่นำความรู้เกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศในพื้นที่ลุ่มน้ำ อุทกวิทยา ชลศาสตร์ มาประยุกต์กับความรู้ทางด้านไอที  เพื่อสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ สำหรับประเมิน คาดการณ์เหตุการณน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่นั้นๆ เช่น หากมีน้ำฝนตกลงมาในปริมาณมากเกิน 60 มม/วัน โปรแกรมจะจำลองภาพเหตุการณ์ให้เห็นชัดเจนว่า น้ำจะท่วมหรือไม่ ไหลลงสู่พื้นที่บริเวณใดบ้าง ณ เวลาเท่าไหร่ ที่ความลึกเท่าไหร่ ภายในระยะเวลาหนึ่งชั่วโมง  ซึ่งจะช่วยให้เรามีเวลาที่จะเตรียมรับมือ วางแผนในการบริหารจัดน้ำได้ทันท่วงที


 


 "โดยขณะนี้ทางกรมชลประทานกำลังเร่งสำรวจสภาพภูมิประเทศ ศึกษาลุ่มน้ำสายต่างๆ หาระดับความสูง ดูว่าน้ำจากตรงไหนที่มีปริมาณมาก สำรวจรูปตัดแม่น้ำว่าจุดใดที่น้ำไหลมาบรรจบกัน เพื่อติดตั้งสถานี้ตรวจวัดน้ำ และนำตัวเลขปริมาณและระดับความสูงที่ได้จากระบบโทรมาตร  ในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน มาเปรียบเทียบกับค่าที่ได้จากการเก็บข้อมูล พร้อมทั้งนำตัวเลขเหล่านี้มาสร้างเป็นแบบจำลองการคาดการณ์และการบริหารน้ำของลุ่มน้ำต่างๆขึ้น คาดว่าการดำเนินการจะเสร็จสิ้นภายใน 2 ปีนี้ "


รศ. ชูเกียรติ กล่าวว่า  เป้าหมายหลักของงานวิจัยภายใต้ชุดโครงการนี้คือ ความพยายามเชื่อมต่อกับผู้ใช้ตั้งแต่ต้นทาง เพื่อทำให้เกิดความร่วมมือในขบวนการวิจัยอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง สามารถใช้เป็นต้นแบบให้กับพื้นทีลุ่มน้ำอื่น ๆ ได้ต่อไป หากการจัดตั้ง "ศูนย์พยากรณ์น้ำท่วมและบริหารจัดการน้ำ" บริเวณลุ่มน้ำปิง มีการจัดทำตามกระบวนการที่วางไว้ เชื่อมั่นว่าจะสามารถแจ้งเตือนถึงสภาพน้ำล้นตลิ่งตามตำแหน่งตรวจวัด หรือตำแหน่งเฝ้าระวังได้ดี ตลอดจนเป็นข้อมูลสำคัญในการช่วยประเมินสภาพน้ำ บริหารจัดการน้ำ อันจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ปลอดภัยและได้รับความเสียหายน้อยที่สุด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net