Skip to main content
sharethis

เมื่อเส้นแดนมิอาจแบ่งเส้นใจ


เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของประเด็นทางการเมือง  ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนชีวิตของผู้คนในวันวานมากนัก  หากแต่ได้ติดค้างและสำแดงเดชในปัจจุบัน อย่างที่ชีวิตเล็กๆ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้  โดยเฉพาะผู้คนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน ซึ่งไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นคนต่างด้าวที่แท้จริง เพราะในประวัติศาสตร์ พื้นที่นี้ก็เป็นดินแดนของประเทศไทย


 


ขณะที่  ชาวบ้านชุมชนทุ่งเศรษฐี  ม.5  บ้านห้วยแห้ง  ต.ตะนาวศรี  อ.สวนผึ้ง  จ.ราชบุรี  เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไร้รัฐที่เข้าข่ายอยู่บนพื้นที่สูงและเสี่ยงภัยต่อความตายหากส่งกลับประเทศพม่า  ซึ่งจากการสำรวจโดยโครงการเด็กไร้รัฐ พบว่าทั้งชุมชนนี้มีตกสำรวจทั้งหมด  21 ครอบครัว มีจำนวนประชากร  73 คน


 


อ.วุฒิ  บุญเลิศ  ปราชญ์ชาวบ้าน  ประธานประชาคม อ.สวนผึ้ง  จ.ราชบุรี  กล่าวต่อคณะกรรมาธิการศึกษามาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติ  ในคณะกรรมาธิการกิจการสตรี  เยาวชนและผู้สูงอายุ  วุฒิสภา  วันนี้ ว่า  โดยสายสัมพันธ์คนไทยกับคนกลุ่มน้อยเหล่านี้มีการติดต่อกันอยู่แล้ว  แต่บางองค์กรมักมองข้ามหรือใช้แผนที่เป็นตัวตั้ง ซึ่งแท้ที่จริงแล้วพวกเขาก็ไม่ได้ต้องการเป็นคนไทย  เพียงแต่ต้องการความปลอดภัยเท่านั้น


 


นอกจากนี้  อ.วุฒิ  ได้กล่าวไว้ในรายงานการวิจัยและพัฒนาในห้องทดลองทางสังคม เกี่ยวกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า ที่พวกเขาอยู่แต่เดิมเป็นดินแดนของประเทศไทย  แต่ไทยได้เสียกินแดนส่วนนี้ให้แก่ประเทศพม่าตั้งแต่พ.ศ. 2367-2368  ในสมัยรัชกาลที่ 3  โดยพื้นที่ดังกล่าวถูกระบุว่าเป็นของประเทศพม่า  ในสนธิสัญญาปักปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศอังกฤษ  ซึ่งเข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคมเหนือพม่า  ในปีพ.ศ. 2400-2407 


 


สำหรับในทางข้อเท็จจริง  การที่ประเทศไทยเสียดินแดนมะริด  ทะวาย  และตะนาวศรีนั้น  อ.วุฒิ กล่าวว่าเป็นเพียงเรื่องทางการเมืองเท่านั้น  จึงไม่ได้กระทบถึงวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมเดิมของชาวบ้านในเขตพื้นที่ดังกล่าว  ดังนั้นความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมระหว่างคนตามแนวชายแดนยังดำเนินต่อไป  โดยไม่ได้เกิดความแปลกแยกทางวัฒนธรรมระหว่างกันแต่อย่างใด  ซึ่งเด็กในพม่าก็เดินทางเข้ามาเรียนในประเทศไทยได้ตามปกติ


 


อย่างไรก็ตาม  เมื่อเกิดการสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่าและชนกลุ่มน้อย  จึงมีชาวบ้านทั้งในพม่าและชนกลุ่มน้อยได้เข้ามาหนีหลบภัยความตายในประเทศไทยมากขึ้น  โดยตั้งแต่ปี 2528 คนเหล่านี้ได้เข้ามาประเทศไทยเรื่อยๆ บางส่วนออกทะเลไปแล้วไม่กลับเข้ามาอีกก็มี โดยเฉพาะในปี 2535-2536 ที่มีโครงการสร้างท่อก๊าซไทย-พม่า  คนเหล่านี้ได้เข้ามาเป็นจำนวนมาก  และ เกิดปัญหาชายแดนทะลักปี 2538


 


"ตอนนี้ยังไม่มีการสำรวจคนไร้สัญชาติเหล่านี้  ภายหลังได้หลุดเข้ามากับนายจ้างมากขึ้น ทหารก็บอกสั่งระงับไป  และเมื่อพวกเขาจดทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าว  มีบัตรสีแต่ทำให้ออกนอกพื้นที่ไม่ได้  สุดท้ายเมื่อในเขต อ.สวนผึ้งไม่มีงานทำ ปัญหาก็เกิดขึ้น การจดทะเบียนก็จะเสียค่าใช้จ่าย ทั้งยังมีปัญหาด้านความปลอดภัยอีกด้วย"  อ.วุฒิ  กล่าวทิ้งท้าย


 


กะเหรี่ยงตกสำรวจ


ในปี 2542  กรมการปกครองได้สำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรสำรวจชุมชนบนพื้นที่สูงตามแผนแม่บทฯ ฉบับที่  เนื่องจากรัฐตระหนักดีว่า  มีชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่มาแต่เดิมตามแนวชายแดนไทย-พม่าในบริเวณอ.สวนผึ้ง ก่อนที่จะมีเส้นเขตแดนระหว่างกันอยู่จำนวนมาก  จึงได้ดำเนินการสำรวจตามแผนแม่บทดังกล่าว เพื่อให้ชาวบ้านที่ยังไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลโดยรัฐใดในโลก หรือประสบปัญหาความไร้รัฐนั่นเอง


 


ทว่า  หลังจากที่กรมการปกครองสำรวจเมื่อเดือน ก.ย. 2542  ชาวบ้านในชุมชนทุ่งเศรษฐี หมู่ที่ 5 บ้านห้วยแห้ง กลับพบว่าชุมชนของตนตกสำรวจในการจัดทำทะเบียนประวัติดังกล่าว เนื่องจากไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี อีกทั้งยังเปิดเวลาลงทะเบียนจริงเพียงครึ่งวันเท่านั้น ชาวบ้านเหล่านี้จึงตกสำรวจทั้งชุมชน


 


อย่างไรก็ตาม เมื่อ16 กันยายน 2545  ประธานประชาคมอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอความช่วยเหลือกรณีชาวบ้านดังกล่าว ตกสำรวจตั้งแต่ปี 2542 เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2545 ให้ดำเนินการสำรวจและจัดทำทะเบียนให้บุคคลบนพื้นที่สูงที่ตกสำรวจในช่วงที่ผ่านมา


 


แรงงานต่างด้าวจำเป็น


ทั้งนี้ หลังจากนั้นกลับไม่มีการดำเนินการใดๆ ในแก้ปัญหาคนไร้รัฐจากที่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎร  จนในที่สุดในเดือน ก.ค. 2547 ชาวบ้านได้ไปรับการสำรวจเป็นแรงงานสัญชาติพม่า  ทั้งที่พวกเขาไม่ใช่แรงงานที่มีนายจ้างและไม่ใช่คนสัญชาติพม่าด้วย ทั้งยังไม่มีเอกสารรับรองตัวบุคคลใดๆ โดยเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากการไร้สถานะและสิทธิ ชาวบ้านจึงจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวดังกล่าว  แทนที่จะต้องถูกผลักดันออกไปจากประเทศไทยและต้องเสี่ยงภัยกับความตายในประเทศพม่า


 


เมื่อชาวบ้านกลุ่มนี้ ได้รับคำแนะนำให้ไปขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าว ทำให้ปัจจุบันชาวบ้านจึงมีรายชื่อในแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ (ท.ร.38/1) และมีเลขประจำตัวคนต่างด้าว 13 หลักในฐานทะเบียนราษฎร ทั้งที่ไม่ได้มีสัญชาติพม่า โดยมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี เท่านั้น  และจะสิ้นสุดสถานะดังกล่าวในวันที่ 30 ส.ค. นี้


 


ทางออกที่ไร้ทางเลือก


ขณะที่  ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านห้วยแห้งที่ไปจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่มีสัญชาติพม่า และไม่ได้เป็นชาวพม่าด้วยนั้น  กำลังจะถึงจุดเปลี่ยนสำคัญที่เวลาได้มากำหนดสถานะของพวกเขาในเร็ววันนี้  ขณะที่ต้องเผชิญปัญหาอย่างอื่นอีกนานัปการ


 


สำหรับปัญหาในขณะนี้  ลูกจ้างเหล่านี้ทั้งที่มีรายได้เพียงพอและไม่เพียงพอที่จะชำระค่าขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว (1,900บาท) จึงอาจต้องถูกผลักดันออกนอกราชอาณาจักรภายหลังวันที่ 31 ส.ค. 2548 เนื่องจากยังไม่มีรัฐใดการันตีในตัวของพวกเขา


 


นอกจากนี้  ชาวบ้านก็ไม่อาจกลับไปอาศัยอยู่ที่ประเทศพม่าได้ในปัจจุบัน  และบางส่วนมีครอบครัวที่ผูกพันอย่างเข้มข้นกับประเทศไทยและมีสิทธิขอสถานะอาศัยอยู่ถาวร  โดยพวกเขาหวังว่าอาจจะขอสัญชาติไทยได้  ตามยุทธศาสตร์การขจัดปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรี 18 ม.ค. 48


           


ขณะที่  "ยุทธศาสตร์กำหนดสถานะของบุคคลที่มีปัญหาในเรื่องสถานะและสิทธิ" ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล  ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อ 12 ม.ค. 2548  และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ 18 ม.ค. 2548 นั้น ได้กำหนดดำเนินการสำรวจบุคคลในเดือนก.ย.และต.ค. ปีนี้


 


โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะมีขึ้นเพื่อสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร  เพื่อให้ทราบที่มาและสถานการณ์ดำรงอยู่ของคนกลุ่มนี้  อันจะนำไปสู่การพิจารณากำหนดสถานะที่เหมาะสม  ทั้งนี้ ได้กำหนดกรอบการพิจารณากำหนดสถานะให้แก่บุคคลที่มีปัญหาในเรื่องสถานะและสิทธิดังนี้


 


1.กรณีบุคคลที่อพยพเข้ามาในประเทศ  2.กรณีเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาในประเทศไทย  แต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย  3.กรณีบุคคลที่ไร้รากเหง้า  4.กรณีบุคคลที่มีคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ  5.กรณีแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า  ลาว  และกัมพูชา  ที่ได้รับการจดทะเบียนแต่ไม่สามารถเดินทางกลับได้เนื่องจากประเทศต้นทางไม่ยอมรับ  และ 6.กรณีคนต่างด้าวอื่นๆ ที่ไม่มีคุณสมบัติตามข้อ1.-5.และหรือไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง


 


อย่างไรก็ดี ชาวบ้านที่ห้วยแห้งเข้าข่ายในกรณีที่ 6 ซึ่งจะได้รับสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราวทั้งในส่วนที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วและที่จะมีการสำรวจจดทะเบียนเพิ่มเติม และต้องไม่มีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคง  ทั้งยังกำหนดให้มีอนุกรรมการที่มาจากภาคราชการ  วิชาการ  และประชาชน  พิจารณากำหนดแนวทางการให้สถานะที่เหมาะสมต่อไป


 


แต่ถึงอย่างไรก็ตาม  สิ้นเดือนส.ค.นี้ พวกเขากำลังจะสิ้นสุดสถานะของแรงงานต่างด้าว แล้วรอให้ถูกผลักดันออกนอกประเทศไทย  โดยที่แผนยุทธศาสตร์ที่จะมารองรับในเดือน ก.ย.- ต.ค.นี้ก็ยังไม่ใช่หลักประกันที่แน่นอนสำหรับชีวิตของพวกเขา  แล้วช่วงเวลาระหว่างนี้ชาวห้วยแห้งจะอยู่อย่างไร


 


หรือจะรอให้สิ้นสิงหา คือวันชี้ชะตาของพวกเขา


……………………………


หมายเหตุ


เรียบเรียงจากรายงานการวิจัยและพัฒนาในห้องทดลองทางสังคม  ณ หมู่บ้านห้วยแห้ง  ต.ตะนาวศรี  อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี  เสนอต่ออนุกรรมาธิการศึกษามาตรการในการแก้ปัญหาเด็กไร้สัญชาติ  ในคณะกรรมา ธิการกิจการสตรี  เยาวชนและผู้สูงอายุ วุฒิสภา และติดตามคนไร้สัญชาติได้ที่ www.archanwell.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net