Skip to main content
sharethis

หลังจากที่เกิดปัญหาน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ครั้งใหญ่  พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี  ได้มีไอเดียขึ้นมาหลายโครงการ  โดยเฉพาะการสั่งรื้อฝายหินทิ้ง  เพื่อสร้างฝายยางแทน  รวมไปถึงการผุดโครงการสร้างกำแพงกั้นน้ำสองฝั่งแม่น้ำปิงเพื่อป้องกันน้ำท่วม  ซึ่งทำให้เกิดกระแสคัดค้านกันขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง


 


ล่าสุด  ผศ.ดร.วสันต์  จอมภักดี  อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานคณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม(คอปส.)  ซึ่งเป็นผู้ที่ทำการศึกษาในเรื่องแม่น้ำปิงมานานกว่า 10  ปี  ได้ออกยืนยันว่า  การสร้างกำแพงกั้นฝั่งแม่น้ำปิง  ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้  เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ 


 


"มีบทเรียนตัวอย่างจากหลายๆ ประเทศที่เคยสร้างกำแพงกั้นขึ้นมาจนเกิดปัญหาผลกระทบ  จนต้องรื้อทิ้ง  เพราะว่า โครงการสร้างเขื่อนกั้นริมตลิ่งให้สูงขึ้นนั้น   จะทำให้แม่น้ำก็จะกลายเป็นคลองแคบๆ ลำน้ำแคบๆ มีกำแพงสูงๆ สองข้าง ซึ่งต่อไปจะไม่เป็นแม่น้ำ  แต่จะเรียกว่า รางน้ำ  และจะกลายเป็นสิ่งอัปลักษณ์ในแม่น้ำคู่เมืองเชียงใหม่ไปตลอด" ผศ.ดร.วสันต์  กล่าว


 


ผศ.ดร.วสันต์  ได้เสนอทางออกเอาไว้ว่า  ยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถแก้ไขปัญหาได้  เช่น การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำเป็นระยะๆ หรือการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำกักเก็บน้ำ หรือการที่จะสร้างกำแพงกั้นน้ำต้องสำรวจว่าพื้นที่แม่น้ำดั้งเดิมจริงๆ  อยู่ที่ไหน  เพราะบางครั้งการเกิดอุทกภัยไม่ได้เกิดจากน้ำล้นน้ำตลิ่ง  แต่เกิดจากน้ำระบายลงไม่ทัน อย่างเช่นน้ำท่วมเชิงดอยสุเทพทั้งที่อยู่บนที่สูง  ขณะเดียวกันน้ำในแม่น้ำปิงยังแห้งอยู่   แต่น้ำท่วมที่สูงซึ่งเกิดจากน้ำระบายลงไม่ได้ กำแพงที่จะสร้างมันจะนำมาซึ่งจะทำให้กั้นแม่น้ำลงสู่แม่น้ำปิงหรือไม่ในอนาคต 


 


"นี่เป็นคำถามที่รัฐบาลจะตอบให้ได้ เพราะมันไม่ได้จบแค่การสร้างกำแพง  ดังนั้น  การจะสร้างอะไร  ต้องมองให้เห็นภาพที่ชัดเจนก่อนที่จะสร้าง  แล้วใครเป็นผู้ได้ผลประโยชน์ไม่ใช่ว่าจะลงทุนไปก่อนเท่านี้  แต่ผลที่ออกมายังทำอะไรไม่ได้ มีน้ำท่วมขังเหมือนเดิม ต้องมีการสร้างขึ้นใหม่อีก ในที่สุด  ก็ต้องจ่ายแพงแต่ชาวบ้านเดือดร้อนเหมือนเดิม ตนไม่ได้ขวาง คือบางครั้งจำต้องใช้สิ่งก่อสร้าง แต่ไม่อยากให้มีสิ่งก่อสร้างเกิดขึ้นโดยที่ไม่มีความชัดเจน ขาดความรอบคอบและก่อให้เกิดผลเสียหายผลกระทบ มันก็จะมีสิ่งอัปลักษณ์อยู่ริมแม่น้ำ" ผศ.ดร.วสันต์  กล่าว


 


ทั้งนี้  ผศ.ดร.วสันต์  ยังได้ยกตัวอย่างการดูแลรักษาแม่น้ำในต่างประเทศที่ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงาน  เช่น  แม่น้ำนูกิ(Nuki  river) แม่น้ำฮาโตะ (Hattoh  river) ประเทศญี่ปุ่น  ว่า  ก่อนนั้นได้มีการสร้างพนังคอนกรีตป้องกันตลิ่งไว้ทั้งสองฝั่ง  ลำน้ำถูกขุดแต่งให้ตรง  และขุดลอกเอาทราย กรวดหินออกไปจากท้องน้ำทั้งหมด  ต่อมาจึงรู้ว่าได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก  จึงได้หวนกลับมาปรับปรุงฟื้นฟูสภาพลำน้ำ  โดยได้มีการรื้อพนังคอนกรีตออก  และมีการปลูกพืชริมน้ำได้และลำน้ำได้ถูกปรับแต่งให้กลับไปมีความคดเคี้ยวตามธรรมชาติเหมือนเดิม 


 


ซึ่งหลังการปรับปรุงผ่านไป  2  ปี  มีพืชพรรณไม้ริมน้ำประจำถิ่นเกิดขึ้น  มีการนำก้อนหินมาใส่ไว้ในลำน้ำตามเดิม  เพื่อชะลอและควบคุมอัตราการไหลของน้ำ  ทำให้เกิดแอ่งลึกและแอ่งตื้นตามสภาพธรรมชาติ  ซึ่งนับเป็นการปรับปรุงฟื้นฟูคุณภาพน้ำ  โดยวิธีธรรมชาติที่เหมาะสมและประหยัดอย่างยิ่ง  ทั้งเป็นการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่แม่น้ำ


 


รวมทั้ง  แม่น้ำสเจอร์น (Skjern  river)  ประเทศเดนมาร์ก  ซึ่งในปี พ.ศ.2503  ได้มีการขุดเปลี่ยนสภาพลำน้ำให้เป็นแนวตรง  มีการทำพนังและดาดด้วยคอนกรีตทั้งสองข้าง  เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว  แต่จากการศึกษาวิจัยติดตามผลกระทบอย่างต่อเนื่อง  พบว่า  โครงการดังกล่าว  ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศน์เดิมของแม่น้ำอย่างรุนแรง  สัตว์น้ำ สัตว์บก นกและแมลงหลายชนิด  ได้สูญหายไปจากแม่น้ำและพื้นที่ลุ่มน้ำ  บริเวณพื้นที่เกษตรกรรมทั้งสองฝั่งแม่น้ำ  กลายเป็นพื้นที่แห้งแล้งมากขึ้น  และมีระดับน้ำใต้ดินลดต่ำลงกว่าเดิมอย่างมาก


 


ทว่าปัจจุบัน  รัฐบาลเดนมาร์ก  ได้ล้มโครงการขุดเปลี่ยน สร้างพนังกั้นริมตลิ่ง  และได้ลงทุนรื้อแนวลำน้ำที่ตรงและดาดคอนกรีตออกทั้งหมด  และมีการขุดปรับแต่งแม่น้ำให้มีความคดเคี้ยวเหมือนเดิม  รวมทั้งได้มีการขุดหนอง  บึง  เพื่อทำเป็นพื้นที่ชุมน้ำ  มีการกำหนดให้มีบริเวณพื้นที่น้ำท่วมถึงได้ตามฤดูกาล  และมีการฟื้นฟูถิ่นอาศัยให้แก่ปลาและสัตว์น้ำต่างๆ  ตลอดจนพืชพรรณไม้ริมน้ำนานาชนิด  เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ระบบนิเวศธรรมชาติของแม่น้ำให้กลับคืนมาเหมือนเดิม


 


นอกจากนั้น  รัฐบาลเดนมาร์ก  ยังได้ออกกฎหมายให้กับพื้นที่เป็นเขตไหล่แม่น้ำไว้ข้างละไม่ต่ำกว่า  2  เมตร  มีการห้ามไม่ให้ทำการบุกรุกในพื้นที่ดังกล่าวตลอดลำน้ำ  จัดให้มีหน่วยงานท้องถิ่นที่ทำการดูแลรักษาลำน้ำและชายตลิ่งอย่างต่อเนื่อง  พร้อมกำหนดวิธีการบำรุงรักษาอย่างเหมาะสมไว้ให้ปฏิบัติอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net