ตั้งกรรมการร่วมสางปม 23 ปี อุทยานสามร้อยยอดฯ ทับที่ชาวบ้าน

ประชาไท - 24 ส.ค.48      "ถ้าการกันพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชาวบ้านออกจากพื้นที่อุทยานเขาสามร้อยยอดยึดเอาตามเอกสารสิทธิ์ เชื่อว่าชาวบ้านมีกันไม่ถึง 1% ส่วนใหญ่คนที่มีคือนายทุน เราสู้เรื่องนี้กันมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ท้ายที่สุดกำลังจะกลับกลายเป็นเพื่อนายทุน แล้วชาวบ้านต้องไปเช่าที่ดินทำกิน"

 

ชาวบ้านจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวในที่ประชุมคณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถึงกรณีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาอุทยานแห่งชาติเขาสามาร้อยยอดประกาศเขตทับที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งมีแนวทางจะกันพื้นที่ออกโดยยึดตามหลักฐานเอกสารสิทธิ์

 

การประชุมดังกล่าวเป็นผลต่อเนื่องจากการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานปกครองในจ.ประจวบฯ กรมอุทยาน ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ และคณะกรรมการสิทธิฯ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2525 หลังจากที่อุทยานเขาสามร้อยยอด ประกาศขยายแนวเขตอุทยานทับที่ดินชาวบ้าน โดยมติที่ประชุมครั้งที่แล้วสรุปให้ตั้งคณะกรรมการร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อดำเนินการรังวัดและกันพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่อยู่มาก่อนปี 2525 ออกจากเขตอุทยาน

 

โดยที่ประชุมวันนี้มีตัวแทนจากอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ตัวแทนอธิบดีกรมอุทยานฯ ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตัวแทนมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

 

ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวอีกว่า ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีหลักฐานใด แม้แต่ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน (สค.1) ซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนปี 2500 เพราะการออกสค.1 ต้องใช้เงิน 150 บาท ซึ่งเวลานั้นก็เป็นเรื่องเกินความสามารถของชาวบ้าน เมื่อไม่มีหลักฐานก็ต้องช่วยเหลือตัวเองมาโดยตลอด จะกู้เงินก็ต้องกู้จากนอกระบบ

 

นางสุนี ไชยรส ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า กล่าวสรุปมติที่ประชุมว่าการพิสูจน์สิทธิจะไม่ใช้เอกสารการถือครองต่างๆ อย่างเดียวแต่จะยึดสิ่งบ่งชี้อื่นๆ ด้วย และคณะกรรมการร่วมจะต้องร่วมกันสำรวจพื้นที่ทำกินของชาวบ้านเพื่อกันออกจากพื้นที่อุทยาน โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการ่วมดังกล่าวนั้น ทางจังหวัดจะเร่งประกาศภายในอาทิตย์หน้านี้ และที่ประชุมมีมติให้เพิ่มเติมตัวแทนจากอธิบดีกรมอุทยานฯ ด้วย เพื่อจะได้รับทราบข้อมูลตั้งแต่ต้นและไม่มีปัญหาเวลาที่ข้อมูลในพื้นที่ไปถึงคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจอนุมัติการกันพื้นที่ในท้ายที่สุด

 

คณะกรรมการดังกล่าวจะตั้งต้นพิจารณาข้อมูลจากที่หน่วยงานรัฐทำการรังวัดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านซึ่งเพิ่งแล้วเสร็จเมื่อเร็วๆนี้ว่า ส่วนใดที่ถูกต้องและส่วนใดที่มีปัญหา จากนั้นจึงมาถกเถียง ตรวจสอบกัน ก่อนที่จะส่งข้อมูลสุดท้ายให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติพิจารณา

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย ตัวแทนชาวบ้าน 9 ตำบลที่เกิดปัญหาตำบลละ 1คน ผู้แทนจังหวัดประจวบฯ ผู้แทนสำนักงานที่ดินจังหวัดประจวบฯ ผู้แทนอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ผู้แทนสำนักบริหารเขตพื้นที่อนุรักษ์ จังหวัดเพชรบุรี ผู้แทนอำเภอกุยบุรี ผู้แทนกิ่งอำเภอเขาสามร้อยยอด ผู้แทนสำนักทรัพยากรธรรมชาติฯ จ.ประจวบฯ  และตัวแทนอธิบดีกรมอุทยานฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท