"อาจารย์มารุต" ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ประชาไท—24 ส.ค. 48      นายมารุต  บุนนาค  ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์  ชี้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ขัดหลักพื้นฐานประชาธิปไตย  อ้างความเร่งด่วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 218 ฟังไม่ขึ้น  พร้อมระบุขัดต่อกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน  เผยรู้ดีว่าสภาฯ อนุมัติ พ.ร.ก.แน่  แต่รัฐบาลควรรับไปแก้ไข

 

ช่วงบ่ายวันนี้  มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 1 สมัยสามัญนิติบัญญัติ  โดยนำพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 มาอภิปรายก่อนลงมติเป็นญัตติแรก โดยมีทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านและรัฐบาลแสดงหลักการและความคิดเห็นต่อพ.ร.ก. ดังกล่าว

 

ทั้งนี้  นายมารุต  บุนนาค  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ  พรรคประชาธิปัตย์  กล่าวว่า  ไม่มีใครไม่เคยเห็นด้วยในการแก้ไขเหตุการณ์จลาจลในพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคใต้ แต่ต้องมองว่า แก้ปัญหาอย่างไร  มีกฎหมายที่เป็นธรรมหรือไม่   โดยเห็นพ้องกับกฎหมายที่มีอยู่แล้วมากมาย  หากว่า มีการปฏิบัติที่นุ่มนวล และเป็นธรรมโดยสุจริต  ไม่ใช่มีกฎหมายที่ก่อให้เกิดความเกลียดแค้น  เกลียดชัง  และการทารุณ  ซึ่งยังจะส่งผลให้เกิดความวุ่นวายต่อไป

 

นายมารุต  ได้ยกมาตรา 218 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่บัญญัติไว้ว่า พระราชกำหนดจะตราขึ้นได้ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ  ความปลอดภัยสาธารณะ  ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ  หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ  พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติได้  ทั้งนี้การตรา พ.ร.ก. จะกระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน อันมิอาจหลีกเลี่ยงได้

 

"เมื่อ พ.ร.ก. อ้างความจำเป็นเร่งด่วน ตามมาตรา 218 ผมเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบร้อนขนาดนี้  เพราะเหตุการณ์ภาคใต้เกิดขึ้นมานานแล้วไม่ใช่อ้างพ.ร.ก.ว่ามาใช้เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นและถ้ารัฐบาลใจกว้างพอก็น่าจะเสนอเป็นพระราชบัญญัติ  เพื่อให้ฝ่ายค้านได้แสดงความคิดเห็นพิจารณาและให้โอกาสวุฒิสมาชิกร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย  ก็จะเป็นประโยชน์และจะทำให้กฎหมายนี้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น"  นายมารุต  กล่าวถึงจุดเริ่มของพ.ร.ก.ฉบับฉุกเฉิน

 

ขณะเดียวกัน  ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์  ได้ยกมาตราใน พ.ร.ก. ฉบับฉุกเฉินขึ้นมาอธิบายในหลายมาตรา  ได้แก่  มาตรา 7 ที่กำหนดให้อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตีว่าการกระทรวงหรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ให้โอนแก่นายกรัฐมนตรี  และ มาตรา 8 ที่บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายคำสั่งแต่งตั้งคณะบุคคลหรือบุคคลเป็นที่ปรึกษา ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ประกาศภาวะฉุกเฉินนั้น เป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงมากหากมอบเด็ดขาดให้คนเพียงคนเดียว 

 

ทั้งนี้  ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์  กล่าวว่า  หลักการมอบอำนาจให้คนคนเดียวเป็นอันตรายมาก  โดยเคยพบว่าเมื่อมีการลงโทษ  จะเห็นได้ชัดเจนว่า  เมื่อมีการทำสำนวนสอบสวนปรากฏว่าสุจริต  อัยการไม่ส่งฟ้องศาล แต่นายกรัฐมนตรีกลับสั่งจำคุกได้  นับเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงมาก เพราะเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่มีใครรับผิดชอบ    ดังนั้นพฤติกรรมในอดีต  ปัจจุบันก็ต้องคำนึงถึงด้วย

 

ต่อมา  มาตรา 9 ที่ประกาศว่าในสถานการณ์ฉุกเฉินนายกรัฐมนตรีสามารถใช้อำนาจพิเศษ 6 ประการ  มาตรานี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญใครจะชี้ขาดตัดสิน  ย่อมมีเสรีภาพชุมนุมอย่างเปิดเผย โดยสงบ   ปราศจากอาวุธ มาตรานี้ขัดรัฐธรรมนู

 

สำหรับมาตรา 13 ที่เกี่ยวกับการห้ามการเสนอข่าวสารนั้น   จากประวัติศาสตร์  หากรัฐบาลทำการใดไม่ถูกต้องจะมีการดำเนินการอย่างไรเพื่อให้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น  ดังนั้นในประเทศประชาธิปไตยการสื่อสารจึงมีขึ้นเพื่อให้ทุกฝ่ายได้โอกาสแสดงความคิดเห็น

 

ขณะที่  มาตรา 11 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีสามารถดำเนินการได้ 10 ประการ  โดยเฉพาะในวงเล็บ1  ที่ให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่จับกุม  ผู้ที่สงสัยว่าได้ร่วมกระทำความผิด  เป็นเพียงสงสัยก็สามารถจับมาสอบสวนได้  สอดคล้องกับมาตรา 12 ที่ให้พนักงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง  สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยไว้ที่ใดก็ได้ที่ไม่ใช่เรือนจำ  สถานีตำรวจหรือทัณฑสถาน 

 

หากแต่ประมาลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2518 กำหนดให้ ผู้ถูกจับกุมต้องมีหลักฐานพอ

สมควร  และต้องแจ้งข้อหาให้ทราบ  เพื่อให้ผู้ถูกจักกุมได้มีโอกาสเตรียมหลักฐานต่อสู้ต่อไป  ไม่ใช่ว่าจะนำผู้ถูกจับกุมไปไว้ที่ใดที่หนึ่ง  ซึ่งเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ถูกอุ้มไปเก็บไว้

 

มาตรา 16 ที่บัญญัติไว้ว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศาลยุติธรรม โดยเป็นพื้นฐานระบอบประชาธิปไตย  เท่ากับขัดการใช้หลักนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ทั้งยังเป็นการขัดสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญ  รวมถึงขัดกับความรู้สึกรับผิดชอบชั่วดีอีกด้วย

 

ขณะที่  มาตรา 17 ที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบทั้งต่อกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา หากเป็นการกระทำที่สุจริต  นายมารุตเห็นว่า  ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบัญญัติไว้  เพราะถ้าการปฏิบัติใดที่ไม่สุจริตก็มีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องระบุว่าแค่ไหนคือสุจริต  ซึ่งจะก่อให้เกิดความยุ่งยากในความรู้สึกของคนทั่วไป

 

นายมารุดกล่าวว่า  พ.ร.ก.ดังกล่าว ขัดกับหลักพื้นฐานของประชาธิปไตย  ขัดกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานของกระบวนการสอบสวนและความผิดทางอาญา  โดยใช้เป็นหลักปฏิบัติต่อประชาชนทั่วไปมานานนานแล้ว

 

"พ.ร.ก.ฉุกเฉินมีลักษณะเหมือนกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ที่บัญญัติไว้ว่าการบัญญัติกฎหมายให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่า  ด้วยธรรมนูญศาลหรือวิธีพิจารณาเพื่อใช้แก่คดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ  จะกระทำมิได้  แต่ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ได้ยกเว้นแก้ไขเปลี่ยนแปลง  ซึ่งน่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 235 แน่นอน" นายมารุต  ยืนยัน

 

อย่างไรก็ตาม นายมารุตกล่าวว่า  ฝ่ายค้านต้องการแก้ไข พ.ร.ก. ฉบับนี้แม้ว่าจะมีเสียงไม่มากพอ  แต่ต้องการให้มีความถูกต้องตามหลักยุติธรรม  โดยไม่ประสงค์ติเตียนรัฐบาลแม้ว่าพรรคฝ่ายค้านจะไม่เห็นชอบตาม พ.ร.ก. นี้ก็ตาม โดยเชื่อว่าพ.ร.ก.นี้ต้องผ่านสภาแน่นอน  แต่ถ้ารัฐบาลใจกว้างที่จะรับฟังจากทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขให้ถูกต้องภายหลังก็นับเป็นสิ่งที่ดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท