Skip to main content
sharethis








คณะกรรมาธิการภาคประชาชนตรวจสอบนโยบายความยากจนและสังคม ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2548 หลังการชุมนุมของสมัชชาคนจน ณ หน้ารัฐสภา  ได้ร่วมกับนักวิชาการและพี่น้องคนจนตรวจสอบนโยบายประชานิยมของรัฐบาลผ่านการจัดเวทีสาธารณะ เมื่อวันที่ 25-26 สิงหาคม 2548 โดยมีข้อค้นพบดังนี้

 



ประชานิยมกับปัญหาฐานคิด "ความยากจน"


 


ฐานคิดเรื่องคนจนและความยากจนในการปฏิบัติการแก้ปัญหาความยากจน ประชานิยมรัฐบาลทักษิณมองปัญหาและสาเหตุความยากจนเป็นเพียงเรื่องรายได้  ด้วยการใช้เส้นความยากจน   และเกณฑ์จปฐ. เป็นตัวชี้วัดความยากจน  คนจนคือ            คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อคนต่อปี (มีรายได้พอซื้ออาหารราวมื้อละ 18 บาทก็พ้นความยากจนแล้ว) เกณฑ์ความยากจนตามจปฐ.เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ปรากฏอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของการบริหารจังหวัดแบบบูรณการ


 


เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาความยากจนจึงถูกลดทอนให้เหลือว่า  เป็นปัญหาความบกพร่องของปัจเจกบุคคล กล่าวคือ  ความยากจนเกิดจากการขาดความสามารถในการบริหารจัดการชีวิต ไม่รู้จักใช้จ่าย ดังนั้น มาตรการแก้ไขปัญหาจึงดำเนินการผ่านการรณรงค์และโฆษณาให้คนจนรู้จักทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย  ดังคำขวัญว่า "ถ้าเราสู้ เราจะไม่ยากจน" "ร่วมต่อสู้ความยากจน ชีวิตพ้นภัย" 


 


คาราวานแก้จนของรัฐบาลที่กำลังระดมกันอยู่ในขณะนี้จึงปรากฏแต่กิจกรรมการอบรมให้ชาวบ้านลด-ละ-เลิกอบายมุข  อบรมอาชีพ และอบรมการทำบัญชีครัวเรือน (กิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การฉายวีซีดีของนายกรัฐมนตรีสาธิตการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นรายครัวเรือนเพื่อเป็นตัวอย่าง ณ บ้านตีนธาตุ ต.ป่าไหน่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2548) 


 


งานวิจัยของ พฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศึกษาภาพชีวิตของชาวบ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี และเสนอให้เห็นภาพว่า ชีวิตของคนจนไม่ใช่มีสาเหตุมาจากปัญหาท่าทีในชีวิต และความบกพร่องส่วนบุคคล การขาดความสามารถในการบริหารจัดการ


 


หากแต่เป็นปัญหาการตกอยู่ในโครงสร้างแบบเศรษฐกิจการตลาดซึ่งเกษตรกร คนจนถูกเอารัดเอาเปรียบ ในขณะที่ชีวิตการผลิตในฐานะเกษตรกรรายย่อยล่มสลาย ชีวิตการขายแรงงานในเมืองก็ไม่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการที่พึงควร เช่นเดียวกับบทเรียนความยากจนของพี่น้องสมัชชาคนจนสะท้อนจากเวทีสัมมนาให้เห็นว่า ความยากจนไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัญหาเรื่องท่าทีต่อชีวิต และความบกพร่อง


 


รัฐบาลประกาศว่าคนจนจะหมดไปภายใน 6 ปี จึงเป็นสิ่งซึ่งเกิดขึ้นได้ค่อนข้างแน่ แต่ได้สร้างมายาคติเกี่ยวกับฐานคิดและตัวชี้วัดความยากจน ว่าใครคือคนจนด้วยความกลวงและความไม่เพียงพอ


 


มายาคติเรื่องเกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จ


 


รัฐบาลพรรคไทยรักไทย "ตีปี้บ" โฆษณาว่า ประชานิยมประสบความสำเร็จในการสร้างความนิยมจากประชาชน สิ่งที่สังคมกับให้ความสนใจน้อยมากก็คือ การตั้งคำถามกับเกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จ ซึ่งมีข้อสังเกตดังนี้


 


-การโฆษณาความสำเร็จโดยการสำรวจความพึงพอใจของประชาชน ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติที่มีการสำรวจทุกนโยบายประชานิยม งานวิจัยเชิงสำรวจความคิดเห็น(ซึ่งควรเป็นแบบฝึกหัดการเก็บข้อมูลสำหรับนักเรียนมัธยมฯ )เช่นนี้  เป็นเพียงความคิดเห็นว่าประชาชนชอบหรือไม่  ไม่ใช่เป็นการประเมินผลความสำเร็จ/ล้มเหลว แต่รัฐบาลมักนำมากล่าวอ้างว่าเป็นความสำเร็จ


            -เกณฑ์และตัวชี้วัด ซึ่งมีการลดทอนและความกลวงดังนี้

































นโยบายประชานิยม


ตัวชี้วัดความสำเร็จ


ความกลวง


1.โครงการหนึ่งผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล


-ยอดจำหน่ายสินค้า เพิ่มขึ้นจาก 243 ล้านบาท เป็น 50,000 ล้านบาท


 


-ผู้รับประโยชน์จำนวน 3,600 ชุมชน


 


-รายได้จากการจำหน่ายในจังหวัดเพิ่มขึ้นปีละ 5%


-การรวมยอดจำหน่ายสินค้าที่เกิดขึ้นก่อนโอทอป(ร้อยละ 86) และจดทะเบียนเข้ามาโดยไม่แยกแยะ


 -สินค้าส่วนใหญ่คือ SMEs ผู้รับประโยชน์คือลูกจ้างไม่กี่รายในหนึ่งตำบล


-ไม่สนใจยอดจำหน่ายมาอย่างไร แต่ขอให้ยอดรวมเพิ่มขึ้น


2.กองทุนหมู่บ้าน


-ผู้กู้สามารถคืนเงินกู้ได้ตามระยะเวลาไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95.5


-ชาวบ้านคืนเงินกู้แบบผลัดผ้าขาวม้า


-ไม่สนใจการกู้ยืมเพื่อไปใช้ในการผลิตหรือไม่


-ไม่สนใจคนจนในหมู่บ้านได้กู้หรือไม่ แต่ให้ความสำคัญกับผู้มีเครดิตในการคืนเงิน


3. SML


-สามารถจัดประชาคมโดยมีประชาชนอายุ 15 ปี จำนวนร้อยละ 70 เข้าร่วมกำหนดกิจกรรม


-ไม่สนใจความยั่งยืนของประชาคม


-ไม่สนใจประเภทกิจกรรม(เช่น บางหมู่บ้านใช้เงินไปซื้อโลงศพติดแอร์)


4.คารานแก้จน


-วัดความสำเร็จโดยจำนวนครั้ง และความครอบคลุมพื้นที่


-กิจกรรมสำคัญคือ บริการตัดผมฟรี อบรมการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย อบรมลด-ละ-เลิกอบายมุข


5.การแก้ปัญหาหนี้สิน


-การจัดให้มีเวทีเจรจาระหว่างเจ้าหนี้-ลูกหนี้โดยการประสานงานของสำนักงานอำเภอ


-ไม่สนใจว่าการเจรจาจะเกิดผลในทิศทางอย่างใด


6.การแก้ไขปัญหาคนจนให้หมดไปใน 6 ปี


-เกณฑ์จปฐ. คนจนคือผู้มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อคนต่อปี


-ลดทอนสาเหตุความยากจนเหลือเพียงมิติรายได้เพื่อการบริโภคที่จำเป็น


 


ประชานิยมกับการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน


 


ในขณะที่สมัชชาคนจนเป็นการ "จนอำนาจ จนโอกาส"  ความยากจนเกิดจากปัญหาความไม่มั่นคงในฐานทรัพยากรดิน น้ำ ป่า  พี่น้องในสมัชชาคนจนประสบกับปัญหาที่ดินทำกินในเขตป่า ปัญหาพื้นที่สาธารณะของชุมชนถูกแย่งชิงทำลาย


 


ประชานิยมที่มุ่งแก้ไขปัญหาโดยการหาแหล่งเงินทุนด้วยการพักชำระหนี้ และกองทุนหมู่บ้านภายใต้นโยบายประชานิยมจึงเป็นการแก้ปัญหาให้กับคนจนเพียงส่วนเสี้ยว และที่สำคัญ ปัญหาดังกล่าวนี้ถูกบดบังด้วยมาตรการแก้ปัญหาแบบลดทอน


 


นอกจากนี้ เราไม่เห็นการผลักดันกฎหมายลูกเพื่อให้อำนาจ ช่องทางและกลไกในการปกป้องฐานทรัพยากรของชุมชน การกระจายการถือครองที่ดินและทรัพยากรที่จะทำให้คนจนเข้าถึงทรัพยากร ในทางตรงกันข้าม นโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน เขตเศรษฐกิจพิเศษ หมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ฯลฯ กลับจะยิ่งทำให้ปัญหาเหล่านี้รุนแรงมากยิ่งขึ้น


 


ประชานิยมมีลักษณะปิดกั้นการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาสังคม และกลุ่มพลังทางสังคมการเมืองที่อยู่นอกแถวและการจัดตั้งดังกรณีสมัชชาคนจน


 


นิทานการเมืองเรื่องประชานิยม


 


ประชานิยมมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองโดยอาศัยการสร้างลัทธิชาตินิยมผ่านการรณรงค์สร้าง "ความเป็นสุดยอด" และ "เป็นหนึ่ง"  (เช่น สุดยอดสินค้า สุดยอดนักเรียน ฯลฯ) การระดมผู้คนและมวลชนเพื่อเข้าร่วมโครงการรัฐ เช่น  การระดมผู้คนให้มาร่วมออกกำลังกาย ฯลฯ) เราจึงเห็นการสร้างชาตินิยมแบบฉาบฉวยผ่านการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางภายใต้รัฐบาลประชานิยม


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net